ชื่อของ หยก—ธนลภย์ เยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นการเมือง กลายเป็นที่ถูกพูดถึงในวงกว้าง หลังเจ้าตัวต้องปีนรั้วโรงเรียนเพื่อเข้าไปเรียนหนังสือ ในชุดแต่งกายแบบไปรเวท และผมสีชมพูสดใส
การแต่งกายที่ไม่เข้าตา ‘ฝ่ายปกครอง’ ของสถานศึกษา หนักขึ้นไปอีก เมื่อเธอคือคนที่มีคดี ม.112 ติดตัวอยู่
ความคิดเห็นที่หลากหลายจึงปะทุขึ้นในสังคม หลายคนมองว่า การกระทำของเธอ ‘ก้าวร้าวเกินไป’ และเป็นเรื่องถูกต้องแล้ว เมื่อโรงเรียนออกแถลงการณ์มาว่า ‘หยกไม่ดำเนินการตามเงื่อนไขการมอบตัว จึงไม่มีฐานข้อมูลนักเรียนในระบบตั้งแต่ต้น และไม่มีสภาพการเป็นนักเรียน’ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลต่อความไม่ปลอดภัยของนักเรียน ครู และผู้ปกครอง จึงต้องดำเนินการตามมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด
แต่อีกด้านก็ตั้งคำถามว่า สถาบันต่างๆ ในสังคม หลงลืมไปหรือเปล่าว่านี่คือ ‘เด็กอายุ 15’ ไม่ใช่อาวุธสงครามที่จำต้องปฏิบัติอย่างไร้ความเมตตาปรานี และเป็นหน้าที่ของ ‘ผู้ใหญ่’ หรือเปล่า ที่จะต้องหาทางออกในเรื่องนี้อย่างมีวุฒิภาวะ
ท่ามกลางความเห็นที่หลากหลายนี้ เราขอพาไปฟังเสียงของ ป้ามล—ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และ อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงประเด็นถกเถียงที่เกิดขึ้น สังคมล้มเหลวในการปกป้อง ‘หยก’ อย่างไร แล้วท่าทีที่ควรเป็นคือแบบไหนกันแน่
หยกเจออะไรมาบ้าง?
หลังการออกมาเคลื่อนไหวในกิจกรรม 13 ตุลาหวังว่าสายฝนจะพาล่องไป เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2565 หยกเคยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจคุกคามที่บ้าน 2 ครั้ง และที่โรงเรียนอีก 1 ครั้ง
ไม่เพียงเท่านั้น การชุมนุมในครั้งนั้น ยังทำให้เธอถูก อานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) กล่าวหาเธอตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 จนกระทั่ง สน.สำราญราษฎร์ ออกหมายเรียกหยกเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 มกราคม และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566
หยก กลายเป็นเยาวชนที่อายุน้อยที่สุดที่ได้รับหมายเรียกในคดี ม.112 ด้วยวัยในขณะนั้นเพียง 14 ปี
หมายเรียกฉบับที่ 2 ระบุให้หยกไปพบตำรวจที่ สน.สำราญราษฎร์ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ศูนย์ทนายฯ แจงว่า หยกกำลังเตรียมตัวสอบเข้าเรียนต่อชั้น ม.4 จึงทำหนังสือขอเลื่อนเป็นวันที่ 9 เมษายน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้รับทราบและรับหนังสือเรียบร้อยแล้ว
