หากคุณเป็นคนที่ติดตามซีรีส์เกาหลีเเนวการศึกษา เคยสังเกตไหมว่า แต่ละเรื่องมักเล่าเรื่องการอดทนตั้งใจเรียนอย่างหนัก เห็นความทุกข์และน้ำตาของเด็กๆ บางเรื่องหนักไปถึงขั้นเกิดเป็นโศกนาฏกรรม เพราะต้องเเบกเเรงกดดันของครอบครัวเเละสังคม
ซีรีส์เกาหลีหลายเรื่องพยายามเล่าเรื่องสะท้อนสังคม บอกคนดูที่มีทั้งบทบาทพ่อเเม่ คุณครู เเละนักเรียน ที่ต่างก็เจ็บปวดภายใต้ระบบการศึกษา เพราะค่านิยมที่ส่งต่อจนเป็นความเชื่อว่า การศึกษาคือต้นทุนชีวิตเเละเป็นบันไดไต่เต้าสู่ชีวิตที่ดีขึ้น
ปรากฏการณ์ของโศกนาฏกรรมแข่งเรียนหนักในซีรีส์เกาหลี ได้รับความนิยมเเละสะกิดความรู้สึกคนดูทั่วโลก ภาพสะท้อนเหล่านี้กำลังบอกเล่าเเรงกดดันเเละสะท้อนเบื้องหลังระบบการศึกษาเกาหลีใต้อย่างไร
เด็กเกาหลีใต้ยังเชื่อว่า ‘เรียนหนักเเล้วจะได้ดี’
เด็กเกาหลีใต้ขึ้นชื่อว่าเรียนหนัก แม้สำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลี หรือ KOSTAT จะเคยเปิดเผยข้อมูลว่า เวลาเรียนเฉลี่ยของนักเรียนเกาหลีใต้ ‘ในทุกระดับชั้น’ คือ 6 ชั่วโมง 17 นาที โดยนักเรียนชั้น ม.ปลายเรียนหนักที่สุด เฉลี่ย 10 ชั่วโมง 13 นาทีต่อวัน แต่สำหรับนักเรียน ม.ปลายบางคน ต้องใช้เวลาทั้งในโรงเรียนและสถานกวดวิชาอย่างน้อย 14 ชั่วโมงต่อวัน คือ อ่านหนังสือก่อนคาบเเรก เรียนถึงเย็น เเล้วไปเรียนพิเศษต่อ เเละกลับบ้านมาทบทวนอีกรอบ เป็นเช่นนี้ทุกวัน
จนอาจเรียกได้ว่า นอกจากเวลานอน ที่เหลือใช้ไปกับการเรียน
นอกจากนั้น รายงานของสถาบันการศึกษาและการดูแลเด็กของเกาหลี (Korea Institute of Child Care and Education) พบว่า เเม้เเต่เด็กอายุ 2 ปียังต้องเรียนพิเศษเเบบส่วนตัว โดยส่วนใหญ่จะเรียนภาษาเกาหลี กีฬา ศิลปะ และภาษาอังกฤษ
เกาหลีใต้บรรจุคุณสมบัติเรื่อง ‘การศึกษา’ เป็นเรื่อง ‘พื้นฐาน’ ที่ทุกคนควรมี เพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย สมัครงาน หาเเฟนหรือคู่ครอง รวมถึงชนชั้นทางสังคม
‘ค่านิยม’ นี้เป็นผลมาจากร่องรอยช่วงสงครามสงครามเกาหลี เเละวิกฤตเศรษฐกิจการเงินในเอเชีย (ที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ “วิกฤตต้มยำกุ้ง”) รัฐบาลเกาหลีสร้างนโยบายตอบโจทย์ตลาดเเรงงาน ซึ่งเเสดงให้คนสมัยนั้นเห็นว่า เมื่อพวกเขาตั้งใจเรียน มีการศึกษาสูง พวกเขาจะประสบความสำเร็จ ความเชื่อนี้ถูกส่งต่อผ่านคำสอน ความคาดหวังจากพ่อเเม่สู่ลูก จากรุ่นสู่รุ่น ทำให้เด็กๆ เชื่อว่าการศึกษาจะเปลี่ยนสถานะทางสังคมเเละรักษาภาพลักษณ์ครอบครัวได้เเบบไม่ต้องตั้งคำถาม
ค่านิยมการศึกษาว่า เมื่อชีวิตพวกเขาก้าวสู่ชั้น ม.ปลายจะต้องเรียนหนักเเละตั้งใจเรียนมีเกรดที่ดี ถูกถ่ายทอดผ่านซีรีส์เกาหลีในช่วงหลายปีหลัง เช่น เรื่อง SKY Castle ที่บอกเล่าเรื่องของพ่อเเม่ที่ทำทุกอย่างให้ลูกสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำเกาหลีให้ได้ หรือ The Penthouse สะท้อนเรื่องการเป็นที่หนึ่งเท่านั้นที่จะทำให้พวกเขารอดในสังคม รวมไปถึงเว็บดรามา (web drama – ซีรีส์สั้นที่ออกอากาศทางออนไลน์) อย่างเรื่อง TWENTY TWENTY ที่เเม้จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้เเล้ว พวกเขาก็ต้องมาเจอกับเเรงกดดันมากขึ้นในชีวิตมหาวิทยาลัย
ซีรีส์เกาหลีดังกล่าวคือภาพสะท้อนสังคม เพราะทุกวันนี้นักเรียนเกาหลีใต้ยังก้มหน้าอ่านหนังสือเเละเตรียมตัวสอบเพื่ออนาคตที่ดีเเละเดินตามรอยความคาดหวังของพ่อเเม่เเละสังคม
หลังฉากการเรียนหนัก พ่อเเม่รักลูกหรือกลัวแพ้?
