ถ้าหากใครติดตามข่าวสารบ้านเมืองตลอดปี 2563 คงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า มูฟเมนต์ทางการเมืองไทยในปีนี้มีครบทุกรสและอารมณ์เหลือเกิน ไม่ว่าความตื่นเต้น โกรธแค้น ขบขัน ตลอดจนหวาดเสียว หรือแปลกใจ และนอกจากมวลชนที่เป็นพระเอกของงานแล้ว คงเห็นตรงกันว่า ‘สัญญะในการชุมนุม’ ต่างๆ ก็โดดเด่นเท่เหลือไม่แพ้กัน
และวันนี้ The MATTER จึงมาชวนดู ‘สัญญะในการชุมนุม’ ต่างๆ ของกลุ่มราษฎร ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นสีสัน แต่ในอีกมุมหนึ่งมันก็ถูกใช้แทนภาษาและอารมณ์ความรู้สึกของมวลชน เพื่อต่อสู้กับผู้มีอำนาจ และโครงสร้างดั้งเดิมของสังคมและการเมืองไทย
เป็ดเหลือง
ถ้าหากพูดถึงขวัญใจมวลชนที่สุดในเวลานี้ คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก “กรมหลวงเกียกกายราษฎรบริรักษ์” หรือ น้องเป็ดเหลือง ซึ่งกลายเป็นทั้งมาสคอตที่ผู้ชุมนุมแย่งกันถ่ายรูป ตลอดจนจอมเวทย์แจกบั๊ฟ และอุปกรณ์ DIY แทนโล่กันน้ำผสมแก๊สน้ำตาที่เจ้าหน้ายิงใส่ผู้ชุมนุม
สำหรับที่มาที่มาไปของเป็ดเหลืองในประเทศไทยนั้น ว่ากันว่า เริ่มต้นจากที่ อินทิรา เจริญปุระ หรือทราย และเพื่อนกำลังนั่งอยู่ริมชายหาดระยอง และพูดคุยกันว่ากำลังจะสนับสนุนการชุมนุมหน้ารัฐสภา ในวันที่ 17 พฤศจิกายนอย่างไรดี ให้ดูสนุกและสร้างสรรค์ ซึ่งเธอเล่าว่าตอนแรกจะใช้เรือถีบเป็ด แต่ก็เปลี่ยนใจมาใช้น้อนแทน เพราะดูจากสภาพแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว เอาเรือถีบไปคงต้องแย่แน่ๆ
และเมื่อเวลาบ่ายคล้อยของวันที่ 17 พฤศจิกายน ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมพยายามเลื่อนแผงกั้นเพื่อเข้าไปใกล้พื้นที่รัฐสภา เจ้าหน้าที่ก็ได้ฉีดน้ำผสมแก๊สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุมในทันที และนั่นเอง ที่ทำให้ ทราย ตัดสินใจส่งกองทัพเป็ดเหลืองเข้าไปเสริมทัพผู้ชุมนุมในทันที จนเป็ดเหลืองถูกสถาปนายศให้เป็น “กรมหลวงเกียกกายราษฎรบริรักษ์” ขวัญใจของมวลชนมาถึงวันนี้
แต่ไม่ใช่เพียงในประเทศไทยเท่านั้น น้อนเป็ดเหลืองเคยเดินทางไปร่วมชุมนุมมาแล้วแทบทุกทวีปทั่วโลกไม่ว่า บราซิล, รัสเซีย, เซอร์เบีย, จีน หรือล่าสุดในการประท้วงที่ฝรั่งเศส
ทั้งนี้ แต่ละประเทศอาจมีบริบททางการเมืองที่แตกต่างกันไปหน่อย เช่น ในรัสเซีย เป็ดเหลือง ถูกใช้ล้อไปกับการเป็นเจ้าของ ‘เล้าเป็ด’ ของอดีตประธานาธิบดีคนหนึ่ง, ในเซอร์เบีย คำว่า ‘patka’ นอกจากแปลว่า ‘เป็ด’ แล้ว ยังเป็นแสลงแทนคำว่า ‘โกง’, ในบราซิล มีสุภาษิตว่า ‘To pay the duck’ ที่หมายถึงการจ่ายเงินเพื่อแก้ไขในสิ่งที่ผู้อื่นทำผิดพลาด
โบว์ขาว
นับจากเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาหญิงในมหาวิทยาลัยมอนทรีออล เมื่อปี 1991 โบว์ หรือริบบิ้นสีขาวก็ถูกนำมาใช้แทนสัญลักษณ์การต่อต้านความรุนแรงต่อสตรี และเด็ก ทั้งในเชิงโครงสร้างและกายภาย
