เป็นอีกครั้งที่กระแสความรุนแรงจาก ‘เด็กช่าง’ ถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง แต่ไม่ใช่ว่าในช่วงที่สื่อไม่พูดถึงมัน ความรุนแรงจะไม่เกิดขึ้น..
ถ้าหากลองนึกๆ ดู สังคมไทยเผชิญความรุนแรงจากการปะทะกันของกลุ่มอาชีวะมาตั้งแต่สมัยก่อนปี พ.ศ.2500 ในช่วงยุคอันธพาลครองเมือง ก่อนเงียบหายไป และมาปะทุขึ้นอีกครั้งในช่วงก่อนพ.ศ. 2540 หลายชีวิตสูญเสียให้กับคำว่า ‘ศักดิ์ศรี’ ขณะที่อีกหลายชีวิตจบลงทั้งที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่แต่อย่างใด
และเมื่อความหวาดผวาต่อความรุนแรงที่คาดเดาไม่ได้กลับมาอีกครั้ง จุดไฟน่าตั้งคำถามว่า อะไรคือต้นเหตุของความรุนแรงของเด็กช่าง?
วันนี้ The MATTER ลองคลี่ปมปัญหาวงจรความรุนแรงในกลุ่มอาชีวะผ่านวิทยานิพนธ์ ‘ปัญหาความรุนแรง : กระบวนการครอบงำความคิดของ นักศึกษาอาชีวะในเขตกรุงเทพมหานคร’ โดย ชิษณุชา นวลปาน ได้ทำการสัมภาษณ์ผู้มีความเกี่ยวข้องกับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวายและสถาบันเทคโนโลยีปทุมวันเพื่อหาคำตอบว่ากระบวนการสร้างและส่งต่อความรุนแรงระหว่างสถาบันเกิดขึ้นได้อย่างไร
ศัพท์/ แสลงในกลุ่มอาชีวะ
ภาษาเป็นสิ่งสำคัญมากในการสื่อสาร และทุกการรวมกลุ่มในสังคมมักสร้างภาษาและแสลงในกลุ่มตัวเองขึ้นมาใช้ เช่นเดียวกับนักศึกษาอาชีวะที่มีการสร้างแสลงขึ้นมาใช้และรู้กันในกลุ่มของตนเอง
- องค์พ่อ
คือรูปเคารพพระวิษณุที่เด็กช่างทั่วไปนับถือโดยทั่วกัน เพียงแต่มีความแตกต่างที่อริยาบถ เช่น อุเทนถวายและช่างก่อสร้างที่อื่นๆ มักเคารพบูชาพระวิษณุที่มีอิริยาบถแบบยืนและพระหัตถ์ข้างซ้ายถือลูกดิ่ง ขณะที่ปทุมวันและช่างกลที่อื่นๆ มักนับถืออิริยาบถแบบนั่งและพระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัว ในงานวิจัยผู้ให้สัมภาษณ์เล่าว่า หนึ่งในสาเหตุความขัดแย้งมาจากการนับถือพระวิษณุที่มีอิริยาบถต่างกัน และมองว่าสัญลักษณ์ของกลุ่มตนเป็นของแท้มากกว่าอีกฝั่ง
- สาย
ด้วยความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว ทำให้เด็กช่างที่บ้านใกล้กันจับกลุ่มกันเดินทางมาพร้อมกันด้วยรถเมล์ จนเกิดเป็นคำว่า ‘สาย’ แล้วตามด้วยรหัสรถเมล์ ก่อนต่อมาจะกลายเป็นคำว่า ‘G’ ซึ่งย่อมาจากแก๊งและตามด้วยรหัสรถเมล์
- ประธานสาย
ประธานสายรถเมล์ต่างๆ ของกลุ่มเด็กช่าง มีหน้าที่ดูแลการเดินทางและความปลอดภัยให้กับกลุ่มที่เดินทางด้วยกัน และมักมีหน้าที่พารุ่นน้องเข้าพบรุ่นพี่
- แก้
หมายถึงการล้างแค้นหรือเอาคืนคู่อริ
- ล่อง
