ถ้าการเมืองดี… เราจะมีรถเมล์แอร์เย็น และรถไฟฟ้าความเร็วสูง
ถ้าการเมืองดี… เราจะมีสวนสาธารณะ และอากาศบริสุทธิ์หายใจในกรุงเทพฯ
ถ้าการเมืองดี… เราจะมีแรงตามความฝัน เพราะมีเบาะรองรับเป็นสวัสดิการจากรัฐเสมอ
แล้วถ้าการเมืองดี… เราจะพูดถึงเรื่องสถาบันกษัตริย์กันอย่างไร?
ถึงแม้ หลายฝ่ายอาจรู้สึกและคิดเห็นต่างกันไปในเรื่องนี้ แต่ทุกฝ่ายน่าจะเห็นพ้องกันประการหนึ่งอยู่แล้วว่า สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันหลักของสังคมไทย
ฉะนั้น เมื่อสถาบันหลักกลายเป็นประเด็นถกเถียง เราย่อมควรหันหน้าพูดคุยกัน หาทางออกของปัญหา มากกว่าทำเหมือนข้อถกเถียงไม่มีอยู่ และไม่นำไปสู่ทางออก
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดวงสนทนาขึ้นภายใต้ชื่อ ‘ถ้าการเมืองดี เราจะพูดถึงสถาบันกษัตริย์กันอย่างไร’ โดยได้เชิญ ผศ.นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หนึ่งในแกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, รศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า และ ศ.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เข้ามาพูดคุยในประเด็นดังกล่าว
และถึงแม้ บทสรุปของวงสนทนาจะไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันเสียหมด แต่อย่างน้อย ฉันทามติหนึ่งที่ชัดเจนออกมาแล้วคือ ‘เราวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ได้’
โปรดตระหนักและให้ความเคารพ เมื่อพูดถึงสถาบันกษัตริย์
ผศ.นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ เริ่มต้นด้วยคำว่า “การเมืองไม่มีวันดี ไม่มีใครถูกใจการเมืองไปเสียทุกเรื่อง ดังนั้น เราควรพูดถึงสถาบันกษัตริย์ด้วยความเคารพ เพราะอำนาจของสถาบันกษัตริย์ก็มาจากประชาชนเองที่เป็นผู้มอบให้มากว่า 700 ปี”
เขาย้อนกลับไปถึง จุดเริ่มต้นของสังคมแต่เดิม ที่ผู้คนเร่ร่อนเริ่มจับกลุ่มรวมกัน ก่อนลงหลักปักฐาน ทำเกษตรกรรม เมื่ออยู่ร่วมกันก็ต้องมีการเลือกผู้นำ เพื่อมาตัดสินคดีความ รักษาความสงบของสังคม ต่อมาเมื่อ ผู้ปกครองบริหารบ้านเมืองได้สงบร่มเย็น จึงเริ่มมีการถวายพื้นที่ทำกินให้แก่ผู้นำ พอมีมากเข้าจึงกลายเป็นผู้มีที่ดินมาก เกิดคำว่า ‘กษัตริย์’ ที่เพี้ยนมาจากคำว่า ‘เกษตร’ หลังจากนั้น จึงค่อยมีการคิดค้นระบบสืบราชสันติวงษ์ผ่านสายเลือด ก่อนกลายมาเป็นระบบสืบทอดแบบที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน
ฉะนั้น เมื่อพระมหากษัตริย์มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์มายาวนาน และยังคงเป็นสถาบันที่เคารพนับถือของคนจำนวนมาก จึงต้องพึงระวังเมื่ออ้างถึง
เขาเสริมว่า แม้แต่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR เอง ก็ระบุไว้ว่า การใช้เสรีภาพในการแสดงออกต้องไม่นำสู่ความรุนแรง และไม่สร้างความแตกแยกให้สังคม
ผศ.นพ.ตุลย์ยังสรุปว่า การพูดถึงหรือวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ควรเป็นไปด้วยความเคารพ ห้ามใช้เฮทสปีช พร้อมคำนึงถึงบริบทและความเหมาะสมอยู่เสมอ และที่สำคัญไม่ควรนำมาพูดในเวทีชุมนุมเหมือนเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา แต่ถ้าเป็นการพูดถึงในแวดวงเสวนาเช่นนี้ เขาเห็นด้วยและยินดีถกเถียงด้วยเป็นอย่างมาก
เขาทิ้งท้ายว่า ไม่ใช่เพียงแต่การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์เท่านั้น แต่รวมถึงการอ้างอิงในเรื่องอื่นๆ ต้องมีการหาข้อมูลที่ครบถ้วน รอบด้าน และที่สำคัญต้องเป็นข้อมูลที่ตรวจสอบได้ เพราะในยุคที่ข้อมูลไหลบ่ามากมายเช่นนี้ บางครั้งเราขาดการตรวจทาน จนหลงเชื่อ ‘ข้อมูลที่เป็นอคติ (Information Biased)’ ทั้งที่ข้อมูลดังกล่าวเป็นข่าวลวง
