ดูเหมือนว่า ‘การเมืองสร้างสรรค์’ ที่หลายคนฝันถึงในรัฐสภา เกิดขึ้นผ่านการอภิปรายและแลกเปลี่ยนความเห็นกันระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ ‘ทิม’ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 4 ของพรรคอนาคตใหม่
พิธาเสนอเรื่อง ‘กระดุม 5 เม็ด’ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องเกษตรกรไทยและปัญหาการกระจุกตัวเรื่องที่ดิน เขาเชื่อว่า “ที่ดินคือชีวิต” แต่ชีวิตของเกษตรกรไทยในเวลานี้กลับต้องเจอความลำบาก เพราะที่ดินจำนวนมากกระจุกตัว เพราะสถิติบ่งชี้ว่าที่ดินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ในไทยอยู่ในครอบครองของคนเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ชาวนากว่า 45 เปอร์เซ็นต์ยังคงต้องเช่าที่ดินเพื่อเลี้ยงชีวิตต่อไป
กระดุม 5 เม็ดที่ต้องแก้ปัญหาในมุมของพิธา คือ
เม็ดที่ 1 : ความเหลื่อมล้ำด้านที่ดิน
เม็ดที่ 2 : วงจรหนี้สิน
เม็ดที่ 3 : การประกันราคาและสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ
เม็ดที่ 4 : นวัตกรรม / การไปไม่ถึงโอกาสการพัฒนาตัวเอง
เม็ดที่ 5 : การท่องเที่ยวเชิงเกษตร
“จากในน้ำมีปลาในนามีข้าว ทุกวันนี้ ต้องเปลี่ยนเป็นในน้ำมียาในนามีหนี้” พิธาอภิปรายไว้ในสภา พิธามองว่า ถึงแม้ประเทศไทยจะมีเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่เปิดโอกาสด้านการเงินให้นักลงทุนต่างๆ แต่ทำไม เราถึงกลับไม่มีเขตสังคมพิเศษของประชาชนด้วยกันเอง
“ประเทศไทยมีระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ ทำไมเราถึงมีเขตสังคมพิเศษไม่ได้” ส.ส.จากอนาคตใหม่กล่าว
ท่ามกลางองศาการเมืองในสภาที่ร้อนๆ เดือๆ อยู่หลายช่วงของการอภิปรายนโยบาย หลายคนจึงจับตาไปทางผลตอบรับจากรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่รับผิดชอบในเรื่องนโยบายโดยตรง
“ผมชื่นชมแนวคิด ด้วยความสัตย์จริง บางอันผมตอบไม่ได้ ท่านทำการบ้านมาหนักจริงๆ ปัญหาที่ดิน เป็นกระดุมเม็ดแรกจริง ทำอย่างไรให้ไปถึงกระดุมเม็ดที่ 2 ผมและรองนายกฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไปแก้เรื่องหนี้นอกระบบ ยอมรับว่ามีจริงๆ บางคนก็เอาไปเข้าระบบหนี้อีก มีบ้างแต่ก็เป็นส่วนน้อย ต้องหาทางแก้ให้เขา” พล.อ.อนุพงศ์ ตอบกลับ
นี่อาจจะเป็น ‘การเมืองสร้างสรรค์’ ที่หลายคนเคยฝันหา เมื่อรัฐมนตรียอมรับในข้อเสนอจากฝ่ายค้าน และฝ่ายค้านก็ทำการบ้านมาอย่างหนักหน่วง และเหนียวแน่นด้านข้อมูล เพื่อให้เสียงของตัวแทนประชาชนไปถึงผู้บริหารประเทศจริงๆ
การต่อสู้ด้านข้อมูลในสภาจาก ทิม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และไม่น่าจะทำได้ถ้าตัวเขาไม่อินกับสิ่งเหล่านี้จริงๆ
จากนักธุรกิจสู่ผู้บริหาร และ ส.ส.พรรคการเมืองหน้าใหม่
พิธาเกิดเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2524 ในครอบครัวที่ทำงานด้านการเมือง พ่อของเขา พงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นอดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนลุงคือ ผดุง ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
พิธาเรียนจบมัธยที่ประเทศนิวซีแลนด์ จบปริญญาตรีด้านบริหารธุรกิจภาคภาษาอังกฤษด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่งจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียนต่อปริญญาโทด้านการเมืองการปกครองที่ John F. Kennedy School of Government ของมหาวิทยาลัย Harvard ประเทศสหรัฐ นอกจากนั้น ยังได้ปริญญาโทอีกใบจากการเรียนด้านบริหารธุรกิจจาก MIT
จะเห็นภาพได้ว่า พิธาอยู่ในเส้นทางของการศึกษาด้านธุรกิจและการบริหารมาตลอด ซึ่งในช่วงเรียนที่ธรรมศาสตร์นั้นเอง ที่ทำให้เขาได้รู้จักกับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ตอนนั้นธนาธรเป็นรุ่นพี่ที่แก่กว่าเขา 3 ปี
