“3 เดือนไม่ได้เงินเลย” คือหนึ่งในสิ่งที่นักศึกษาผู้กู้เงิน กยศ. ระบุ
หากพูดถึง ‘กยศ.’ หลายคนตอนนี้อาจนึกถึงปรากฏการณ์ ที่ผู้คนในโซเชียลเรียกร้องผู้ที่กู้ยืมแต่พอเรียนจบแล้วกลับไม่จ่าย ให้คืนเงินก้อนดังกล่าว เพื่อไม่ให้เป็นการตัดโอกาสคนอื่นที่ต้องการกู้ค่าเล่าเรียน
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากประเด็นนี้ The MATTER พบกับประเด็นที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ เสียงเรียกร้องของนิสิตนักศึกษา ถึงค่าครองชีพที่ไม่ได้รับมาหลายเดือน จนกระทบกับการดำรงชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย
ที่ไปที่มาของปัญหานี้สร้างผลกระทบมากเพียงใด แล้วทำไมถึงเกิดสถานการณ์เช่นนี้ขึ้น? ขอชวนทุกคนไปฟังเสียงของนักศึกษาที่กำลังกู้กยศ. ที่กู้ยืมค่าครองชีพร่วมด้วย พร้อมทั้งความเห็นของ นันทวัน วงศ์ขจรกิตติ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพื่อคลี่คลายข้อสงสัยดังกล่าว
แชมป์ (นามสมมติ) นักศึกษาปี 4 คณะเศรษฐศาสตร์ สาขาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกกับเราถึงกระบวนการกู้ยืมและปัญหาที่เขาต้องประสบระหว่างรอเงินค่าครองชีพ ที่มีการโอนช้า
แชมป์เล่าว่า เขาเริ่มกู้กยศ.ตอนที่เขาอยู่ชั้นปีที่สาม “ก่อนที่จะยื่นกู้ก็มีการหาข้อมูลมาก่อนว่า มีการกู้ค่าครองชีพที่ให้เดือนละ 3,000 บาท นอกเหนือจากค่าเทอมด้วย”
หลังจากนั้นเขาไล่เรียงกระบวนการกู้ยืมให้ฟังว่า ระหว่างที่ทำเรื่อง ผู้กู้ต้องส่งเอกสารให้กับทางมหาวิทยาลัยก่อน และมหาวิทยาลัยก็จะดำเนินการส่งเอกสารไปให้ธนาคาร ซึ่งธนาคารต้องตรวจสอบเอกสารอีกรอบนึง ถ้าผ่านหมดก็จะจัดการโอนเงิน
“แต่ว่ามันจะมีปัญหาตรงที่ธนาคารใช้เวลาในการตรวจเอกสารค่อนข้างนาน เพราะต้องตรวจเอกสารของผู้กู้ทุกคน และไม่ใช่กับแค่มหาลัยเดียว” เขากล่าว
เราถามแชมป์ว่าเขาทราบข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างไร?
เขาตอบว่า มหาวิทยาลัยจะมีไลน์กลุ่มสำหรับผู้ที่กู้ กยศ. โดยในกลุ่มจะมีแอดมินหรือเจ้าหน้าที่คอยอัปเดตสถานะว่า เอกสารอยู่ในขั้นตอนไหน
แชมป์เสริมว่า ถ้าแอปพลิเคชั่น กยศ.อนุมัติสถานะการกู้ยืมแล้ว ก็จะโอนเงินให้ 3,000 บาท ในเดือนแรกที่เปิดเทอม แต่จากนั้นจะไม่ได้ จนกว่าจะตรวจเอกสารเสร็จสิ้น
“ผมโดนไป 3 เดือนไม่ได้เงินเลย แล้วค่อยได้ทบย้อนหลังอีกที”
เขาเล่าต่อว่า ตอนแรกๆ เขาไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมถึงเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้น แต่ทุกคนในกลุ่มสอบถามกับทางเจ้าหน้าที่ ที่ต่อมาชี้แจงว่า เอกสารอยู่ที่ธนาคาร อยู่ในขั้นตอนการตรวจเอกสาร ซึ่งยังมีเอกสารเยอะมากที่รอตรวจ จึงเป็นเหตุให้นักศึกษาถึงยังไม่ได้รับเงินตรงนี้
“หลังจากทราบข้อมูลก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากรออย่างเดียว เนื่องจากตอนนั้นผมเป็นผู้กู้รายใหม่ด้วย ก็คงได้คิวการตรวจเอกสารช้ากว่าผู้กู้รายเก่า”
ทั้งนี้ แชมป์ยอมรับว่าระหว่างที่รอเงินค่าครองชีพ เขาค่อนข้างลำบาก “การที่คนกู้ กยศ.กู้ค่าครองชีพ แปลว่าพวกเขาลำบาก มีความต้องการใช้เงิน ยิ่งช้ายิ่งทำให้เดือดร้อนมากกว่าเดิม”
เขาเสริมเหตุผลว่า เพราะการที่ผมกู้ ผมก็คิดแล้วว่าเออจะได้เงินตรงนี้มาซัพพอร์ต มาสำรองจ่าย มาใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งการที่เราไม่ได้ ทำให้ต้องไปดิ้นรนหาจากแหล่งอื่นอีกที
“บางคนไม่มีเงินกินข้าว ไม่มีเงินจ่ายค่าหอ จะต้องหยิบยืมคนนี้คนนั้นทุกเดือน ก่อนที่จะได้เงินทบเราต้องแบ่งเวลาส่วนหนึ่งไปทำอย่างอื่นเพื่อหาเงิน ซึ่งบางครั้งทำให้โฟกัสกับการเรียนได้ไม่เต็มที่”
ถัดมาที่ เคน (นามสมมติ) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิเทศศาสตร์ สาขาศิลปะการถ่ายภาพ วิทยาลัยเพาะช่างฯ ที่กู้ยืมค่าครองชีพเช่นเดียวกัน
“ขอกู้ กยศ.เมื่อปีที่แล้ว หลังจากส่งเอกสารเรียบร้อย กว่าจะได้เงินค่าครองชีพก็ผ่านไปราว 3-4 เดือน แต่หลังจากนั้นก็ได้รับเงินเดือนต่อเดือนตามปกติ”
เขาเล่าต่อว่า ทว่าหลังจากเปิดเทอมปี 4 ประมาณ 2-3 เดือน ก็เกิดกรณีซ้ำเดิม ซึ่งเท่าที่รู้มาเจ้าหน้าที่ก็ติดตาม แต่เขาดูตอบนักศึกษาไม่ค่อยถูกว่าปัญหาที่แท้จริงเกิดจากอะไร
“พอไม่ได้ ก็ใช้ชีวิตยากขึ้น ซึ่งเพื่อนผมก็มีคนกู้ และมีคุยกับผมว่าถ้าเทอมถัดไปไม่มีการโอนเงินค่าครองชีพ ก็ต้องดรอปเรียน และเท่าที่รู้มาตอนนี้อาจมีดรอปไปบ้างแล้ว” เคน ระบุ