แต่ในวันที่ศิลปินคนหนึ่งไปพ่นสเปรย์ต่อต้าน ม.112 บนกำแพงวัดพระแก้ว หยกซึ่งตามติดไปด้วยนั้นก็ถูกตำรวจ สน.พระราชวังจับกุมตัว และส่งต่อไปยัง สน.สำราญราษฎร์ เธอถูกนำมาไต่สวนที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ซึ่งศาลได้ออกหมายควบคุมตัว เป็นเหตุให้หยกถูกส่งไปที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี จ.นครปฐม อยู่ 51 วัน
หยกกลับไปเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ โดยมี บุ้ง—เนติพร ลงนามในฐานะผู้ปกครอง ในเอกสารมอบตัว เธอเริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องเสรีภาพในการแต่งกายและทรงผม ก่อนวันที่ 13 มิถุนายน เยาวชนคนนี้จะโพสต์บนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “โรงเรียนบอกว่าไล่เราออกแล้ว บอกว่าให้เราจำไว้ว่าต่อไปนี้เราคือบุคคลภายนอก”
ไม่กี่วันถัดมา โรงเรียนออกแถลงการณ์ว่า หยกรายงานตัวไม่สำเร็จ เนื่องจากไม่มีพ่อแม่มาทำเรื่อง จึงไม่มีสภาพเป็นนักเรียนตั้งแต่ต้น – จุดนี้เองที่ยิ่งทำให้เกิดข้อถกเถียงในสังคมมากขึ้น
นี่คือเรื่องย่อของสิ่งที่หยกเคยเผชิญมา ซึ่งทิชา ณ นคร หรือที่หลายคนเรียกติดปากกันว่า ป้ามล ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก อธิบายว่า เราจำเป็นต้องถอยกลับไปดูว่า หยกเข้ามาสู่พื้นที่กฎหมายด้วยคดีอาญา ม.112 ซึ่งสำหรับคนทั่วไป จะรู้สึกกลัวในมาตรานี้
“ความกลัวของเขามันชัดเจนขึ้นเมื่อเขาถูกข่มขู่ แน่นอน แม่กับหยกเขามีดีกรีต่อ 112 ไม่เท่ากัน หยกอาจจะพร้อมที่จะรับมือ ทั้งที่รู้ว่าตัวเองไม่ได้มีประสิทธิภาพในการรับมือ 100% แต่ว่าเขาพร้อม ใจเขาพร้อม แต่แม่เขาไม่พร้อม เมื่อแม่เขาไม่พร้อม สำหรับหยกเท่าที่เราพอมีข้อมูลที่พอพูดได้บ้าง ก็คือว่า แค่แม่ไม่ห้ามเขา เขาก็ขอบคุณมากแล้ว”
ป้ามลอธิบายต่อว่า ดังนั้น ปัญหาจากการถูกดำเนินคดี และการข่มขู่คุกคามที่เป็นผลมาจาก ม.112 ที่แม่และหยกให้น้ำหนัก จึงไม่เท่ากัน
นอกจากสถาบันครอบครัวแล้ว ก็ยังมีหน่วยงานอีกมาที่สามารถเข้ามาให้ความช่วยเหลือในเรื่องนี้ได้ แต่ป้ามลมองว่า เมื่อมีคดี ม.112 เข้ามาเกี่ยวข้อง หน่วยงานทั้งหลาย โดยเฉพาะคนในระบบราชการ ก็วางท่ากันไม่ถูก ทั้งศาลที่เมื่อเจอหยกนั่งหันหลังให้ เพราะต้องการแสดงออกถึงความไม่พอใจที่ศาลไม่ตรวจสอบการจับกุมของตำรวจที่หยกมองว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงตำรวจ 10 นาย ที่พากันส่งเด็กผู้หญิงคนเดียวเข้าบ้านปรานี และบ้านปรานีที่ป้ามลมองว่า เขาจะพร้อมทำงาน ดูแลเด็กๆ ถ้าเด็กเหล่านั้นมาด้วยคดีลักวิ่งชิงปล้นธรรมดา
“แต่พอหยกมาด้วยคดี 112 แปะหน้าผากเข้ามา สำหรับรัฐ นี่คือคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง และอาจจะกระทบตัวเขา ซึ่งจริงๆ แล้ว เขาไม่ต้องคิดแบบนั้นก็ได้ ถ้าหยกผิดหรือไม่ มันก็เป็นเรื่องของศาล ไม่ใช่เรื่องของคนที่ดูแลหยก แต่ว่า 112 มันสั่นคลอนทุกๆ คนได้”
