เสียงประทัดที่ดังสลับกับเสียงท่อจากมอเตอร์ไซค์ ทำให้เกิดการแปะฉลากจากผู้มีอำนาจว่ากลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณแยกดินแดงว่าเป็นเด็กแว้น เด็กเกเร เด็กที่ไม่สนใจขื่อแปรของบ้านเมือง
แต่หากเรามองคนเหล่านี้ด้วยสายตาที่เป็นกลางและทะลุไปถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง และไม่ว่าจะเรียกพวกเขาว่าอะไร ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า คนกลุ่มนี้ก็คือวัยรุ่นที่ได้รับผลกระทบจากความล้มเหลวในการจัดการ COVID-19 เช่นกัน พวกเขาบางคนสูญเสียคนในครอบครัว บางคนสูญเสียเพื่อนฝูง และบางคนตกงาน หมดอนาคตตั้งแต่ไวรัสชนิดนี้ระบาดอย่างรุนแรงในช่วงต้นปี
ผ่านสายตาของ ป้ามล – ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก เหตุการณ์ที่ดินแดงและเด็กแว้นเป็นมากกว่าปัญหาเชิงปัจเจก แต่มันคือความล้มเหลวของนโยบายสาธารณะไทย ที่ทิ้งให้ครอบครัวและคนตัวเล็กต้องดิ้นรนต่อสู้กับความจน หรือความไร้โอกาสในชีวิต จนปัญหาที่หนักอยู่แล้ว พันกันยุ่งเหยิงหลายปม และสุดท้ายแก้ไม่ได้ด้วยปัจเจกเพียงคนเดียวต่อไป
แยกดินแดงไม่ใช่แค่สนามอารมณ์ และเด็กแว้นไม่ใช่แค่เด็กมีปัญหา พวกเขาคือผลผลิตของสังคมไทยที่มีสภาพคล้ายเป็นโรงงานผลิตตัวละคร Joker ของค่ายดีซี คือส่วนผสมยำเข้มข้นของโครงสร้างที่กดทับ ไม่หยิบยื่นไม่พอยังทำลายโอกาส
ผ่านสายตาของนักสังคมสงเคราะห์ที่ทำงานกับเยาวชนมากว่า 20 ปี เธอมองกลุ่มเด็กแว้นคืออะไร มีปัญหาอย่างไร เหตุการณ์ที่ดินแดงเป็นภาพสะท้อนของปัญหาอะไรบ้าง ความรุนแรงจากการสลายชุมนุมของเจ้าหน้าที่มันจะนำไปสู่อะไร ความเป็นมิตรหรือปฏิปักษ์ที่มากขึ้น ?
มีการพูดกันว่ากลุ่มคนที่ปะทะกับเจ้าหน้าที่บริเวณดินแดงเวลานี้ เป็นกลุ่มเด็กแว้น กลุ่มเด็กเกเร เด็กมีปัญหา คุณมองเด็กกลุ่มนี้อย่างไรบ้าง
ก่อนอื่น จากประสบการณ์ที่ทำงานมาตลอด 20 ปี การมองปัญหาในระดับปัจเจกว่าเด็กคนนั้น คนนี้เป็นเด็กแว้น ไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ มันไม่พอและไม่เคยตอบโจทย์ มันน่าถามมากกว่าว่า อะไรเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้พวกเขาออกมาแว้น ทั้งที่มันมีความเสี่ยงหัวร้างคางแตกหรือความตายรออยู่
