1.
ฮาร์บิน, เฮย์หลงเจียง, สาธารณรัฐประชาชนจีน
ที่เมืองฮาร์บิน ประเทศจีน สภาพอากาศติดลบ ต่างจากไทยลิบลับ พวกเขากำลังทำในสิ่งที่ไม่น่าจะได้เห็นทั่วๆ ไปในประเทศบ้านเกิด – คือการแกะสลักหิมะ
เรากำลังพูดถึงการแข่งขันแกะสลักน้ำแข็งจากหิมะระดับนานาชาติครั้งที่ 16 (16th International Collegiate Snow Sculpture Contest) ซึ่งจัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ฮาร์บิน (Harbin Engineering University หรือ HEU) ร่วมกับเทศกาลน้ำแข็งและหิมะนานาชาติ (China-Harbin International Ice and Snow Festival) ที่นครฮาร์บิน มณฑลเฮย์หลงเจียง ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน
ระหว่างวันที่ 4-7 มกราคม 2567 ทีมแกะสลักหิมะ 3 ทีมจากสถาบันอาชีวศึกษา 3 แห่งของไทย เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการแข่งขัน ซึ่งมีทั้งหมด 58 ทีม
ผลปรากฏว่า ผู้ชนะเลิศคือ เยาวชน 4 คน จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา
“ตอนนั้นอาสาสมัครพาผมเดินไปรับรางวัล ตอนแรกผมก็นั่งอยู่แล้วก็งงๆ ว่า เราได้ที่ 1 ได้ยังไง” กวินท์ ศตะภัค หนึ่งในสมาชิกทีม บอกกับ The MATTER “ก็ตื่นเต้นดีใจครับ”
กวินท์คือตัวแทนที่ไปขึ้นรับรางวัลชนะเลิศภายหลังผลการประกวดออกมา แม้แต่ตัวเขาเองยังเซอร์ไพรส์ที่ทีมของเขาชนะ เพราะเขาบอกว่า ทั้ง 4 คน ซึ่งเรียนอยู่ในชั้น ปวช.3 เพิ่งฝึกฝนการแกะสลักหิมะมาได้ไม่กี่สัปดาห์ และเมื่อข่าวจากกวินท์เดินทางผ่านโทรศัพท์มาถึงสมาชิกทีมที่เหลือ ซึ่งรออยู่ที่หน้าผลงาน บรรยากาศก็เต็มไปด้วยความดีใจสุดขีด – แถมยังเคล้าน้ำตา
“ก็รู้สึกดีใจครับ โอ้โห ตอนนั้นกลั้นน้ำตาไม่อยู่เลย ก็ไหลเลย กลั้นน้ำตา ดีใจ กระโดดกันหน้างาน” ณัฐวุฒิ แสงภู หรือ หมีภู เล่า
วิทยาลัยอาชีวเสาวภาไม่ได้ส่งตัวแทนแข่งขันแกะสลักหิมะมานับตั้งแต่เมื่อครั้งไปชนะเลิศที่เมืองฮาร์บินมาเมื่อปี 2553 ปีนี้เพิ่งเป็นปีแรกในรอบมากกว่า 10 ปี ครูและผู้บริหารเริ่มคุยกันว่าอยากส่งตัวแทนไปแข่งขันอีกครั้งเมื่อปี 2564 แต่ก็ไม่เกิดอะไรขึ้น จนกระทั่งได้ ครูต้อม—ศรชัย ชนะสุข มาเป็นครูสอนที่วิทยาลัยฯ และกลายมาเป็นครูควบคุมทีมในที่สุด
สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ก็คือตำนานการไปคว้าแชมป์ที่เมืองหิมะ ของเยาวชนสายอาชีวะ 4 คน ที่มาจากเมืองที่ไม่มีหิมะ
2.