ในแวดวงธุรกิจแล้ว พิธากลายเป็นที่รู้จักในฐานะนักธุรกิจรุ่นใหม่ไฟแรง และผู้บริหารบริษัท ซีอีโอ อกริฟู้ด ซึ่งเป็นบริษัทของครอบครัว เขาต้องเข้ามารับงานดูแลบริษัทหลังจากพ่อเสียชีวิต ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่มาก เนื่องจากตอนนั้นสถานะด้านการเงินของบริษัทกำลังอยู่ในสภาวะติดลบ
ช่วงที่ต้องกอบกู้บริษัทนี่แหละ ที่ทำให้พิธาได้มองเห็นความเป็นจริงด้านการเกษตรและปัญหาต่างๆ ได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น
เขาเคยให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐว่า
“ผมต้องไปกู้แบงก์ต่อเพิ่มอีก 70 ล้านบาท เพื่อซื้อรำข้าวจากโรงสี ซึ่งต้องใช้เงินสด เดินเข้าไปกู้แบงก์ ผมรู้อยู่แล้วว่า อย่างไรเขาต้องมองว่าเราเป็นเด็ก จึงต้องหาจุดแข็งของเด็กรุ่นใหม่ แต่โลกทุกวันนี้เป็นโลกของข้อมูล ผมต้องแสดงให้เขารู้ว่า ผมรู้ข้อมูลและตัวเลขไม่แพ้ใคร พอไปถึงก็สามารถพูดให้เขาฟังอย่างละเอียดได้ ซึ่งผู้ใหญ่ที่เขามีประสบการณ์ เขาเห็นความตั้งใจของเรา เขาเลยเชื่อถือ ได้เงินมาทำการผลิตให้ครบวงจร ผลิตแล้วขาย จนธุรกิจไปได้ด้วยตัวเอง ที่เหลือผมจึงมาบริหารคน เพื่อที่จะให้คนมาบริหารงานต่อไป”
พิธาบอกว่าใช้เวลาประมาณ 5 เดือนจนสามารถผลักให้ยอดขายเพิ่มขึ้นจนเป็นที่น่าพอใจ จนบริษัทสามารถเดินต่อไปได้อย่างมั่นคง สิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากงานนี้คือ การกลับมาโฟกัสที่ปัจจัยสำคัญที่สุดก็คือ ‘คน’ ผ่านการเข้าไปทำงานจริงๆ กับผู้คนมากมาย มากกว่าที่จะนั่งทำงานในห้องบริหารเพียงอย่างเดียว
“ในอนาคตหากเราจะแก้ปัญหาความเลื่อมล้ำทางสังคมเกษตรและสังคมเมือง เราต้องสร้างรายได้ให้เกษตรกรบ้านเราให้มีรายได้มากขึ้น เราต้องควบคุมอุปทานและสร้างอุปสงค์” คือความฝันของ พิธา ที่อยากให้ไทยสามารถเป็นคนตั้งราคาข้าวให้กับตลาดโลกได้
สู่เกษตรก้าวหน้า ความตั้งใจของพิธาในฐานะนักการเมือง
เมื่อกลับมาเจอกับ ‘พี่เอก’ ธนาธรในฐานะรุ่นพี่ธรรมศาสตร์อีกครั้ง พิธาตัดสินใจ เขาได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องนโยบายด้านการเกษตรของพรรค ทั้งจากประสบการณ์และความรู้ที่เคยได้รับมา
สิ่งสำคัญที่เขาย้ำอยู่มาเสมอคือการเดินหน้าไปสู่ ‘เกษตรก้าวหน้า’ ที่จะทำให้ทั้งคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยดีขึ้น
“เกษตรก้าวหน้า คือ เกษตรที่มีการแปรรูป คือเกษตรที่มีการเพิ่มมูลค่า เป็นเกษตรที่ทันสมัยและมีเสน่ห์ในแง่ของวัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม เราต้องเข้าใจเรื่องของปัจจัยการผลิตด้วย ไม่ว่าจะเป็น ที่ดิน เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย น้ำ หรือ ยา
“ผมมีความตั้งใจที่จะเอาประสบการณ์ของตนเองมาลองดูว่า เราจะพัฒนาเรื่องเมล็ดพันธุ์ ได้อย่างไร พัฒนาเรื่องเครื่องจักร เรื่องคน ได้อย่างไร เพื่อที่จะยกระดับเกษตรกร ทำให้เขาลืมตาอ้าปากได้ และขณะเดียวกัน โซ่ตรวนสำคัญของเกษตรกรอย่าง หนี้สิน ที่ดินทำกิน การชลประทานที่มีอยู่เพียง 20 เปอร์เซ็นต์ในประเทศไทย ล่าสุด อย่างเช่นที่ผมเพิ่งไป จ.บุรีรัมย์ และ จ.สุรินทร์ ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ก็เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ และต้องทำการปลดโซ่ตรวนนี้” เขาให้สัมภาษณ์กับมติชน
มาถึงตอนนี้ พิธาได้อยู่ในฐานะ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ และเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของฝ่ายค้านที่คอยตรวจสอบงานของรัฐบาล ขณะเดียวกัน ยังได้รับเลือกให้เป็นรองประธานคณะกรรมธิการวิสามัญปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรของสภา
“ประชาชนทุกคนพร้อมเปิดใจว่า ทุกคนเป็นหุ้นส่วนในการแก้ปัญหา หมดยุคแล้วที่ใครคนใดคนหนึ่งจะเก่งและรู้ไปหมดทุกอย่าง” พิธา เคยพูดไว้อย่างนั้น
อ้างอิงจาก