เด็กช่างคนหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์กับ The MATTER ว่า ‘ล่อง’ หมายถึงการออกขี่มอเตอร์ไซค์เป็นกลุ่มเพื่อยั่วและหาเรื่องทะเลาะวิวาท
- ปล่อยของ
ใช้อธิบายเวลาที่รุ่นพี่ถ่ายทอดประสบการณ์ต่างๆ ในรั้วสถานศึกษาให้รุ่นน้อง มีทั้งประสบการณ์การเรียนและความรุนแรง
- ตัว
ปืน
- ตบ/ ของหลุด
การยึดหรือถูกยึดสัญลักษณ์ประจำสถาบัน เช่น หัวเข็มขัด, เสื้อช็อป
- รับรุ่น
กระบวนการรับรุ่นเต็มไปด้วยระบบ SOTUS เด็กช่างที่ผ่านการรับรุ่นมักได้รับสิทธิพิเศษมากกว่าคนอื่น ส่วนกลุ่มที่ไม่รับรุ่นอาจถูกห้ามเข้าบางพื้นที่ของโรงเรียน
แต่งเต็ม – เสื้อผ้าหน้าผมเด็กช่าง
นอกจากภาษา กลุ่มเด็กช่างเองก็มีแฟชั่นและสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าตัวเองอยู่กลุ่มไหนหรือเรียนสถาบันอะไร เช่น หัวเข็มขัด, เข็มสถาบัน, เสื้อช็อป (บางรุ่นมักมีการเพ้นท์บล็อกสกรีนรูปพระวิษณุลงที่ด้านหลัง), กางเกงมักเป็นทรงขาเดฟหรือขาม้า, เสื้อเชิ้ตสีขาวส่วมเสื้อช็อปทับ หรือเสื้อยืด โดยแต่ละสถาบันจะมีสีที่ห้ามใส่ของตัวเอง รวมถึงทรงผมที่มักนิยมไว้แทรกกลางและปล่อยด้านหลังยาว
สัญลักษณ์ เช่น หัวเข็มขัด, เข็มสถาบัน, เสื้อช็อปเป็นสิ่งที่เด็กช่างให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยในกลุ่มเด็กช่างมักมีการ ‘ตบ’ ของเหล่านี้กัน โดยคนที่ทำสำเร็จมักได้รับคำชื่นชมและการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน ขณะที่คนที่ถูก ‘ตบ’ ก็ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อจะเอาคืนมาให้ได้ จนบ่อยครั้งนำไปสู่ความรุนแรง
แต่แฟชั่นบางอย่าง เช่น เสื้อ, กางเกง, ทรงผม ไม่ใช่สิ่งบังคับตายตัวหรือเป็นกฎเกณฑ์ในกลุ่มเด็กช่าง และมักเปลี่ยนไปตามความนิยมของยุคสมัยและรสนิยมของคนนั้น
ประวัติศาสตร์สถาบันอาชีวะ
การจะทำความเข้าใจความรุนแรงของเด็กช่าง ต้องย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาในการก่อตั้งโรงเรียนอาชีวะเสียก่อน
ในปี พ.ศ. 2453 ท่ามกลางกระแสปฏิวัติอุตสาหกรรม อาชีพเกษตรกรรมเริ่มได้รับความนิยมน้อยลง สวนทางกับอาชีพด้านหัตถกรรมและอุตสาหกรรม ทำให้มีการเปิดโรงเรียนอาชีวะขึ้นครั้งแรก ได้แก่ ‘โรงเรียนพาณิชยการวัดมหาพฤฒาราม’ และ ‘โรงเรียนพาณิชยการวัดราชบูรณะ’