คำตอบพื้นๆ เลย อาจจะเป็นเพราะเขาอยากได้รับการยอมรับจากเพื่อนฝูง เป็นวัยรุ่นชอบอะไรที่ท้าทาย แต่จริงๆ การไม่มีพื้นที่ที่แสงส่องถึงให้วัยรุ่นปล่อยของ ปล่อยแสงอย่างสร้างสรรค์ต่างหากที่เป็นปัญหา ซึ่งพื้นที่ตรงนี้ มันกำหนดเองไม่ได้ แต่ต้องมาจากนโยบายของรัฐบาล และถ้ารัฐบาลมองไม่เห็นปัญหาตรงนี้ มัวไล่จับเด็กอย่างเดียว มันก็ได้แค่สิ้นเปลืองงบประมาณและทำลายอนาคตของเด็กอย่างน่าเสียดาย
ในหนึ่งปี จากครอบครัวในประเทศไทยประมาณ 22.8 ล้านครอบครัว มีประมาณสัก 30,000-50,000 ครอบครัวที่ลูกของเขากระทำความผิดและถูกจับกุม นั่นแสดงให้เห็นว่าการทำหน้าที่พ่อแม่ของคนจำนวนหนึ่งมันกระพร่องกระแพร่งไง ซึ่งเมื่อเราค้นลึกลงไปอีกเราก็ต้องยอมรับว่า ความเป็นพ่อแม่หรือความเป็นครอบครัว สำหรับบางคนมันไม่ได้เรียนรู้โดยอัตโนมัติ มันต้องมีกระบวนการทางสังคมที่มา empower พ่อแม่ด้วย ถ้าเราคิดว่าครอบครัวคือพื้นฐานที่สำคัญในการสร้างมนุษย์เพื่อไปขับเคลื่อนสังคม มันมีราคาเชิงนโยบายที่เราต้องจ่ายมโหฬารเลย ซึ่งมันถูกหลงลืมไปมากในเชิงนโยบาย
การไม่มีพื้นที่ให้วัยรุ่นปล่อยแสงอย่างสร้างสรรค์ต่างหากที่เป็นปัญหา ซึ่งพื้นที่ตรงนี้ มันกำหนดเองไม่ได้ แต่ต้องมาจากนโยบายของรัฐบาล และถ้ารัฐบาลมองไม่เห็นปัญหาตรงนี้ มัวไล่จับเด็กอย่างเดียว มันก็ได้แค่สิ้นเปลืองงบประมาณและทำลายอนาคตของเด็กอย่างน่าเสียดาย
เห็นว่าคุณได้พูดคุยกับกลุ่มที่ลงไปแยกดินแดงมา เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหม
ถึงแม้ว่าเขายังเป็นเด็ก แต่การที่เขาตัดสินใจไปร่วมในเหตุการณ์ที่แยกดินแดง ป้าคิดว่าเขาน่าจะมีแรงจูงใจที่ผลักให้เขาต้องออกไป และจากที่ป้ามีโอกาสได้คุยกับเด็กบางคนที่ไปม็อบทุกๆ วัน ซึ่งใช่ เขาอาจจะเป็นเด็กแว้น เด็กเกเร ชนิดขั้นเทพเลย แต่ว่ามันเป็นแค่ปัจจัยร่วมหนึ่งในตัวของเขา เพราะตัวเขาเองก็มีเรื่องราวที่ไม่พอใจการบริหารจัดการของรัฐบาล โดยเฉพาะในภาวะวิกฤต COVID-19 นี้ ที่มันกระทบต่อตัวเขาและครอบครัวของเขา และมันไม่มีช่องทางในการสื่อสาร ช่องทางในการรับฟังอย่างมีเหตุมีผล เหมือนกับที่ผ่านมา ทุกช่องมันใช้การไม่ได้ไปหมดเลยเหลือพื้นที่สาธารณะแห่งเดียวตรงนั้น (แยกดินแดง) ที่จะออกไปสื่อสารให้คนอื่นรับรู้ได้