พอถึงวันที่หยกถูกปล่อยตัวออกมา และควรได้กลับไปเรียนหนังสือ ป้ามลก็มองว่า โรงเรียนไม่ได้เห็นแค่ ‘หยก’ เท่านั้น แต่โรงเรียนเห็น ‘ม.112’ ด้วย
‘ผู้ปกครอง’ ของโรงเรียน กฎหมาย และหยก
…หยก ไม่มีสภาพการเป็นนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ เนื่องจากการมอบตัวไม่เป็นไปตามเงื่อนไขในการมอบตัวตามประกาศการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2566 ที่กําหนดให้นักเรียนทุกคนต้องมามอบตัวที่โรงเรียนพร้อมกับผู้ปกครอง (ผู้ปกครองตามพระราชบัญญัติ คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546) อันเป็นเงื่อนไขสำคัญตามระเบียบและแนวปฏิบัติในการมอบตัว… คำแถลงจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ
แต่หากเราไปดู พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 4 ที่ระบุความหมายของ ‘ผู้ปกครอง’ จะพบว่าหมายถึง “บิดามารดา ผู้อนุบาล ผู้รับบุตรบุญธรรม และผู้ปกครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้หมายความรวมถึงพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยง ผู้ปกครองสวัสดิภาพ นายจ้าง ตลอดจนบุคคลอื่นซึ่งรับเด็กไว้ในความอุปการะเลี้ยงดู หรือซึ่งเด็กอาศัยอยู่ด้วย”
ป้ามล กล่าวถึงคำแถลงของโรงเรียนว่าเป็นคำอ้างที่ไม่ถูกต้องเพราะใน พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ก็ระบุไว้ชัดเจนถึงความหมายของผู้ปกครองที่รวมถึงบุคคลอื่นซึ่งรับเด็กไว้ในความอุปการะเลี้ยงดู หรือซึ่งเด็กอาศัยอยู่ด้วย
หรือหากโรงเรียนจะบอกว่ากติกาที่กล่าวอ้างมานั้นมีอยู่จริง ป้ามลก็มองว่า ยิ่งเป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข เพราะเป็นไปไม่ได้ที่เด็กทุกๆ คน ภายใต้เงื่อนไขชีวิตที่แตกต่างจะมีทุกอย่างครบ พร้อมยกเคสที่ตัวเธอเองเคยรับเด็กเร่ร่อนวัย 9 ปีมาอยู่ในความดูแล พาไปเข้าเรียนโรงเรียนใกล้บ้าน ก็ไม่ได้มีพ่อแม่มารับรอง เพราะไม่มีการแจ้งเกิด
“สุดท้ายเขาก็ได้เรียนหนังสือ จนป่านนี้ก็โตเป็นสาวแล้ว ทำไมกติกานี้ไม่ถูกใช้ล่ะ เพราะว่าเด็กอายุ 9 ขวบคนที่เราเอาเข้าไปในโรงเรียนนั้น เขาไม่โดน ม.112 ด้วยไง”
ขณะที่ ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การที่โรงเรียนตัดสิทธิ์หยกเพราะไม่มีผู้ปกครอง เป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลทั้งในกฎหมายของไทยและต่างประเทศ และ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่โรงเรียนอ้าง ก็ไม่ได้เป็นเหตุผลที่ศาลรับรอง ส่วนในกฎหมายระหว่างประเทศเรื่องของเด็กกับผู้ปกครอง หลักการกว้างๆ ที่โลกเรามีอยู่ คือ เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีหรือยังเป็นผู้เยาว์ การตัดสินใจส่วนใหญ่จะต้องมีการรับรองของผู้ปกครองด้วย เพราะเป็นกลไกลอย่างนึงที่จะป้องกันไม่ให้มีใครมาแสวงหาผลประโยชน์กับเด็ก
