ในทุกการต่อสู้ต่อต้านอำนาจเผด็จการไม่ว่าในเดือนตุลาคมปี 2516, พฤษภาทมิฬ 2535 หรือเรื่อยมาจนถึงเมษา-พฤษภา ปี 2553 คนกลุ่มหนึ่งที่ยืนเคียงข้างรักษาความปลอดภัยใหมวลชนอยู่เสมอคือ กลุ่มศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของโรงเรียนอาชีวะ
และเช่นเดียวกันในการต่อสู้ครั้งนี้ กลุ่มอาชีวะหลอมรวมอยู่ในทุกกลุ่มการเมือง และเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้ทุกกลุ่มเคลื่อนไหว สามารถดำเนินกิจกรรมอต่อต้านโครงสร้างอันไม่ชอบธรรม
The MATTER พูดคุยกับอาชีวะจาก 3 กลุ่ม ได้แก่ ทะลุแก๊ส, ทะลุฟ้า และอาชีวะปลดแอก ถึงแนวทางต่อสู้ที่พวกเขาปวรณาตนให้ เหตุใดพวกเขาถึงเลือกทางนั้น พวกเขามองสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างไร และทำไมพวกเขาถึงยังไม่เคยตอบเจ้าหน้าที่ ด้วยความรุนแรงที่มากกว่า
อาชีวะในทะลุแก๊ส
บี (นามสมมุติ) วัยรุ่นสาววัย 17 ปี จากทีมทะลุแก๊ส เธอเป็นคนที่ซ้อนรถมอเตอร์ไซค์ของพวกออกมาชุมนุมทุกครั้งตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคมเป็นต้นมา เธอเล่าว่าเหตุผลที่ทำให้เธอออกมาคือ ผลกระทบจากการบริหารผิดพลาดที่ยาวนานของรัฐบาล
“ก่อนหน้านี้ บีติดตามข่าวจากเพื่อนหรือรุ่นพี่มาตั้งนานแล้ว พอเห็นก็อยากออกมา Call Out บ้าง อยากเป็นหนึ่งเสียงที่ออกมาช่วยคนอื่นบ้าง”
“แล้วพอออกมาวันที่ 7 ส.ค. วันแรก บีก็ได้เห็นภาพที่ตำรวจทำกับเรา (วันนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่บริเวณแยกดินแดง) ก็รู้สึกว่าเราแค่ออกมาแสดงจุดยืน แต่เขาทำกับพวกเราขนาดนี้เลยหรอ” ภาพเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยางอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลังจากวันนั้น บีตัดสินใจออกมาร่วมชุมนุมทุกครั้ง
บีเล่าว่า หลังจากเรียนจบระดับมัธยมต้น เธอก็เข้าเรียนต่อในโรงเรียนช่างศิลป์แห่งหนึ่ง แต่ความล้มเหลวในการคุมโรคระบาดของรัฐบาล ทำให้เธอต้องเรียนผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งเธอกล่าวว่ามันไม่เหมาะกับวิชาที่ตั้งใจมาเรียนเลย
“ปีนี้เป็นปีแรกที่หนูเข้าเรียน หนูไม่มีพื้นฐานอะไรมาก แค่เป็นคนที่ชอบวาดรูป แต่การมาเรียนด้านนี้มันต้องมีฝีมือ มีทักษะ แต่เรียนออนไลน์มันทำให้หนูเรียนไม่รู้เรื่อง ซึ่งถ้าได้ไปเรียนที่โรงเรียน มีครูมาช่วยสอนตัวต่อตัว มันจะช่วยได้มากกว่านี้มากค่ะ”
นอกจากตัวเธอเองที่เสียโอกาสทางการศึกษา ครอบครัวของเธอก็กำลังเผชิญกับความยากลำบากจากความล้มเหลวในการควบคุมโรคของรัฐบาลเช่นกัน