จริงๆ คนที่ป้าได้คุยด้วยเขาอายุประมาณ 20 กว่าๆ แล้ว และมีงานทำแล้วนะ แต่เขาเล่าให้ป้าฟังว่าเพื่อนบางคนของเขาตกงาน บางคนพ่อแม่เสียชีวิตจาก COVID-19 บางคนกลายมีหนี้มีสินจากโรคระบาด และที่สำคัญ หลายคนเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือใดๆ เลยในช่วงที่ตัวเองหรือครอบครัวเจ็บป่วยจากโรคระบาด ซึ่งสำหรับพวกเขา มันเป็นโศกนาฏกรรมเลยแหละ และพวกเขาไม่รู้ว่ามีช่องทางไหนเหลือบ้างที่จะบอกให้ผู้คนรับรู้
คนกลุ่มนี้เลือกออกไปชุมนุมเพราะมีปัญหาอีกหลายอย่างรุมเร้า เขาเลือกที่จะออกไปทั้งที่รู้ว่าออกไปก็ “เปลืองตัวและเปลืองเงิน” และอาจพลาดพลั้งพิการได้ แต่เราก็ต้องเข้าใจว่าพวกเขาคือคนที่ไม่มีอะไรจะสูญเสียแล้ว เขาจึงออกไปปลดปล่อยความทุกข์ ความเดือดด้าน ต่อต้านสิ่งที่ทำลายความฝันพวกเขา สำหรับพวกเขา แยกดินแดงกลายเป็นพื้นที่ปล่อยความโกรธและความแค้นของพวกเขาให้กลายเป็นพลังงานด้านลบ
แยกดินแดงกลายเป็นพื้นที่ปล่อยความโกรธและความแค้นของพวกเขาให้กลายเป็นพลังงานด้านลบ
จากประสบการของป้ามล ที่ทำให้บ้านกาญจนาฯ กลุ่มวัยรุ่น เด็กแว้น เด็กเกเรที่มีเรื่องชกต่อย หรือมีการใช้ความรุนแรงจริงๆ เนื้อแท้เขาเลวร้ายไปหมดเลยไหม
ไม่หรอก มนุษย์มันก็มีนาทีที่เลวร้าย นาทีที่ดีสลับกันไปแหละ ใน 1 วัน หรือ 24 ชั่วโมงที่ลืมตาตื่นก็อาจจะมีหลายโมเมนต์มากเลยใช่ไหม เหมือนเราตื่นขึ้นมาตอนเช้าอารมณ์ดี พอตกสายหน่อยเราก็วีนเชียว พวกเขาก็เป็นเช่นนั้น แต่พวกเขาอาจจะโชคร้ายตรงที่เขาเติบโตในบรรยากาศที่ นาทีที่เขาร้าย ทุกคนก็เล่นกับด้านร้ายของเขาอย่างรุนแรง เอาร้ายประกบกับร้าย หรือตอนเขาดีก็ไม่มีใครเอาด้านดีมาประกบด้วย เพราะฉะนั้นเด็กเหล่านี้เขาก็อาจจะเติบโตภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ด้านมืดของเขาถูกขยี้มากกว่าปกติเท่านั้นเอง
อย่างเช่น สมมติว่าเด็กคนหนึ่งอารมณ์เสีย แทนที่พ่อแม่เขาจะนั่งลงคุย แล้วถามว่ามีอะไรให้แม่ช่วยไหมลูก? แต่ปรากฏว่าเขากลับถูกตบแทน หรือในโรงเรียน แทนที่ครูจะถามจะคุยกับนักเรียน เขากลับถูกครูไล่ออกจากห้อง อย่าทำซ่าตรงนี้นะ ออกไปเลย
ป้าคิดว่ามนุษย์ทุกคนไม่ค่อยต่างกันหรอก เรามีความเทา ดำ ขาว เหมือนๆ กันหมด อาชญากรไม่ได้เป็นโดยเกิดฉันใด ผู้ทรงศีล ผู้นำศาสดาก็ไม่ได้เป็นโดยเกิดเหมือนกัน เพียงแต่ว่าเส้นทางที่หล่อหลอมเขา มันมีส่วนสำคัญที่ทำให้เขาเป็นใครในวันต่อไป และเส้นทางนี้ มันไม่ควรถูกปล่อยไปตามยถากรรม ไม่ควรปล่อยให้การเดินทางของปัจเจกเป็นเรื่องชะตากรรมส่วนตัว
มันเลยทำให้ป้าคิดว่า เอ๊ะ! เรามีรัฐบาล กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ไว้ทำอะไร ทำไมถึงไม่มีการ empower ผู้คนที่มีทุนไม่เท่ากันในการที่จะเป็นประชาชนที่ดี หรือแม้เป็นพ่อแม่ที่ดีด้วย ทั้งที่เส้นทางเหล่านี้มันต้องการนโยบายที่ดีจากรัฐ เพราะนโยบายที่ดีมันจะทำให้ผู้คนที่มีทุนที่ไม่เท่ากันไปถึงเป้าหมายได้อย่างน้อยเหมือนกันที่สุด
มนุษย์ทุกคนไม่ค่อยต่างกันหรอก เรามีความเทา ดำ ขาว เหมือนๆ กันหมด อาชญากรไม่ได้เป็นโดยเกิดฉันใด ผู้ทรงศีล ผู้นำศาสดาก็ไม่ได้เป็นโดยเกิดเหมือนกัน
เมื่อเราเห็นเยาวชนหรือวัยรุ่นบางกลุ่มที่มีปัญหา เราควรจะมีการปรับเลนส์หรือว่าทัศนะอย่างไร เพื่อให้เข้าใจพวกเขามากขึ้น
ไม่ง่ายหรอก เพราะว่าเราไม่ได้ถูกฝึกกันมาไง ลองยกตัวอย่างให้ดูนะ อย่างเช่น เวลาเราดูหนัง ‘หนังโจ๊กเกอร์ (Joker)’ เราจะรู้สึกว่าโจ๊กเกอร์เป็นผลลัพธ์และผลผลิตบางอย่างของสังคมที่กดทับ รังเกียจตัวละคร ก่อนในที่สุดจะกลายเป็นตัวร้ายในสังคม และเวลาป้าสังเกตที่เขาเขียนรีวิวกัน ทุกคนดูเข้าใจตัวละครโจ๊กเกอร์หมดเลยว่า การที่เด็กธรรมดาคนหนึ่งจะกลายเป็นอาชญากรเนี่ย มันต้องมีส่วนผสมเต็มไปหมด ทุกคนเป็นจำเลยร่วมกัน
แต่เวลาที่เราได้เจอโจ๊กเกอร์ตัวจริงนอกจอ เช่น พอเราเห็นเด็กคนหนึ่งก่ออาชญากรรมแล้วก็เป็นข่าวหน้าหนึ่ง เรากลับเห็นความเกรี้ยวกราด การด่าทอ การซ้ำเติม สำหรับป้าอันนี้เป็นความย้อนแย้งที่น่าสนใจมากนะ
ป้ามองว่าสังคมเราไม่มีสกิลในการมองปรากฏการณ์ หรือโศกนาฏกรรมในสังคม ซึ่งมันต้องอาศัยการถกเถียงกันบ่อยๆ ตบซ้ายตบขวาตกแต่งความคิดกันไปเรื่อยๆ และถึงที่สุด สังคมันก็จะเกิดการขัดเกลาจนกลมมนในตัวของมันเองไง แต่สังคมไทย พอมีประเด็นขึ้นมา เราถกเถียงไม่ถึงไหน เราถูกแปะป้ายทันทีเลย ซึ่งการแปะป้ายนี่แหละที่ทำให้การถกเถียงมันไปไม่ถึงที่สุด
อย่างเช่นประเด็นโจ๊กเกอร์อันเดียว ทำไมเราถึงยอมรับโจ๊กเกอร์ในหนังได้เนอะ แล้วถ้าโจ๊กเกอร์ในหนังคนเดียวเจอแบบนั้นเลย ปรากฏการณ์นั้นกระโดดไปอยู่นอกจอ มาเป็นชีวิตจริงๆ มาเป็นเด็กข้างบ้านเรา มาเป็นเด็กที่ขึ้นโรงพักในค่ำคืนนี้ “เห้ย! ทำไมเราเกรี้ยวกราดใส่เขาวะ?”