นอกจากเด็กเกาหลีใต้ยังต้องเรียนหนักเเล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ซีรีส์เกาหลีพยายามบอกคือการเรียนหนักของเด็กเกาหลีใต้เป็นผลพวงจากปรากฏการณ์บทบาทของ ‘เเม่’ ในวงการศึกษา หรือคนเกาหลีเรียกว่า ‘Dwaeji Omma’ ซึ่งเป็นเครือข่ายสังคมคุณเเม่ที่อาจรู้จักกันจากงานสังคม (มาจากฐานะทางสังคม) งานอดิเรก หรือการศึกษา เพื่อจัดกลุ่มติวส่วนตัวเเละวางเเผนการศึกษาให้กับลูกๆ เเละที่สำคัญคือการหาติวเตอร์ที่มีชื่อเสียงเเละเก่งที่สุดมาสอนลูกให้ได้
หากนึกถึงเหล่าออมม่าใน SKY Castle อาจทำให้เห็นภาพมากขึ้นที่รวมตัวกันเพราะอยู่ในหมู่บ้านชนชั้นสูง เกิดเป็นกลุ่มสังคมเล็กๆ ที่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ การส่งลููกๆ เข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำเกาหลีให้ได้ หรือกลุ่มคุณเเม่จากเพนต์เฮาส์ 100 ชั้นจากเรื่อง The Penthouse ที่มีกลุ่มติวร้องเพลงสำหรับลูกหลานของคนในคฤหาสน์หรูเพื่อสอบเข้าโรงเรียนเเละมหาวิทยาลัยชื่อดัง
จริงๆ เเล้วซีรีส์ไม่ได้เล่าเกินกว่าความเป็นจริง เพราะเหตุการณ์ในซีรีส์ทั้ง 2 เรื่องข้างต้น สอดคล้องงานวิจัยเรื่องบทบาทของเเม่ในวงการศึกษา ระบุว่า เป้าหมายของการวางเเผนการเรียนให้กับลูก คือ ลูกของพวกเขาจะต้องสอบเข้า 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำของเกาหลีให้ได้ อย่าง SKY ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล (S-Seoul National University) มหาวิทยาลัยเกาหลี (K-Korea University) หรือมหาวิทยาลัยยอนเซ (Y-Yonsei University) ซึ่งถือว่าเป็นใบเบิกทางสำคัญในชีวิตที่จะกำหนดอนาคตลูกๆ
รวมถึงภายใต้การเเข่งขันอย่างเข้มข้นในเกาหลีใต้ เนื่องจากมีคนที่สอบเข้าได้ในเเต่ละปีมีไม่ถึง 1% จากผู้เข้าสอบทั้งหมด เพราะผลการศึกษาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะกำหนดอนาครวมถึงภาพลักษณ์คนๆ หนึ่งเเละครอบครัว ส่งผลให้เด็ก ม.ปลายตกอยู่ในสภาวะความเครียดเเละกดดัน เพราะพวกเขาไม่อยากถูกมองว่า เป็นคนล้มเหลว
ภาพลักษณ์ที่ดีเเลกมาด้วยน้ำตาเเละความเจ็บปวด
จากที่กล่าวมาคนเกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ขณะเดียวกันในเเต่ละปีมีคนจากไปเพราะพิษเเรงกดดันทางการศึกษา
National Geographic Thailand เคยให้ข้อมูลว่า ความเครียดจากการสอบทำให้เกาหลีใต้มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยเฉพาะช่วงสอบเข้ามหาวิทยาลัย ในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ที่เรียกกันว่าการสอบ 수능 (ซูนึง) ซึ่งในวันนั้น จะมีตำรวจหรือยามคอยดูแลในสถานที่ที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย เช่น บริเวณรถไฟใต้ดิน บริเวณสะพานนาโป หรือที่อื่นๆ