ต่อมาในปี พ.ศ.2475 – 2499 ความนิยมในโรงเรียนอาชีวะเริ่มขยายตัวมากขึ้น ทำให้ภาครัฐมีนโยบายตั้ง ’โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย’ และ ‘โรงเรียนช่างกลปทุมวัน’ ขึ้นในปี พ.ศ.2475 ในระหว่างนั้น ความวุ่นวายทางการเมืองและการแก่งแย่งอำนาจระหว่าง พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ผบ.ตร.กับ พล.อ.สฤษฏิ์ ธนะรัชต์ ผบ.ทบ.ภายใต้รัฐบาล จอมพล ป. พิบูล สงคราม ทำให้ พล.ต.อ.เผ่าเริ่มเลี้ยงนักเลงเอาไว้เป็นมือเป็นไม้จนเป็นจุดเริ่มต้นของยุคที่เรียกกันว่า ‘อันธพาลครองเมือง’ อย่างไรก็ตาม เมื่อ พล.อ.สฤษฏิ์ ขึ้นมาครองอำนาจและประกาศกฎอัยการศึก ได้มีการกวาดล้างกลุ่มอันธพาลจนทำให้หลายคนต้องหนีออกนอกกรุงเทพฯ และถูกจับเข้าเรือนจำ
ความขัดแย้งระหว่าง อุเทน – ปทุมวัน เป็นที่รับรู้ของสังคมครั้งแรกในปี พ.ศ.2511 – 2512 เมื่อมีการจัดกีฬาเชื่อมสัมพันธ์ขึ้นระหว่างสองสถาบัน แต่ผลปรากฎว่าเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง จนถึงขั้นมีการปาระเบิดขวดใส่กัน ทั้งนี้ ไม่มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว
จุดเปลี่ยนสำคัญของกลุ่มนักเรียนอาชีวะเกิดขึ้นในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เมื่อกลุ่มอาชีวะได้อาสาเป็นการ์ดให้กับมวลชนในขณะนั้นเพื่อขับไล่กลุ่ม 3 ทรราชย์ ถนอม – ประภาส – ณรงค์ โดยนักศึกษาอาชีวะคนหนึ่งในยุคนนั้นเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “พวกผมมันเด็กอาชีวะ เรียนมาน้อย ขออยู่หน้าใช้กำลังปกป้องพวกพี่ เผื่อพวกผมตาย พวกพี่จะได้ใช้สมองทำงานเพื่อชาติต่อไป” ในช่วงเวลาดังกล่าว นักศึกษาอาชีวะได้รับการยอมรับและเชิดชูจากสังคมเป็นอย่างมาก จนมีการบันทึกไว้ว่าพวกเขาถึงกับเลิกตีกันไปพักหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ชนชั้นนำไทยตระหนักดีว่าต้องหยุดยั้งพลังของนักศึกษา จึงมีการส่งนักเรียนอาชีวะฝ่ายขวาเข้าไปแทรกแซงศูนย์กลางนักเรียนอาชีวะแห่งประเทศไทย ดั่งคำกล่าวของ พล.อ.สุดสาย หัสดิน ผู้ก่อตั้งกลุ่มกระทิงแดงที่พูดว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยก็เหมือนหัว นักเรียนอาชีวะก็เหมือนแขนขา จำต้องตัดแขนขาออกจากหัวเสียก่อน
ภายหลังกลุ่มชนชั้นนำไทยได้มีการจัดตั้งกลุ่มกระทิงแดง ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการล้อมปราบนักศึกษาในวันที่ 6 ตุลา แต่นัยยะที่สำคัญของเหตุการณ์นี้คือ ชนชั้นนำของรัฐไทยได้มีการนำ SOTUS มาใช้กับกลุ่มอาชีวะที่สังกัดกลุ่มกระทิงแดง ก่อนที่ต่อมาชนชั้นนำจะถอตัวออกจากกลุ่ม ทำให้เกิดช่องว่างให้ ‘รุ่นพี่’ เข้ามาควบคุมกลุ่มแทน ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้ระบบ SOTUS ขยายตัวออกไปในสังคมเด็กช่างปัจจุบัน
ส่งต่อความรุนแรง
