สำหรับปี 2025 นี้ ยังมีอีกหนึ่งอีเวนต์สำคัญระดับโลกอย่าง World Expo งานมหกรรมโลกซึ่งกำลังจะเปิดให้ผู้คนได้เข้าเยี่ยมเยือนและเยี่ยมชมนวัตกรรม องค์ความรู้ ตลอดจนภูมิปัญญาจากหลากหลายประเทศ
ปีนี้ World Expo วนกลับมาจัดใกล้บ้านเราอีกครั้ง ณ จังหวัดโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น พร้อมกับคอนเซ็ปต์ ‘Designing Future Society for Our Lives’ ซึ่งถือว่าเป็นอีกปีหนึ่งที่เราจะได้เห็นเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แค่ความล้ำหน้า แต่ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และต่อยอดไปสู่สังคมที่ยั่งยืนในอนาคต
อย่างไรก็ตาม World Expo นั้นไม่ใช่งานมหกรรมใหม่แกะกล่อง เพราะเป็นงานที่ถูกจัดมาแล้วกว่า 174 ปี ซึ่งจะจัดขึ้นทุกๆ 5 ปี โดยสำนักนิทรรศการระหว่างประเทศ (BIE) และนับตั้งแต่วันแรกที่งานมหกรรมโลกเปิดตัวจนถึงปัจจุบัน ก็ได้สะท้อนให้เราเห็นถึงแนวคิดและความสนใจของผู้คน ที่เปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละช่วงเวลา
The MATTER จึงชวนทุกคนไปย้อนรอยสำรวจความก้าวหน้าของ World Expo กันว่าในแต่ละช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ผู้คนให้ความสนใจกับเรื่องอะไรกันบ้าง
ศตวรรษที่ 19 กับยุคสมัยแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรม
เมื่อพูดถึงศตวรรษที่ 19 เชื่อว่าภาพจำแรกที่แล่นเข้ามาในหัวของหลายคน คือความก้าวหน้าของสิ่งประดิษฐ์ และโรงงานอุตสาหกรรมที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ซึ่งเป็นผลพวงสำคัญของการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) อันเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านทางสังคมและเศรษฐกิจ ทั้งในเรื่องของการเกษตรกรรม การผลิต การคมนาคมขนส่ง ตลอดจนเทคโนโลยี
อังกฤษ คือหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่เริ่มเข้าสู่ยุคสมัยแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรม จนกลายเป็นอีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อโลกในหลายๆ แง่มุม มีสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม และภูมิปัญญามากมายเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้
และเพื่อแสดงถึงความก้าวหน้าทางความคิด World Expo จึงถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1851 ภายใต้ชื่อ ‘The Great Exhibition’ ที่คริสตัลพาเลซ (Crystal Palace) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยมีเจ้าชายอัลเบิร์ต พระราชสวามีของสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร เป็นผู้นำการจัดงานในครั้งนี้ขึ้น
World Expo กลายมาเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับรวบรวมผลงานอันสร้างสรรค์ที่ดีที่สุด และล้ำสมัยที่สุดจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน ในด้านการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุอย่างสันติ แต่ยังเป็นการมุ่งส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิด และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมด้วย
งานนิทรรศการและสินค้าที่ถูกจัดแสดงในครั้งนี้ และตลอดช่วงศตวรรษที่ 19 จึงเน้นจัดแสดงเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาตร์ สิ่งประดิษฐ์ รวมถึงเครื่องจักร อันเกี่ยวโยงกับการพัฒนาอุตสาหกรรม อาทิ จักรเย็บผ้า เครื่องซักผ้า กล้อง 3 มิติ โทรศัพท์ เครื่องเล่นแผ่นเสียง ฯลฯ
ทั้งนี้ World Expo ยังเป็นพื้นที่จัดแสดงผลงานและความก้าวหน้าทางศิลปะด้วยเช่นกัน โดยมีงานประติมากรรมและสถาปัตยกรรมมากมาย ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 ถูกนำมาจัดแสดง ตัวอย่างเช่น เทพีเสรีภาพ ออกแบบโดย เฟรเดอริก ออกุสเต บาร์ทอลดิ (Frédéric Auguste Bartholdi) ซึ่งส่วนหนึ่งของโครงสร้างถูกจัดแสดงที่ Paris Expo ในปี 1878 ถัดมาคือ หอไอเฟล ผลงานโดย กุสตาฟ ไอเฟล (Gustave Eiffel) ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อ World Expo ครั้งที่ 10 จนต่อมาได้กลายมาเป็นแลนมาร์กสำคัญของประเทศฝรั่งเศส หรือกระทั่งชิงช้าสวรรค์ เครื่องเล่นที่เราคุ้นตากัน ก็ถูกสร้างขึ้นเพื่อจัดแสดงใน World Expo ปี 1893 ที่ชิคาโก้ สหรัฐอเมริกา
สิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยี ตลอดจนสถาปัตยกรรมมากมาย ไม่ได้สร้างเสร็จและจบลงใน World Expo แต่สิ่งเหล่านี้คือหลักฐานสำคัญ ซึ่งจะพัฒนาต่อไปสู่นวัตกรรมต่างๆ อีกมากมายในอนาคต
ศตวรรษที่ 20 สงครามโลกกับความเปลี่ยนแปลงทางความคิด
เป็นที่ทราบกันดีว่า ในศตวรรษที่ 20 เกิดเหตุการณ์สำคัญอย่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อจุดสนใจของผู้คนด้วยเช่นเดียวกัน นี่จึงเป็นอีกครั้งที่ World Expo คือภาพสะท้อนความสนใจที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้คน
จากศตวรรษที่ 19 ที่ผู้คนให้ความสนใจในความก้าวหน้าทางวัตถุ เมื่อสงครามโลกเกิดขึ้นและสิ้นสุดลง หลายประเทศต้องเผชิญกับความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ผู้คนจำนวนไม่น้อยก็ปรารถนาจะเห็นสังคม บ้านเมือง และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พวกเขาจึงเริ่มหันมาให้ความสนใจในด้านการพัฒนาและส่งเสริมคุณชีวิตให้ดีขึ้นแทน
เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นและถูกนำมาจัดแสดงใน World Expo ช่วงนี้ จึงสัมพันธ์ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน ตลอดจนเกี่ยวโยงกับชีวิตประจำวันเราไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง เช่น เครื่องเอกซเรย์ โทรทัศน์ เทคโนโลยีการรู้จำเสียง โทรศัพท์ไร้สาย ฯลฯ
นอกเหนือจากนี้ World Expo ในช่วงศตวรรษที่ 20 ยังมีการเปลี่ยนแปลงในแง่ของจำนวนประเทศผู้เข้าร่วมจัดแสดงด้วย โดยในปี 1958 มีตัวเลขผู้เข้าร่วมอยู่ที่ 53 ประเทศ แต่ในปี 2000 ผู้เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการนั้น เพิ่มขึ้นเป็น 155 ประเทศ ซึ่งเป็นผลพวงจากการปลดอาณานิคม และการประกาศอิสรภาพในหลายๆ ดินแดนทั่วโลก
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ขอบเขตความสนใจ รวมถึงนวัตกรรมและองค์ความรู้ถูกขยายออกไปมากขึ้น จนนำไปสู่การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมระหว่างประเทศที่หลากหลายขึ้น
ศตวรรษที่ 21 กับอีกก้าวสู่อนาคตของมนุษยชาติ
ต่อยอดมาจากศตวรรษที่ 20 ซึ่งโลกต้องเผชิญกับความเปลี่ยนผ่านมากมาย ความสนใจของผู้คนในศตวรรษนี้ ทั้งระดับบุคคลและระดับนานาชาติ จึงไม่ได้อยู่ที่ตัววัตถุหรือนวัตกรรมใหม่ๆ เพียงอย่างเดียว แต่ยังได้ขยายขอบเขตความสนใจไปสู่เรื่องที่หลากหลายขึ้น
World Expo ในศตวรรษที่ 21 จึงไม่ได้มีแค่ตัวแทนแต่ละประเทศมานำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยี แต่ภาคส่วนระดับเล็กกว่าอย่างภาคประชาสังคม ภาคเมืองและภูมิภาค รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ก็มาร่วมจัดแสดงด้วย
เมื่อมีภาคส่วนอื่นๆ มาร่วมนำเสนอผลงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับองค์กรที่เกี่ยวโยงในระดับระหว่างประเทศ ผู้คนเลยหันมาสนใจในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากขึ้น นิทรรศการจึงไม่ได้มีไว้เพียงแค่จัดแสดง แต่ถูกใช้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนแนวคิด แนวทางปฏิบัติ และวิธีแก้ปัญหาด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก อาทิ โซล่าเซลล์จากอินทรีย์ รถยนต์ไร้คนขับ รถบัสไร้คนขับ หุ่นยนต์ส่งอาหาร ฯลฯ
ด้วยเหตุนี้เอง World Expo จึงได้เปลี่ยนบทบาทกลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการร่วมมือกันข้ามวัฒนธรรม เพื่อเปลี่ยนแปลงและพัฒนาทุกด้านของชีวิตมนุษย์ให้ไปในทิศทางที่ดีและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
นับตั้งแต่ World Expo ครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน เราจะเห็นได้ว่า ขอบเขตของงานนั้นแปรเปลี่ยนไปตามกระแสการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม งานมหกรรมระดับโลกนี้จึงเป็นเหมือนสะพานเชื่อมระหว่างอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เพื่อรวบรวมความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมใหม่ๆ ให้มนุษย์ไปสู่อีกก้าวหนึ่งในอนาคตได้
เป็นเรื่องน่าติดตามต่อว่า เราจะได้เห็นนวัตกรรมหรือเทคโนโลยี ตลอดจนองค์ความรู้อะไรใหม่ๆ ซึ่งจะเข้ามาช่วยพัฒนามนุษย์ สังคม และโลกของเราให้ไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน ในงานมหกรรมระดับโลกในปีนี้อย่าง ‘Osaka World Expo 2025’
อ้างอิงจาก