ซึ่งข้อมูลไปในทางทิศทางเดียวกันกับผลสำรวจของสถาบันวิจัยการพัฒนาสังคม (Institude for Social Development) ของมหาวิทยาลัยยอนเซที่กล่าวถึงใน ‘หนังสือมหัศจรรย์เกาหลี’ ชี้ว่าในบรรดา3ประเทศ OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของประเทศที่พัฒนาแล้ว 37 ประเทศ) วัยรุ่นเกาหลีไม่มีความสุขที่สุด รวมถึงการฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้วัยรุ่นเกาหลีเสียชีวิต
นอกจากนั้น Koreantimes ยังระบุอีกว่า นักเรียนเกาหลีใต้ 277 คนจากคนที่พยายามฆ่าตัวตายทั้งหมดในปี 2560 ทำลงไปเพราะความเครียดและความกังวล อีกทั้งในปี 2561 วัยรุ่นเกาหลีนิยมโพสท์ภาพเซลฟี่ที่จะทำให้ตัวเองเจ็บปวดลงในสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีวัยรุ่นเกาหลีโพสท์ภาพมากกว่า 8,000 ครั้ง อีกทั้งร้อยละ 84 โพสท์ภาพการทำร้ายตัวเอง
ภาพเหล่านี้คือปัญหาสังคมที่ต้องถกเถียงเพื่อหาทางออก ผู้จัดทำซีรีส์จึงหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเล่าผ่านตัวละครชั้น ม.ปลายหลายเรื่อง เช่น ‘คังเยซอ’ จาก SKY Castle กับ ‘ฮาอึนบยอล’ จาก The Penthouse ที่อดกลั้นความรู้สึกจนกลายเป็นเด็กเก็บกดเเละทำทุกอย่างเพื่อเป็นที่หนึ่ง หรือ ‘มาฮวียอง’ จาก At Eighteen ที่ถูกกดดันจนทำร้ายร่างกายตัวเอง รวมถึง ‘คังมินอา’ จาก True Beauty ที่นำความเครียดของตนเองไปรังเเกคนอื่น
การศึกษาถูกวางเป็นรากฐานสำคัญของชีวิต เเละสำหรับสังคมเกาหลีใต้ที่ความเครียดเเละเเบกรับการกดดันเป็นเรื่องธรรมดา เเต่เราอาจหลงลืมว่าพวกเขาเป็นเพียงอายุ 18 ปีที่ทำผิดพลาดเเละมีความสุขได้
หรือความจริงเเล้วเด็กเกาหลีใต้ เเค่อยากจะเป็นคนที่มีความสุขเเละผิดพลาดได้?
“เมื่อเรียนอยู่เราดูเกรด เมื่อเรียนจบเราดูฐานะ อาชีพหรืออะไรพวกนี้ ดังนั้นคนเก่งที่สร้างสังคมนี้ขึ้นมา ไม่ควรวัดค่าจากตัวเลขพวกนี้เพียงอย่างเดียว และควรให้โอกาสนักเรียนทุกคนเท่ากัน เพื่อค้นหาสิ่งที่ตัวเองถนัดและช่วยคนๆ นั้นสร้างสิ่งดีๆ ให้กับสังคม”
คำพูดของชเวจุนอู นักเรียนหน้านิ่งที่ย้ายเข้ามาใหม่จากเรื่อง At Eighteen เพราะเขาเห็นเพื่อนร่วมชั้นของเขาเสพติดการอ่านหนังสือเเละเตรียมตัวสอบ เเต่ความจริงเเล้ว สิ่งที่เด็กอายุ 18 คนหนึ่งต้องการคืออยากจะมีความสุขเเละเห็นสิ่งที่พวกเขาชอบ
หากพวกเขาเดินถอยหลังมาหนึ่งก้าว มองสิ่งรอบตัว พวกเขาอาจค้นพบว่านอกจากตัวอักษรในหนังสือยังมีสิ่งน่าสนใจให้พวกเขาค้นหาเเละลองทำ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่เเตกต่างในชีวิต
เเละเราก็หวังว่า.. วันหนึ่งอาจมีซีรีส์เกาหลีที่เล่าเรื่องความสดใสของเด็กวัย 18 ปีที่เป็นภาพสะท้อนสังคมว่า พวกเขามีความสุขเพื่อตัวเอง โดยไม่ต้องเเบกรับความคาดหวังของใคร