วิทยาลัยอาชีวเสาวภา, กรุงเทพฯ
‘ตุ๊กๆ ออนทัวร์’ คือชื่อผลงานที่พาให้พวกเขาได้รับรางวัลชนะเลิศ
ปั้น—สุดากาญจน์ จาดแก้ว สมาชิกหญิงของทีม เล่าว่า จุดเริ่มต้นมาจากการให้โจทย์จากทางฮาร์บินว่า ‘วัฒนธรรม’ ทีมและครูจึงนำมาตีความกว้างๆ ว่า อยากนำประเพณีและวัฒนธรรมของไทยที่โดดเด่นโชว์ที่จีน ครูต้อมจึงให้โจทย์สมาชิกทีมไปช่วยกันคิด
จนกระทั่งได้ไอเดียหลักเป็นรถตุ๊กตุ๊ก ซึ่งประกอบไปด้วยวัฒนธรรมจาก 4 ภาคของไทย คือ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ มานั่งรถตุ๊กตุ๊ก “ได้สื่อกลางเป็นรถตุ๊กตุ๊ก เพราะว่าต่างชาติเวลาที่จะมาเที่ยวเมืองไทย เขาก็จะชอบนั่งรถตุ๊กตุ๊ก ดังนั้น พวกหนูก็นำวัฒนธรรมทั้งหมด 4 ภาค มานั่งรถตุ๊กตุ๊กไปเยี่ยมเยือนประเทศจีน อันนี้ก็เป็นแนวคิดของพวกหนู” ปั้นเล่า
เมื่อได้ไอเดียตัวละครทั้ง 4 ภาคจากสมาชิกทีมแต่ละคน จึงเริ่มต้นการสเก็ตช์และฝึกซ้อม ปั้นอธิบายต่อว่า จะเริ่มทำงานด้วยการปั้นขึ้นเป็นโมเดลดิน ได้เป็นรถตุ๊กตุ๊กคนเล็กหนึ่งคัน จากนั้นจะเริ่มขึ้นเป็นปูนใหญ่ จากปูนผสมทราย เธอบอกอีกว่า เนื้อสัมผัสของมัน “ก็จะมีความแข็งกว่าหิมะ พอเราซ้อมที่แข็งๆ ไปแล้ว เราไปเจอกับหิมะ มันนิ่ม ก็เป็นเรื่องง่ายเลยสำหรับพวกเรา”
“ด้วยกระบวนการเรียนการสอน มีวิชาประติมากรรมอยู่แล้ว กระบวนการประติมากรรมคือการเพิ่ม แต่การแกะมันคือการเอาออก การลด ซึ่งนักเรียนก็ทำความเข้าใจแค่ให้มันกลับค่ากัน จากบวกเป็นลบ” ครูต้อมเล่าเสริม ตอบคำถามว่า ทำไมไม่มีหิมะ แต่ไปแข่งแกะสลักหิมะได้
“และด้วยเครื่องมือ กระบวนการในการสร้างงาน มันคล้ายกันหมดเลย เราแค่เปลี่ยนจากปูนไปเป็นหิมะ ซึ่งนักเรียนก็ค่อนข้างที่จะทำได้ดีเลย”
และนั่นคืออย่างแรกที่ต้องเตรียม – คือการฝึกซ้อม – อย่างที่สองคือ ความพร้อมในการออกกำลังกาย ให้นักเขียนแข็งแรง “พอนักเรียนซ้อมเสร็จ ช่วงเย็นเขาก็จะออกไปวิ่งบ้าง ออกไปตีแบดฯ กันบ้าง เพราะที่ต้องใช้คือกำลังแขนเสียส่วนใหญ่” เขาว่า
แต่ในทั้งหมดทั้งมวลที่เตรียมมา สิ่งที่สำคัญกว่านั้นหนีไม่พ้นกำลังใจ
“ไปที่นู่น ใจต้องมาก่อน เพราะว่าฝีมือครูเขาสอนได้ แต่ใจมันต้องมาก่อน” อาระยา ฉายชูวงษ์ รองผู้อำนวยการ วิทยาลัยอาชีวเสาวภา บอกกับเรา
รอง ผอ. อาระยา อธิบายอีกว่า ตลอดกระบวนการทั้งหมดนี้ ครูและนักเรียนมีอิสระอย่างเต็มที่