ผ่านสายตาป้ามล ตอนนี้สังคมเรามีโจ๊กเกอร์เยอะไหม
ป้าคิดว่าถ้าเราไม่มีนโยบายสาธารณะที่ดี เราจะมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่สำหรับผลิตโจ๊กเกอร์
ป้าพูดบ่อยๆ ว่า สำหรับเด็กและเยาวชน ใน 1 ปี มี 120-130 วันที่เป็นช่วงวันหยุด และใน 22.8 ล้านครอบครัวในประเทศไทยเนี่ย มีจำนวนนิดเดียวเท่านั้นที่สามารถทำให้วันหยุดของเด็กน้อยคนหนึ่งเต็มไปด้วยความฝันและพลัง เช่น พาเด็กคนนั้นเดินทางไปต่างประเทศ ไปเปิดหูเปิดตาให้กว้างขึ้น และให้เขากลับมาหมุนตัวเองได้อย่างสนุกแล้วก็มีพลัง
คำถามคือ แล้วเด็กที่เหลือเขาไปไหนกันล่ะ? อาจเอาเงินให้ลูกวันละ 50 บาทเพื่อเข้าไปอยู่ในร้านเกมมั้ง หรืออีกกลุ่มกลุ่มที่ใหญ่เลย คือเด็กกลุ่มที่ไม่รู้ชะตากรรม ไม่มีที่ไป ไม่ว่าปิดเทอมหรือเปิดเทอม กูก็ไม่รู้จะอยู่ที่ไหน นึกออกไหม
แล้วถามว่าแล้วรัฐบาลอยู่ในตรงไหนของช่องว่างนี้ ถ้าป้าเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ สิ่งที่น่าจะทำได้ เช่น แจกคูปองแทนเงินสดให้เด็กหรือพ่อแม่ของเขา แล้วสมมุติผมอยากไปค่ายกีตาร์ ค่ายสเกตบอร์ด ค่ายจักรยานเสือภูเขาก็ใช้คูปองนี้แทนเงินสดได้ แล้วเราเอาใครมาทำตรงนี้ แน่นอนว่าหน่วยงานรัฐ หรือไม่ก็เป็นคนหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ก็ได้ สร้างงานให้พวกเขาด้วยนะคะ สิ่งเหล่านี้มันดีกับเด็ก และไม่ว่าเขาจะเป็นลูกเต้าเหล่าใคร เขาจะถูกดูแลอย่างเหมาะสม เพราะเขาคือทุนของสังคม
แต่เราไม่เคยมีนโยบายสาธารณะแบบนี้ เราจึงพบว่ามีเด็กกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่สามารถไปเล่นจักรยานภูเขาได้ช่วงปิดเทอมเพราะพ่อแม่มีเงิน เนี่ย เพราะมันไม่ใช่นโยบายสาธารณะของรัฐไง
ชวนป้ามลย้อนกลับไปแยกดินแดงอีกนิดหนึ่ง มีคนนำวาทกรรมเผาบ้านเผาเมืองที่สร้างขึ้นในปี 53 ไปเทียบกับเหตุการณ์บริเวณนั้น ป้ามลมองว่าอย่างไรบ้าง
ป้าถามเด็กกลุ่มที่ไปม็อบดินแดงว่า คิดอย่างไรกับเรื่องความรุนแรง? เขาเป็นผู้สร้างความรุนแรงนั้นด้วยหรือเปล่า? เขาถามกลับมาว่า ป้าเคยไปม็อบหรือเปล่า? และถ้าป้าติดตามข่าวต้องรู้นะว่าผู้ใหญ่ (หมายถึงการสลายชุมนุมของเจ้าหน้าที่ – ผู้เขียน) ใช้ความรุนแรงกับพวกผม เขาบอกว่าพวกเขาไปม็อบโดยไม่ได้มีอาวุธอะไรมากมายเลย หนังสติ๊ก ประทัดยักษ์ พลุ ซึ่งเทียบไม่ได้กับอาวุธที่ตำรวจใช้เลยไม่ว่าแก๊สน้ำตา หรือกระสุนยาง
