ตั้งแต่เด็กๆ เรามักได้รับการสั่งสอนว่า เราควรมีคำสองคำที่ควรพูดติดปาก คำหนึ่งคือ ‘ขอบคุณ’ และอีกคำคือ ‘ขอโทษ’
ดูเหมือนว่าคำทั้งสองที่เราถูกบ่มเพาะให้สมาทานไว้นี้ ต่างเป็นคำที่เน้นย้ำถึงการรักษาความสัมพันธ์ คือในชีวิตของเรานั้นก็ย่อมต้องไปเกี่ยวข้อง ไปสัมพันธ์กับคนอื่น เรามักจะต้องแสดงความขอบคุณ และกล่าวขอโทษต่อกันอยู่เป็นประจำ ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นการฝึกฝนลดทอนอัตตาและเพิ่มความเข้าใจโลกว่า เอ้อ เราเองก็อาจจะทำผิดพลาดได้ และเรารู้สึกเสียใจกับความผิดพลาดหรือการกระทำของเราที่ไปส่งผลเสียหายต่อคนอื่น
ไม่นานมานี้ คำว่า ‘ขอโทษ’ กลายเป็นคำที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ เป็นการขอโทษที่แสนจะบางเบาและไร้ความหมาย คือดูออกแหละเนอะว่า ไอ้คำขอโทษนั้นถูกพูดออกมาพร้อมๆ กับการกระทำที่ทำตรงข้าม ขอโทษที่จะทำให้เสียหาย ให้บาดเจ็บ ขอโทษด้วยนะ—ไม่ได้ตั้งใจ แต่ตั้งใจ กล่าวคำว่าเสียใจ แต่ก็ไม่ได้แคร์แบบกามิกาเซ่
นอกจากกรณีที่คำขอโทษที่เป็นเพียง ไม่เป็นความนั้น แง่หนึ่งเราอาจจะเริ่มรู้สึกว่าพอโตขึ้น ไอ้คำวิเศษเช่นขอบคุณและขอโทษ โดยเฉพาะคำว่าขอโทษนี่แหละที่มักจะกลายเป็นคำที่มีปัญหา คือส่วนหนึ่งเราก็ส่งเสริมให้กล่าวขอโทษต่อกัน ไปๆ มาๆ กลับกลายเป็นว่าเรากลับขอโทษกันอย่างฟุ่มเฟือย ในโลกปัจจุปันนั้นท่วมไปด้วยการขอโทษ ซึ่งก็ทำให้การขอโทษนั้นกลายไปเป็นเพียง ‘วาทศิลป์’ อย่างหนึ่ง จากคำขอโทษที่พูดไปโดยไม่ได้เสียใจหรือตั้งใจขอโทษแต่อย่างใด ไปจนถึงการขอโทษที่กลายไปเป็นส่วนหนึ่งของประโยค
ขอโทษมันยากหรอ—เออ ยากนะ
ก่อนอื่น ต้องยืนยันก่อนว่าการกล่าวขอโทษ กล่าวขออภัย แสดงความรู้สึกขออภัยนั้นเป็นกระบวนการ และความรู้สึกที่สำคัญมากๆ อยู่ดี แต่ในขณะเดียวกันการขอโทษที่ดูง่ายนั้น นอกจากการพูดออกมาเปล่าๆ แล้ว การขอโทษเป็นเรื่องที่ยากในตัวเอง เพราะการขอโทษมีความยุ่งขิงกับความรู้สึกและการรับรู้ต่อตัวเองอย่างซับซ้อน
แน่นอนว่าการที่เราจะขอโทษอะไรใดใด จุดเริ่มของการขอโทษคือการรับรู้ความผิดพลาดของตัวเองก่อน บางครั้งอาจจะต้องรับรู้ด้วยว่าการกระทำหรือความผิดพลาดของเรานั้นได้สร้างความเสียหายออกไปมากน้อยแค่ไหน ความผิดนั้นของเรามันรุนแรงขนาดไหน มีเจตนาให้เกิดหรือเป็นอุบัติเหตุ ซึ่งจริงๆ การกล่าวขอโทษนั้นก็ดูจะเป็นก้าวแรกของการ ‘ชดเชย’ ต่อสิ่งที่เราได้กระทำลงไปต่อผู้อื่น อย่างน้อยที่สุดก็ในระดับความรู้สึก เป็นการชดเชยทางใจไปก่อนลำดับแรก