“ผมขออย่างเดียว ก่อนท่านจะวิพากษ์วิจารณ์ใคร โปรดตรวจสอบข้อมูลของท่านก่อน” เขาทิ้งท้าย
10 ข้อเสนอ เพื่อให้สถาบันกษัตริย์คงอยู่คู่ราษฎร
ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หนึ่งในแกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กล่าวว่า ทั้ง 10 ข้อเรียกร้องที่ทางกลุ่มประกาศออกไปเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา มุ่งหวังเพื่อปลดล็อคและดันกำแพงในการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทยให้สูงขึ้น เพื่อให้เกิดการถกเถียงและหาข้อสรุปร่วมกัน อันเป็นความสวยงามของระบบประชาธิปไตย
อย่างไรก็ตาม เธอยืนยันว่า ข้อเรียกร้องทั้ง 10 ข้อต่อสถาบันกษัตริย์ ไม่ใช่กฏหรือหลักการที่ต้องพึงเดินตาม เป็นเพียงแต่ข้อเสนอที่ทางกลุ่มมองว่าควรแก้ไข เพื่อให้เกิดการปฏิรูป ลดอำนาจสถาบัน ทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับประชาชน และสถาบันทางสังคมอื่นๆ เพื่อที่สถาบันกษัตริย์จะดำรงอยู่คู่ประเทศไทย ซึ่งปกครองภายใต้ระบบประชาธิปไตยได้อย่างมีเกียรติ
เธอขยายความถึงข้อเสนอทั้ง 10 ข้อไว้ว่า ข้อเสนอที่หนึ่งและสอง ซึ่งพูดถึงการยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญและยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้เกิดการถกเถียงถึงตำแหน่งแห่งที่ของสถาบัน เพราะกษัตริย์เองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ย่อมทำผิดพลาดได้ และการวิพากษ์วิจารณ์อาจนำไปสู่การแก้ไข ซึ่งจะเป็นผลบวกให้สถาบันกษัตริย์ดำรงเป็นมิ่งขวัญของคนไทยได้โดยแท้จริง
ข้อเสนอที่สามและสี่ มีเนื้อความเสนอให้มีการทบทวนการจัดสรรงบประมาณสำหรับสถาบันกษัตริย์ ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะในภาวะที่ประเทศและประชาชนกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจจากไวรัส COVID-19 เพราะสุดท้าย ถ้าหากไม่มีประชาชน สถาบันกษัตริย์ก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้
ซึ่งเป็นประเด็นที่สอดคล้องกับข้อเสนอที่หก ที่ให้ยกเลิกเงินบริจาคพระราชกุศลทั้งหมด เพราะเงินจำนวนนี้ตรวจสอบได้ยาก และในฐานะที่สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันทางสังคมเช่นเดียวกับสถาบันอื่น จึงควรมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้มากที่สุด
เธอพูดต่อว่า ในข้อเสนอที่ห้าบนเวที เธอเรียกร้องให้มีการยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ และให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ชัดเจน กลับไปอยู่ใต้สังกัดหน่วยงานเดิม เพราะในขณะนี้บางหน่วยงานขึ้นตรงต่อสถาบันกษัตริย์ ซึ่งคล้ายกับว่าสถาบันมีกองทัพเป็นของตัวเอง จึงเสนอให้หน่วยงานรักษาความปลอดภัยส่วนพระองค์ กลับไปขึ้นตรงต่อกองทัพบก และยกเลิกกรมกองอื่นที่ไม่มีหน้าที่ชัดเจนหรือซ้ำซ้อนเสีย เพื่อให้เกิดความโปร่งในในการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงสามารถตรวจสอบคำสั่งต่างๆ ต่อหน่วยเหล่านี้ได้
ในข้อเสนอข้อที่เจ็ด ปนัสยาขยายความว่าในฐานะที่กษัตริย์ดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐ การวางตัวและการแสดงความเห็นในที่สาธารณะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ดังนั้น จึงควรคงไว้ซึ่งความเป็นกลางทางการเมือง และมิควรมีพระราชดำรัสที่เกี่ยวข้องกับการเมืองในที่สาธารณะ เพื่อให้มีความเป็นกลาง และตั้งใจดูแลทุกฝ่ายอย่างทั่วถึงจริงๆ
เธอทิ้งท้ายว่า การทำการประชาสัมพันธ์ที่เกินงาม และการศึกษาที่เน้นประวัติศาสตร์เพียงด้านเดียว แทนที่จะเป็นผลดีแต่กลับเป็นผลเสีย กลับกันเป็นการวิพากษ์วิจาณ์อย่างตรงไปตรงมาเสียมากกว่าที่จะทำให้สถาบันกษัตริย์มีพลวัตร พัฒนาไปข้างหน้า และอยู่คู่สถาบันราษฎรได้อย่างยั่งยืนแท้จริง
สถาบันกษัตริย์ควรขวางกั้นรัฐประหาร
ศ.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ให้ความเห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ได้ผิดในตัวบทกฎหมาย แต่ผิดที่ผู้นำไปตีความใช้ดุลพินิจมากเกินไป จนนำไปสู่ความเกรงกลัวในการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันมากขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้าย ไม่มีใครที่กล้าพูดถึงเลยสักคน
โดยเขาให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า ครั้งหนึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยมีกระแสพระราชดำรัสในวันที่ 4 ธันวาคม 2548 ว่า ‘The King Can Do Wrong’ เพราะกษัตริย์เองก็เป็นคน ย่อมผิดพลาดได้ เพียงแต่ต้องไม่ผิดมากเกินไป ต้องมีปรีชาญาณและมีความรอบคอบอยู่เสมอ
เช่นเดียวกับ รัชกาลที่ 10 ที่เคยดำรัสไว้ว่า ตั้งใจรักษา สืบสาน ต่อยอด แนวทางของพระราชบิดา รวมถึงและนายกฯ เองก็เคยยืนยันว่าว่า รัชกาลที่ 10 ท่านเองไม่ประสงค์ให้มีการใช้บังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แล้ว
ศ.ธีรภัทร ให้ความเห็นในประเด็นข้อเสนอข้อที่ 10 ของกลุ่มนักศึกษาว่า เขาเชื่อว่าสถาบันไม่ควรเห็นด้วยกับการรัฐประหาร รวมถึงเคยคัดค้านมาแล้วเสียด้วยซ้ำ ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นแล้ว 2 ครั้ง ในประวัติศาสตร์ไทยคือ สมัย พล.อ.เสริม ณ นคร พยายามรัฐประหาร และสมัยกบฏยังเติร์ก
ทั้งนี้ เขาอยากให้มองสถาบันกษัตริย์ของสหราชอาณาจักร ซึ่งประชาชนยังอยากให้ดำรงร่วมกับระบบประชาธิปไตยมานานหลายศตวรรษ และยังคงมีอำนาจประการหนึ่งคือ การให้รัฐมนตรีเข้าเฝ้าทุกวันอังคารเวลา 15.00 น. เพื่อรับฟังแนวทางการทำงาน ตลอดจนให้คำปรึกษากับนายกฯ
เขากล่าวถึงการชุมนุมที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ต้องไม่เปิดศึกหลายด้านมากเกินไป เพราะปัญหาตอนนี้อยู่ที่ รัฐบาลซึ่งไม่มีทั้งประสิทธิภาพและความชอบธรรม ดังนั้น ควรเริ่มจากข้อเสนอขับไล่รัฐบาลเสียก่อน จึงค่อยขยับขยายก้าวหน้าต่อไป
นอกจากนี้ เขายังเสนอให้มีการนิรโทษกรรมผู้ลี้ภัยการเมืองทั้งหมด เช่นเดียวกับประกาศ 66/23 ที่ใหันักศึกษาซี่งหนีเข้าป่าหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ออกมาเรียนต่อ ในสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ เพราะจะเป็นการลดความขัดแย้งและแรงเสียดทานต่อสถาบันกษัตริย์
เขาทิ้งท้ายว่า เราสามารถวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ไดั แต่ต้องด้วยความเคารพ สุภาพ มีเหตุผล อย่าใช้อารมณ์ และเห็นด้วยให้วงพูดคุยเป็นในรูปแบบเวทีสัมมนา มากกว่าการพูดปราศรัยบนเวทีเคลื่อนไหว
รัฐไทยต้องแบ่งพรมแดนให้ชัดระหว่างเรื่อง สาธารณะกับเอกชน
รศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เริ่มต้นว่า สำหรับเขา การเมืองที่ดีคือ สังคมที่เป็นประชาธิปไตย มีเสรีภาพในการแสดงออก มีความอดทนอดกลั้นต่อความเห็นที่แตกต่าง และพยายามหาทางออกจากความขัดแย้งด้วยการพูดคุยด้วยเหตุและผล เพื่อหา ‘ฉันทามติหรือมติประชาชน’ ซึ่งคนในสังคมยอมรับร่วมกัน
ฉะนั้น ถ้าการเมืองดี สังคมต้องถกเถียงเรื่องสถาบันกษัตริย์ได้ ไม่ว่าในประเด็นเชิงกฎหมาย สถานะอำนาจ ตลอดจนไปไกลถึงการดำรงอยู่ของสถาบัน เหมือนเช่นที่อังกฤษและสเปนเคยถกเถียงกันมาแล้ว
เขากล่าวต่อว่า ในศตวรรษที่ 21 สายธารของโลกไหลสู่ระบบประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และเห็นร่วมกันว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ดังนั้น องค์กรต่างๆ ต้องอยู่ภายใต้ความเชื่อมั่นของประชาชน เช่นเดียวกับสถาบันกษัตริย์
ประเด็นหนึ่งที่เขาพูดถึงคือ การแบ่งแดนเรื่องความเป็นสาธาณะกับความเป็นเอกชน ให้ออกจากกัน ซึ่งพระมหากษัตริย์เองก็มีสองสถานะนี้ในตัวเอง ดังนั้น ประเด็นนี้ต้องพูดกันให้ชัด และเคลียร์กันให้ขาด มิฉะนั้น อาจเกิดความสับสนวุ่นวาย และย้อนกลับไปสู่รูปแบบรัฐโบราณ ที่รัฐอยู่ในมือคนหนึ่ง คนเดียว
ฉะนั้น ถ้าหากรัฐไทยเห็นร่วมกันให้ประมุขคือ พระมหากษัตริย์ และยอมรับว่าการสืบทอดตำแหน่งจะเป็นไปทางสายเลือด ต้องยอมรับด้วยว่า ส่วนนี้ไม่คล้ายกับการสืบทอดมรดกของเอกชน เพราะสถานะของอำนาจและบุคคลทั้งสองแตกต่างกัน
และเมื่อประเทศไทยอยู่ในระบบประชาธิปไตย ซึ่งอำนาจสูงสุดต้องมาจากประชาชน แต่ขณะเดียวกัน เราต้องการให้ประมุขของรัฐมาจากการสืบราชสันติวงษ์ ไม่ใช่การเลือกตั้ง ดังนั้น เราจึงต้องทำให้กษัตริย์ไม่มีอำนาจที่มีผลต่อสาธารณะโดยชัดเจน จึงต้องยึดหลักการ หลักการ ‘The king can do no wrong, King cannot be wrong, Because king can do nothing’ หรือกษัตริย์ไม่สามารถใช้อำนาจได้โดยตรง หากต้องใช้อำนาจผ่านตัวแทน เช่น การลงพระปรมาภิไธย เท่านั้น
เขาเสนอว่า เมื่อประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ได้ถูกบังคับใช้ในทางปฏิบัติแล้วในรอบหลายปีมานี้ ก็ควรยกเลิกไปเสีย และให้ใช้กฎหมายหมิ่นประมาทแทน
ทางด้านกฎหมายหมิ่นประมาทเอง ก็ไม่ควรมีบทลงโทษทางอาญา เพราะในสังคมอารยะ การวิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องสามัญและเป็นสิทธิเสรีภาพ ดังนั้น จึงไม่ควรมีใครถูกลงโทษอาญา ตัดสินจำคุก เพียงเพราะวิพากษ์วิจารณ์ หรือไปเผลอปากด่าใคร
ในช่วงท้ายเขากล่าวว่า การนำเสนอของกลุ่มนักศึกษาเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมาที่หลายฝ่ายมองว่าไม่เหมาะสม มันเป็นเพียงยุทธวิธีเพื่อสื่อสารและผลักเด็นประเด็นสถาบันกษัตริย์สู่สังคม แต่ถ้าลองพิจารณาในเนื้อหา 10 ข้อเสนอของนักศึกษาจะรู้ว่า มันไม่ได้สะท้อนความเกลียดชัง หรือเคียดแค้นต่อสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใด หากเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ตามหลักสิทธิเสรีภาพ เพื่อมุ่งหวังให้เกิดความเปลี่ยนแปลง
ก่อนทิ้งท้ายว่า ต้องขอบคุณทั้งกลุ่มนักศึกษาที่นำเรื่องนี้กลับมาพูด และกล่มอนุรักษ์นิยมที่ยอมให้ประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์พูดถึงได้ในสังคมไทย เพราะประเด็นดังกล่าวเปรียบกับการตบมือข้างเดียว ซึ่งไม่มีทางดัง จำเป็นต้องอาศัยความเห็นจากหลายฝ่ายไม่ว่า ตุลาการ กองทัพ ปัญญาชนอนุรักษ์นิยม หรือกลุ่มรอยัลลิสต์เอง ที่จะมาถกเถียงกัน และหาฉันทามติในประเด็นนี้ ร่วมกันใหม่ในสังคม
ติดตามฟังงานเสวนาฉบับเต็มได้ที่: ประชาไท – https://www.youtube.com/watch?v=48lpiWDfRX8