คนเรามีความแตกต่างกันในการแก้ปัญหา บางคนใช้วิธีการพูดคุย บางคนคุ้นเคยกับความรุนแรง แต่เป็นเรื่องยากจะเข้าใจที่คนสองกลุ่มที่ไม่รู้จักกันมักจ้องจะเล่นกันเอาเป็นเอาตาย นักวิจัยได้ข้อสรุปตรงกันแล้วว่า สาเหตุที่นักเรียนอาชีวะยกพวกตึกันไม่ได้เป็นเพราะนิสัยหรือความขัดแย้งตัวบุคคล แต่เกิดจากการส่งต่อค่านิยมแบบ ‘นักรบ’ และการควบคุมชักใยอย่างเป็นระบบองค์กรจากรุ่นพี่ที่จบไปแล้ว
กระบวนการส่งต่อความรุนแรงเริ่มต้นตั้งแต่ ‘การรับรุ่น’ โดยในกรณีของงานวิจัยจะแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน
ขั้นตอนแรก ‘การรับว่าที่’ โดยเมื่อนักเรียนใหม่เข้าไปในโรงเรียนอุเทนถวายหรือปทุมวัน รุ่นพี่จะถามความสมัครใจว่าใครอยากรับ ‘ระบบรุ่น’ บ้าง คนที่สนใจรุ่นพี่จะนัดหมายให้ไป ‘เทส’ ในสถานที่ใดสักแห่งหลังเลิกเรียน โดยขั้นตอนนี้จะเริ่มมีใช้ระบบ SOTUS มีการฝึกวินัยและสั่งลงโทษ เช่น วิดพื้นหรือลุกนั่ง สอนกลอนและเพลงของสถาบัน บอกเล่าประสบการณ์ ชวนไปสังสรรค์กับพี่รุ่นก่อน และภายหลังผ่านทุกขั้นตอน คนที่เข้ารับว่าจะเตรียมตัวเข้าสู่การรับรุ่นต่อไป จากคำให้สัมภาษณ์ของอดีตนักเรียนอาชีวะ กระบวนการนี้เป็นการคัดกรองคนเบื้องต้นที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่เพื่อทดแทนสมาชิกเก่า
ขั้นตอนสอง ‘รับรุ่น’ เมื่อผ่านพ้นการรับว่าที่ จะมีการนัดหมายให้รับรุ่นอีกครั้ง โดยมักจะเป็นในต่างจังหวัด เช่น กาญจนบุรี, ชลบุรี หรือระยอง เมื่อเดินทางไปถึงจะมีการฝึกในหลายๆ ซุ้ม เช่น การทดสอบความอดทน, การสอนป้องกันตัวเอง ใครที่ผ่านไปได้ทั้งหมด ถึงจะเข้าสู่ช่วงพิธีกรรมที่ค่อนข้างขลัง โดยจะมีรุ่นที่เรียบจบไปแล้วมาร่วมงานจำนวนมาก และจะมีการมอบของใช้ส่วนตัว เช่น เสื้อช็อปหรือเข็มให้แก่รุ่นน้อง เมื่อนักเรียนอาชีวะผ่านกระบวนการนี้ เรียกได้ว่าถูกยัดเยียดคุณค่าความคิดอย่างเต็มขั้นตอน มีความรู้สึกภูมิใจในสถาบัน มองคู่อริต่างสถาบันเป็นคู่อริส่วนตน พร้อมปกป้องสถาบันและเพื่อนด้วยความรุนแรงได้ตลอด
การส่งต่อความรุนแรงจากรุ่นพี่ เช่นเดียวกับข้อมูลจากคดีที่เกิดขึ้นล่าสุดว่ามีการทำงานอย่างเป็นระบบเพื่อก่อเหตุหนึ่งครั้ง ในงานวิจัยพบว่ารุ่นพี่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการส่งต่อความรุนแรง และมีการชักใยทำงานอย่างเป็นมืออาชีพและเป็นระบบ โดยนอกจากมีการแบ่งปันประสบการณ์ความรุนแรงส่วนตัวเพื่อเป็นต้นแบบให้รุ่นน้อง ยังมีรุ่นพี่บางคนเข้ามาสอนรุ่นน้องถึงวิธีใช้อาวุธปืน วิธีการวางแผนก่อเหตุอย่างเป็นมืออาชีพ การแบ่งงานกันทำเป็นผู้ก่อเหตุ, คนดูต้นทาง, คนพาหลบหนี รวมถึงมีการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อกระจายข่าวสารและสั่งการจากรุ่นพี่อย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ ยังมีการมอบเงินช่วยเหลือในด้านค่ารักษาพยาบาลและคดีความให้แก่รุ่นน้องที่เผชิญคดีหรือถูกทำร้ายด้วย
