การเมืองคือเรื่องของทุกคน และการเมืองคือสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา
แม้ว่าจะช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา สภาพการเมืองของบ้านเราจะเป็นภาพการแบ่งฝักฝ่าย แบ่งสีเสื้อ และการรัฐประหาร จนทำให้หลายๆ คนเบื่อ และไม่อยากสนใจการเมือง แต่จากกระแสการตื่นตัวทางการเมืองในคนรุ่นใหม่ ทำให้เราเห็นภาพเยาวชน วัยรุ่น หรือคนรุ่นใหม่ที่ตระหนักว่า การเมืองเกี่ยวข้องกับพวกเขา และพวกเขาควรได้ใช้สิทธิในการส่งเสียงถึงการเมือง หรือสังคมที่พวกเขาอยากได้
‘อั่งอั๊ง-อัครสร โอปิลันธน์’ ก็เป็นเด็กมัธยมคนหนึ่งที่ออกมาใช้สิทธิ ใช้เสียง และพรีวิลเลจของเธอ ในการพูดถึงปัญหาสังคม และการเมือง เพื่อหวังว่า เพื่อนๆ ในรุ่นเดียวกัน หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ จะเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมทางการเมือง และเริ่มตั้งคำถามกับอำนาจ ระบบ และสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อทวงอำนาจของเราในฐานะประชาชน
อั่งอั๊งได้บอกกับเราว่า ที่เธอต้องออกมาแสดงออก หรือพูดเรื่องเหล่านี้ เป็นเพราะเธอรักชาติ และมองว่ามันกระทบต่ออนาคตของเธอ รวมถึงหากการเมืองยังเป็นอย่างนี้ต่อไป เธอไม่อาจใฝ่ฝันถึงอนาคตที่ดีได้ ดังนั้นแม้ว่าลึกๆ เธอจะมีความกลัว แต่เธอก็คิดว่าการต่อสู้ในครั้งนี้ มันยิ่งใหญ่กว่าความกลัวของเธอ และเธอก็หวังว่าเพื่อนๆ และผู้ใหญ่จะออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยร่วมกันด้วย
ก่อนหน้านี้ อั่งอั๊งเคยพูดว่าไม่เห็นด้วยกับการปลูกฝังว่า ‘การเมืองเป็นเรื่องสกปรก’ ถ้าอย่างนั้นแล้วการเมืองในมุมมองของอั่งอั๊งเป็นอย่างไร
จริงอยู่ที่ทุกการเมืองมันมีเรื่องสกปรก เรื่องคอร์รัปชั่นเข้ามา แต่ว่าหนูไม่เห็นด้วยกับการที่เราจะนิยามการเมืองทั้งหมดว่าเป็น ‘การเมืองสกปรก’ การที่เราจะนิยาม ตีตราการเมืองว่าการเมืองทั้งหมดสกปรก มันจะทำให้คนรุ่นใหม่ไม่สนใจการเมือง เพราะเห็นว่า คนที่เข้าไปยุ่งเรื่องการเมืองอาจจะติดคุก มีการใช้นิติสงครามเป็นเครื่องมือตลอดเวลา นี่คือแง่มุมความสกปรกของการเมือง
ในนิยามนึง ถ้าเรามองว่ามันเป็นเรื่องสกปรกอย่างเดียว คนก็จะไม่หันมาสนใจ คนก็ไม่พยายามที่จะเข้าใจว่า การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน การเมืองส่งผลกระทบต่อหลายๆ แง่มุมในชีวิตของเรา อย่างช่วงนี้ที่ฝนตก น้ำท่วม แค่นี้เราก็โยงได้แล้วว่าเป็นเรื่องของการเมือง เพราะว่าถ้าหากการเมืองดี ก็จะมีการแก้ปัญหาท่อน้ำตัน จะไม่มีรถเมล์หลังคารั่ว ทุกอย่างมันคือโยงการเมืองได้หมด
นอกจากการถูกปลูกฝังว่าการเมืองสกปรกแล้ว คิดว่าที่ผ่านมารัฐ และผู้ใหญ่ปลูกฝังอะไรบ้าง ที่เราคิดว่าเป็นความเข้าใจที่ผิด และเป็นปัญหา
เรื่อง ‘การเชื่อฟัง’ กับ ‘ความเคารพ’ 2 อย่างนี้ไม่ค่อยถูกแยกความแตกต่างในสถานที่การศึกษา ในครอบครัว หรือแม้แต่ที่ทำงาน คนไทยหลายคนจะชอบถูกอยู่ในสังคมที่ไม่กล้าให้เราขึ้นมาแย้ง ขึ้นมาตั้งคำถาม ขึ้นมาพูด เราอยู่ในสังคมแห่งการกดขี่ ใช้ความเงียบ อย่างโรงเรียน หลายๆ ที่ก็อาจจะไม่ค่อยแนะนำ ไม่สนับสนุนให้เด็กตั้งคำถาม แต่ปลูกฝังค่านิยม 12 ประการ ที่เป็นค่านิยมที่ล้าหลังมากๆ เป็นค่านิยมที่ทำให้เด็กรู้สึกไม่กล้าที่จะพูดถึงปัญหาต่างๆ ในสังคม ทำให้เราเงียบอยู่อย่างเดียว ทำให้เราไม่สามารถพัฒนาไปข้างหน้าได้
รู้สึกว่ากลุ่มคนที่มีอำนาจ ใช้เครื่องมือของคำว่า ‘การเชื่อฟัง’ ไว้ให้เด็กทุกคนเงียบ ไม่ให้แย้ง หรือตั้งคำถามกับอำนาจ และใช้คำว่าความเคารพมากลบ ‘การเชื่อฟัง’ ที่เขาใช้ เป็นการทำให้เด็กทำตาม ปิดหูปิดตาให้เดินไปทางเดียว ไม่มีความสร้างสรรค์ในชีวิต หรือในความคิดเลย
