ก่อนหน้านี้หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับตู้สีขาวและโลโก้เต่าสีน้ำตาลสุดมินิมอลของ ‘เต่าบิน’ ตู้กดเครื่องดื่มอัตโนมัติจากฝีมือคนไทยตั้งแต่กระบวนการคิดค้นจนถึงจัดจำหน่าย ด้วยความป๊อปปูลาร์ของตู้เต่าบินที่กลายเป็นกระแสบนโซเชียลมีเดียมาพักใหญ่ อาจจะทำให้บางคนสงสัยว่าตอนนี้เต่าบินเดินทางมาถึงจุดไหนของเป้าหมาย
The MATTER จึงชวน ‘ตอง–วทันยา อมตานนท์’ ผู้บริหารเต่าบิน มาพูดคุยถึงเส้นทางข้างหน้าของตู้กดเครื่องดื่มอัตโนมัติสุดฮิตนี้ว่ากำลังบิน (หรือกำลังจะบิน) ไปยังทิศทางไหนต่อ
1. บินไปเติมของให้เร็วขึ้น
นอกจากความโดดเด่นของดีไซน์แล้ว เรายังสามารถมองหาโลเคชั่นตู้เต่าบินได้จากแถวยาวเหยียดของคนที่มาต่อคิวซื้อเครื่องดื่มอีกด้วย แต่หลายครั้งที่ความแน่นขนัดของผู้คน มักจะตามมาด้วยปัญหา ‘ของหมด’ ในช่วงที่คนรอซื้อมากที่สุด
“เพราะของส่วนใหญ่จะชอบหมดช่วงเที่ยงซึ่งมันก็เป็นพีกไทม์ เราเลยไม่อยากไปเปิดตู้ตอนนั้น เพราะถ้าเติมเสร็จ คนก็กลับไปพอดี เราเลยอยากพัฒนาเรื่องความฉลาดของ AI เรื่องระบบอัตโนมัติของการเติมวัตถุดิบ ซึ่งพวกนี้ต้องใช้ machine learning กับ AI ทำไปอีกเยอะ จริงๆ เรามีระบบของเราอยู่แล้ว แต่มันสามารถพัฒนาให้ก้าวหน้ากว่านี้ได้ ซึ่งเราก็กำลังพัฒนาอยู่ค่ะ”
2. รักษาความเป็นเต่านักปรับตัว
จุดเด่นอย่างหนึ่งของเต่าบินที่ตองภูมิใจตั้งแต่วันแรกและยังคงมั่นใจว่าจะกลายเป็นจุดแข็งของเต่าบินต่อไป คือความพร้อมที่จะปรับตัวและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เห็นได้จากเต่าบินเวอร์ชั่นแรกจนถึงปัจจุบันที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปเพื่อตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภค
“ตู้แรกๆ ที่ทำจะต่างกันอย่างสิ้นเชิงเลย ขนาดกลไกข้างในบางอย่างยังใช้ไม่เหมือนกัน ตอนแรกเราเริ่มจากการอยากชงเครื่องดื่มให้เร็ว พอเริ่มเปลี่ยนใบมีด ก็กลายเป็นว่าสามารถทำเมนูปั่นได้ ทั้งที่คอนเซปต์เริ่มแรกคือการชงยังไงให้ได้เครื่องดื่มเร็ว”
“จริงๆ เราพัฒนาเรื่อยๆ อยู่แล้วค่ะ อย่างเรื่องน้ำแข็งที่ตอนนี้พยายามพัฒนาให้เร็วขึ้น เพราะบางทีถ้าขายดีมากเกินไปก็ผลิตน้ำแข็งไม่ทัน ส่วนเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกเราก็ให้ดีไซน์เนอร์ช่วยดูอยู่เหมือนกัน ทีนี้ก็จะเป็นเรื่องลำดับความสำคัญแล้วว่า เราจะเริ่มจากเรื่องอะไรก่อน แต่ต้องเปลี่ยนให้เร็ว ไม่ต้องไปกลัวว่าจะมีข้อผิดพลาดอะไรหรือเปล่า เพราะเดี๋ยวก็แก้แล้ว บางทีการรอมันแพงกว่าการได้ลองหรือเปลี่ยนสิ่งใหม่ ถึงเปลี่ยนแล้วล้มเหลวมันก็ยังถูกกว่าการนั่งรอ กับค่าเสียเวลาที่เราไม่รู้ว่ามันจะสำเร็จไหม แล้วเราก็ไม่รู้ว่าเวลาตรงนั้นจะรอนานเท่าไร ก็เลยลองไปก่อน”
3. ขยายเป็น 20,000 ตู้ในไทยและบินไปยังต่างประเทศ
หากมองในมุมของการเปลี่ยนภาพจำต่อตู้กดเครื่องดื่มอัตโนมัติในประเทศไทย ก็นับว่าเต่าบินประสบความสำเร็จในด้านนี้จากกระแสตู้เต่าบินที่หลายคนพูดถึงในโซเชียลมีเดีย แต่สำหรับเป้าหมายในระยะยาวของเต่าบิน ตองมองว่าเส้นทางนี้ยังอีกไกลแสนไกล
“แพลนในช่วง 3-5 ปี เราตั้งใจไว้ว่าจะตั้ง 20,000 ตู้ทั่วประเทศไทย แต่ตอนนี้ได้แค่ 1,500 ตู้เองค่ะ (หัวเราะ) ยังอีกยาวไกลเลย”
“แล้วก็มีแพลนไปเปิดในต่างประเทศด้วย แต่อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ เพราะภูมิอากาศก็จะต่างกัน ความชอบก็ไม่เหมือนกัน อย่างถ้าไปฝั่งยุโรป เขาก็จะเน้นกาแฟกับเครื่องดื่มร้อนเป็นพิเศษ แต่ถ้าไปมาเลเซีย อินโดนีเซีย เมนูมะม่วงก็น่าจะขายดี ทั้งที่เมืองไทยขายไม่ได้ ทุกอย่างมันต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย”
“ส่วนการตั้งตู้เราก็จะดูตาม traffic ที่คนผ่านไปผ่านมาเยอะ แล้วยิ่งดีถ้าแถวนั้นไม่ค่อยมีอะไรกินแล้วเปิดตลอด 24 ชั่วโมง นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมโรงพยาบาลมักจะเป็นที่ที่ดีเป็นพิเศษ แต่ห้างสรรพสินค้าขายดีที่สุด เพราะว่า traffic เยอะ ถึงแม้จะไม่ได้เปิดตลอด 24 ชั่วโมง”
4. ‘ทุกวันของทุกคน’
บางคนอาจจะมองภาพเต่าบินเป็นเหมือนตู้กดเครื่องดื่มกึ่งคาเฟ่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปตองกลับพบว่า สิ่งที่ตอบโจทย์คนไทยไม่ใช่แค่ชาและกาแฟเท่านั้น แถมเมนูขายดีที่สุดยังเป็นโกโก้กับโอริโอ้ปั่นอีกต่างหาก
“คนไทยชอบทานหวานค่ะ เมนูที่ขายดีเป็นพิเศษก็จะเป็นพวกนม เลยทำให้แปลกใจเหมือนกันว่าความจริงแล้ว คนไทยก็ไม่ได้อินชากับกาแฟมากขนาดนั้น จริงๆ แล้วกาแฟก็ขายได้ แต่พอมาดูภาพรวม เนื่องจากลูกค้าเราไม่ใช่คนไปคาเฟ่ขนาดนั้น แต่เป็นทุกคน เลยกลายเป็นว่าตลาดรวมของคนไทยที่ไม่ได้ดื่มทั้งชาและกาแฟมันเยอะกว่า”
“ถ้าในไทยเราอยากเป็น household name เหมือนตอนนี้เราอาจจะเป็นที่รู้จักเยอะ แต่ว่าไม่ใช่ของทุกคน ถ้าไปถามอาม่าอะไรอย่างนี้ ก็อาจจะยังไม่รู้จัก”
ดังนั้นภาพเต่าบินที่ตองอยากให้ให้ทุกคนจดจำในอนาคต จึงเป็นภาพแบรนด์ในตำนานของคนไทยที่พูดชื่อเมื่อไรก็ร้องอ๋อ และกลายเป็น ‘ทุกวันของทุกคน’ ได้จริงๆ ตามสโลแกนของเต่าบิน
