ขอโทษ ❌
นั่งเถียงกันเป็นชั่วโมง เพื่อวนไปเถียงเรื่องอื่นต่อ ✅
ความเห็นที่ไม่ตรงกัน ทำให้เรานั่งเถียงกันยืดยาวนับชั่วโมง ต่างคนต่างยืนอยู่บนเหตุผลของตัวเอง เมื่อแลกเหตุผลกันคนละหมัดสองหมัด จุดนี้นี่เองที่เห็นไม่ตรงกัน จุดนี้นี่เองที่เขาเข้าใจผิดไป ทั้งไม้อ่อนไม้แข็งถูกงัดมาใช้จนหมด ไม่มีแง่มุมไหนที่ยังไม่ถูกยกมาพูดถึง เหมือนจะหาทางลงของเรื่องได้ จังหวะนี้แหละที่ต้องมีการเอ่ยปากขอโทษ เพื่อให้เรื่องราวทุกอย่างจบลงด้วยดี กลับต้องเลี้ยวกลับไปเถียงประเด็นใหม่ เพียงเพราะเขาคนนั้นไม่อยากพูดเอ่ยคำว่า ‘ขอโทษ’
หลายคนคงเคยเจอปัญหาประมาณนี้กันมาแล้ว ไม่ว่าจากเพื่อน คนรัก ครอบครัว หรือแม้แต่คนในโลกออนไลน์ ที่ไม่เหน็ดเหนื่อยกับการถกเถียงยืดยาว ให้เถียงตลอดทั้งวันยังได้ แต่ถ้าพบว่าตัวเองเป็นฝ่ายผิด คำขอโทษแสนสั้น (อย่างน้อยก็สั้นกว่าการเปิดประเด็นใหม่มาเถียง) กลับอันตธารไป เหมือนจะออกมาแล้ว รู้แล้วล่ะว่าผิด แต่ก็ไม่มีคำไหนเอ่ยออกมา
ทำไมนะ การเอ่ยคำขอโทษถึงแสนยากที่จะได้ยินจากปากบางคน การนั่งเถียงกันจนเหนื่อยยังไม่เพียงพอ ยังต้องเปิดประเด็นต่อไปเพื่อเถียงกันอีกยก จนกว่าเขาจะเจอเรื่องที่เขาถูกต้องงั้นหรอ หรือเพียงเพราะไม่ต้องการขอโทษในประเด็นนี้
คำแสนง่าย ทำไมพูดแสนยาก?
อีโก้สูง ไม่อยากเสียหน้า ยังไม่คิดว่าตัวเองผิดจริงๆ ร้อยแปดพันเก้าเหตุผลที่เราได้แต่นั่งเดาว่าในใจเขาคิดอะไร ทำไมถึงเลี่ยงที่จะพูดสองพยางค์นี้นัก ลองมาฟังเหตุผลของเรื่องนี้จากผู้เชี่ยวชาญอย่าง กาย วินช์ (Guy Winch) นักจิตวิทยา ผู้เขียน Emotional First Aid เล่มที่หลายคนคุ้นเคย ได้กล่าวถึงคนที่เอ่ยคำขอโทษได้ยากไว้อย่างน่าสนใจ
เรามักเข้าใจว่า คนที่ไม่ค่อยขอโทษใครเนี่ย ที่เขาเป็นแบบนี้เพราะเขาไม่อยากเสียหน้าเฉยๆ นั่นแหละ แต่เบื้องหลังพฤติกรรมนี้ มันสะท้อนลงไปได้ลึกกว่านั้น ลึกลงไปจนเห็นถึงความพยายามในการปกป้องความรู้สึกที่เปราะบางของตนเองเลยล่ะ เขาคนนั้นอาจเอ่ยคำขอโทษแบบทันควัน แบบไม่ต้องไตร่ตรอง เวลาเดินชนใครสักคนอย่างไม่ตั้งใจ แต่กลับเถียงคอเป็นเอ็นกับคนใกล้ตัว
นั่นเพราะสำหรับบางคน การเอ่ยขอโทษจะไปกระตุ้นให้รู้สึกอายมากกว่ารู้สึกผิด พอขอโทษปุ๊บ เท่ากับว่าเรายอมรับว่าเราเป็นฝ่ายผิด สำหรับบางคน ความรู้สึกผิดอาจนำพามาด้วยความเสียใจ หนทางแก้ไข เพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่สำหรับบางคน (โดยเฉพาะเหล่าตัวจี๊ดที่ไม่อยากเอ่ยขอโทษ) สิ่งนี้ทำให้รู้สึกอับอายมากกว่าที่ต้องยอมรับผิดตรงๆ แบบนี้