การถูกปลูกฝังเหล่านี้ มันส่งผลเสียต่อสังคมยังไง
เป็นปัญหาที่ใหญ่มาก เพราะจะกลายว่าสังคมเราจะมีแต่คนที่ไม่กล้าตั้งคำถามอะไรเลย เวลาโดนคนมีอำนาจกด หรือคนข้างบนกดขี่ เราก็จะทำตาม มันจะเป็นสังคมแห่งความจำยอม เป็นสังคมที่ใช้คำว่า ‘อะไรก็ได้’
เราจะเป็นสังคมที่เห็นว่าคนไทยเป็นคนชิลๆ แต่ในแง่ร้ายคือ ถ้าคุณเป็นคนยังไงก็ได้กับทุกอย่าง คุณจะเหมือนลดค่าความเป็นคนของตัวเองโดยที่คุณไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ
เช่น สถานศึกษา มันเป็นการยอมที่จะให้ผู้ใหญ่รังแกเด็ก ซึ่งปัจจุบันวัยรุ่นก็ออกมาเรียกร้องมากขึ้น แต่โดยรวมแล้วมันก็จะเป็นสังคมที่ทำให้เด็กไม่มีความคิดสร้างสรรค์ เวลาโตขึ้นมา ก็จะอยู่แต่กรอบความคิดของว่า ต้องทำงานหาตังค์ มันไม่มีความสร้างสรรค์ด้านความคิดว่า เราเป็นคนไทย เราเป็นคนของสังคม มันไม่มีการปลูกฝังถึงการตั้งคำถามของเราการเมือง เรื่องคนที่มีอำนาจ ไม่เคยตั้งคำถามถึงอำนาจของคนที่ใช้บังคับเราว่า อำนาจนั้นใครเป็นคนให้ และทำไมเราต้องให้เขา
ถ้าการศึกษาสอนให้เด็กมีวิจารณญาณ หรือตั้งคำถาม จะเปลี่ยนสังคมอย่างไร
เราจะเริ่มมาเจาะจงดูแต่ละปัญหา และเราจะเริ่มตั้งคำถามว่าอำนาจที่เราให้คนๆ นึงไป คนๆ นั้นได้ใช้อำนาจได้อย่างถูกวิธีหรือเปล่า ยกตัวอย่างเช่น เรื่องเรือดำน้ำ ถ้าเรามีการคิด มีการตั้งคำถาม เราจะเริ่มตั้งคำถามว่าเงินภาษีของประชาชนที่จ่ายไป ทำไมถึงถูกตัดสินใจไปซื้อเรือดำน้ำ ทั้งๆ ที่ช่วงวิกฤต COVID-19 มีคนตกงานมากมาย มีปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ
การตั้งคำถามเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็เหมือนการทวงคืนอำนาจให้กับเราเองด้วย แทนที่เราจะให้อำนาจกับคนเบื้องบนอย่างไม่ตั้งคำถาม อย่างปิดหูปิดตา ให้เขาทำอะไรก็ได้ ท้ายที่สุดมันจะเป็นผลเสียกับเราเอง เพราะเราในฐานะราษฎร ประชาชนเป็นคนที่มีอำนาจที่แท้จริง การตั้งคำถามจะเป็นการท้าทายคนมีอำนาจ ทำให้เขาอยู่ในกรอบ ทำตามสิ่งที่ราษฎรขอ เพราะในที่สุดราษฎรต้องเป็นใหญ่ที่สุด
การตั้งคำถามก็เป็นประเด็นนึง แต่หลักสูตรการศึกษาเองก็มีปัญหา คิดว่าควรปฏิรูปอะไรในการศึกษาบ้าง
ต้องปฏิรูปตั้งแต่คุณค่าทั้งหลายที่สอนเด็ก เช่น แทนที่จะสอนเรื่อง การเชื่อฟังและเอาความเคารพมากลบ เราควรเปิดเป็นสถานที่ให้เด็กตั้งคำถาม การศึกษาตอนนี้เป็นระบบการศึกษาที่ผลิตเด็กเหมือนเครื่องจักร เหมือนผลิตเสื้อเป็นล็อตเหมือนๆ กันหมดเลย และก็มาบอกว่าล็อตนี้เกรดเอ ล็อตนี้เกรดบี แยกตามโรงเรียนแต่ละโรงเรียน ทั้งๆ ที่มันควรเป็นระบบการศึกษาแบบหว่านเมล็ดพืช เด็กทุกคนคือต้นไม้ที่ไม่เหมือนกัน ต้องเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน เด็กบางคนต้องการแสงแดดมากกว่า เด็กบางคนต้องการให้รดน้ำมากกว่า ควรคำนึงถึงความแตกต่างของความสามารถของเด็กๆ
อีกนัยนึงคือการที่เราเห็นว่า การที่จะเป็นเด็กดีต้องได้เกรด 4.00 เท่านั้น ซึ่งเกรดนี้มันเป็นค่าวัดแบบเดียว เด็กคนนึงอาจจะเก่งกับค่าวัดแบบนี้ แต่คนที่เป็นเด็กศิลป์ ชอบการแสดง หรือชอบร้องเพลง เขาก็เก่งในด้านของเขา เขาก็มีความสามารถ แต่ว่าการศึกษาตอนนี้มันไม่เอื้อต่อความหลากหลายของเด็กคนนึง มันสร้างกรอบไว้ว่าถ้าจะเก่ง ต้องได้เกรด 4.00 ต้องเป็นเด็กสายวิทย์อย่างเดียว ในทางกลับกันเด็กที่เป็นเด็กศิลป์ สายสังคม ชอบประวัติศาสตร์ หรือสนใจการมืองนั้น ความอยากของเขาไม่ได้ถูกเอื้อหรือสนับสนุนโดยโรงเรียนเลย
อั่งอั๊งเคยเล่าในงานเสวนางานหนึ่งไว้ว่า แม้ว่าจะโรงเรียนอินเตอร์ แต่หลักสูตร ก็แทบไม่มีการสอนประวัติศาสตร์ไทยเลย
จากที่ถามเพื่อนๆ หลายโรงเรียนมา เขาบอกว่าไม่มีพูดถึงประวัติศาสตร์ไทยเลย ส่วนตัวโรงเรียนอั่งอั๊งก็มีอยู่นิดนึง คือมีพูดถึงประวัติศาสตร์สุโขทัย อยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินตร์ แต่ว่ามันก็เหมือนมีช่องโหว่ที่ใหญ่มาก เราใช้เวลานานมากสอนเกี่ยวกับราชวงศ์ต่างๆ แต่เราใช้เวลาน้อยนิดมากที่จะพูดถึงเหตุการณ์ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย หนูรู้สึกว่าโชคดีที่อาจารย์ที่สอนประวัติศาสตร์ไทยที่โรงเรียนค่อนข้างเป็นกลางพอสมควร จึงได้รู้ในแง่มุมที่เป็นกลาง แต่ว่าในทางกลับกันแล้ว ด้วยตัวหลักสูตร 1 quarter หรือประมาณ 2 เดือนของที่โรงเรียน ก็จะมีสอนประวัติศาสตร์ไทยแค่ 2-3 คาบ ซึ่งถือว่าน้อยมาก
เรื่องประวัติศาสตร์ไทย หนูใช้เวลาแค่วันเดียวเรียนเรื่อง 6 ตุลา, 14 ตุลา หรือการเขียนรัฐธรรมนูญ ที่เหลือคือการพูดถึงราชวงศ์ ถือเป็นช่องโหว่มากๆ ที่เราไม่ได้เข้าถึงประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง ที่ถูกเขียนอย่างชอบธรรม มันก็เหมือนบิดเบือนความคิด ค่านิยมของเราพอสมควรเลย เพราะว่าประวัติศาสตร์มันเป็นตัวที่จะหล่อหลอมความคิดเราว่าเราเป็นใคร เราเป็นคนไทย และเราจะนิยามตัวเองว่าอย่างไร มันก็อยู่ที่การศึกษาประวัติศาสตร์ว่าแต่ก่อน คนไทยทำอะไรมาบ้าง แต่ ณ ตอนนี้คือประวัติศาสตร์มันถูกเขียนโดยผู้ชนะอย่างเดียวเลย
คิดว่าทำไมรัฐ หรือโรงเรียนไม่อยากปลูกฝังประวัติศาสตร์ในมุมอื่นให้เรา
โดยส่วนตัวหนูรู้สึกว่า การศึกษาตอนนี้แทนที่มันจะเป็นสถานที่ส่งเสริมความฝันให้เด็กๆ มันกลายเป็นเครื่องมือของรัฐไปแล้ว ที่จะสร้างคนที่เงียบๆ คนที่ไม่กล้าต่อต้านรัฐเอง มันสะท้อนให้เห็นถึงการที่รัฐเขายึดถืออำนาจไว้กับตัวเองมาก และไม่กล้าปล่อยวางอำนาจนั้น เขาเลยรู้สึกว่ามันไม่จำเป็นที่จะต้องปลูกฝังเด็กถึงแง่มุมอื่น หรือความสำคัญของประชาธิปไตย
มันมีคำพูดว่าเผด็จการแรกของทุกคนก็คือโรงเรียน มันก็เป็นเพราะเหตุนั้นเอง ที่รัฐเขาไม่อยากให้เราคิดเป็นหรือเปล่า เขาไม่อยากให้เรารื้อโครงสร้างสังคมหรือเปล่า ?
อั่งอั๊งมองความเหลื่อมล้ำในการศึกษาไทยยังไงบ้าง
ความเหลื่อมล้ำนี้มีทั้งภายใน และภายนอก ภายในคือเรื่องโครงสร้างของระบบศักดินา อำนาจนิยมที่ยังมีอยู่ในโรงเรียน เรื่องความเคารพที่พูดไปก่อนหน้านี้ คือครูเป็นใหญ่ในโรงเรียน มันก็ถูกต้องที่เราต้องเคารพคุณครู แต่ว่าคุณครูก็ต้องเคารพนักเรียนด้วย มันต้องเป็นไป 2 ทาง ไม่ใช่ว่าคุณครูมีอำนาจ มีวุฒิภาวะมากกว่า และใช้อำนาจของตัวเองมากดขี่เด็ก อันนี้คือปัญหาความไม่เท่าเทียใมภายใน
แต่ถ้าเรามองในเชิงการเมือง เราจะเห็นว่า หลายๆ คนที่อยู่ต่างจังหวัด พ่อแม่ก็มักจะฝากความหวังไว้กับลูก ให้เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ เพื่อจะสอบ หรือเอนต์ติดมหาลัยดีๆ ในกรุงเทพฯ มาทำงานในกรุงเทพฯ เพื่อจะส่งเงินกลับไปให้ที่บ้านที่ต่างจังหวัด อันนี้ก็คือความเหลื่อมล้ำ
การที่เราไม่มีการกระจายรายได้ และอำนาจ ทุกคนกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ เราจะเห็นว่ามหาวิทยาลัยดีๆ ก็จะอยู่ในกรุงเทพฯ เราก็ต้องตั้งคำถามว่า ทำไมมหาวิทยาลัยที่ท็อปๆ ของไทย ต้องอยู่ในกรุงเทพฯ ทำไมเราไม่กระจายอำนาจ ทำให้การศึกษา และอาชีพในแต่ละภาคจังหวัด หารายได้ให้ทุกคนได้รับการศึกษาที่ดีเท่ากับในกรุงเทพฯ อันนี้คือความเหลื่อมล้ำที่ใหญ่มากๆ ที่ต้องแก้ ในแง่ระบบโครงสร้างของการเมือง
