สรุปว่า ทักษิณ ชินวัตร ล้มเจ้า หรือเป็นรอยัลลิสต์กันแน่?
ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือกลุ่ม ‘คนเสื้อเหลือง’ เริ่มออกมาเคลื่อนไหวขับไล่ทักษิณออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีข้อหาหนึ่งที่แปะป้ายให้ทักษิณ และประโคมอย่างหนักว่า ‘ล้มเจ้า’ ‘จาบจ้วงสถาบัน’ ‘ไม่จงรักภักดี’
การปลุกระดมได้ผลดีเหลือเชื่อ เกิดเป็นปรากฏการณ์ ‘ผีทักษิณ’ ที่วนเวียนอยู่ในการเมืองไทยมานับสิบปี และเป็นเหตุผลทำให้กลุ่มอนุรักษนิยมรู้สึกถึงภัยคุกคาม จนต้องลุกขึ้นออกมาปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์
ที่สำคัญ มันทำให้พวกเขากำจัดทักษิณได้สำเร็จ ผ่านการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549
ทว่าในปัจจุบัน ทักษิณกลับมีภาพจำอีกอย่างในทางตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง หรือก็คือทักษิณที่เป็น ‘รอยัลลิสต์’ ล่าสุดถึงขนาดที่ สนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรฯ ก็ออกมายืนยันแล้วว่าทักษิณจงรักภักดี รวมถึงเป็นที่จดจำผ่านวลี ‘สู้ไปกราบไป’ และเมื่อถึงวันสำคัญ อย่างวันเฉลิมพระชนมพรรษา ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายคนเฝ้ารอดูโพสต์ ‘ทรงพระเจริญ’ ของทักษิณ
สรุปแล้ว ล้มเจ้าหรือรักเจ้ากันแน่? The MATTER สนทนากับ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ รองศาสตราจารย์จากศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต และผู้ลี้ภัยทางการเมืองในคดี ม.112 เพื่อย้อนดูความสัมพันธ์ระหว่างทักษิณกับสถาบันพระมหากษัตริย์
ข้อหา ‘ล้มเจ้า’
“วิธีการกำจัดในปี 2548 มันมีอยู่สองเรื่อง เรื่องแรกเป็นเรื่องคลาสสิก เรื่องที่สองเป็นเรื่องเอาใส่โลงแล้วตอกตะปูเลย” ปวินเล่าย้อนถึงขบวนการขับไล่ทักษิณ ช่วงปี 2548-2549
“เรื่องคลาสสิกก็คือคอร์รัปชั่น ในการที่จะนำไปสู่รัฐประหาร หรือการกำจัดรัฐบาลพลเรือนอะไรก็ตาม ส่วนใหญ่เรื่องคอร์รัปชั่นมันมาก่อน
“อันที่สอง ใส่โลงตอกตะปูปิดตายเลย ก็คือ คุณไม่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมเลยคิดว่า ในช่วงที่จะคิดว่ากำจัดทักษิณ นอกจากจะคิดถึงเรื่องการคอร์รัปชั่นแล้ว ก็พยายามสร้างวาทกรรมว่าทักษิณล้มเจ้า”
กรณีแปะป้ายข้อกล่าวหาในลักษณะนี้มีตัวอย่างให้เห็นนับไม่ถ้วน แต่หากยกตัวอย่าง หนึ่งในกรณีที่โดดเด่นและเห็นภาพชัดมากที่สุด ก็คงเป็นเรื่องเกี่ยวกับทฤษฎีสมคบคิด ที่ว่าด้วย ‘ปฏิญญาฟินแลนด์’
สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ในขณะนั้น เคยกล่าวในงานเสวนาเกี่ยวกับ ‘ปฏิญญาฟินแลนด์’ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 24 พฤษภาคม 2549 ว่า ปฏิญญาฟินแลนด์ก็คือแผนของทักษิณที่พยายาม “ละเมิดพระราชอำนาจอย่างชัดเจน” ด้วยการทำให้ “สถาบันกลายเป็นเพียงสัญลักษณ์” ผ่านการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง ให้พรรคไทยรักไทยเป็นพรรคการเมืองเดียวในไทย และทักษิณเป็นประธานาธิบดี
(คำกล่าวบนเวทีเสวนาดังกล่าวของสนธิ เคยเป็นคดีความที่ทักษิณเป็นโจทก์ยื่นฟ้องหมิ่นประมาทต่อสนธิ รวมถึงแกนนำพันธมิตรฯ และนักวิชาการคนอื่นๆ บนเวที แต่ในที่สุด ศาลฎีกาก็ยกฟ้อง เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2559)