เช่นเดียวกับ แพท (นามสมมติ) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะอักษรศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งประสบปัญหาการได้รับค่าครองชีพช้า ไม่ต่างกับแชมป์และเคน
“หนูเพิ่งเริ่มกู้เมื่อเทอมที่แล้วนี้เอง สำหรับหนูทำเรื่องเร็วก็ไม่มีประโยชน์ เพราะหนูได้รับเงินงวดแรก เมื่อ 25 สิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเท่ากับเปิดเทอมแรกมาแล้วเกือบ 3 เดือน”
เธอระบุต่อว่า จากนั้นการโอนก็หายไปเลย ให้อีกทีเดือนพฤศจิกายน โอนทบมา 6,000 บาท แล้วก็โอนทบมาอีก 3,000 บาทในเดือนเดียวกัน
แพทย้ำว่า กรณีเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับเธอ แต่ยังเกิดขึ้นกับเพื่อนๆ เธอ หรือคนอื่นที่ออกมาโพสต์ปัญหาเดียวกันบนโซเชียล
“ตอนที่ไม่ได้รับเงิน ก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะมหาลัยหรือ กยศ. แต่หนูก็ตามเรื่องกับทางมหาลัยตลอด อย่างไรก็ตามระหว่างรอ หนูตัดสินใจไปหางานทำ และบีบค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด”
เธอเสริมว่า เพื่อนของเธอที่ถือเป็นผู้กู้รายเก่าไม่ได้มีปัญหาอะไร ดังนั้นเธอจึงรอดูว่าเดือนธันวาคมนี้จะได้รับเงินตามปกติหรือไม่
“ไม่ว่าจะเป็นผู้กู้รายเก่าหรือใหม่ก็สมควรได้รับค่าครองชีพทุกเดือน เพราะพวกเราอุตส่าห์กู้แล้ว ถ้าไม่จำเป็นจะกู้ทำไม เราต้องวิ่งหางาน ซึ่งงานก็หายาก หนูรู้สึกเหนื่อยและกดดันมาก” แพท ระบุ
ทางออกของปัญหา จากมุมมองของผู้กู้ยืม
แชมป์ ระบุว่า กยศ.เป็นกองทุน เป็นคนออกเงิน แต่คนที่ทำการโอนและตรวจสอบสัญญากู้ให้กับนิสิตนักศึกษาจะเป็นธนาคาร
ดังนั้นในช่วงเวลาที่กู้ครั้งแรกของแต่ละเทอม อย่างน้อยช่วยเพิ่มคนในการตรวจสอบได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้ไปคอขวดอยู่ที่เอกสาร ไปขอขวดที่ธนาคาร หรือไม่ก็ย่นเวลาในการรับเอกสารของนักศึกษา เพื่อจะได้มีเวลาในการตรวจเอกสารมากขึ้น
“ถ้าแก้ปัญหาตรงธนาคาร ที่เขาต้องใช้เวลาในการตรวจเอกสารนานๆ ได้ นอกนั้นก็ไม่มีอะไรแล้ว”
ซึ่ง แพท บอกกับเราว่า ทางมหาวิทยาลัยให้ทำเรื่องเร็วเพื่อที่ผู้กู้จะได้รับเงินเร็ว แต่จากนั้นมหาวิทยาลัยกลับเปิดรับผู้ที่ต้องการกู้ยืมอีกรอบนึง ซึ่งทิ้งระยะเวลาห่างกับช่วงแรกที่เปิดนานมาก เธอจึงมองว่าตรงนี้อาจทำให้เกิดการโอนเงินล่าช้า
การโอนเงินค่าครองชีพล่าช้า ปัญหาที่ไม่ได้เพิ่งเกิด
ส้ม (นามสมมติ) บัณฑิตคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) สาขาโฆษณาฯ ที่เพิ่งเริ่มจ่ายหนี้ค่าเล่าเรียนจาก กยศ.เป็นปีแรก เล่าให้เราฟังว่า