การเรียนนานาชาติ ทำให้เราได้สัมผัสเรื่องพรีวิลเลจ (privilege) ยังไงบ้าง
พรีวิลเลจในทุกๆ ด้านจริงๆ แม้กระทั่งการไปโรงเรียน เราก็จะเห็นว่าเพื่อนๆ ทุกคนมีรถ หรือมีคนขับรถ มันไม่มีเหตุการณ์ที่คุณต้องนั่งสองแถว นั่งวินมอเตอร์ไซค์ หรือรถไฟฟ้า มันเป็นเรื่องปกติที่จะเห็นแบบนี้ หรือวันหยุดก็จะคุยกันว่าไปกินข้าวที่ห้าง ซึ่งนี้เป็นพรีวิลเลจอย่างนึงเลยที่หลายคนมองข้าม
หรือพรีวิลเลจเรื่องการศึกษา การที่หลายคนได้มีคุณครูที่มาจากประเทศตะวันตก ที่เขามีการสอน และเปิดรับเรื่องการคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) มากกว่า หรือด้านการใช้ชีวิตอยู่ ครอบครัวของเด็กโรงเรียนนานาชาติส่วนใหญ่ก็จะเป็นครอบครัวนักธุรกิจ มีหมอ หรืออาชีพอื่นบ้าง ซึ่งพรีวิลเลจของเขา ก็คือการที่เขามีอนาคตที่ปลอดภัยมากๆ เขาไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องอนาคตของเขา
คุณครูท่านนึงที่สอนหนู เขาเคยตั้งคำถามถึงทุกคนในห้องเรียนว่า ถ้าเกิดวันนึงคุณเลือกอาชีพในสายของคุณ และหากเกิดถังแตกขึ้นมา สมมติอยากจะเป็นพยาบาล แต่รายได้ของคุณไม่เอื้อต่อวิถีชีวิต การใช้เงินของคุณ หรือการซื้อของแบรนด์เนม คุณจะทำยังไง มีแผนสำรองรองรับหรือเปล่า ทุกคนก็ตอบว่า ในวันที่เลือกอาชีพแล้ว และเกิดไม่สำเร็จ มันก็ไม่เป็นไร เพราะว่าเราสามารถสืบทอดธุรกิจครอบครัวได้ มีอยู่มีใช้ อันนี้ก็คือพรีวิลเลจ ในการที่เขาไม่ต้องกลัวว่าวันนึงเขาจะไม่มีกิน ความรู้สึกนี้ก็พรีวิลเลจมากแล้ว
เริ่มตั้งคำถามกับพรีวิลเลจตั้งแต่เมื่อไหร่
ตั้งแต่ต้นปี ช่วงที่การเมืองอเมริกามีประเด็นเหยียดสีผิว ในการตายของจอร์จ ฟลอยด์ เรามาเห็นเพื่อนๆ หลายคนโพสต์ว่า Black Lives Matter ว่าเราต้องสนใจการเหยียดสีผิว ต้องต่อสู้กับระบบความไม่เท่าเทียม แต่ไม่กี่วันต่อมา เมื่อมีแฮชแท็ก #saveวันเฉลิม ตอนที่วันเฉลิมหายตัวไปที่กัมพูชา ซึ่งมันเป็นปัญหาการเมืองที่ใกล้ตัวมาก บ่งบอกถึงเสรีภาพทางการเมืองของเราที่ถูกจำกัด สุดท้ายแล้วเด็กนานาชาติ ไม่มีคนไหนเลยออกมาพูดเรื่องวันเฉลิม แต่ยังคงพูดเรื่อง Black Lives Matter อยู่ มันเป็นพรีวิลเลจที่เราไม่ต้องสนใจการเมืองก็ได้
พรีวิลเลจอีกอันนึงที่เห็นคือ เขาไม่ได้มองว่าการเมืองเป็นเรื่องของเขา การที่เขาไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา แค่นี้ก็พรีวิลเลจมากแล้ว อย่างฝนตกที่ผ่านมา เพื่อนๆ ก็ไม่ต้องมานั่งเป็นห่วงว่าต้องเดินแล้วรองเท้าจะเปียกน้ำดำที่ไหลเอ่อมาจากท่อ เพราะเขามีรถ มีคนขับรถทุกคน และมันคือความที่เขาไม่สนใจว่า คนที่นั่งรถเมล์กลับบ้าน เขาจะกลับกันยังไง เขาไม่สามารถเข้าใจระบบการใช้ชีวิตของชนชั้นกลางที่ทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ ที่กังวลว่า เลิกงานแล้วจะกลับบ้านอย่างไร เมื่อฝนตกหนักขนาดนี้ การคมนาคมประเทศเราไม่ดีขนาดนี้ เพราะการเมือง นี่คือพริวิลเลจที่เพื่อนๆ หลายคนมองข้ามมากๆ
ท้ายที่สุดแล้ว หนูไม่ได้มองว่าพริวิลเลจเป็นสิ่งที่ผิด เราไม่สามารถเลือกที่จะเกิดได้ แต่มันผิดถ้าคุณไม่หันมาดูว่าพรีวิลเลจของคุณคืออะไร และใช้มันให้เป็นประโยชน์
อะไรคือความสำคัญของการตระหนักรู้ว่า พวกเราเองมีพริวิลเลจ และควรใช้มัน
เรารู้สึกว่าทุกคนมีพรีวิลเลจที่แตกต่างกัน แต่พรีวิลเลจที่สามารถเอามาใช้ในสภาพการเมืองตอนนี้ คือธุรกิจต่างๆ นานา ที่เป็นธุรกิจนายทุน เขาเป็นกลุ่มคนที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ แต่กลับเป็นว่าพวกเขาใช้อำนาจกับทุนนิยม และไม่หันมาสนใจชนชั้นกลาง หรือชนชั้นล่าง