ทำไมกลุ่มพันธมิตรฯ ถึงใช้ ‘ไพ่ล้มเจ้า’? ปวินอธิบายถึงสาเหตุ 2 ประการ
ประการแรก เขามองว่า เนื่องจากมีการยอมรับแบบกลายๆ ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์คือสถาบันด้านการเมืองที่สำคัญที่สุด และเมื่อเป็นสถาบันที่มีความสำคัญทางด้านการเมือง การไปแตะต้องจึงทำไม่ได้ “ใครก็จะพูดว่า สถาบันกษัตริย์ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง เป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่เกี่ยวข้องการเมือง ล้มก็ล้มไปสิ แต่คราวนี้ พูดว่าล้มไม่ได้เลย” ปวินระบุ
ประการที่สอง เมื่อสถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันที่สำคัญที่สุด รวมถึงปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ การกระทำผิดหรือพยายามเปลี่ยนแปลงสถาบันพระมหากษัตริย์ นอกจากจะถือว่าเป็นความผิดที่ร้ายแรง ยังถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งก็คือการกระทำผิดแบบ ‘lèse-majesté’ หรือความผิดต่อประมุขแห่งรัฐด้วย “มันเลยเป็นอาชญากรรมที่โหดร้ายที่สุด รุนแรงที่สุดในเมืองไทย เธอไปฆ่าหั่นศพยังไม่รุนแรงเท่านี้”
เพราะ “ทักษิณเป็นภัยคุกคาม”
ทำไมอดีตนายกฯ ถึงต้องถูกกำจัดทางการเมืองผ่านวิธีการอย่างการแปะป้ายว่าล้มเจ้า? ประเด็นนี้ปวินมองว่า เป็นเพราะทักษิณถูกมองว่าเป็น ‘ภัยคุกคาม’ ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยการเข้ามาเป็น ‘คู่แข่งทางการเมือง’ ที่แข่งขันกับสถาบันฯ ในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความนิยม (popularity)
“สถาบันกษัตริย์ลอยตัวในความสูง จนกระทั่งทักษิณมา มาแบบไม่มีใครคาดคิดเลยว่า ทักษิณจะมาเปลี่ยนแปลงการเมืองแบบนั้น”
ปวินชี้ว่า ทักษิณเข้าสู่อำนาจด้วยความมั่นใจในรัฐบาลไทยรักไทย โดยมีเป้าหมายคือ “เขาต้องการที่จะมาท้าทายการเมืองแบบเก่าที่ถูกครอบงำโดยสถาบันกษัตริย์ และเขาคิดว่าเขาทำได้ โดยเฉพาะการที่เขาได้รับการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ในปี 2544 ไทยรักไทยประสบความสำเร็จมาก และ 2548 ตอกย้ำอีกทีว่า เขาได้แลนด์สไลด์เยอะกว่านั้น”
“พูดง่ายๆ ว่า คุณทักษิณต้องการที่จะเขียนสคริปต์ทางด้านการเมืองอันใหม่ ที่ไปท้าทายสคริปต์ทางด้านการเมืองแบบเก่า จากจุดนั้นเป็นต้นไป สถาบันกษัตริย์ก็มองเห็นว่าคุณทักษิณเป็นภัยคุกคาม”
ตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้ถูกมองว่าแข่งขันด้านความนิยม คือการออกนโยบายที่คล้ายๆ กับที่สถาบันฯ ทำอยู่ ทักษิณ “ก็เสนอนโยบายที่ฉันมีนู่นนี่นั่น แล้วมันช่วยไม่ได้ ที่ไปแข่งนโยบายของเจ้าที่มีอยู่” ปวินระบุ
“เรื่องเกี่ยวกับประชานิยม (populism) เรื่องเกี่ยวกับ 30 บาท [รักษาทุกโรค] เอาจริงๆ แล้ว ในหลวงทำมาก่อน โดยผ่านโครงการพระราชดำริต่างๆ แต่มันเป็นสเกลเล็ก (small scale) ทักษิณเป็นสเกลระดับชาติ (national scale) แล้วมันดันประสบความสำเร็จอีก”
ปวินอธิบายให้เข้าใจสาเหตุการขึ้นมาของทักษิณอีกว่า “ผมคิดว่า คุณทักษิณก็เป็นนักการเมืองคนหนึ่งที่มีความทะเยอทะยาน และอย่าลืมว่า มันไม่เคยมีใครเหมือนคุณทักษิณมาก่อน ในแง่ที่ว่า ไม่เคยมีใครท้าทายสถาบันกษัตริย์แบบนั้น เพราะฉะนั้น เอาจริงๆ คุณทักษิณยังไม่มีบทเรียนไง ว่าการท้าทายสถาบันกษัตริย์ จุดจบเป็นยังไง เพราะมันไม่เคยมีใครทำมาก่อน”
หรือว่ารักเจ้า?