“ครอบครัวหนูขายของสดอยู่ในตลาดกลางคืน ปกติมันเปิดตี 1 จนไปถึง 9 โมง แต่ทีนี้ต้องย้ายเวลามาเปิด 4 โมงเย็นถึงสองทุ่ม และต้องมาเปิดอีกทีตอนตี 4 ถึง 9 โมง มันทำให้คนในบ้านเหนื่อยกันมาก และลูกค้าก็หายไปเยอะ ขาดทุนไปมากอยู่ค่ะ”
เช่นเดียวกับ กิต (นามสมมุติ) นักศึกษาจากโรงเรียนอาชีวะอีกคนหนึ่งที่ออกมาสู้ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคมเช่นเดียวกัน เขาให้เหตุผลที่ออกมาต่อสู้ว่า “ผมอยากได้ชีวิตวัยรุ่นคืน อยากได้เพื่อนฝูงกลับคืนมา เพราะนายกฯ คุม COVID-19 ไม่ได้เลย ประเทศเปลี่ยนไปเยอะ เขาไม่ออกมาดูแลประชนเลย”
กิตมองว่าเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงตอบโต้ผู้ชุมนุมมากเกินไป ทั้งที่ผู้ชุมนุมมีแค่พลุ ประทัด หรือลูกบอลยิงนก ซึ่งเขารู้ดีว่าเป็นเพราะเจ้าหน้าที่เองก็มีอารมณ์ แต่ก็ควรจะห้ามปรามตัวเองบ้าง “ผมรู้ว่าเจ้าหน้าที่เขาก็มีอารมณ์ แต่มันก็ต้องคุมให้ได้ ไม่ใช่ว่าล้มแล้วยังวิ่งเข้าไปใส่อีก คนแก่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ก็ไปฟาดเขาหาว่าเขามาร่วมชุมนุม”
ทางด้านบีก็คิดเหมือนกันว่าเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมรุนแรงเกินไป “หนูว่ามันรุนแรงไปค่ะ ไล่กระทืบ เอากระบองตี ยิงกระสุนยางเข้ากลางหน้าผาก มันได้หรอคะ ตามหลักสากลมันต้องยิงที่ลำตัวหรือเปล่า?”
“ถ้าสมมุติเป็นลูกหลานเขา เป็นภรรยาเขาจะรู้สึกยังไง ขนาดเขาโดนแก๊สน้ำตาตอนลมย้อนศร เขายังแสบเลย คิดว่าเราไม่แสบหรอ”
บีเชื่อว่าวิธีที่เธอกำลังต่อสู้อยู่ เป็นหนทางหนึ่งที่อาจทำให้ขบวนการประชาธิปไตยเดินหน้าสู่ชัยชนะ และถ้ามันเช่นนั้น เธอจะไม่เสียใจแม้แต้นิดเดียวที่ออกมาต่อสู้ในรูปแบบนี้
“หนูคิดว่าวิธีที่ทำอยู่ ถ้าวันหนึ่งมันสำเร็จขึ้นมา หนูจะรู้สึกภูมิใจที่ออกมาต่อสู้เพื่อตัวเอง เพื่ออนาคตของตัวเอง เพื่ออนาคตของคนรุ่นต่อไป”
“หนูคิดว่าไม่มีใคร (ผู้ชุมนุม) ต้องการตอบโต้ให้ถึงชีวิต พวกเราแค่อยากตอบโต้กับสิ่งที่พวกเขา (เจ้าหน้าที่) ทำกับพวกเราบ้าง” เธอทิ้งท้ายอย่างเชื่อมั่นว่ากลุ่มผู้ชุมนุมทุกคน ไม่เคยคิดจะเอาชีวิตเจ้าหน้าที่เลย
อาชีวะในทะลุฟ้า
“เราเลือกวิธีสันติแล้ว เราก็ต้องไปสันติตลอดไป มันเป็นทางเลือกของคนอ่อนแอ แต่เป็นคนอ่อนแอที่อ่อนแอทางร่ายกาย ไม่ใช่ทางจิตใจและปัญญา”
ธนัต (นามสมมุติ) อดีตนักศึกษาอาชีวะจากกลุ่มทะลุฟ้า ที่เริ่มต่อสู้ทางการเมืองตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว แรกเริ่มเขาออกมาชุมนุมทางการเมืองเพราะความรักพวกพ้อง
“วันแรกที่ผมไปเพราะเป็นห่วงน้อง โทรหามันแล้วมันบอกกำลังจะปะทะกับตำรวจ ผมก็รีบวิ่งขึ้นแท็กซี่ไปเลย วันนั้นก็ยังไม่มีอะไร แต่หลังจากนั้นผมก็ไปอีก จนเจอแจ็คพ็อตรถน้ำ”
“หลังจากนั้น ผมก็ตั้งคำถามว่าเจ้าหน้าที่ทำร้ายประชาชนทำไม? เขามีกำหนดการณ์ว่า 4 ทุ่มจะเลิกกิจกรรมนะ ทำแบบนี้มันไม่ถูก ผิดศีลธรรม จริยธรรม มนุษยธรรม ผมก็เลยเริ่มออกมาช่วยเหลือจริงๆ”
หลังจากที่เริ่มเข้าร่วมการชุมนุมในฐานะการ์ดได้สักระยะหนึ่ง เขาก็ได้รับคำเชิญจากรุ่นพี่อาชีวะคนหนึ่งให้ร่วมกิจกรรม ‘เดินทะลุฟ้า’ ซึ่งเป็นการเดินจากจังหวัดนครราชสีมา เพื่อเข้าสู่กรุงเทพฯ โดยเขามีโอกาสร่วมเดินด้วยเป็นเวลาทั้งหมด 3 วัน
“หลังจากนั้นผมก็เข้าร่วมกับเขาเรื่อยมา เพราะผมมองว่าพวกเขาดี สันติ มุ่งมั่น ทุกคนเพียรพยายาม ขะมักเขม้น ทุกคนต้องสร้างระเบียบวินัยไปเรื่อยๆ ซึ่งผมมองว่าแนวทางนี้แหละคือชัยชนะ”
สำหรับธนัต แนวทางที่เขาเชื่อคือ สันติวิธี กล่าวคือพยายามหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่ให้มากที่สุด “สำหรับผม ความรุนแรงไม่ใช่ทางแก้ปัญหา ยิ่งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานรุนแรงขึ้นอย่างชัดเจนแบบนี้ เรายิ่งต้องยึดสันติวิธีเอาไว้ให้มั่นคง”
อย่างไรก็ตาม ธนัตเข้าใจดีว่าแนวทางการต่อสู้สันติวิธีนั้น มีหลายแนวทาง หลายเส้นทาง เขาจึงอยากบอกกลุ่มที่รวมตัวกันบริเวณแยกดินแดง และเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่แทบทุกวันว่า
“ผมมั่นใจว่ากลุ่มที่ปะทะกับเจ้าหน้าที่ที่แยกดินแดง 70% มาด้วยอุดมการณ์ และผมเชื่อว่าทุกคนตรงนั้น ไม่ว่าอาชีวะหรือจากไหน เขาจะเป็นกลุ่มหนึ่งที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยในอนาคต ดังนั้น อยากบอกว่าผมเชื่อใจพวกคุณนะ”
เขากล่าวทิ้งท้ายถึงคนที่กำลังอยากเข้าสู่ขบวนการต่อสู้ว่า อยากให้เตรียมร่างกาย จิตใจให้พร้อม เปิดใจให้กวาง และเข้ามาในฐานะคนที่พร้อมเรียนรู้จริงๆ
“ตอนนี้เราต้องการคนเพิ่มขึ้น เพราะถ้ามีแค่นี้เราไม่มีทางชนะได้เลย นอกจากเราได้รับการฝึกแบบกลุ่มตาลีบัน”
“แต่ผมอยากให้ทุกคนเข้ามาด้วยความพร้อมจะเรียนรู้จริงๆ ไม่ต้องรีบ ไปศึกษาก่อน ทำความเข้าใจให้ลึกซึ้ง เอาแค่รู้ว่าเรามาเพื่อสันติ มาเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย มาเพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่ของประเทศชาติ มันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่จริงๆ นะ ฝากไว้แค่นี้”
กลุ่มอาชีวะปลดแอก
“ในมุมของอาชีวะกลุ่มใหญ่ เขามีข้อมูลในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย เขารู้ว่าสิ่งที่เขาออกมาเรียกร้องคืออะไร”
เก่ง – เกวลัง ธัญญเจริญ แกนนำกลุ่มอาชีวะปลดแอก เคยกล่าวไว้ในงาน ม็อบ18สิงหาไล่ล่าทรราชของกลุ่มทะลุฟ้าไว้ว่า เขารียกร้องให้กลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณแยกดินแดงยุติการปะทะกับเจ้าหน้าที่ เพราะเกรงว่าจะนำไปสู่ความรุนแรงที่มากขึ้น และอาจต้องมีผู้เสียชีวิต แต่เวลานี้เก่งมองสถานการณ์ต่างออกไป เขากล่าวว่า