แล้วป้าถามว่า “แต่จากในข่าว เราก็เห็นการเผานะลูก” เขาก็บอกว่า “ใช่ ในเชิงสัญลักษณ์” คือมวลชนบางคนตัดสินใจเผายาง รถตำรวจ หรือป้อมตำรวจจริง แต่นั่นก็เป็นแค่สัญลักษณ์แห่งอำนาจ ไม่ใช่บ้านของประชาชน ไม่ใช่ร้านค้า ไม่ใช่ทรัพย์สมบัติของคนที่อยู่แถวนั้น แน่นอนเราก็อาจจะพูดอีกว่า “ไม่ว่าเป็นสัญลักษณ์หรืออะไร คุณก็ไม่มีสิทธิ์” ตรงนี้ป้ามองว่ามันขึ้นอยู่กับแต่ละฝ่ายมองอย่างไร แต่สำหรับเขา เขาอธิบายว่ามันเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจ
เพราะเด็กๆ เขาทำอะไรตัวอำนาจไม่ได้ใช่ไหม ตัวอำนาจมันใหญ่มาก ทรงพลังมาก เขาเลยต้องจัดการกับสัญลักษณ์ ซึ่งป้าคิดว่าการต่อสู้แบบนี้ มันมีราคาที่ต้องจ่ายทั้งสองฝ่ายแหละ เวลาฝ่ายหนึ่งไม่ได้ยึดสันติวิธี มันก็มีราคาที่เราต้องจ่าย
มันเป็นความรู้สึกต่อต้านมากกว่าอยากจะทำร้ายใครรุนแรงถึงชีวิตใช่ไหม
ป้าก็แปลกใจอยู่นะ เพราะเขาไม่ได้เหมือนกับกลุ่มนักเรียนเลว หรือกลุ่มที่เคลื่อนไหวอื่น ซึ่งมีข้อเสนอที่ชัดเจนว่าต้องการอะไร เด็กกลุ่มนี้ต่างคนต่างมา แต่รู้อย่างเดียวว่าการบริหารของรัฐบาลใน COVID-19 เนี่ย มันทำให้ความฝันของเขามอดดับลง แล้วถ้าถามแบบเร็วๆ ว่าเขาต้องการอะไร เขาก็พูดว่า “นายกฯลาออกไปสิ! เผื่อมีคนเก่งคนอื่นที่ดีกว่าเข้ามาบริหารประเทศ”
ป้ามองว่าคนกลุ่มนี้ไม่ได้ถูกจัดตั้งทางการเมืองโดยใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังนั้น พวกเขาเลยใช้ความเป็นเยาวชน/ความเป็นวัยรุ่น อารมณ์ร้อนของเขาต่อสู้ด้วยวิธีตัวเอง ซึ่งคนบางกลุ่มอาจจะมองว่าคนกลุ่มนี้ไม่ใช่นักสู้ทางการเมือง แต่ป้ามองว่าพวกเขาออกมาแบบไม่ถูกจัดตั้งไง ออกมาเพราะมันมองไม่เห็นอนาคตข้างไหนไง แล้วกูไม่มีอะไรจะสูญเสียแล้วไง
ซึ่งป้าว่ารัฐบาลไม่แยกแยะมวลชนที่มารวมตัวกัน บางคนเขาแค่อยากมีพื้นที่ในการแสดงออก รักษาชีวิต รักษาครอบครัว รักษาอนาคตของเขาเอง แต่รัฐบาลก็เหมาไปหมดแล้วว่า เมื่อไหร่ที่รวมตัวกันคือมวลชนและต้องปราบทั้งหมด ซึ่งมันเป็นสูตรที่ใช้ไม่ได้นะ
นอกจากนี้ เราเห็นภาพที่เด็กบางคนอายุไม่เต็ม 15 ปี ลงมายิงหนังสติ๊ก หรือหลบแก๊สน้ำตา มองว่าภาพแบบนี้น่ากังวลแค่ไหน
เราต้องยอมรับว่าเด็กวัยรุ่นเนี่ย เป็นวัยที่กำลังฮึกเหิม กำลังอยากท้าทายอำนาจบางอย่าง บวกกับสถานการณ์ของครอบครัว การเมือง COVID-19 สถานการณ์ในสังคมที่กำลังคุกคามครอบครัวเขา บางทีเราก็จะเห็นภาพพวกนี้