หรือเราจะเห็นดาราหลายๆ คน ออกมาใช้พรีวิลเลจของเขา คือแฟนคลับ หรือฐานเสียงออกมาพูดเรื่องการเมือง แล้วหลายๆ คนก็โดน กระทบผลงาน ซึ่งส่วนตัวแล้วนับถือหลายๆ คนมากๆ ที่เอาพริวิลเลจของตัวเองมาใช้ให้เป็นประโยชน์ และขับเคลื่อนสังคม
แต่ถึงเราจะมีพรีวิลเลจ เราก็ต้องเข้าใจว่าแต่ละคนมีความกลัวที่ไม่เหมือนกัน เราไม่ควรบังคับใครให้ออกมาพูด เพราะความกลัวเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ แต่เราหันมาช่วยกันรณรงค์ดีกว่า ว่าถ้าเบิกเนตร เห็นปัญหาทางการเมืองแล้ว จะดีแค่ไหน ถ้าเราสามารถใช้พรีวิลเลจเพื่อมาขับเคลื่อนสังคม ท้ายที่สุดแล้วมันต้องเป็นความยินยอมของปัจเจกบุคคล ถ้าเราไปบังคับ ใจลึกๆ เขาไม่อยากทำ มันก็ไม่ช่วยอะไร แต่การที่ทำให้เขาเข้าใจจากใจว่า เขาควรใช้พรีวิลเลจของตัวเอง มาช่วยแก้ปัญหาสังคม มาช่วยเรียกร้องความเท่าเทียม ประชาธิปไตย ฯลฯ
ก่อนหน้านี้อั่งอั๊งเคยพูดว่า ถ้าการเมืองดี เราจะสามารถออกมาวิจารณ์ได้โดยไม่มีความกลัว เราเองก็มีพรีวิลเลจ และออกมาพูด แสดงว่าก็สัมผัสได้ถึงความกลัวด้วยเช่นกัน
ใช่ค่ะ การออกมาวิจารณ์ ไม่ใช่ hate speech มันแตกต่างกัน แต่ตรงๆ เราก็มีความกลัวว่า ถ้าเราพูดอะไรออกไป ทางโรงเรียนเราจะเป็นอย่างไร เราจะเรียนจบไหม ใจลึกๆ ก็มีความกลัวนี้จริงๆ และหนูก็เชื่อว่า เพื่อนๆ นักกิจกรรมทุกคนก็มีความกลัวเหมือนกัน แต่ตราบใดที่เรายังมีความกลัว มันแปลว่า มีคนกลุ่มใดกลุ่มนึง หรือใครคนนึงที่มีอำนาจเหนือเรา ซึ่งมันก็สะท้อนให้เห็นว่าสังคมเราก็ยังไม่เท่าเทียมกันอยู่ดี
สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดในตอนนี้คือ มองข้ามความกลัวจุดๆ นั้นไปให้ได้ หนูพยายามคิดว่า สิ่งที่หนูเสี่ยง หรือ cost ที่หนูเสี่ยงอยู่อาจจะเป็นอนาคตของตัวเอง ในด้านการศึกษา จะเรียนจบหรือไม่จบ แต่ในทางกลับกัน เราก็ต้องคิดถึง return cost ด้วย สิ่งที่เราต่อสู้มันคืออนาคตของเรา ถ้าเทียบแล้วมันเทียบอะไรไม่ได้เลยกับสิ่งที่หนูจะเสีย
หนูออกมาสู้เพื่ออนาคตของหนู ที่หนูอยากมีอนาคตที่เราอยู่ในระบอบประชาธิปไตย ที่คนทุกคนเท่าเทียมกัน นี่คืออนาคตที่หนูคิดว่า เพื่อนๆ นักกิจกรรมทุกคนต่อสู้เพื่อ หนูคิดว่าทุกอย่างมันมี cost และพวกเรายอมที่จะ pay that cost เพราะหวังว่าเราจะมีอนาคตที่ดีกว่านี้ ที่เท่าเทียมกัน
นี่เป็น cost ของคนที่ออกมาสู้ และ cost ของการที่ไม่ออกมาสนใจเรื่องปัญหาการเมืองหล่ะ
เราอาจต้องมาตั้งคำถามว่าทำไมเขาถึงไม่สนใจ กลุ่มคนนึงที่หนูอยากพูดถึงด้วยมากที่สุดคือ กลุ่มที่สนใจ แต่ก็อาจจะยังงงๆ กับตัวเอง อาจจะเห็นด้วยกับนักศึกษา เพราะนัยนึงก็อยากได้ประชาธิปไตย แต่ก็กลัว หนูก็อยากจะบอกว่า หนูไม่อยากให้คนกลุ่มนี้ในวันข้างหน้ามาเสียดายที่ตัวเองไม่ออกมาพูด แต่ก็ได้ประชาธิปไตยไปอย่างฟรีๆ ถ้าเราทุกคนร่วมกัน เราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว นักกิจกรรมทุกคนเราก็จุดยืนเดียวกันกับคุณ หนูก็เป็นคนธรรมดา เป็นวัยรุ่นคนนึงที่อยากจะออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และยังมีวัยรุ่นอีกหลายร้อยคน หลายพันคนที่มีความคิดแบบเดียวกับหนู หนูก็อยากจะบอกว่า ให้มองข้ามความกลัว เพราะสิ่งที่เราต่อสู้มันยิ่งใหญ่กว่านั้นมาก
พรีวิลเลจมาพร้อมความ ignorance หรือเปล่า
มาควบคู่กันในระดับนึง มันไม่สามารถพูดได้ว่าคุณพรีวิลเลจ คุณเลย ignorance ก็ไม่ใช่กับทุกคน มันอยู่ที่ตัวบุคคลด้วย แต่ตามที่เห็น คนที่พรีวิลเลจก็ไม่ใช่ ignorance แต่เขาไม่คิดว่ามันมีผลต่อชีวิตเขา ignorance คือรับรู้ แต่ไม่ใส่ใจ คือบางคนเขามีพริวิลเลจ รับรู้และเขาก็หันมาสนใจ แต่หลายคนอยู่ในแบบ apathetic คือไม่อยากจะรับรู้มากกว่า