“ตอนแรกผมยังขัดๆ อยู่ แต่พอมีคนเก็บข้อมูลก็ได้รู้ว่าน้องๆ หลายคนทำเพราะพยายามตอบโต้รัฐที่มาใช้ความรุนแรงก่อน ซึ่งตรงนั้นมันยังอยู่ในเส้นสันติวิธี ไม่ได้ทำร้ายใครให้เสียชีวิต มีแต่รัฐเองนั่นแหละ ที่ทำข้าวของชาวบ้านเสียหาย”
อย่างไรก็ตาม เก่ง ยอมรับว่าจากข้อมูลที่เขาได้รับมา มีคนบางกลุ่มที่ออกมาด้วยอุดมการณ์จริงๆ ขณะที่บางกลุ่มถูกจ้างมาเพื่อสร้างสถานการณ์จริงๆ เช่นเดียวกัน “เท่าที่ผมได้รับข้อมูลมา มีน้องจากต่างจังหวัดที่ถูกจ้างมา และเปิดบ้านให้อยู่ แต่ขณะเดียวกันก็มีน้องๆ ที่อยู่แถวนั้น (ดินแดง) ที่อยากออกมาตอบโต้รัฐบาลเพราะพวกเขาได้รับผลกระทบมาตลอด หรืออยากออกมาช่วยคนที่ออกมาสู้ มาพาบางคนที่ไม่รู้เรื่องกลับบ้านเหมือนกัน”
เก่งเล่าว่า ทุกวันนี้เขากำลังทำงานกับน้องๆ ติดอาวุธทางความคิดให้รู้เท่าทันหลายกรณีที่น่าสงสัย เพื่อไม่ให้เงื่อนไขความรุนแรงเพาะตัวจนเปิดทางให้เกิดการสลายชุมนุมที่รุนแรงมากขึ้น “ผมพยายามรณรงค์บอกน้องๆ ไม่ให้เพิ่มเงื่อนไขความรุนแรงไปมากขึ้น เช่น ทำไมอยู่ดีๆ ถึงมีรถตำรวจขับมาให้เผา? ทำไมถึงขับมาแค่คันเดียว? และทำไมเผาแล้วถึงไม่มีการระเบิด? เพราะเขาตั้งใจเติมน้ำมันมาไม่ให้พอกับการระเบิดอยู่แล้ว”
“น้องๆ ก็เริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าอะไรแบบนี้มันไม่ปกติ อยู่ๆ จะมีมีรถตำรวจมาจอดคันเดียวไม่ได้ มันประหลาด”
เก่งยืนยันว่าทั้งกลุ่มผู้ชุมนุม โดบเฉพาะอาชีวะเองยังยืนอยู่บนหลักการสันติวิธี ไม่ได้คิดจะทำร้ายเจ้าหน้าที่ถึงแก่เสียชีวิต เขาชวนให้เราตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดระเบิดที่มีการปากัน จึงมีแต่เสียง ไม่มีเศษน็อต เศษตะปู หรือกระจกอยู่ข้างใน
“เรายังยืนอยู่ในเส้นสันติวิธี ไม่ต้องการให้ใครเสียชีวิต อย่างระเบิดปิงปองที่น้องๆ ทำกัน มันไม่มีเศษน็อต เศษตะปู หรือเศษกระจก เจ้าหน้าที่ที่โดนก็มีแค่รอยถลอก ไม่มีสะเก็ดฝัง ไม่มีรอยแผลขาด มันมีแค่เสียงกับควัน เพราะอะไร? เพราะพวกเขาไม่ได้ต้องการให้มันถึงชีวิต”
“และลองเทียบกับอาชีวะตีกัน เวลาเขาโยนระเบิดพวกนี้ มันต้องมีขาเหวอะบ้าง มีสะเก็ดฝังบ้าง แต่เจ้าหน้าที่ไม่มีเลยนะครับ”
เขาทิ้งท้ายว่ากลับเป็นภาครัฐเสียมากกว่าที่ไม่ยึดสันติวิธี ไม่มีหลักการ และพยายามใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง
“มันเป็นภาครัฐเสียมากกว่า ที่ใช้มาตรการอย่างไร้ซึ่งอารยะ ไร้ซึ่งความเป็นสากล รูปแบบตอบโต้ไม่มีแบบแผน ใช้แต่อารมณ์ และโทสะ ในการควบคุม”