อีกปัจจัยที่ทำให้ความรุนแรงยังคงอยู่คือ ประสบการณ์ส่วนตัวของผู้ที่เรียนอยู่ เมื่อเด็กช่างต่างมีค่านิยมที่ตรงกันในเรื่องความรุนแรง การปะทะกันจึงเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง และทำให้พวกเขาต้องหาวิธีป้องกันตัว เช่น รวมกลุ่มกันขึ้นรถเมล์กลับบ้าน หรือพกอาวุธ
จากงานวิจัยทำให้เห็นว่าเด็กช่างไม่ได้รุนแรงด้วยตัวพวกเขาเอง แต่มันมีการสร้างและส่งต่อความรุนแรงกันจากรุ่นสู่รุ่น โดยมี ‘รุ่นพี่’ บางกลุ่มที่มีค่านิยมความเชื่อเลวร้ายเป็นแกนกลางของระบบ
พล.ต.ต.พงษ์สันต์ คงศรีแก้ว อาจารย์พิเศษคณะตำรวจศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เจ้าของผลงานวิจัยเรื่อง ‘มาตรการควบคุมการก่อความรุนแรงในสถาบันอาชีวศึกษา’ เคยเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรงของเด็กช่างไว้กับสำนักข่าว Thai PBS ไว้ทั้งหมด 3 ข้อ
- ข้อแรก การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ให้มีการอุปกรณ์ป้องกันความรุนแรง เช่น กล้องวงจรปิดหรือเครื่องแสกนนิ้วมือ และมีตำรวจคอยตรวจตราเพื่อยับยั้งเหตุความรุนแรง
- ข้อสอง ควบคุมระบบคิด ป้องกันไม่ให้รุ่นพี่ที่จงใจปลูกฝังความรุนแรงเข้ามามีอิทธิพลกับรุ่นน้อง ต้องกำจัดระบบอำนาจนิยมในสถาบันและเปลี่ยนสู่ระบบคิดแบบประชาธิปไตย เพื่อให้นักศึกษามีความคิดเป็นของตัวเอง
- ข้อสาม เปลี่ยนค่านิยมใหม่ เปลี่ยนหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีวิชาที่เป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น ลดการเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเทวรูป และพัฒนาการเรียนการสอนให้มีความก้าวหน้าเพื่อให้คนที่จบออกไปเป็นต้นแบบที่ดีขึ้น
ต้องมีชีวิตผู้บริสุทธิ์สูญเสียอีกสักกี่คน ถึงจะหยุดความเกลียดชังและความรุนแรงระหว่างสถาบันของเด็กช่างได้ คำตอบนี้คงไม่ใช่หน้าที่ของสถาบันการศึกษาจะตอบได้คนเดียว แต่เป็นปัญหาร่วมกันของสังคมไทย สถาบันกฎหมาย สถาบันครอบครัว และรัฐบาล เพราะทุกผู้สร้างความรุนแรงคือผลผลิตของสังคมไทยเช่นเดียวกัน
อ้างอิงจาก:
ปัญหาความรุนแรง : กระบวนการครอบงำความคิดของ นักศึกษาอาชีวะในเขตกรุงเทพมหานคร
Graphic Designer: Kotchamon Anupoolmanee
Proof Reader: Thanyawat Ippoodom