“การโอนทบไม่ควรเกิดขึ้น เพราะค่าครองชีพต้องใช้ทุกเดือน การทำแบบนี้เหมือนเป็นการผลักภาระไปให้เด็กต้องเอาชีวิตรอดเอง ทั้งที่เด็กเลือกที่จะเพิ่ง กยศ.แล้ว”
เธอเสริมว่า นิสิตนักศึกษาต้องหางาน part-time ทำ ซึ่งบางครั้งหายาก เนื่องจากขึ้นอยู่กับที่ตั้งของสถานศึกษาด้วย อย่างมหาวิทยาลัยที่อยู่ไกลปืนเที่ยง งานจะมีให้ทำค่อนข้างน้อย
“เท่าที่เราจำได้ กยศ.เคยเลื่อนการจ่ายเป็นเวลาราว 3 เดือน เกิดขึ้นประมาณครั้งถึงสองครั้งขณะที่ยังเรียนอยู่”
ส้ม ปิดท้ายว่า การโอนเงินล่าช้าไปหลายเดือน อาจส่งผลให้ผู้กู้ต้องดรอปเรียนไปเลยด้วยซ้ำ เพราะไม่มีเงินสำรองจ่ายสำหรับค่ากิน ค่าเดินทาง หรือแม้แต่ค่าหอ
“คนที่พึ่ง กยศ.คือ คนที่ไม่เงิน ซึ่งเงินก้อนดังกล่าวถือเป็นเงินที่มาซัพพอร์ตกับเงินที่พ่อแม่ให้ ถ้าพ่อแม่ไม่มี เราก็มีเงินตรงนี้เป็นเงินสำรอง”
ไม่ใช่เพียงองค์กร กยศ. แต่ยังมีปัจจัยอื่นเกี่ยวข้อง
นันทวัน วงศ์ขจรกิตติ ผู้จัดการ กยศ. อธิบายถึงขั้นของการกู้ยืมว่า จริงๆ แล้ว การโอนเงินค่าครองชีพ เริ่มต้นมาจากการที่นิสิตนักศึกษาลงทะเบียนขอยื่นกู้ ซึ่งจะมีเอกสารที่อยู่ในระบบที่ต้องใส่ข้อมูลให้ครบ
หลังจากนั้นเอกสารจะถูกส่งไปที่อาจารย์ เพื่อให้ตรวจสอบว่าข้อมูลนี้เป็นไปตามจริง เพราะอาจารย์จะรู้จักนิสิตนักศึกษามากกว่ากยศ.
เมื่ออาจารย์อนุมัติ ข้อมูลจะถูกส่งไปให้ กยศ.ซึ่งเราก็จะตรวจเอกสารทั้งที่อาจารย์และผู้กู้แนบมา ถ้าเป็นไปตามนั้นเราจะอนุมัติ อาจารย์จะอนุมัติ ตามมาด้วยการยืนยันของนิสิตนักศึกษาว่าจะกู้ กยศ.จำนวนกี่บาท
“พอเรียบร้อยแล้ว ผู้กู้จะได้รับเงินภายใน 7 วัน นั่นคือค่าครองชีพงวดแรก 3,000 บาท”
ผู้จัดการ กยศ.ระบุเพิ่มว่า หลังจากนั้นอาจารย์ต้องส่งเอกสารตัวจริง หรือสัญญา พร้อมแนบเอกสารส่งให้กับธนาคารกรุงไทย หรือธนาคารอิสลาม ซึ่งธนาคารก็จะทำการตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งว่า ข้อความเป็นไปตามข้อมูลในระบบที่ให้ไว้หรือไม่
“เมื่อธนาคารตรวจสอบเสร็จก็จะโอนเงินค่าครองชีพเดือนที่สอง และเดือนถัดไปให้”
ทั้งนี้ เขาอธิบายเหตุผลว่าทำไมบางทีผู้กู้ยืมถึงถูกทบ 3 เดือนทีเดียวว่า เพราะอาจเกิดความล่าช้าในการส่งสัญญาหรือเอกสาร บางทีก็มาไม่ครบ หรือข้อมูลในเอกสารกับในระบบไม่ตรงกัน ทางธนาคารก็ต้องติดต่อให้สถานศึกษาส่งมาใหม่
“ความผิดพลาดเหล่านี้ ทำให้เกิดความล่าช้าในการโอน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อเสร็จสิ้นแล้ว กยศ.ก็ต้องโอนเงินให้ อย่างดีเลย์มา 2 เดือน เราก็โอนเงินทบ 2 เดือนกลับไปให้”