เช่นเดียวกับในการเมืองไทย เมื่อสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาเป็นกลุ่มแรกที่นำโบว์ขาวมาผูกในสถานที่ราชการ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาใส่ใจกับการหายตัวไปของ วันเฉลิม สัตยพิทักษ์ ก่อนที่มันจะกลายเป็นสัญลักษณ์ที่กลุ่มนักเรียนผูกไว้กับเส้นผม หรือกระเป๋า เพื่อแทนสัญลักษณ์ของการต่อต้านระบบอำนาจนิยมและความรุนแรงทุกรูปแบบ
เหตุการณ์หนึ่งที่สะท้อนพลังของโบว์ขาวได้ชัดเจนคือ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ที่เจ้าหน้าที่ได้ใช้น้ำแรงดันสูง และน้ำผสมแก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุมของคณะราษฎร บริเวณหน้าห้างสยามพารากอน ในขณะที่ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ล่าถอยไปตั้งหลัก ชายคนหนึ่งปักหลัก และค่อยๆ ย่างเข้าหาเจ้าหน้าที่ เพื่อยื่นโบว์ขาวอันเป็นสัญลักษณ์ของสันติให้แก่เจ้าหน้าที่ แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัว
จนมาถึงตอนนี้ โบว์ขาวก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่หลายคนใช้เพื่อแสดงออกว่าสนับสนุนข้อเรียกร้องของคณะราษฎร และต่อต้านการใช้ความรุนแรงของภาครัฐ
กระดาษเปล่า
ถึงแม้การชูกระดาษเปล่าจะไม่ได้มีให้เห็นอีกแล้วในการเคลื่อนไหวทางการเมืองช่วงที่ผ่านมานี้ แต่หากจะพูดถึงสัญญะในการชุมนุมที่คนรุ่นใหม่นำออกมาใช้ จะไม่พูดถึงกระดาษเปล่าก็คงไม่ได้
กระดาษเปล่าถูกใช้เพื่อแทนความหมายของ เสรีภาพในการแสดงออก และพลังบริสุทธิ์ของผู้ชุมนุมรุ่นใหม่ว่าไม่มีใครยืนอยู่เบื้องหลัง โดยกระดาษเปล่าถูกนำมาใช้เพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายต่อหลายครั้ง อาทิ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ที่กลุ่ม มศว.คนรุ่นเปลี่ยน ได้นัดกันออกมายืนถือกระดาษเปล่าบริเวณสกายวอล์ก สี่แยกปทุมวัน หรือกิจกรรมที่กลุ่มนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมออกมายืนถือกระดาษเปล่าเป็นเวลาประมาณ 10 นาที ก่อนฉีกกระดาษและเดินกลับเข้าไปเรียนโดยสงบ ตลอดจนในฮ่องกงเอง ก็มีกลุ่มที่ออกไปยืนชูกระดาษเปล่า 8 แผ่น เพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านอำนาจจากจีนแผ่นดินใหญ่
ไดโนเสาร์ และอุกกาบาต
การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียนเลวเปรียบดั่งคลื่นลูกใหม่และลูกใหญ่ ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ควบคู่กับตรรกะเหตุผลเพื่อท้าทายโครงสร้างสังคมและผู้มีอำนาจเดิมของสังคมไทย และล่าสุดในการชุมนุมเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ที่บริเวณหน้าห้าง สยามพารากอน ก็เป็นอีกครั้งที่พวกเขาแสดงให้เห็นถึงความสร้างสรรค์ ด้วยการนำมาสคอตไดโนเสาร์และอุกกาบาตออกมาร่วมการชุมนุม
และไม่ถึงกับต้องให้บนเวทีอธิบาย ก็พอเข้าใจได้ไม่ยากว่า ไดโนเสาร์เปรียบดั่งโครงสร้างและผู้มีอำนาจเก่าที่ไม่ยอมลงตำแหน่งสักที ขณะที่อุกกาบาตเปรียบดุจคลื่นกระแสความคิดของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมถึงรากโคนของปัญหา
ปรากฏการณ์ที่คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจเก่าไม่ได้เกิดแค่ในไทยเท่านั้น เพราะอย่างวัยรุ่นสาวนักอนุรักษ์ เกรตา ธันเบิร์ก เองก็อายุยังคงเป็นเยาวชนอยู่ด้วยซ้ำ ที่ออกมาหยุดเรียนเพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจในปัจจุบัน หันมาตระหนักถึงประเด็นสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น ซึ่งการลุกชึ้นมาสู้กับระบบเก่าโดยคนรุ่นใหม่ก็ไม่ใช่สิ่งที่แปลกใหม่ เพราะย้อนไปเมื่อราว 40 ปีที่แล้ว การลุกฮือของประชาชนในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ก็มีหัวหอกเป็นองค์กรนิสิตนักศึกษาเช่นกัน
สี
นับตั้งแต่ที่ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ Amy the Bottomblues ได้ใช้สีน้ำเงินสาดใส่เจ้าหน้าที่หน้าตำรวจที่หน้า สน.สำราญราษฎร์ เพื่อเป็นแสดงออกความไม่เห็นด้วยกับการคุกคามประชาชนของภาครัฐ ร่วมไปกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้าห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้นำน้ำผสมสีน้ำเงินฉีดใส่ผู้ชุมนุม จนติดเลอะตามเนื้อตัวและเสื้อผ้า สีน้ำเงินก็ได้กลายเป็นอีกหนึ่งสัญญะที่ผู้ชุมนุมนำมาใช้อยู่สม่ำเสมอ เหมือนที่เห็นได้จาก Badge สีน้ำเงินสาดบนโปรไฟล์เฟซบุ๊ก ที่ผู้สนับสนุนคณะราษฎรหลายคนเลือกนำไปใช้เพื่อสะท้อนว่าต่อต้านการใช้อำนาจรัฐคุกคามประชาชน และเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของคณะราษฎร
แต่มาถึงตรงนี้ ไม่ใช่แค่เพียงสีน้ำเงินเท่านั้นแล้ว ที่ถูกใช้แทนการต่อสู้ในครั้งนี้ เพราะล่าสุด ในการชุมนุมวันที่ 18 พฤศจิกายน มีหลากสีเหลือเกินที่ถูกนำมาโยนใส่ป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งสีส้ม สีเหลือง สีน้ำเงิน เพื่อแสดงการต่อต้านการสลายการชุมนุมนานกว่า 3 ชั่วโมง หน้ารัฐสภา ก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน (17 พฤศจิกายน)
สามนิ้ว
เรียกได้ว่าสัญลักษณ์สามนิ้วได้กลายมาเป็นสัญญะหลักของกลุ่มคณะราษฎรไปเรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าจะถามว่าเริ่มใช้กันครั้งแรกตั้งแต่ครั้งไหน ก็สืบสาวกลับไปได้ยากพอควร แต่ที่แน่ๆ ไม่ว่าจะไปม็อบประชาธิปไตยที่ไหน ต้องมีสัญลักษณ์นี้โผล่มาให้เห็น
ถึงแม้ที่มาที่ไปของมันจริงๆ แล้วมาจากหนังเรื่อง The Hunger games ซึ่งในช่วงแรกแทบไม่ได้สะท้อนนัยยะทางการเมืองเลย แต่แปลว่า ‘ขอบคุณ สรรเสิญ และลาก่อน’ กระทั่งเมื่อเข้าสู่ภาค Catching Fire สัญลักษณ์ดังกล่าวถึงค่อยแปรเปลี่ยนมากลายเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงการต่อต้านขัดขืนอำนาจจากส่วนกลาง จนทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎรยึดสัญลักษณ์นี้ เพื่อสะท้อนถึงการต่อต้านโครงสร้างเก่า และผู้มีอำนาจเดิม ก่อนนำมันไปแทนถึงคำขวัญของการปฏิวัติฝรั่งเศสที่ว่า เสรีภาพ, เสมอภาค และภราดรภาพ
และไม่ว่าความหมายที่แท้จริงของมันจะคืออะไร มาถึงขณะนี้สัญญะดังกล่าวก็ได้เป็นสัญลักษณ์หลักของการต่อสู้ของคณะราษฎรไปเรียบร้อยแล้ว และยังมีอานุภาพเพียงพอให้ผู้มีอำนาจที่หวงแหนระบบเก่าหวาดกลัว จนต้องสาดน้ำผสมแก๊สน้ำตาเป็นการตอบแทน
อ้างอิง: