จากเหตุกราดยิงในสองพื้นที่จังหวัดลพบุรีและโคราช ได้สร้างความสะเทือนใจให้แก่ผู้เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะเพียงแค่สองเดือนแรกของปี เรากลับได้เห็นความสูญเสียมากมายที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น ไม่ว่ากับเพศไหนหรืออายุเท่าไหร่ก็ตาม และจากเหตุการณ์ทั้งสอง ก็ได้สูญเสียอีกหนึ่งบุคลากรไปเหมือนๆ กัน นั่นก็คือผู้ประกอบอาชีพ ‘รักษาความปลอดภัย’ ที่มักจะถูกลืมบ่อยๆ เวลาเกิดเหตุจราจล
‘ยาม’ ‘รปภ.’ ‘การ์ด’ คำที่เราเรียกกันจนติดปากเวลาพูดถึงเจ้าหน้าที่ที่ยืนเฝ้าอยู่หน้าประตูห้างสรรพสินค้า หน้าโรงแรม ใต้หอพัก หรือในลานจอดรถ ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่หมายถึง เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย หรือ security guard ซึ่งหลายคนเข้าใจว่าพวกเขามีหน้าที่แค่โบกรถ เดินตรวจตรา เฝ้าอาคาร และบอกเส้นทางเท่านั้น
รักษาความปลอดภัยให้ชีวิตคนอื่น แต่ชีวิตตัวเองแขวนอยู่บนเส้นด้าย
เมื่อเหตุการณ์สะเทือนขวัญกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ประชาชนต่างก็แสดงความชื่นชมต่อทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ หน่วยปฏิบัติการพิเศษ ทีมกู้ภัย และพยาบาล แต่ยังมีอีกบุคลากรหนึ่งที่เป็นที่พูดถึงอย่างมากในทั้งสองเหตุการณ์ นั่นก็คือ
“…มีพี่รปภ.วิ่งมาบอก “น้อง! ไปหาที่หลบ มีคนยิงกัน” พี่รปภ.คนนั้น ต่อมาทราบชื่อว่าเป็น นายอำนาจ บุญเกื้อ หนึ่งในผู้เสียชีวิต “พี่เขาทำหน้าที่จนวินาทีสุดท้ายของชีวิตจริงๆ หนูจะขยันตื่นเช้ามาทำบุญให้พี่เยอะๆ ตอนนั้น ถ้าพี่ไม่มาบอก คงเดินออกไปแล้วโดนผู้ก่อเหตุยิงทิ้งแล้ว” บันทึกจากเฟซบุ๊กบัญชี Rattiya Peafen Says หนึ่งในผู้ที่อยู่ในเหตุกราดยิงที่ห้างสรรพสินค้าเทอมินอล 21 จังหวัดโคราช
“พี่รปภ.เป็นคนช่วยเราออกมา เพราะเราติดอยู่ชั้น 3 ไม่กล้าไปไหน นั่งอยู่ในห้องลองชุดกับเพื่อนสองคน ได้ยินเสียงปืนเป็นระยะๆ แต่มีพี่รปภ.เดินมาบอกว่าให้ไปทางไหน จนออกมาได้ เป็นห่วงแกมากๆ เพราะตอนเราออกมาแกก็ยังคงเดินหาคนที่เหลืออยู่ และก็ขอบคุณแกมากๆ เหมือนกัน” หนึ่งในข้อความจากทวิตเตอร์ โดยผู้ที่อยู่ในเหตุกราดยิงที่ห้างสรรพสินค้าเทอมินอล 21 จังหวัดโคราช
และรวมถึงในเหตุการณ์ที่จังหวัดลพบุรี ซึ่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยถูกยิงขณะกำลังจะปิดประตูเพื่อไม่ให้ผู้ก่อเหตุหลบหนี
ด้วยความสงสัยถึงความเสี่ยงของอาชีพนี้ จึงได้ลองพูดคุยกับ คุณประสงค์ ภานุช อายุ 49 ปี เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยฝ่ายอาคารของบริษัทหนึ่ง ซึ่งคุณประสงค์ก็ได้เล่าให้เราฟังว่า
“เราต้องช่วยเหลือผู้อื่นเสมอ นั่นคือสิ่งที่บริษัทฝึกเรามา”
เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยทั้งผู้คนและทรัพย์สิน ดังนั้น เวลาเห็นคนท่าทางไม่น่าไว้ใจเข้ามาในพื้นที่ เจ้าหน้าที่จะต้องรีบเข้าไปกันไว้ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายใดๆ ขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่รปภ.ก็ไม่ได้มีอำนาจในการทำร้ายร่างกายใครทั้งสิ้น เว้นเสียว่าจะถูกกระทำก่อน
แล้วกว่าจะมาเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย จะต้องผ่านการฝึกอบรมอะไรบ้าง
คุณประสงค์เล่าให้ฟังอีกว่า “บริษัทจะส่งเราไปฝึกอบรมที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ มีการฝึกใช้อาวุธ เช่น กระบอง ปืน แล้วก็ศิลปะการป้องกันตัว เพื่อฝึกวิธีต่อสู้กับคนมารบกวนในพื้นที่ของเรา แล้วก็มีการฝึกการพูดจา การต้อนรับแขก การแสดงความนอบน้อมต่อลูกค้า และการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อสุดท้ายจะได้ไปยื่นขอใบอนุญาตเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตามกฎหมาย”
เมื่อพูดถึงความเสี่ยงของอาชีพนี้ จึงลองพูดคุยกับคุณประสงค์ว่าเกิดความกลัวบ้างมั้ย? คุณประสงค์รีบตอบกลับมาว่า “กลัวสิครับ แต่ส่วนมากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำงานร่วมกัน ถ้าเห็นเหตุการณ์หรือคนท่าทางไม่ดี จะรีบโทรหาตำรวจเพื่อให้เข้ามาจัดการก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งขณะรอเจ้าหน้าที่ตำรวจมา เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยก็ต้องจัดการสถานการณ์ตรงหน้าไปด้วย”
“ตอนฝึกเขาบอกเสมอว่าถ้าผู้ร้ายมีปืนมีอาวุธ ให้เราไปหลบก่อน ซึ่งอันนี้เราไม่ผิด เพราะการจะเอาชีวิตเราเข้าไปเสี่ยงมันไม่คุ้ม” คุณประสงค์เสริม เมื่อได้ฟังประโยคนี้ก็ทำให้รู้ว่า หลายครั้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเลือกที่จะเซฟชีวิตของตัวเองได้เสมอ แต่ถึงอย่างนั้น พวกเขากลับเลือกที่จะปฏิบัติหน้าที่ในส่วนของการ ‘รักษาความปลอดภัย’ ของชีวิตผู้อื่นให้เต็มกำลังที่สุด
คุณวรพงษ์ ทิวถนอม จากบริษัทรักษาความปลอดภัย PGS เล่าถึงการปฏิบัติหน้าที่ของรปภ. ว่าจริงๆ แล้วเจ้าหน้าที่ทุกคนจำเป็นจะต้องห่วงชีวิตตัวเอง และทุกคนก็มีความรักชีวิตตัวเองทั้งนั้น แต่ด้วยหน้าที่ของรปภ. ที่จำเป็นจะต้องคอยสังเกต จดจำ และบันทึกข้อมูลที่เกิดขึ้นไว้ตลอด เพื่อไปรายงานต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้บางครั้งพวกเขาจะต้องไปอยู่สถานการณ์ที่เสี่ยงอันตรายบ่อยๆ
“เราจะไม่ให้รปภ.ไปปะทะกับผู้ก่อเหตุเด็ดขาด ทุกคนต้องรักษาชีวิตตัวเองไว้ก่อน แต่ถ้าเกิดเหตุซึ่งๆ หน้าอย่างคนทำร้ายกัน หรือมีเหตุที่ถึงชีวิตอย่างเช่นไฟไหม้ อันนี้ก็อาจจะต้องเข้าไปช่วย เพราะถ้าปล่อยไว้ก็จะมีคนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต” คุณวรพงษ์กล่าว
สวัสดิการที่ได้รับกับความไม่คุ้มเสี่ยง