คิดว่าทำไมการเมืองไทยมาถึงจุดนี้ ที่แม้แต่เด็กๆ มัธยมอย่างเรา ก็ต้องออกมาพูดเรื่องการเมือง
เพราะว่าเราต่างเห็นแล้วว่าการเมืองมันแย่มาก แย่จนกระทั่งเรารู้สึกว่ามันกระทบชีวิตเรา แม้ว่าเราจะอยู่ ม.ปลายเองก็ตาม อย่างเช่น ความกลัวที่หนูออกมาพูด หนูก็มีความกลัวว่าเราจะโดนไล่ออกจากโรงเรียนไหม จะโดนจับไหม จะหายตัวไปไหม ความกลัวนี้มันเกิดจากการเมืองที่ไม่ดี การเมืองที่ไม่มีเสรีภาพ สองก็คือเราก็คิดไปถึงภาพอนาคต ความฝันที่เราถูกปลูกฝังว่าเราเป็นคนเท่ากัน ท้ายที่สุดแล้วเรามาเห็นว่า สังคมเราไม่เท่ากัน
การเมืองมันแย่จนถึงขั้นว่า ทั้งชีวิตเราต้องมาหมกมุ่นถึงคุณภาพชีวิตของเรา เราต้องมาหมกมุ่นว่าเราต้องสอบเอนต์มหาวิทยาลัยดีๆ ต้องทำงานที่เงินเดือนเยอะๆ เราจะได้ส่งเงินไปให้พ่อแม่ได้ เราอยู่ในกรอบความคิดนี้ที่บังคับให้เราหมกมุ่นกับคุณภาพชีวิตเรา จนเราไม่มีเวลาที่จะไปใช้กับความฝันของตัวเอง หรือไปโฟกัสกับความอยากของตัวเองได้ มันเป็นการเมืองที่มันแย่จนมันกระทบกับอนาคตของเรา ท้ายที่สุดด้วยความกลัวว่ารัฐบาลจะไม่เอื้อ จะไม่สนับสนุนอนาคตของเขา เขาจึงต้องมาหมกมุ่นกับคุณภาพชีวิต จนไม่ได้ทำสิ่งที่เขาฝัน
เพื่อนๆ นักกิจกรรมหลายคน ทุกคนเริ่มต่อสู้เพื่ออนาคตของตัวเอง และท้ายที่สุดอย่างที่เราพูดออกไป มันก็ทำให้หลายๆ คนเห็นด้วยกับเรา จนเกิดการที่มีนักเรียน นักศึกษา ประชาชนออกมารวมตัวกัน แต่ท้ายที่สุดแล้ว หนูเชื่อว่าทุกคนก็ออกมาต่อสู้เพราะความกลัวในอนาคตของตนเอง ในปัจเจก ในฐานะคนนึงของสังคม
แสดงว่าก่อนหน้านี้ เรามองไม่เห็นอนาคตในประเทศนี้เลย
ไม่เห็นเลย มันมืดมาก คือรู้สึกว่า คนกลุ่มน้อย หรือคนกลุ่มพรีวิลเลจเท่านั้นที่จะไม่ต้องห่วงเรื่องคุณภาพชีวิตตัวเอง เพราะเขามีต้นทุนทางสังคมอยู่ และเขาสามารถเลือกที่จะทำอะไรที่เขาอยากได้ แต่ในทางกลับกันสังคมตอนนี้มันคือการที่เราต้องหมกมุ่นกับการหาเงิน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ดิ้นรนกับการหาอาชีพที่จะได้รับเงินเดือนขั้นต่ำ แค่นี้มันก็หดหู่มากๆ รัฐบาล หรือสังคมการเมืองก็ควรทำให้คนมีต้นทุนทางสังคมที่ดี เพื่อจะให้คนในประเทศสามารถทำตามความฝันได้
ในฐานะที่เป็นคนไทย ที่จ่ายภาษีไปแล้ว เขาก็หวังว่าเขาจะได้คุณภาพชีวิตที่ดีอยู่แล้ว เป็นความหวังของประชาชน ที่เขาอยากจะเป็นอะไรเขาไม่ต้องมาหวังพึ่งบุญ หวังพึ่งโชค ต้องรอมีเงินเพื่อเป็นต้นทุนชีวิตเขา ทั้งๆ ที่รัฐควรจะเป็นสิ่งนั้นที่ให้ต้นทุนชีวิตเขาอยู่แล้ว
ในวัยนี้ ที่เรายังเลือกตั้งไม่ได้ หรือยังไม่สามารถเข้าร่วมมีสิทธิทางกฎหมายบางอย่างได้ สิ่งที่เด็กในรุ่นอั่งอั๊งจะมีส่วนร่วมทางการเมืองได้คืออะไรบ้าง
สิ่งที่เราทำได้คือการปลูกฝังให้ทุกคนรู้ว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน มันก็จริงว่าเรายังอายุ 18 ปี ยังเลือกตั้งไม่ได้ แต่ก็มีเพื่อนๆ อีกหลายคนที่ยังไม่เห็นว่าการเมืองสำคัญกับชีวิตเขายังไง ก่อนที่เราจะเลือกตั้งได้ ก่อนที่จะอายุ 18 ปี มันไม่ใช่ว่าวันนึงเราเลือกตั้งได้แล้วจะรู้เลย แต่ว่ามันคือการปลูกฝังทีละเล็กทีละน้อยให้ทุกคนเข้าใจถึงแก่นของตัวเองเลยว่า เราต้องเลือกตั้ง ไม่งั้นมันกระทบชีวิตเราจริงๆ และปลูกฝังว่าอนาคตคือเรื่องของคุณ ไม่ใช่ว่าคุณจะมาสนใจการเมืองแค่ในแง่ของภาควิชา คุณต้องสนใจการเมืองเพราะว่ามันเกี่ยวกับชีวิตของคุณเลย