“ในส่วนของการทำงาน เราจะไม่ไปชี้นำครู หรือว่าไปบังคับในการทำงานของครู” รอง ผอ. กล่าว “แต่เราจะเป็นการมอบนโยบายให้คุณครู แล้วคุณครูเขาก็นำข้อมูลไปสู่เด็กๆ เด็กๆ ก็ช่วยกันคิด คิดผลงานมา พอเขาคิดมา แล้วเขามาสื่อสารที่ครู ว่า มันจะเป็นตุ๊กตุ๊กออนทัวร์นะ โดยการที่เขาจะมีวัฒนธรรม 4 ภาคขึ้นไปกับรถ แล้วก็ขับรถไปที่จีนเลย”
“เราก็รู้สึกว่า เฮ้ย มันดีอะ แต่เรารู้สึกว่า มันต้องมีอะไรมากกว่านี้ไหม เวลาเขาเอาข้อมูลมาสู่ผู้บริหาร เราก็จะคุยกัน แล้วก็ช่วยกันมอง ช่วยกันคิด ครูเขาก็จะกลับไปคุยกับเด็กว่า มันจะมีอะไรที่เพิ่มขึ้นมาอีก อันนี้ก็เป็นการร่วมกัน ร่วมด้วยช่วยกันในการคิดและการทำงาน รวมถึงผู้บริหารก็ช่วยกันในการบริหารงาน”
และแรงผลักดันของผู้บริหาร จนทำให้ได้ไปแข่งขันที่ประเทศจีน ก็เป็นเพราะมองตัวนักเรียนเป็นหลัก
“ในมุมมองของสถาบัน เรามองที่เด็กเป็นหลัก เด็กนักเรียนเขามีความอยาก และเขาก็มีความใฝ่ฝัน จากที่เราได้ลงไปสัมผัสเด็ก เด็กเขาก็บอกว่า อยากมีโอกาสเหมือนรุ่นพี่ อยากมีโอกาสที่ได้ไปแข่ง เราก็มองเห็นความสำคัญของเด็กเป็นหลักแล้วว่า เราต้องไป”
เมื่อคัดสมาชิกทีมเองกับมือ และได้ดูแลควบคุมในทุกๆ กระบวนการ ตั้งแต่การออกไอเดีย ไปจนถึงขอวีซ่าจากสถานทูตฯ จีน ทีมแกะสลักหิมะจากวิทยาลัยอาชีวเสาวภา จึงพร้อมบินลัดฟ้าไปเผชิญความท้าทายที่ประเทศจีน
“ปีนี้ผมมั่นใจแล้วครับ” ครูต้อมบอกกับรอง ผอ.
3.
ประเทศไทย
ชัยชนะครั้งนี้สะท้อนทั้งศักยภาพและอุปสรรคของวงการอาชีวศึกษาไทย
ในแง่หนึ่ง มันสะท้อนถึงความหวังของการนำฝีมือนักเรียนอาชีวะมาพัฒนาประเทศ
“รู้สึกว่าผลงานที่เราทำ มันได้โชว์ให้สายตาชาวจีน และชาวต่างชาติ ได้เห็นวัฒนธรรมไทย สร้างคุณค่าให้ประเทศไทยด้วยครับ [มาจาก] ประเทศที่ไม่มีหิมะ แต่เราได้แชมป์ เหมือนเราได้โชว์สกิลของเรา” โอม—องศา ยุทธสอาด เล่า
ขณะที่ปั้นคิดว่า ผลงานที่ตัวเองทำ มีคุณค่าในแง่ของการส่งต่อแรงบันดาลใจด้านการศึกษา “สำหรับหนู มันมีคุณค่าในเรื่องของเด็กๆ และเยาวชน น้องๆ ที่ได้มาเห็นเราทำงาน ไปแข่งขัน อาจจะเกิดแรงบันดาลใจ”
ครูต้อมเล่าว่า การแข่งขันครั้งนี้ วิทยาลัยฯ เป็นผู้ส่งตัวแทนไปเอง โดยไม่ได้ผ่านสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ทำให้วิทยาลัยต้องออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด
“ทางผมได้ [รับการ] สนับสนุนมาจากท่าน ผอ. และท่านรอง ผอ. ช่วยสนับสนุนมา 250,000 บาท ในการดำเนินโครงการครั้งนี้ และมีเงินจากรัฐมนตรีช่วยมา 10,000 บาท ถามว่า เงิน 250,000 บาท สำหรับการพานักเรียน 4 คน ไปฮาร์บิน โดยมีผมเป็นผู้ควบคุม 1 คน เจอค่าตั๋วไปก็ไม่พอแล้วครับ” เขาว่า