หลายคนมองว่าอาชีพรักษาความปลอดภัยเป็นอาชีพที่ไม่คุ้มเสี่ยง อาจจะเพราะรายได้ที่น้อยนิดและสวัสดิการที่แทบจะไม่มีเลย ซึ่งเมื่อเทียบกับภาระหน้าที่ที่อันตราย และศักดิ์ศรีที่ต้องแลกไปเวลาถูกใครหลายคนมองในเชิงหยามเหยียด รปภ. ก็นับเป็นอาชีพหนึ่งที่ไร้หลักประกันให้กับชีวิต
แต่งานรักษาความปลอดภัยนับเป็นงานยากอีกงานหนึ่ง เพราะมีความสำคัญต่อ ‘ชีวิต’ และ ‘ทรัพย์สิน’ ของผู้อื่น ดังนั้น เกณฑ์คร่าวๆ ของการรับสมัครจึงถูกกำหนดว่า
- อายุระหว่าง 18-60 ปี ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทจะกำหนดไว้ว่าอายุไม่เกิน 50 หรือ 60 ปี เนื่องจากอายุ บุคลิกภาพ และความสูงมีผลต่อการปฏิบัติหน้าที่
- หากเป็นเมื่อก่อนจะมีการกำหนดว่าต้องจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ 6 แต่ในปัจจุบัน มีการบังคับที่ระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 โดยจะต้องอ่านออกและเขียนได้
- ต้องไม่มีประวัติอาชญากรรมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือไม่เคยมีความทางคดีอาญามาก่อน
- ได้รับการอบรมเป็น รปภ. ครบชั่วโมงตามที่หน่วยงานกำหนด
ดูเหมือนเกณฑ์การรับสมัครจะไม่ใช่เรื่องยากอะไร หรือใครก็สามารถสมัครได้ แต่หลังจากที่ พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 มีกำหนดออกมาว่าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะต้องจบการศึกษาขั้นพื้นฐานมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทำให้มีพนักงานหลายคนได้รับผลกระทบและออกมาประท้วง ซึ่งเลขาธิการสหพันธ์ธุรกิจรักษาความปลอดภัยก็ได้ออกมาเผยว่า ปัจจุบัน รปภ.ทั่วประเทศกว่า 4 แสนคน มีคนไม่จบการศึกษาภาคบังคับถึง 2.8 แสนคน หรือเรียกได้ว่าคนที่จบวุฒิม.3 มีน้อยมาก การปรับข้อกฎหมายนี้ จึงทำให้ธุรกิจรักษาความปลอดภัยและตัวพนักงานเองได้รับผลกระทบในด้านลบจำนวนมาก และยังย้ำว่าวุฒิการศึกษาไม่ได้เป็นเครื่องการันตีถึงคุณภาพในการทำงานรักษาความปลอดภัยอย่างใด แต่ ‘ประสบการณ์’ ต่างหากที่สำคัญ
แล้วสิ่งที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้รับ เพื่อตอบแทนกับความเสี่ยงคืออะไร คุณวรพงษ์ให้ข้อมูลว่า สวัสดิการของรปภ. แน่นอนว่าจะต้องมีประกันสังคมและค่าแรงขั้นต่ำ โดยเรตในกรุงเทพฯ หากทำงาน 8 ชั่วโมงจะอยู่ที่ 331 บาท แต่ส่วนใหญ่จะทำงานกันเป็นกะ นั่นก็คือ 12 ชั่วโมง เรทค่าจ้างก็จะอยู่ที่ 496.50 บาท ซึ่งหัวหน้าชุดรปภ. จะได้เพิ่มไปอีก 50 บาท รวมถึงชุดเครื่องแบบ ที่เมื่อปฏิบัติงานครบ 1 ปี ทางบริษัทก็จะมีชุดเครื่องแบบให้ และมีกองทุนทดแทนสำหรับเกิดเหตุขณะปฏิบัติงานด้วย
โดยปกติเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะต้องทำงานเป็นกะหรือวันละ 12 ชั่วโมง ซึ่งกะเช้าและกะเย็นจะได้เรตค่าจ้างจำนวนเท่ากัน และการทำงานควบกะถือเป็นเรื่องที่กฎหมายไม่อนุญาตให้ทำ เนื่องจากการทำงานเกินเวลาที่กำหนดอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพและประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ นอกเสียจากขณะนั้นจะมีจำนวนเจ้าหน้าที่ไม่พอจริงๆ