นี่คือสิ่งที่หนูคิดว่า เด็กที่อยู่ ม.ปลายทำได้ คือคุณต้องมีจุดยืนของตัวเองในวันที่จะเลือกตั้ง ต้องรู้ว่าจะเลือกพรรคอะไร และเพราะอะไร ไม่ได้บอกว่าทุกคนต้องเห็นด้วยกับพรรคที่หนูจะเลือกในอนาคต แต่อย่างน้อยต้องมีจุดยืน และอธิบายได้ว่า ทำไมพรรคที่คุณจะเลือกจะช่วยให้คุณภาพชีวิตคุณดีขึ้นได้
ที่ผ่านมา พอเด็ก และคนรุ่นใหม่ออกมาพูดเรื่องการเมือง ก็จะมีวาทกรรมที่โต้ออกมาว่า ‘เด็กคิดเองไม่ได้’ ‘เด็กถูกชักจูงด้วยคนเบื้องหลัง’ ไปถึง ‘ชังชาติ’
อันนี้เจอบ่อยมากคำว่า ใครจ้างมา หรือเป็นเด็กชังชาติ หนูคิดว่าคำพูดพวกนี้ กับหนู หรือนักกิจกรรมคนอื่นๆ ส่วนตัวแล้ว โดยตรงแล้วมันไม่ได้กระทบกับเราอยู่แล้ว เพราะเรารู้ดีว่า เราไม่ได้ชังชาติ เรารักชาติไม่น้อยไปกว่าเขาเลย แต่การที่เขาจะใช้วาทกรรมแบบนี้มันสะท้อนความคิดของเขาเองหรือเปล่าว่า ถ้าเขาจะบอกว่าใครจ้างเรามา มันแปลว่าเขาดูถูกคนรุ่นใหม่ ว่าเราไม่มีความรู้มากพอ แล้วทำไมเขาถึงดูถูกเราแบบนี้ เพราะเขาไม่มีความเชื่อมั่นในระบบการศึกษา ท้ายที่สุดแล้วมันเป็นการสะท้อนความคิดของเขาเองว่า เขาก็ไม่เชื่อมั่นในระบบการศึกษาของไทยเหมือนกัน
เราก็ถามกลับไปกับคนที่ชอบมาด่าเราเหมือนกันว่า ถ้าคุณมีลูก มีหลาน ถ้าคุณรักเขา ก็อยากจะสั่งสอน ใช้วาจาเตือน หากเขาทำอะไรไม่ดี มันก็เหมือนกัน ชาติเราตอนนี้ เราต้องสามารถวิจารณ์ชาติได้อย่างเปิดเผย เรามาวิจารณ์สิ่งที่มันต้องเปลี่ยนแปลง เพราะยุคสมัยมันเปลี่ยนไป ชาติก็ต้องเปลี่ยนตาม รัฐบาล การเมืองก็ต้องเปลี่ยนตาม เพราะสุดท้ายแล้วคนรุ่นใหม่ คืออนาคต
ถ้าเขาจะมาใช้วาทกรรมแบบนี้ มันไม่ได้บั่นทอนความรู้สึกของเราเลย จริงๆ มันผลักดันให้เราอยากต่อสู้มากขึ้นด้วย
อยากให้ผู้ใหญ่ที่ออกมาดูถูกเด็กๆ เข้าใจอะไรบ้าง
เลิกดูถูกคนรุ่นใหม่ได้แล้ว ยุคนี้มันต่างจากยุคของคุณ มันคือยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง คุณจะออกมาดูถูกคนรุ่นใหม่ หรือเราแค่ไหน มันก็ยิ่งผลักดันให้เราออกมามากขึ้น แทนที่จะมาดูถูกเรา เรามาจัดเวทีเสวนา จัดแพลตฟอร์มที่ทำให้มีการคุยกันอย่างสันติวิธีน่าจะดีกว่า
แต่ก็ไม่ใช่ว่าหมดหวังกับผู้ใหญ่ใช่ไหม สิ่งที่คาดหวังจากผู้ใหญ่คืออะไร
หนูคาดหวังให้เขามาต่อสู้กับเราเหมือนกัน ด้วยความหวังที่เขาอยากเห็นลูกหลาน เห็นคนรุ่นต่อไป ในฐานะที่เป็นเชื้อสายคนไทย มีอนาคตที่ดี มีอนาคตที่เท่าเทียม หวังกับคนรุ่นเก่าเหมือนที่หวังกับคนรุ่นใหม่ อาจจะแตกต่างกันที่ว่า อยากให้คนรุ่นใหม่ตระหนักถึงว่าอนาคตจะเป็นของเขา แต่สำหรับคนรุ่นเก่า อยากให้เขามองความกดขี่ที่เขาได้เจอมาของรัฐยุคนี้ หรือยุคก่อน ไม่ว่าจะระบบศักดินา หรืออื่นๆ หนูก็คิดว่าคนรุ่นเก่าก็รู้จักระบบนี้ดีที่จะออกมาวิจารณ์พร้อมกับเรา และหวังให้คนรุ่นก่อนเลิกกลัว เพราะคนรุ่นใหม่ไม่กลัว เราก็หวังว่าเขาจะไม่กลัวเหมือนกัน เราออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยด้วยกันดีกว่า
เราเห็นว่านอกจากการเมือง อั่งอั๊งยังสนใจประเด็นที่ลึกลงไป อย่างประเด็นการทำแท้ง หรือความเท่าเทียมทางเพศด้วย
หนูสนใจเรื่องสิทธิทางความเท่าเทียมทางเพศมาซักพัก เราสนใจมันควบคู่ไปกับการเมืองเลย เพราะในทุกประเทศความเท่าเทียมทางเพศยังไม่มีเต็มที่ ถึงแม้ว่าในประเทศนอร์ดิก แต่หลายๆ อย่าง อย่างมาตรฐานที่ไม่เท่าเทียมในไทย แม้แต่ในสภาผู้แทนราษฎรเองเราก็ยังเห็น เช่น ที่ ส.ส.ท่านนึงเขาเคยพูดว่า เป็นผู้หญิงดูสวยไว้ก็พอ พอเป็นผู้หญิง มันจะมีเรื่องรูปลักษณ์หน้าตา ภาพลักษณ์อย่างเดียว ไม่มีการพูดถึงความสามารถ