นันทวัน ย้ำว่า ขณะนี้ กยศ.กำลังควบคุมปัญหาดังกล่าวอยู่ เช่น สอบถามกับสถาบันศึกษาว่ามีจำนวนนิสิตนักศึกษาที่กู้ยืมจำนวนเท่าไหร่ หรือเช็คกับธนาคารว่า ในแต่ละวันได้เอกสารมากี่ฉบับ ต้องใช้เวลาตรวจสอบเท่าไหร่
“หลักๆ มี กยศ. หรือ ธนาคาร แต่จริงๆ มีอีกตัวละครคือ การขนส่งที่อาจขนส่งล่าช้า แต่ตรงนี้เราก็พยายามบอกให้สถานศึกษาส่งในรูปแบบด่วน”
เขากล่าวต่อว่า หรือไม่สถานศึกษาต้องมีการตอบรับ หรือใบตอบรับลงทะเบียนตอนส่งเอกสาร เพื่อให้ทางธนาคารตรวจเช็คสถานะได้ตลอดทุกเส้นทาง
เช่น ตอนนี้เอกสารกำลังอยู่ในกรุงเทพฯ แล้ว และพอมาถึงธนาคาร กยศ.ก็สามารถยิงคิวอาร์โค้ดได้เหมือนกันว่า เอกสารฉบับนี้ถึงธนาคารเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เขาเสริมว่า จริงๆ แล้วก็เป็นไปตามขั้นตอนอยู่แล้ว แต่มีหลายๆ เคส โดยเฉพาะผู้กู้รายใหม่ที่อาจแนบเอกสารผิดหรือไม่ครบ เมื่อมีการแก้ไข ตีไปตีกลับใช้เวลาอยู่แล้ว อย่างต่ำ 15 วัน”
ผู้จัดการ กยศ.ระบุว่า แต่หากไปถามผู้กู้รายเก่า ปัญหานี้จะไม่เกิดเลย เพราะว่าส่งเอกสารเร็ว รู้ขั้นตอน ธนาคารโอนเงินเร็วตามปกติ ปัญหามักเกิดกับผู้กู้รายใหม่
นอกจากนี้ ทุกปี กยศ.จะมีการรีเฟรช การดำเนินการเข้าร่วม และการประชุมกับสถาบันการศึกษาทุกแห่ง อย่างเราจะย้ำตลอดว่า ไม่จำเป็นต้องรอผู้กู้ยื่นเอกสารจนครบทุกคนแล้วส่งทีเดียว ค่อยๆ ทยอยส่งก็ได้ เพราะที่ผ่านมามักรอให้ครบ 50-100 คนก่อนแล้วค่อยส่ง รวมถึงสถานศึกษาควรตรวจสอบเอกสารให้ครบก่อนส่ง
“กยศ.ไม่ปฏิเสธปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะเราก็เป็นตัวละครใหญ่ที่สุด แต่เราก็พยายามควบคุมทุกขั้นตอน” นันทวัน พูดปิดท้าย
กยศ.เป็นกองทุนหมุนเวียน การบิดหนี้จึงสร้างผลกระทบหนัก
ผู้จัดการ กยศ. กล่าวว่า เราเป็นกองทุนหมุนเวียน เป็นกองทุนภาครัฐ การที่เราปล่อยกู้ออกไป มันคือการหมุนเวียน ทั้งนี้จุดประสงค์หลักของ กยศ.คือปล่อยกู้ให้กับคนไทยทุกคน
ดังนั้นเราจึงมีขอการสนันสนุนจากภาครัฐ เพื่อมาเติมเต็มในการปล่อยกู้ของเรา ให้ตรงกับวัตถุประสงค์
“อย่างไรก็แล้วแต่ เราอยากให้ผู้กู้รุ่นพี่ที่ได้โอกาสไปแล้วส่งต่อโอกาสนี้ เพราะหากไม่ชำระตามกำหนดหรือล่าช้า จะทำให้กองทุนมีความล่าช้าในการปล่อยกู้ เราต้องไปขอเงินงบประมาณ และเงินงบประมาณก็มาจากภาษีของทุกคน”
แชมป์ นักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้เช่นกันว่า ไม่นานมานี้เขาเพิ่งเห็นโพสต์นึงในโซเชียล ที่ออกมาแชร์ประสบการณ์การบิดหนี้ กยศ.ด้วยการโยกย้ายทรัพย์สินไปเป็นชื่อคนอื่น