“แต่ว่าการมอบตัว ด้วยคอมมอนเซนส์ของเรา มันคือการทำเพื่อให้เด็กได้รับการศึกษา ให้เขาได้เข้าไปอยู่ในระบบโรงเรียน มันอยู่ในผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก ซึ่งเป็นหลักแกนกลางของสิทธิเด็ก ในแง่สิทธิมนุษยชนสากล”
“ฉะนั้น ถ้าโรงเรียนเข้าใจในหลักการนี้ว่า ทุกการตัดสินใจจะต้องอิงจากผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก โดยสามารถอะลุ่มอล่วยผลประโยชน์บางอย่างที่จริงๆ มันไม่จำเป็นจะต้องเคร่งครัดขนาดนั้น โรงเรียนก็จะเข้าใจว่าจริงๆ ควรจะอนุโลมให้น้องสามารถเข้าเรียนได้ โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องมีผู้ปกครองมารับรองด้วยซ้ำ”
อย่างไรก็ดี ชนาธิปวิเคราะห์ว่า เราอาจจะไม่สามารถวิเคราะห์ตามลายลักษณ์อักษรได้อย่างตรงไปตรงมา เพราะหากดูบริบทแวดล้อม แถลงการณ์ครั้งแรกของโรงเรียนก็บอกว่า การไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ ทำให้โรงเรียนรู้สึกว่าเด็กไม่สามารถอยู่ในระบบได้
แต่ชนาธิปก็กล่าวถึงเรื่องที่หยกเคยโพสต์ไว้ว่า โรงเรียนเคยเรียกหยกไปถามว่า ทำไมการดำเนินคดียังไม่เป็นที่สิ้นสุด ทำไมถึงยังมีการคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐอยู่
“ผมคิดว่าจริงๆ เราควรจะอ่านสิ่งเหล่านี้แล้วนำมาวิเคราะห์ประกอบว่าเป็นปัจจัยให้โรงเรียนรู้สึกขุ่นข้องหมองใจกับการมีเด็กคนนี้อยู่ในโรงเรียน เพราะว่าเขากำลังโดนคดีอยู่ โดนเจ้าหน้าที่ติดตามคุกคามอยู่ ก็คิดว่าเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ แม้เราอาจจะไม่สามารถฟันธงได้ชัดเจนว่ามันส่งผลกระทบกับการตัดสินใจของโรงเรียนโดยตรงหรือเปล่า”
เช่นเดียวกัน อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็มองว่าเหตุผลที่ทางโรงเรียนให้มานั้นค่อนข้างแปลก เพราะโรงเรียนก็รู้จักกับหยกมาตั้งแต่ ม.1 และยิ่งตอนนี้เด็กมีปัญหาว่าตามตัวพ่อแม่ไม่เจอ ก็ยิ่งเป็นสถานการณ์ที่โรงเรียนไม่ควรปฏิเสธเด็ก
“คำถามของครูตอนนี้คือ ถ้าเด็กที่มีปัญหานี้ ไม่ใช่หยก ที่เป็นนักเคลื่อนไหวการเมือง โรงเรียนจะปฏิบัติกับเด็กคนนั้นแบบที่กำลังปฏิบัติกับหยกหรือเปล่า? เพราะตอนนี้ นัยยะหนึ่งที่เราเห็นคือ โรงเรียนมองหยกเป็นเด็กที่โดนคดีอาญา ม.112 ไม่ได้มองเป็นเด็กอายุ 15 ที่ตอนนี้พ่อแม่หายตัวไป”
“โรงเรียนกำลังมองเห็นหยกเป็นเด็กอายุ 15 ที่พ่อแม่หายตัวไป หรือว่า ‘หยก 112’ เพราะถ้ามองแบบแรกโรงเรียนจะไม่เลือกชอยส์นี้หรอก แต่เพราะมองแบบที่สอง โรงเรียนก็เลยต้องเซฟตัวเองด้วยการผลักเด็กออกไปก่อน โดยการยึดกฎเหล็กว่าเด็กไม่ได้มามอบตัวตามระเบียบ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ คุณยืดหยุ่นได้ แล้วก็ยิ่งจะต้องช่วยด้วยซ้ำ มันเป็นเรื่องที่คนเป็นครูบาอาจารย์ต้องดูแลลูกศิษย์ตัวเอง”