และประวัติศาสตร์ของเราก็เป็นประวัติศาสตร์ที่ชายเป็นใหญ่ กฎหมายทุกกฎ ถูกเขียนมาโดยผู้ชาย และสิทธิ เสรีภาพของผู้หญิงก็ถูกเขียนโดยผู้ชายหมดเลย ทั้งที่ผู้หญิงควรเป็นคนได้เขียนกฎหมายให้เราเอง เพราะเราเป็นคนที่เข้าใจร่างกายของเราดีที่สุด แล้วท้ายที่สุดแล้ว เราก็เห็นว่าในการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในตอนนี้ คนที่ยืนอยู่ข้างหน้า คนที่จับไมค์ คือผู้หญิง และกลุ่ม LGBT
หรือถ้าจะเจาะจงปัญหาอย่างเรื่องของการทำแท้ง จากที่ได้อ่านบทความหลายๆ ชิ้นของต่างประเทศ เขาก็รู้สึกว่าไม่ใช่ว่าเขาอยากให้เด็กเกิดมาในสภาพแวดล้อมที่พร้อมอย่างเดียวแค่นั้น แต่ยังพูดถึงร่างกายของผู้หญิงว่า เราควรมีสิทธิควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นในร่างกายของเราเอง ไม่ใช่ให้รัฐควบคุมร่างกายของเรา ร่างกายของเรามันคือปัจเจกบุคคล มันคือร่างกายของผู้หญิงกันเอง เรามีมดลูกกันเอง ซึ่งสังคมชายเป็นใหญ่เขาจะไม่เข้าใจสภาพของเราแบบนี้ อย่างเช่นราคาผ้าอนามัย ที่มันแพง ทำไมสิ่งที่มันเป็นเรื่องปกติมากๆ มันกลายเป็นสิ่งห้ามพูดในสังคม ทั้งๆ ที่คนครึ่งประเทศมีประจำเดือน แต่อยู่ดีๆ มันกลายเป็นเรื่องที่ผิดปกติ ที่จะพูดถึงมัน
สุดท้ายแล้วเรื่องนี้ก็ไม่ต่างจากความเท่าเทียม มันก็คือเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศเหมือนกัน
คิดว่าโครงสร้างนี้ต้องเปลี่ยนยังไงบ้าง เพื่อให้ปัญหาต่างๆ ที่เราคุยกันมานี้แก้ได้
ต้องแก้ที่กฎหมายก่อนเลย อย่างรัฐธรรมนูญ ที่เราต่อสู้เพื่อมันอยู่ การเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่ถูกเขียนโดยไม่ชอบธรรม หนูรู้สึกว่าสิ่งที่สร้างโครงสร้างของสังคมได้ก็คือกฎหมายที่ทุกคนทำตาม แต่กฎหมาย หรือสิ่งที่อยู่ในรัฐธรรมนูญตอนนี้ มันก็ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยเลย อย่าง 250 ส.ว. เราเห็นได้ชัดเลย
มันก็มีสิ่งที่ทุกๆ คนทำได้ อย่างการร่วมเข้าชื่อของ ilaw ที่มีการยืนไปแล้ว หรือเรียกร้องเชิงกฎหมาย อย่างกฎหมาย ม.301 เรื่องการทำแท้ง หรือการทำให้โสเภณีถูกกฎหมาย หวังว่าทุกคนก็จะเข้าไปร่วมเซ็นชื่อ แสดงความเห็นในกฎหมายต่างๆ ที่แต่ละกลุ่มเสนอมา สุดท้ายแล้วโครงสร้างของประเทศไทยมันก็ต้องเริ่มแก้โดยการรื้อกฎหมายที่ถูกเขียนมาอย่างไม่ชอบธรรม
ในช่วงการชุมนุม มีประโยคที่เกิดขึ้นคือ ‘ให้มันจบที่รุ่นเรา’ สิ่งที่อั่งอั๊งอยากให้จบในรุ่นเราจริงๆ คืออะไร
อย่างแรกเลยคือ การที่เราไม่มีเสรีภาพในการพูด หรือความคิดเห็นในเรื่องการเมืองต่างๆ นาๆ หนูอยากให้มันจบในรุ่นเราจริงๆ คนรุ่นต่อไปจะได้ไม่ต้องเกิดมาในสังคมแห่งความกลัวและความสิ้นหวัง อย่างที่สองคือ ระบบการกดขี่ ระบบศักดินา หรืออำนาจจอมปลอมที่หลายๆ คน ยังยึดถืออยู่ หนูอยากให้มันจบ มันคือ 2 ปัจจัยหลัก หนูคิดว่าถ้ามันจบไป ทุกๆ อย่างจะง่าย และมีความเท่าเทียมมากขึ้น ท้ายที่สุดทุกอย่างเราก็โยงไปได้กับความเท่าเทียม กับการเมือง เพราะความเท่าเทียม + การเมือง = ประชาธิปไตย
จากที่บอกว่าไม่เห็นอนาคตประเทศเลย ตอนนี้ที่ประชาชนเริ่มออกมาแสดงสิทธิ ส่งเสียงกันมากขึ้น เราเริ่มเห็นความหวังว่าประเทศจะเปลี่ยนแปลงไปไหม
หนูเห็นความหวัง จริงๆ เห็นความหวังมากๆ พอเห็นนักเรียนแม้แต่ ม.ต้น ออกมาวิจารณ์การเมืองที่มันแย่ โครงสร้างที่มันแย่ มันทำให้มีความหวังมากว่าคนรุ่นใหม่เราต่างเข้าใจกันแล้วว่า การเมืองเป็นเรื่องของเขาจริงๆ เมล็ดพืชที่หว่านไปได้เติบโตมาแล้ว
ทุกคนได้เข้าใจแล้ว การเมืองเป็นเรื่องของเรา เราต้องออกมาแสดงออก และลงมือ เพราะถ้าเราไม่ออกมาสู้ แล้วใครจะสู้เพื่อเรา