ด้วยความที่เราก็เป็นปุถุชน มีอัตตาที่ส่วนหนึ่งมันคือการยืนอยู่บนมุมมองของตัวเราเอง หลักคิดของเราเอง ไอ้จุดแรกๆ ของการขอโทษอย่างมีประสิทธิภาพคือการรับรู้(recognize) คือรับรู้มองเห็นถึงทั้งความผิดพลาดของเราเอง กระทั่งมองเห็นความเสียหายที่อาจต้องใช้การมองในมุมของคนอื่น เท่านี้ก็เป็นเรื่องที่ยากมากๆ แล้ว ซึ่งสิ่งยากออกไปกว่านั้นคือ สมมุติว่าเรารู้สึกเสียใจจริงๆ ทำอย่างไรเราถึงจะสื่อสารความเสียใจผ่านคำขอโทษนั้นให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อการขอโทษเป็นส่วนหนึ่งของวาทศิลป์ทำให้เรายิ่งขอโทษกันยากขึ้นไปอีก
นอกจากการจะรู้สึกขอโทษ และสื่อสารการขอโทษให้มีประสิทธิภาพเป็นโจทย์ยากในตัวเองแล้ว มีข้อสังเกตหนึ่งว่าทุกวันนี้อยู่ในโลกที่ท่วมอยู่ในโลกยุคสมัยใหม่ ซึ่งคำขอโทษที่ล่องลอยอยู่รอบตัวเรานี้ก็มีทั้งที่ ขอโทษไปงั้นๆ กับการขอโทษที่ล้นเกิน คือด้านหนึ่งก็คือขอโทษโดยมีรู้สึกผิด กับอีกด้านก็ขอโทษและรู้สึกผิดจนเกินไป
การขอโทษเป็นเรื่องหนึ่งที่ยืนยันว่าภาษาเป็นเรื่องซับซ้อน การขอโทษแบบไม่ขอโทษจริง ไม่เสียใจจริง ในที่สุดมันก็ปรากฏในวาทศิลป์ ในคำพูดที่เราเอื้อนเอ่ยขอโทษออกมา และที่ซับซ้อนไปกว่านั้นคือ ลึกๆ เราแม่งไม่รู้สึกขอโทษแบบสุดใจ มันก็อาจจะปรากฏในคำขอโทษ คำขอโทษแบบจริงใจก็เลยกลายเป็นขอโทษแบบไม่เสียใจ(non apology apology) ไปเสียอย่างนั้น ซึ่งตรงนี้ก็ยอกย้อนจริงๆ นะ คือในที่สุดเราอาจจะไม่เสียใจจริงๆ พูดไปแบบนั้น หรืออาจจะเสียใจแต่เป็นคำพูดติดปาก หรือทั้งติดปากทั้งลึกๆ ไม่รู้สึกเสียใจ—แต่เราไม่ทันรู้ว่าเราไม่ได้เสียใจจริงๆ นี่หว่า(งง!)
ตัวอย่างของการกล่าวขอโทษ แต่ไม่ได้เสียใจจริงๆ ที่นักจิตวิทยามักจะพยายามชี้ให้เราเห็นว่ามึงไม่เสียใจจริงๆ ก็เช่นการพูดว่า ขอโทษที่ทำให้เสียใจ ขอโทษที่ทำให้เสียความรู้สึก การพูดแบบนี้มันอาจมีนัยว่า เออที่ทำไปอะ เรื่องที่เกิดขึ้นมันไม่ได้ผิด แต่ไปผิดที่การเสียความรู้สึกของอีกฝ่ายเอง ซึ่งเราก็อาจจะลิสต์การขอโทษแบบไม่เสียใจ—ที่เอาจริงๆ เราเองก็อาจจะหลุดขอโทษแบบนั้นไปบ่อยๆ เช่น
– ขอโทษด้วยนะ เราแค่… ล้อเล่น/ เราเจตนาดี/ แค่อยากช่วย โดยนัยของการขอโทษแบบนี้คือการให้ความชอบธรรมว่าเอ้อ เรามีเจตนาดีนะ ไอ้สิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ได้มีอะไรแย่(ทั้งๆ ที่ก็อาจจะแย่ก็ได้)
– ขอโทษนะ แต่… ถ้าพูดว่าขอโทษแล้วมีแต่ ก็เนอะ งงละ
– ขอโทษด้วย ถ้า… ประโยคเงื่อนไข คือการโทษแบบมีเงื่อนไขฟังแล้วจริงใจยากเนอะ ต้องให้เข้าเงื่อนไขถึงจะรู้สึกเสียใจหรืออยากขอโทษ หรือยังไง เหมือนพูดลอยๆ เหมาๆ กว้างๆ
– ขอโทษด้วยแต่เธอก็ไม่น่าทำแบบนั้น—ตกลงใครผิด?