‘สิทธิ’ ที่ถูกลืมเลือน
ชนาธิป ก็กล่าวถึงกรณีของหยกว่า แตกต่างจากเด็กคนอื่นๆ เพราะเป็นนักเคลื่อนไหวที่มีคดี ม.112 ติดตัวเช่นกัน ประเด็นนี้เชื่อมไปถึงเรื่องของสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งมีการรับรองเอาไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ถึงอย่างนั้น เธอก็ถูกดำเนินคดี ม.112 ซึ่งมีเหตุมาจากการแสดงออกโดยสงบ และไม่ได้ไปละเมิดสิทธิใคร ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมควรและไม่สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนตั้งแต่แรก
“ทีนี้พอเชื่อมโยงกลับมาในประเด็นปัจจุบันก็มีเรื่องเครื่องแบบที่ถูกหยิบขึ้นมาโดยโรงเรียนและคนในสังคมว่าพอหยกไม่ทำตัวตามระเบียบ ก็ถูกโรงเรียนมองว่าไม่ได้เข้าสู่ระบบของโรงเรียน แล้วบุคคลทั่วไปก็มองว่าเขาก้าวร้าว”
“แต่ในกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิเด็กมันมีบทบัญญัติข้อหนึ่งที่พูดถึงว่า กฎระเบียบของโรงเรียนจะต้องสอดคล้องกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และไม่ละเมิดสิทธิด้านอื่นๆ ของเด็ก ฉะนั้น การมีกฎระเบียบที่ค่อนข้างบีบบังคับเสรีภาพในการแต่งกาย หรือไว้ทรงผม ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีเด็กมาตั้งคำถาม หยกก็ไม่ใช่คนแรกที่ลุกขึ้นมาประท้วงหรือทำอารยะขัดขืน ในการไม่ทำตามกฎระเบียบที่โรงเรียนกำหนดเอาไว้ เนื่องจากเขามองว่ามันเป็นสิ่งที่ขัดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขา”
ประเด็นเรื่องชุดเครื่องแบบและทรงผมนักเรียนนี้ อ.อรรถพล ก็ตั้งคำถามกับโรงเรียนว่า โรงเรียนได้พูดคุยกับหยกอย่างเต็มที่หรือยัง เพราะหากได้คุยกันแล้วก็ควรจะเข้าใจว่า โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับหยก
“หยกต้องการต่อสู้เรื่องอำนาจนิยมในโรงเรียน เพียงแต่เอเจนซี่เรื่องอำนาจนิยมในโรงเรียนตอนนี้ที่ใกล้ตัวเขาที่สุดก็คือเตรียมพัฒน์ แต่ตอนนี้โรงเรียนเล่นบทคู่ขัดแย้งกับเด็กเอง มันคือการเล่นผิดบท จริงๆ ตัวเองไม่ต้องมาปะทะกับหยกก็ได้ ก็ให้เขามาคุยสิว่าต้องการขนาดไหน แล้วโรงเรียนก็มีระเบียบข้อบังคับที่มาจากฉันทานุมัติด้วยกันว่าจะแต่งกายยังไง เด็กทำได้แค่ไหน โรงเรียนถอยได้แค่ไหน”
“แต่ตลอดหลายวันที่อยู่ในพื้นที่สื่อ มันไม่มีพื้นที่ในการคุยกันของเด็กกับโรงเรียน ปล่อยให้เด็กพูดกับสื่อ โรงเรียนก็ใช้การสื่อสารเป็นแถลงการณ์ทางเดียว พอคุณไม่สื่อสารสองทาง คุณจะคุยกันรู้เรื่องอย่างไร?”