แล้วทำไมถึงยอมรับผิดไม่ได้ล่ะ ในเมื่อใครๆ ต่างก็เคยทำผิดพลาดกันทั้งนั้น? อาจด้วยปัญหาของการแยกแยะระหว่างตัวตนและการกระทำ มองว่าสองสิ่งนี้ผูกอยู่ด้วยกันอย่างแยกไม่ได้ หากการกระทำเราเป็นแบบไหนแปลว่าเราจะเป็นคนแบบนั้น เหมือนกับว่า พอยอมรับว่าทำผิดแล้ว จะแปลว่ากลายเป็นคนไม่ดีไปโดยอัตโนมัติ พวกเขาไม่ได้มีความคิดที่ว่า ทำผิดครั้งนี้ก็ขอโทษสิ คนเราผิดพลาดกันได้ ไม่ได้แปลว่าเป็นคนไม่ดีเสียหน่อย หากทำผิด ยอมรับผิด แปลว่าเป็นคนไม่ดี ไม่ฉลาด เห็นแก่ตัว
สำหรับบางคน การขอโทษจึงเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อตัวตนและความภาคภูมิใจในตนเอง
เราเลยได้เห็นหลายคนที่เลือกจะถกเถียงประเด็นอื่นๆ ต่อไป ดีกว่าจะต้องเอ่ยขอโทษ เพราะคนเหล่านี้สบายใจที่จะจมจ่อมอยู่กับความโกรธ ความฉุนเฉียว มากกว่าจะต้องเผยความความเปราะบางที่จะกลายเป็นภัยคุกคามตัวตน
สอดคล้องกับอีกหนึ่งข้อสันนิษฐานที่น่าสนใจจาก พาเมล่า ดี บราวน์ (Pamela D. Brown) นักจิตวิทยา ผู้ให้คำแนะนำด้านความสัมพันธ์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เวลาเราทำร้ายจิตใจคนใกล้ตัวเนี่ย ยิ่งเรารักเขา สนิทสนมกับเขามากเท่าไหร่ มันยิ่งทำให้เรารู้สึกผิดมากเท่านั้น เพราะเราเองก็จะตระหนักว่า เรากำลังทำตัวขัดแย้งกับความรู้สึกว่าตนเองเป็นคนดีและมีศีลธรรม (คล้ายกับปัญหาการแยกแยะตัวตนและการกระทำในตอนต้นของ กาย วินช์)
เพื่อให้ตัวเองสบายใจยิ่งขึ้น ทั้งที่รู้ตัวว่าตัวเองเนี่ยผิด ต้องเป็นฝ่ายขอโทษ เลยเลือกโน้มน้าวตัวเองว่าไม่ผิดหรอก อย่าขอโทษเลย และเลือกกล่าวโทษอีกฝ่ายแทน พอคิดแบบนี้แล้วช่วยให้เราจินตนาการได้ว่าการกระทำของเราถูกต้องหรือสมเหตุสมผล และถ้าเราสมเหตุสมผลก็ไม่จำเป็นต้องขอโทษไงล่ะ
กรรมการอึ้ง คนรอคำขอโทษอึ้งด้วย แต่สิ่งที่กำลังเล่านี้ขอให้เป็นเพียงการทำความเข้าใจคนที่ไม่ค่อยอยากขอโทษใคร มากกว่าการปักธงว่าอีกฝ่ายต้องเป็นคนผิดเท่านั้น พอเข้าใจอีกฝ่ายมากขึ้นแล้ว อาจทำให้เรารับมือกับพวกเขาได้ง่ายขึ้น
ตอนนี้เราได้แกะรอยการกระทำของเขาแล้วว่าพวกเขาจะไม่ยอมลดกำแพงลง เพราะไม่อยากเผยด้านเปราะบางออกมา การไล่ต้อนเขาไปเรื่อยๆ พูดย้ำถึงความผิดของเขา อาจยิ่งยั่วยุและทำให้เรื่องราวไปไกลกว่าเดิม หากเราเลือกวิธีนี้แล้ว (ซึ่งไม่ได้ผิดอะไร) เราเองอาจจะต้องยอมรับผิดที่ตามมาด้วยเช่นกัน
กลับมาสำรวจในใจเราอีกครั้ง ว่าเราอยากได้ยินคำขอโทษเพราะอะไร อยากให้เขารู้สึกผิดเสียบ้าง อยากให้เขาเสียใจเหมือนที่ทำกับคนอื่น หรือเพราะอยากให้เขายอมรับความรู้สึกของตัวเอง ไม่ว่าเหรียญจะออกหน้าไหน คำตอบของเราเองอาจทำให้เรามองเรื่องนี้และจัดการมันได้ง่ายยิ่งขึ้น
อ้างอิงจาก