ขอโทษมันยากหรอ—ยุ่งยาก แต่จำเป็น
พออ่านๆ มาถึงตรงนี้เราก็จะเริ่มรู้สึกว่าคำวิเศษนี้ทำไมมันยากจัง ยากตั้งแต่การเกลาอัตตาของเราเพื่อรู้สึกขอโทษ อาจจะรู้สึกเสียใจแล้วแต่อัตตาค้ำคอจนการ ‘กล่าว’ ขอโทษมันยาก หรือกระทั่งวาทศิลป์ทั้งหลายที่การขอโทษมันเข้าไปเกี่ยวไปลดทอนความรู้สึกเสียใจของการขอโทษให้เบาบางลง ไปจนถึงการประชดประชันอะไรกันอีกมากมาย ตั้งแต่การขอโทษไปงั้นๆ ไปจนถึงขอโทษแล้วมันหายไหม
แต่ก็นั่นแหละ จริงๆ ไม่ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญมาบอก สุดท้ายมันก็กลับมาที่เงื่อนไขพื้นฐาน คือการกระทำพูดดังกว่าคำที่พูด คือเราพูดขอโทษไปแล้ว เราทำอะไรให้อีกฝ่ายรู้สึกว่า เออ กูเสียใจจริงๆ อยากแก้ไขจริงๆ ซึ่งก็อาจต้องย้อนไปที่ว่าเรารับรู้ รู้สึก และเข้าใจบริบท รากเหง้าและการขอโทษนั้นๆ มากน้อย ลึกซึ้งแค่ไหน
เรื่องราวก็เลยกลับมาที่การขอโทษในฐานะคำพื้นฐาน อย่างที่ว่าว่าเราอาจจะขอโทษกันจนเป็นนิจ บ้างก็ขอโทษแต่ก็ยังทำ ขอโทษปุ้บ ทำปั้บ แต่ในที่สุดการขอโทษก็ยังเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นเรื่องซับซ้อนในระนาบของความสัมพันธ์ และการรักษาความสัมพันธ์กับผู้คนที่เราห่วงใยหรือมีความรับผิดชอบต่อคนๆ นั้น รับผิดชอบการกระทำของเราที่มีต่อคนอื่น ความยากของการขอโทษจึงอยู่ที่กระบวนการของการขอโทษที่ทำให้เราได้ทบทวนตัวเอง ทบทวนการกระทำ ทบทวนความคิดของเราต่อเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง
ความยากในการขอโทษมันก็เป็นสักขีพยานหนึ่งของความยากในชีวิตว่า เอ้อ เราจะมองเห็นปัญหาที่เกิดจากตัวเรารึเปล่า มองเห็นรอยแผลของคนอื่นมากน้อยแค่ไหน ยินดีที่จะยอมรับความผิด ลดทอนอัตตา และอย่างที่บอกว่าในที่สุดถ้าเราแคร์อีกฝ่ายจริงๆ หรืออยากจะรับผิดชอบจริงๆ ไอ้การกล่าวคำขอโทษที่ว่ายาก ในที่สุดมันก็หาทางขอโทษและซ่อมแซมแก้ไขเพื่อรักษาสิ่งต่างๆ ไว้จนได้นั่นแหละ
และในทางกลับกัน ในการขอโทษก็ย่อมมีควาคาดหวังจากอีกฝ่าย ดังนั้น ก็เลยเป็นเรื่องสามัญมากๆ ว่าถ้าเรารับรู้ได้ว่าการขอโทษมันถูกพูดออกมาโดยไม่มีเงื่อนไขข้างต้น เป็นคำพูดออกมาแบบนั้น ก็จะยิ่งทำให้เห็นว่า รากเหง้าอันเกิดจากความพยายามอยู่ร่วมกันมันเป็นศูนย์ ไม่มีการแยแสสนใจกันอย่างแท้จริง มันก็ยิ่งทำให้คำที่เราพยายามจะรักษา รักษาทั้งการขอโทษและการรักษาความสัมพันธ์กันในสังคมกลายเป็นคำที่ไม่มีความหมาย ก็เลยไม่แปลกที่การขอโทษที่ไร้ค่านั้นจะนำมาซึ่งรอยที่ร้าวยิ่งขึ้น
อ้างอิงข้อมูลจาก