คำถามเรื่องชุดนักเรียนและทรงผมที่หยกพยายามเรียกร้องนี้ จึงต้องส่งตรงไปให้ถึงกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็น ‘ผู้ใหญ่’ ในประเด็นนี้ด้วย เพราะระเบียบเรื่องทรงผมที่กระทรวงออกมานั้นก็ให้อำนาจกับโรงเรียนแต่ละแห่งในการกำหนดเกณฑ์กันเอง แต่วัฒนธรรมในสังคมไทยก็ยังต้องรอฟังคำของผู้ใหญ่ ทำให้โรงเรียนเองก็ต้องการหลังพิงฝาว่าผู้ใหญ่ในกระทรวงจะว่าอย่างไรในเรื่องนี้
อ.อรรถพลย้ำว่า หลักการของการยอมให้โรงเรียนมีอิสระในการเปลี่ยนแปลง ต้องอยู่ภายใต้กติกา รัฐธรรมนูญ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ตอบสนองต่ออนุสัญญาสิทธิเด็ก และต้องย้ำประเด็นนี้ให้ชัดกว่าการไปยุ่งกับเสื้อผ้าหน้าผมเด็กมันผิดยุคสมัยไปแล้ว อาจจะไม่ได้ยกเลิกไปทั้งหมด แต่การบังคับใส่ทุกวัน อาจจะไม่ฟังก์ชั่นในยุคนี้แล้ว หลายโรงเรียนที่ใส่ไปรเวทก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร
“อย่าให้มันเกิดภาพว่า ต้องเป็นโรงเรียนมีเงินเท่านั้น เด็กถึงจะมีอิสระในการตัดสินใจ ซึ่งไม่ใช่ไง แล้วโรงเรียนตามต่างจังหวัด การไม่เคร่งครัดกับเครื่องแบบมันก็เป็นเรื่องปกติ เพราะเขาไม่ได้มีความพร้อมในการใส่เสื้อเชิร์ตสีขาวมาทุกวันหรอก เขาก็แต่งตามที่เขามี จริงๆ มันต้องก้าวข้ามเรื่องนี้ได้แล้ว”
วางท่าทีอย่างไร ท่ามกลางความโกรธที่ยังคงปะทุ
“หยกไม่ได้เกิดมาพร้อมความสุดโต่ง ก้าวร้าว หยกไม่ได้บ้า ไม่ได้เพี้ยน ไม่ได้เป็นอย่างเช่นสีที่ป้าย แต่ปฎิเสธไม่ได้ว่า เด็กหญิงอายุ 15 คนนี้ แรงขึ้นตามสัดส่วนของกฎหมาย ใช่ เธอต้องคำราม จำเป็นต้องคำราม เลี่ยงไม่ได้ที่ต้องคำราม กลไกปกป้องตนเองของเธอยังมีชีวิต ยังมีแรง ยังมีพลัง”
นี่เป็นข้อความจากเฟซบุ๊กของป้ามล ที่สะท้อนให้เข้าใจความโกรธที่หลายคนแปะป้ายว่า ‘เกินพอดี’ ของหยก
เพราะการจะไปคาดหวังให้หยกไม่เกรี้ยวกราดนั้น คือการเอาความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมไปไปกดทับเธอ ซึ่ง อ.อรรถพลก็ย้ำให้สังคมย้อนกลับไปมองว่า ในตอนที่หยกอยู่ ม.3 ก็ไม่ใช่เธอในเวอร์ชั่นนี้ แต่เพราะหยกถูกผลักให้กลายเป็นศัตรูของรัฐ ดังนั้น ความโกรธของเธอจึงมีที่มาที่ไป
คำถามสำคัญต่อมาก็คือ สังคมควรมีท่าทีอย่างไรในเรื่องนี้?
“จริงๆ ในกรณีของหยก ไม่ได้เป็นเรื่องซับซ้อน เวลาเราพูดเรื่องสิทธิมนุษยชน มันเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องได้รับอยู่แล้ว หยกเป็นแค่นักเรียนคนหนึ่งที่เป็นนักกิจกรรม หยกไม่ได้ไปละเมิดสิทธิของใคร ไม่ได้ทำร้ายบุคคลอื่น แค่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกของตัวเอง” ชนาธิปกล่าว
เขายังย้ำเพิ่มเติมด้วยว่า ขนาดอาชญากรที่ฆ่าคนตาย ก็ยังควรได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ฉะนั้น ทำไมเด็กคนหนึ่งถึงไม่สมควรจะได้รับสิทธิของตัวเองเหมือนกัน แค่เพราะว่าเขามีท่าทีที่หลายคนมองว่า ‘ก้าวร้าว’