“เรื่องที่เราภูมิใจเป็นพิเศษคือ value ที่ไม่คิดจะเอาเปรียบใคร ทั้งเรื่องรสชาติ แล้วก็เรื่องสุขภาพ อย่างเรื่องการเลือกระดับความหวานที่จะไม่ใส่น้ำตาลเลยก็ได้ หรือการเลือกวัตถุดิบของเรา อย่างเช่นนม เราเคยดูอีกยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งอร่อยเหมือนกัน แต่มันผสมครีมเทียม เลยทำให้เราตัดสินใจเลือกนมที่แพงกว่าเพื่อตัดปัญหาเรื่องนี้ไป”
“ส่วนอีกเรื่องหนึ่ง คือนมข้นหวานกับครีมเทียม มันก็จะมีพวกน้ำมันปาล์ม แล้วก็สารบางอย่างที่ทำให้ไขมันไปพอกที่ตับ ซึ่งมันเป็นสารตัวเดียวกันกับน้ำเชื่อมข้าวโพด (corn syrup) ส่วนผสมหลักๆ ในขนมขบเคี้ยวตามซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งน้ำเชื่อมของเราก็จะพยายามหลีกเลี่ยงตัวนี้เช่นกัน เพราะสโลแกนของเต่าบินคือต้องการเป็น ‘ทุกวันของทุกคน’ เพราะฉะนั้นอะไรที่ทุกคนกินได้ทุกวัน มันจะต้องไม่ทำร้ายสุขภาพของเขาด้วยค่ะ”
5. บินไปพร้อมคนอยู่ในตู้
‘มีคนอยู่ในตู้จริงหรือเปล่า?’
คือหนึ่งในคำถามที่ทำให้เต่าบินกลายเป็นไวรัล ด้วยความอัจฉริยะของตู้เต่าบินจนเหมือนมีคนชงอยู่ข้างใน แม้คำตอบจะแน่ชัดว่าไม่ได้มีคนนั่งชงอยู่ในนั้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในตู้เต่าบินเต็มไปด้วยเรื่องราวของทีมงานนักพัฒนาที่อยู่คู่ตู้เต่าบินมาตั้งแต่วันแรก
“จริงๆ แล้วเต่าบินมีทีมงานหลังบ้านเยอะมาก ตั้งแต่ route man ที่ไปเติมตู้ ช่างที่คอยซ่อม ทีมคลัง แล้วก็ก่อนจะมาเป็นตู้เต่าบินก็มีทีมวิศวกรที่มีทั้งฝั่งฮาร์ดแวร์และฝั่งซอฟต์แวร์อีกหลายชีวิตที่คิดค้นกันมา แล้วแต่ละทีมก็มีไล่ไปอีกว่า คนที่เชี่ยวชาญด้านน้ำแข็ง ด้านโซดา ก็มีเยอะเลยค่ะ”
การคิดค้นสิ่งใหม่จึงตามมาด้วยการจดสิทธิบัตรจำนวนมาก ซึ่งแน่นอนว่าส่วนหนึ่งเป็นไปเพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบ แต่อีกเหตุผลสำคัญคือการให้เครดิตและสร้างแรงจูงใจให้กับคนในองค์กรที่จะก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กับตู้เต่าบิน
“เรื่องของสิทธิบัตร คนที่จดสิทธิบัตรก็จะได้รางวัลไปด้วย จะมีช่วงหนึ่งที่เราส่งเสริมการแข่งขัน ทำยังไงดีให้เครื่องดื่มออกมาเร็ว ให้เป็นสัปดาห์ละกี่บาทๆ เป็น gamification ค่ะ แล้วก็ทุกครั้งที่ตองมีโอกาสได้ให้สัมภาษณ์ มีโอกาสได้พูดคุย ก็จะบอกเสมอว่าเป็นเทคโนโลยีของคนไทย คิดค้น แล้วก็ผลิตด้วยคนไทยทั้งหมดเลย”
วันนี้นับว่าเต่าบินประสบความสำเร็จในมุมของการเปลี่ยนภาพลักษณ์ตู้กดเครื่องดื่มอัตโนมัติในไทยให้ทั้งสนุก อร่อย และมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนการเดินทางในวันข้างหน้าของเจ้าเต่าสีน้ำตาลจะเป็นอย่างไร และจะไปถึงฝั่งฝันทั้งหมดนี้หรือไม่ คงเป็นเรื่องที่เราต้องติดตามกันต่อไปในอนาคต
Photo by Channarong Aueudomchote