“ผมเลยต้องเอางานส่วนตัวไปเปิดจองชิ้นงาน ได้เงินมาก็นำเงินไปสนับสนุน นักเรียน มีเพื่อนผมที่เป็นศิลปิน ก็เอางานตัวเองไปเปิดจอง เพื่อจะนำเงินมาสนับสนุนผม แล้วก็มีครู อาจารย์ ผู้ใหญ่ ช่วยสนับสนุนมา ไม่อย่างนั้น เราไม่สามารถจะพานักเรียนไปได้เลย”
“ผมมองว่า อนาคตเด็ก ประสบการณ์เด็ก และประสบการณ์ตัวผม มันสำคัญกว่า ถ้าผมไปมองตรงนั้น แล้วไปมัวแต่น้อยใจ ผมก็คงไม่ได้ไป แล้วก็คงไม่ได้ประสบการณ์ครั้งนี้” ครูต้อมสะท้อนคิดถึงอุปสรรคเรื่องงบประมาณที่เกิดขึ้น
“ตัวผมเองภูมิใจตั้งแต่ตอนที่งานเสร็จแล้ว พองานเสร็จปุ๊บ ผมก็พาเด็กไปเที่ยวเลย ผมบอกว่า ครูเห็นงานแล้ว ผมภูมิใจแล้ว ต่อให้เราไม่ได้รางวัล ผมก็ภูมิใจในการที่เราทุ่มเทตรงนี้แล้ว
“ผมกับเด็กก็พากันไปเที่ยวเล่นสกีน้ำแข็ง เล่นอะไรกัน สนุกเลยครับวันนั้น แต่พอกลับมาแล้ว ได้ข่าวว่าเราได้รับรางวัล เห็นเด็กร้องไห้ ผมก็ตื้นตัน แล้วก็ภูมิใจในการที่เราช่วยกันทุ่มเทครั้งนี้ มันส่งผลครับ ก็ภูมิใจในตัวลูกศิษย์มากครับ”
“ผมก็ไม่ได้ฟันธงว่าจะต้องมาเป็นครูนะ นักเรียน [คือคนที่] ทำให้ผมยังอยู่ตรงนี้” ครูต้อมบอกกับเรา
เราถามถึงความฝันของสมาชิกทีมทั้ง 4 คน ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า อยากทำงานศิลปะในอนาคต
แต่ท้ายที่สุด ความหวังของการได้เป็นศิลปินจะถึงฝั่งฝันหรือไม่ ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของการศึกษาแบบอาชีวศึกษา และการขจัดอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาด้วย
ครูต้อม ในฐานะบุคลากรที่ทำงานในระบบโดยตรง สะท้อนไปยังภาครัฐว่า อยากให้ช่วยเหลือเรื่องของงบประมาณ โดยเฉพาะการสนับสนุนอุปกรณ์ซึ่งยังคงขาดแคลน รวมถึงการปรับปรุงอาคารสถานที่ต่างๆ ในการเรียน และที่สำคัญคือ อยากให้ช่วยประชาสัมพันธ์ถึงความสามารถของนักเรียนอาชีวะ
“นักเรียนอาชีวะเรา มีความสามารถเยอะ เขาขาดแค่เรื่องของการออกไปโชว์ และเปิดความสามารถของตัวเองให้คนอื่นได้มองเห็น โลกของเขาค่อนข้างแคบ พอเราตัวเล็กอยู่ในสังคมที่ใหญ่ การมองเห็นมันก็ยากอยู่แล้วครับ ซึ่งน้อยครั้งที่จะเปิดประสบการณ์”
“ตอนนี้ การอาชีพเป็นแรงงานต้นๆ ที่ประเทศเรากำลังขาดแคลน และเป็นที่ต้องการของตลาดมากเลยนะครับ นักเรียนจบออกไปก็ค่อนข้างมีคุณภาพที่สามารถปฏิบัติงานได้เลย ซึ่งผมมองว่าสำคัญสำหรับประเทศไทยมากเลยครับ” ครูต้อมกล่าวต่อมา
“ถ้ามีนักเรียนอาชีวะเยอะๆ จะช่วยกันขับดันประเทศเราไปได้ไกลเลยครับ” เขาว่า