แต่ป้ามองว่าภาพพวกนี้มันเป็นภววิสัยคือ เป็นเรื่องของสถานการณ์ และถ้าสถานการณ์คลี่คลายลง ทุกอย่างมันก็กลับสู่ภาวะปกติ คือป้าคุยกับเด็ก เขาพูดว่า “ถ้าประยุทธ์ลาออก ปัญหาถูกแก้ ทุกคนมีงานทำ ผมก็กลับบ้านไงครับ” คือเขาไม่ได้ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศ นึกออกไหม เขาไม่ได้มีความฝันอันสูงส่งเหมือนนักเคลื่อนไหวการเมือง เขาไม่ได้เป็นอย่างนั้น อีกคนพูดว่า “เนี่ยถ้าผมมาแยกดินแดง แล้วไม่มีตำรวจ ไม่มีตู้คอนเทนเนอร์ ไม่มีแผง ผมว่าจะมาสัก 3 วันก็กลับแล้วครับ” แต่พอมาเจอแบบนี้ทุกวัน เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมทุกวัน เขาก็แบบ “มึงมากูก็มาว่ะ”
หลังๆ มานี้ เราเห็นฝั่งเจ้าหน้าที่ใช้ไม้แข็งเหมือนตีเหล็ก มีทั้งการสาดกระสุนยางจากที่สูง ส่งเจ้าหน้าที่ขึ้นหลังกระบะไปไล่กวดผู้ชุมนุม หรือไล่กระทืบผู้ชุมนุม คุณมออย่างไรบ้างมันสมควรหรือผิดพลาดตรงไหน
ตรงนี้ป้ามองว่าเจ้าหน้าที่เขาไม่แยกแยะเลย เขาใช้มาตรการที่รุนแรงกับคนทุกกลุ่ม ซึ่งถึงที่สุด ในระยะยาวมันจะสร้างบาดแผลในใจเด็ก และใครจะรู้ว่าความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ มันอาจจะงอกงามและเติบโตจากเหตุการณ์สลายชุมนุมที่ดินแดงเนี่ยแหละ และถ้าเราใช้อำนาจและความรุนแรงกับเด็กๆ อย่างต่อเนื่องและเกินสัดส่วน มันจะทำให้เด็กๆ ต่อต้านหนักขึ้น จนบางคนอาจฝังใจเป็นฝันร้าย และครั้งหน้าถ้าเจออะไรที่เป็นเชิงสัญลักษณ์ อาจทุ่มใส่เลยก็ได้
แต่เชื่อว่าผู้มีอำนาจไม่ค่อยคิดเรื่องพวกนี้หรอก พวกอำนาจนิยมมักคิดว่าตัวเองจัดการทุกอย่างได้ สงบ ราบคาบ ซึ่งในความเป็นจริงการไม่ต้องใช้อำนาจเลยต่างหากที่คืออำนาจสูงสุด
ใครจะรู้ว่าความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ มันอาจจะงอกงามและเติบโตจากเหตุการณ์สลายชุมนุมที่ดินแดงเนี่ยแหละ
สมมุติตอนนี้เป็นที่ปรึกษานายกฯ จะมีคำแนะนำอะไรถึงนายกฯ บ้าง
ลาออกสิคะ (หัวเราะ) สง่างามมาก ป้ามองว่าถ้าเราลงจากหลังเสือในเวลาที่เหมาะสม เราอาจได้เสียงสรรเสิญมากกว่าก็ได้ โลกอาจจารึกว่าผู้นำประเทศคนนี้ เมื่อรู้ว่าตัวเองไม่อาจนำพาประเทศไปต่อได้แล้ว ยอมก้มหัวเพื่อขอโทษประชาชน ประวัติศาสตร์จะบันทึกเรื่องของเขาไว้อย่างสง่างามมากเลย
ซึ่งวันนั้นป้าก็พูดแบบนี้ในไลฟ์ของ The Active ว่าถ้าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน หรือองค์กรอื่นๆ เสนอให้นายกฯ ลาออก มันจะดีมาก ส่วนเค้าจะตัดสินใจอย่างไร มันก็อีกเรื่องหนึ่งนะ แต่ถ้าไม่มีใครกล้าทำอะไรเลย มันก็จะเป็นแบบนี้ อึนตันกันไปทั้งประเทศ ปล่อยให้ม็อบวิ่งตะโกน “ประยุทธ์ลากออกไปเรื่อยๆ” เขาก็เหนื่อยกันนะ