“กยศ.เป็นกองทุนหมุนเวียน นั่นหมายความว่า เขามีเงินอยู่แค่ก้อนเดียว ถ้าไม่นับอัตราดอกเบี้ยการกู้ 1 เปอร์เซ็นต์ที่ได้เพิ่มขึ้นมา ฉะนั้นอัตราการเก็บคืนหนี้ที่น้อยลงเรื่อยๆ จะไปปิดโอกาสทางการศึกษาของคนที่อยากเรียนแต่ไม่มีเงิน”
สำหรับ ส้ม บัณฑิตคณะ ICT มองว่า จำเป็นต้องสร้างมาตรการบางอย่างที่ทำให้รู้สึกว่า ถ้าไม่จ่ายคืนจะกระทบกับอนาคตอย่างแน่นอน ยกตัวอย่างเช่น ไม่สามารถซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือสมัครบัตรเครดิตได้
“ดอกเบี้ยต่ำขนาดนี้ ยังมีคนไม่คืน แปลว่า คนไม่กลัว เพื่อนที่กู้เหมือนกันเคยบอกว่า จะไม่คืน เพราะไม่มีการตามหนี้ขนาดนั้น และที่สำคัญถ้าไม่คืนก็ยังสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ”
ในอนาคต กยศ.อาจถังแตก?
เรื่องราวการโอนเงินที่ล่าช้า เกิดขึ้นในช่วงเวลากับข้อสังเกตที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ที่มีรายงานเรื่อง กยศ. จะถังแตกใน 3 เดือน!?: ปัญหาเงินสดหมดกองทุน และหนทางเอาตัวรอด โดย 101 PUB ซึ่งระบุว่า แม้สภาผู้แทนราษฎรจะอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมให้จำนวน 4,573 ล้านบาท เพื่อช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่อง แต่เงินจำนวนดังกล่าวจะต่อลมหายใจให้ กยศ.ได้เพียง 1-4 เดือนเท่านั้น ขณะที่ก่อนหน้านี้ กยศ.ได้เขียนของบฯ ไปกว่า 19,000 ล้านบาทเพื่อพยุงตัวเองไปให้รอด แต่ถึงสภาฯ จะอนุมัติก็ไม่สามารถแก้ไขวิกฤตถังแตกในระยะยาวอยู่ดี
ซึ่งการกลับมาขอเงินสนับสนุนจากรัฐ หลังจากไม่ได้ของบฯ มาตั้งแต่ปี 2561 ก็เป็นอีกหนึ่งทางรอด แต่หากจะของบฯ จากรัฐปีละ 1-2 หมื่นล้าน ในทุกปีก็จะเป็นการเบียดบังพื้นที่งบประมาณในส่วนอื่น ดังนั้น กยศ.อาจต้องลดการปล่อยกู้ลง เพื่อปรับให้รายรับสมดุลกับรายได้ โดยประเมินว่า ทุก 1 หมื่นล้านบาทที่หายไป จะเป็นการตัดโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อการศึกษาของคนรุ่นถัดไปกว่า 1.8 แสนคน
อย่างไรก็ตาม กยศ.มีคำชี้แจงต่อ ไทยรัฐออนไลน์ว่า เรื่องนี้เป็นเพียงข่าวลือ เพราะ กยศ.ยังปล่อยกู้ตามปกติ มีการบริหารที่ปกติ ทุกอย่างยังคงทำงานเหมือนเดิม มีการประชุมกับสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง
“ข่าวลือเรื่อง กยศ.ล่มมีมาโดยตลอด แต่ที่จริงแล้วเรามี income (รายได้) จากการชำระหนี้เข้ามาทุกเดือน และมีการปล่อยกู้ออกไปทุกเดือนเช่นเดียวกัน อาจจะมีทั้งบวกและลบ แต่ยังไม่ถึงกับกระแสข่าวที่ออกไป” ผู้จัดการ กยศ. ยืนยัน