ขณะที่ ป้ามล มองว่า เป้าหมายของหยก ไมได้อยู่ที่ตัวบุคคล ไม่ใช่ตำรวจ 10 คนที่นำส่งเธอเข้าบ้านปรานี ไม่ใช่ผู้พิพากษาที่เธอนั่งหันหลังให้ ไม่ใช่คุณครูในรั้วโรงเรียน แต่เป็นระบบอำนาจนิยมในประเทศนี้ที่แข็งแรงเกินไป หยกจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสู้รบปรบมือกับระบบอำนาจนิยม และเธออาจจะยังเด็กเกินไปที่จะสู้กับระบบอำนาจนิยมซึ่งมันเป็นรากลึกในสังคมไทย
เมื่อถามว่าเราทำอย่างไรได้บ้าง เพื่อช่วยกันคุ้มครองเด็ก ป้ามลก็ตอบกลับมาว่า วิถีการต่อสู้บนไทม์ไลน์แบบนี้ ต้องมีคนบาดเจ็บอยู่แล้ว ถ้าเขาสมัครใจที่จะต่อสู้ เขาก็รู้ตัวดีว่าจะเจอแรงเสียดทาน เจอผลลัพธ์แบบไหน ผลกระทบคืออะไร
“เข้าใจว่าเขาพร้อมรับมือ ไปห้ามเขาไม่ได้ด้วย ถึงแม้ว่าเราอาจจะเคยแนะนำว่า แบบนี้มันอาจจะเจ็บนะลูก แบบนี้มันอาจจะไม่ไหวนะ ก็ไม่ใช่ว่าเขาจะฟัง แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะเกลียดชังเรา แต่นั่นมันเป็นวิถีการต่อสู้ของเด็กอายุ 14-15 ปีที่เขาเห็นว่าอำนาจนิยมมันเป็นระบบที่เขาไม่อาจจะรับได้ สิ่งเดียวที่เราทำได้ก็คือปกป้องเขาอย่างสุดฤทธิ์สุดเดชเหมือนกัน แม้นว่าเราจะไม่ได้ชอบวิธีการของเขา”
“สังคมนี้ต้องคงเส้นคงวาในการมองประเด็นนี้บนหลักการ วันที่มีตำรวจออกมาโพสต์ว่า เขาก็อยากจะมีสิทธิเหนือทรงผมตัวเอง คนในสังคมก็เฮละโลสนับสนุนเขา วันที่มีครูที่เป็น LGBTQ+ ทำเรื่องขอแต่งกายตามเพศสภาพตัวเอง แล้ว ผอ.โรงเรียนยอม เราก็โอเคกับเขา วันที่โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทองให้เด็กแต่งกายตามเพศสภาพตัวเองได้ เราก็โอเคกับเขา แต่พอเป็นเคสนี้ แล้วเป็นเด็กผู้หญิงคนนี้ที่ท่าทีสื่อสารอาจจะดูแข็งหน่อย แล้วมีคดี ม.112 ทำไมกลับมองแบบนี้ล่ะ” อ.อรรถพลกล่าว
อาจารย์คณะครุศาสตร์ยังมองอีกว่า หากมีข่าวว่าเด็กอายุ 15 ปี พ่อแม่หายตัวไป แล้วโรงเรียนไม่รับรายงานตัว สังคมก็คงถล่มด่าโรงเรียนแล้ว แต่กลายเป็นพอเด็กชื่อ ‘หยก’ คนกลับบอกว่า โรงเรียนทำถูกแล้วเพราะไม่มีพ่อแม่ นั่นสะท้อนว่า สังคมไม่คงเส้นคงวาในการมองประเด็น แล้วก็เอาสิ่งนี้มาเป็นสิ่งที่เหมือนจะเป็นเหตุผล แต่มันไม่เป็นเหตุเป็นผล ในการไม่ดูแลเด็กคนหนึ่ง
“ทุกคนเคยเป็นเด็ก เคยเป็นวัยรุ่น เราเคยพลุ่งพล่าน แต่เด็กไม่เคยเป็นผู้ใหญ่ ถูกไหม ถ้าคิดด้วยตรรกะนี้ผู้ใหญ่ต้องมีวุฒิภาวะมากๆ เลยนะ คุณต้องมองเรื่องนี้ให้ลึก อย่ามองแค่ผิวว่า นี่ไม่ใช่เรื่องของเด็กผู้หญิง 112 แต่คือเด็กที่ติดต่อพ่อแม่ไม่ได้ และถูกความรุนแรงของรัฐกระทำจนเขาหมดความเชื่อมั่นศรัทธาในผู้ใหญ่ เขาถึงต้องลุกขึ้นมาส่งเสียง”
“เหมือนที่ป้ามลพูดไว้ว่า ‘เขาต้องคำรามเพื่อความอยู่รอด’ มันคือเสียงของความทุกข์ แล้วคุณไม่ฟังกันหน่อยเหรอ ตอนนี้มันไม่ฟังกันให้ได้ยินเสียง สังคมนี้ไม่มีการคุยกัน ไม่ฟังกัน จนละเลยเสียงของคนที่กำลังมีความทุกข์ไปหมดแล้ว”