เดือนมิถุนายน ปี 2549 รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เป็นเจ้าภาพจัดงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของในหลวง ร.9 อย่างยิ่งใหญ่ โดยมีสมาชิกราชวงศ์และผู้แทนพระองค์จากต่างประเทศเข้าร่วมทั้งหมด 25 ประเทศด้วยกัน จากการส่งคำเชิญของรัฐบาล เรื่องนี้ ทักษิณเคยเล่าย้อนความหลังการแสดงความจงรักภักดีในครั้งนั้น ในรายการ CareTalk x CareClubHouse เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 ด้วย
“ถือว่าเป็นงานใหญ่มาก แต่อันนั้นเพื่อแสดงความจงรักภักดีไง” คือความเห็นของปวิน
นี่คือตัวอย่างท่าทีการแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันฯ ของทักษิณในมุมมองของปวิน ซึ่งเขาอธิบายต่อว่า ภายหลังจากที่รับรู้ได้ว่า ‘สัญญาณไม่ดี’ จากการถูกมองว่ามาเป็นคู่แข่ง ‘ไพ่รอยัลลิสต์’ ก็คือไพ่ใบเดียวที่ทักษิณจะเล่นได้ เป็นการเปลี่ยนแปลงท่าทีที่เริ่มอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่การดำรงตำแหน่งนายกฯ วาระแรก ช่วงปี 2544-2548
แต่ปวินอธิบายต่อมาว่า การมาของกลุ่มพันธมิตรฯ ตั้งแต่ปี 2548 ยิ่งทำให้ทักษิณตระหนักได้ว่า “ฝั่งตรงข้ามรุกเต็มที่” และต้องแสดงความจงรักภักดีมากกว่าเดิม “ตั้งแต่จุดนั้นเป็นต้นมา มันเป็นตัวกำกับความคิดของทักษิณทางด้านการเมืองเลย คือ ต้องจงรักภักดีเท่านั้น ถึงจะอยู่รอด”
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าจะเล่น ‘ไพ่รอยัลลิสต์’ เพื่อตอบโต้ข้อครหา แต่ก็อย่างที่รู้กันในประวัติศาสตร์การเมืองว่ามันไม่ได้ผล ปวินอธิบาย “ผมว่า ทักษิณพยายามแสดงการ์ด เล่นการ์ดกลับ แต่ว่าไม่เวิร์ค ชัดเจนว่า เพราะว่าสถาบันกษัตริย์ไม่ได้สนับสนุน (endorse) ทักษิณตั้งแต่แรก”
ท้ายที่สุด นี่ก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ทักษิณต้องถูกกำจัดด้วยการรัฐประหารเมื่อปี 2549 ในทัศนะของปวิน
วิเคราะห์จุดยืน ‘รอยัลลิสต์’ ของทักษิณ
ตัดภาพมา 17 ปีให้หลัง ทักษิณกล่าวในรายการ CareTalk x CareClubHouse วันที่ 16 พฤษภาคม 2566 หรือ 2 วันหลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุด:
“ผมจงรักภักดี ครอบครัวผมเป็นอย่างนี้ตั้งแต่ไหนแต่ไร ผมกับคุณหญิงพจมาน สมรสพระราชทานนะ ดังนั้นความสำนึกยังมีอยู่ จะให้ผมไม่มีมันเป็นไปไม่ได้เลย หากพรรคเพื่อไทยร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล สิ่งไหนที่พรรคก้าวไกลจะทำ ซึ่งคิดว่าไม่ทำ โดยทำอะไรกระทบกับสถาบันกษัตริย์เราก็คงไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว เป็นเรื่องธรรมดาแต่เราไม่ใช่ขวาจัด ตกขอบ แต่เราถือว่าเราเป็นคนไทยต้องเคารพสถาบันกษัตริย์ ชัดเจนครับ ไม่มีบิดพลิ้ว นี่คือผม”
17 ปี จนถึงปัจจุบัน คือช่วงเวลาที่ทักษิณต้องลี้ภัยทางการเมืองในต่างประเทศ ครอบคลุมการรัฐประหารถึง 2 ครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครอบคลุมถึงช่วงเวลาที่คนรุ่นใหม่และประชาชนเริ่มออกมาตั้งคำถาม นับตั้งแต่ปี 2563 รวมถึงเรียกร้องให้แก้ไขหรือยกเลิก ม.112 ไปจนกระทั่งเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
หลายคนอาจตั้งคำถาม แล้วทำไมคนอย่างทักษิณจึงยังคงแสดงความ ‘จงรักภักดี’ ไม่เปลี่ยนแปลง?