“หลักๆ รายได้ของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะมีค่าแรงหรือค่าตำแหน่ง จะมีเบี้ยขยันก็ต่อเมื่อทำในจุดที่เหนื่อยกว่าจุดอื่น หรือถ้าใครปฏิบัติหน้าที่ได้ดี ผู้ว่าจ้างให้คำชมมา ก็จะได้ค่าตอบแทนเพิ่มเติม” คุณวรพงษ์เสริม
เมื่อสอบถามในมุมมองของผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างคุณประสงค์ ก็ได้ความว่า “สวัสดิการที่ได้รับไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แม้จะมีประกันสังคม แต่ที่พักก็ต้องหาเอง โบนัสสิ้นปีก็ไม่ได้ นั่นทำให้รู้สึกว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพที่ลำบาก วันหยุดมีได้อาทิตย์ละ 1 ครั้ง แต่วันนั้นก็จะไม่ได้เงินนะ เพราะส่วนมากเขาจะคิดเป็นรายวัน ส่วนเงินรายวันก็ได้ประมาณ 400 บาท ก็ไม่ได้มากอะไร อยู่ในระดับพอกินพอใช้นั่นแหละ”
แต่อย่างไรก็ตาม เรตค่าจ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย บางครั้งก็ขึ้นอยู่กับบริษัทที่มาว่าจ้างบริษัทรปภ.อีกที ว่าจะให้อัตราค่าตอบแทนหรือสวัสดิการมากน้อยเท่าไหร่ และนอกจากนี้ก็จะดูจากการปฏิบัติหน้าที่หรือขอบเขตการจ้างงานตามสัญญาจ้าง (terms of reference : TOR) ด้วยเช่นกัน หากงานไหนยาก การหาเจ้าหน้าที่ก็ยากเช่นกัน ดังนั้น บริษัทอาจจะต้องกำหนดค่าจ้างที่สูงขึ้นมาอีก เพื่อจูงใจให้คนเข้ามาสมัคร เพราะหากเป็นงานรักษาความปลอดภัยทั่วไป อัตราค่าจ้างก็จะอยู่ที่ 400-500 บาทเท่านั้น
แล้วเท่านี้เพียงพอจะชดเชยความเสี่ยงของผู้ประกอบอาชีพได้หรือเปล่า? คุณวรพงษ์เสนอว่า หากอาชีพนี้ได้รับการยกระดับขึ้นมา กลายเป็นอาชีพแรกๆ ที่ใครก็อยากทำ พวกรายได้หรือสวัสดิการก็คงจะมากกว่านี้เยอะ แต่ตอนนี้อาชีพรักษาความปลอดภัย ยังเป็นอาชีพท้ายๆ ที่คนเลือกทำ ทำให้ค่าแรงและสวัสดิการไม่ได้สูงมากนัก ซึ่งจริงๆ แล้วอาชีพรักษาความปลอดภัยเป็นอาชีพที่น่าเห็นใจ เพราะต้องทำงาน 12 ชั่วโมง รวมถึงต้องบริการลูกค้าที่ผ่านไปมา รองรับอารมณ์คนบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ห้างสรรพสินค้า หมู่บ้าน หรือตามคอนโดมิเนียมก็ตาม
และจากเหตุกราดยิงในห้างสรรพสินค้าทั้งสองจังหวัด ก็ได้ทำให้เราได้เห็นแล้วว่าแท้จริงพวกเขามีศักยภาพมากกว่าที่เห็นในชีวิตประจำวันหรือยามบ้านเมืองสงบ และถ้าหากลองมองข้ามในส่วนของการรับผิดชอบต่อหน้าที่ เราจะมองเห็นถึงความกล้าหาญและความเสียสละมากมายที่ซ่อนอยู่ในตัวพวกเขา ซึ่งทำให้อาชีพนี้ เป็นอาชีพที่มีเกียรติและน่ายกย่องอีกอาชีพหนึ่งในสังคม
ทั้งความอันตราย ความเสี่ยง ระยะเวลาการทำงาาน และความรับผิดชอบ เมื่อแลกกับรายได้และสวัสดิการในการทำงาน สิ่งเหล่านี้เพียงพอรึเปล่ากับชีวิตที่ต้องเป็นด่านหน้ายามเกิดภัยและชีวิตที่แขวนอยู่บนเส้นดายแทบทุกเวลา?