หมายถึงจะให้คำแนะนำอย่างไร กับการชุมนุมที่แยกดินแดง (หัวเราะ)
อยากให้มีการเจรจานะ แต่สำหรับที่ดินแดง ป้าไม่แน่ใจว่ามันเลยเส้นมาหรือยัง เพราะมาถึงตรงนี้ ไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่ยิงกระสุนยาง แก๊สน้ำตาไปมากเท่าไหร่แล้ว ซึ่งมันไม่ได้หมายความว่าแค่อุปกรณ์สลายการชุมนุมนะ มันหมายถึงการสูญเสียความไว้วางใจด้วย
ซึ่งจริงๆ มันอาจเหลือพื้นที่ให้คนกลางในการเจรจาอยู่แหละ แต่นั่นแหละ ใครจะยอมมาเป็นคนกลางในสถานการณ์แบบนี้ และถ้าเขายอมมาจริง ผู้มีอำนาจจริงใจจะรับฟัง แก้ไข หรือลาออกด้วยหรือเปล่า และถ้ามันไม่จริงใจคุยไปก็เสียเวลา
ความเป็นทหาร อำนาจนิยม มันทำให้ฝ่ายที่รับใช้อำนาจแบบนี้ปิดพื้นที่เจรจาไปเสียเอง จนเราต้องบอกตัวเองเลยว่า อย่ามีผู้นำที่เชื่อมั่นและศรัทธาในอำนาจนิยมอีกเด็ดขาด เพราะมันจะทำให้ทุกอย่างยากไปหมดเลย คือปัญหานี้ มันยากอยู่แล้ว แต่ความเป็นอำนาจนิยมจะทำให้ทุกอย่างยากขึ้นไปอีก
ไม่แน่ใจว่าสถานการณ์มันเลยเส้นมาหรือยัง เพราะมาถึงตรงนี้ ไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่ยิงกระสุนยาง แก๊สน้ำตาไปมากเท่าไหร่แล้ว ซึ่งมันไม่ได้หมายความว่าสิ้นเปลืองอุปกรณ์สลายการชุมนุมนะ มันหมายถึงการสูญเสียความไว้วางใจด้วย
ช่วงเวลา 7 ปีที่ผ่านมา เราเห็นข่าวเด็กช่างตีกัน หรือเด็กแว้นปิดถนนเพื่อแข่งมอเตอร์ไซค์น้อยลง พูดได้ไหมว่าเหตุการณ์เหล่านี้ลดลง หรือหมดไปแล้ว
ป้ามองมันเป็นแค่ภววิสัย คือสถานการณ์บางอย่างในสังคมทำให้สถานการณ์อีกอย่างมันหายไป แต่ตราบใดที่โครงใหญ่ไม่ถูกแก้ เมื่อได้น้ำอีกครั้ง มันก็ออกดอกผลเหมือนเดิม
โครงใหญ่คืออะไร มันก็คือเรื่อง การกดให้เด็กช่างเป็นพลเมืองชั้นสอง หรือการปลูกฝังค่านิยมความรุนแรงที่ผิดๆ บางอย่างจากรุ่นพี่ และถ้าค่านิยมยังไม่เปลี่ยนไปเนี่ย เมื่อเงื่อนไขทางการเมืองเปลี่ยน มันก็พร้อมจะฟื้นคืนชีพ เพราะว่ามันมีปัญหาที่รากเหง้า
ระบบอำนาจนิยมตอนนี้ มันแค่กดทับและซุกปัญหา เพราะสิ่งใดที่มีมาช้านานจนเป็นค่านิยม หรือเป็นปัญหาเชิงวัฒนธณรม มันจะไม่หายไปเองงง่ายๆ แบบนี้ มันต้องมีกระบวนการสร้างคุณค่าใหม่ และสังคมเรายังไม่เคยมีการทำแบบนั้น ดังนั้น มันแค่เจือจางลง และถ้าได้น้ำได้ผล มันจะเติบโตอีกครั้ง