เมื่อพิจารณาดู จุดยืนรอยัลลิสต์ของทักษิณถูกตอกย้ำทั้งในความเคลื่อนไหวของตัวเขาเอง และของพรรคเพื่อไทย ทั้งในเชิงนโยบายและในเชิงสัญลักษณ์
ในเชิงนโยบาย ปวินอธิบายว่า “เพื่อไทยไม่เคยมีนโยบายในการท้าทาย (challenge) สถาบันกษัตริย์เลย และตัววัดคือ ม.112 เราไม่ต้องพูดถึงเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพราะมันไกลเกินไป” แต่แม้แต่เรื่อง ม.112 หลังจากเลือกตั้งก็ได้เห็นแล้วว่า เพื่อไทยประกาศว่าไม่มีการแก้ “ในเรื่องเกี่ยวกับนโยบาย (macro-policy) พรรคเพื่อไทยไม่เคยแสดงความโอหัง ไม่เคยแสดงความท้าทายอีกเลย” ปวินวิเคราะห์
ในเชิงสัญลักษณ์ คือการที่ทักษิณประกาศแสดงความจงรักภักดีในทุกๆ วันสำคัญ อาทิ วันเฉลิมพระชนมพรรษา ซึ่งปวินมองว่า ไม่จำเป็นต้องเขียนก็ได้ เพียงแต่ไม่ต้องออกมาวิจารณ์
“แต่ในความคิดของทักษิณ การไม่เขียนคือการด่า เพราะฉะนั้น ฉันต้องเขียน ฉันต้องยืนยันความจงรักภักดีกับสถาบันกษัตริย์ ไม่ว่าในโอกาสใดก็ตาม”
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? “เพราะเขายังคิดว่า นั่นมันเป็นทางเลือกเดียวของเขาไง” ปวินตอบ “ผมคิดว่า เขายังประเมินสถานการณ์แบบเดิมอยู่ เพราะตัวเองคิดเสมอว่า สู้ยังไงก็ไม่ชนะ มันเหมือนกับว่า มันมีอยู่ทางเลือกทางเดียว คือ ฉันต้องประนีประนอมเท่านั้น”
เขาวิเคราะห์ต่อไปว่า เป็นเพราะทักษิณรู้ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ และสถาบันรอบๆ ยังเข้มแข็งอยู่ และแม้จะเอาตัวมาอยู่กับประชาชน ก็ยังไม่สามารถเอาชนะได้ รวมถึงการที่ทักษิณยังมีเดิมพันอยู่ในประเทศ คือต้องปกป้องไม่ให้ผลประโยชน์ของตัวเองในประเทศถูกกระทบ และครอบครัวต้องไม่ถูกกระทบ
ต่อจุดยืนในเรื่องนี้ของทักษิณ ปวินวิพากษ์ว่า “แม้แต่ความคิดของเค้า ณ ปี 2548-2549 ก็ไม่เวิร์ค แต่แน่นอน เขาคิดว่ามันเวิร์ค มันก็เลยทำให้เป็นคำอธิบายว่า ทำไมทักษิณถึงยังต้องคงความเป็นรอยัลลิสต์จนถึงทุกวันนี้ เพราะยังคิดว่ามันเป็นไพ่ใบเดียวที่เล่นได้ ในความเป็นจริงแล้วมันมีไพ่อีกหลายใบที่จะเล่น คุณพร้อมจะเล่นไหมล่ะ คุณไม่พร้อมไง”
ท้ายที่สุด เราขอให้ปวินแสดงความเห็นต่อความเป็น ‘รอยัลลิสต์’ ของทักษิณ ซึ่งเขาใช้คำว่า futile (เปล่าประโยชน์) “ณ วันนี้ ประชาชนทั่วไปก็รู้ว่ามัน futile และมันมาถึงจุดที่ futile มากๆ เพราะว่าประชาชนต้องการสิ่งใหม่แล้ว ประชาชนไม่ต้องการความจงรักภักดี ประชาชนต้องการ ‘reform’ ไม่ใช่ ‘loyalty’ แล้วทักษิณให้ไม่ได้”