วิกฤตแสวงหาตัวตนหรือ Identity Crisis เป็นเรื่องปกติที่ใครๆ ก็เผชิญกันได้ เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งเราจะต้องการคำอธิบายให้กับตัวเองว่า เราเป็นใคร? มีชีวิตอยู่เพื่ออะไร? เหมือนหาเชือกเส้นที่แข็งแรงที่สุดเส้นหนึ่งมาจับไว้ ในขณะที่กำลังเดินอยู่บนเส้นด้ายชีวิตที่เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้เลย
“คุณเป็นคนแบบไหน?” “อธิบายตัวเองหน่อยสิ” คำถามที่มักจะเจอในหลายๆ โอกาส ทั้งสัมภาษณ์งาน ออกเดต หรือเวลาไปเจอสังคมใหม่ๆ ที่ต้องแนะนำตัวเองคร่าวๆ ให้คนอื่นเข้าใจง่าย แต่คนอธิบายรู้สึกยาก ไหน ใครเป็นเหมือนกันบ้าง?
และเมื่อเจอคำถามนี้เข้าไป ในสมองจะเริ่มประมวลผลความชอบ ความสนใจ หรืองานอดิเรกของตัวเองออกมา เช่น ชอบดูหนัง ชอบปลูกต้นไม้ ชอบไปเดินดูงานศิลปะ แต่เมื่อตอบออกมาจริงๆ บางคนเลือกที่จะตอบ ‘อาชีพ’ เช่น อ๋อ เป็นนักกฎหมาย เป็นหมอ เป็นสถาปนิก เป็นกราฟิกดีไซน์ อาจด้วยความที่อาชีพทั้งสั้น ง่าย และก็มีคุณลักษณะบางอย่างที่คิดว่าพอบอกออกไป คนอื่นน่าจะเอาไปตีความได้เองว่าเราเป็นคนแบบไหน
I am my work! ตัวตนของฉันคืองานที่ทำ
บทความที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ The Atlantic ชื่อว่า ‘Workism is Making Americans Miserable’ ซึ่งพูดถึงแนวคิดที่เรียกว่า Workism ที่เชื่อว่างานไม่ได้เพียงแต่จะมีจำเป็นต่อเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นชิ้นส่วนสำคัญที่ประกอบอัตลักษณ์ของคนหนึ่งคนขึ้นมา รวมไปถึงเป้าหมายในชีวิตของคนคนนั้นด้วย
แนวคิดที่ว่านี้เองก็ทำให้มนุษย์เริ่มมองว่าความหมายของการมีชีวิตอยู่ ควรหาได้จากในงานที่ทำ ทำให้การตัดสินใจสมัครงานใดสักงานหนึ่ง งานนั้นจำเป็นต้องมาจากความชอบและแรงปรารถนาของตัวเอง หรือที่เรียกว่า ‘งานที่เรารัก’ หรือการจะได้มาซึ่งงานที่มีความหมาย (แม้กระทั่งงานนั้นจะไม่มีความหมายขนาดนั้นก็ตาม) เราจำเป็นจะต้องเสียสละหรือแลกมาด้วยความทุ่มเทตลอด 24 ชั่วโมง ความมุ่งมั่น ความแน่วแน่ ที่อยู่เหนือความสำคัญของครอบครัว การกลับมาดูแลตัวเอง หรือสิ่งที่เติมเต็มชีวิตอื่นๆ นอกเหนือจากเวลาทำงาน
ในขณะที่โทรศัพท์มือถือและแล็ปท็อปกลายเป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกาย สายเข้าทั้งวันทั้งคืน และตื่นมากับการเช็คอีเมลก่อนล้างหน้าแปรงฟัน เพราะเราถูกปลูกฝังว่านี่คืองานที่เรารัก และแน่นอนว่าคนที่ได้ทำงานที่ตัวเองรักคือคนที่น่าอิจฉาคนหนึ่ง เวลากลับมาเจอเพื่อนเก่าในงานเลี้ยงรุ่น คนนี้แหละที่เพื่อนหลายคนจะมองด้วยสายตาชื่นชม
กับดักการนิยามตัวตน ที่ส่งผลต่อคุณค่าในตัวเอง
จริงๆ การเห็นความสำคัญของงานที่ทำเป็นเรื่องดีทีเดียวเลยล่ะ เพราะการทำงานให้ประสบความสำเร็จ ต้องอาศัยทัศนคติที่สร้างแรงขับเคลื่อนให้เดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ การรักงานที่ทำจึงไม่ใช่เรื่องฟุ้งเฟ้อเพ้อเจ้ออะไร
แต่ก็เหมือนกับทุกอย่างนั่นแหละ ที่เมื่อมากเกินไปก็อาจกลายเป็น ‘กับดัก’ ซึ่งอันตรายของการนิยามตัวเองด้วยงานตามแนวคิด workism หรือ You are your work คือการที่เรา ‘หลอมรวม’ คุณค่าในตัวเอง (self-worth) กับงานที่ทำจนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้การที่เราจะเกิดความภาคภูมิใจต่อตัวเองสักครั้ง จึงขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ของงานที่เราทำด้วย
เมื่องานของเราถูกชม ทำออกมาสำเร็จลุล่วงดี หรือได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง เราจะรู้สึกมีคุณค่า มีความมั่นใจ อยากจะให้รางวัลตัวเองเยอะๆ เพราะฉันคือ start-up สาวผู้ประสบความสำเร็จในการเปิดร้านกาแฟตั้งแต่วัย 20 ต้นๆ หรืออะไรก็แล้วแต่ และนั่นเป็นเรื่องที่ดีในการสร้าง self-esteem ให้กับตัวเอง แต่เมื่อวันหนึ่งเราถูกวิจารณ์อย่างหนัก เกิดอุปสรรคในการทำงาน ถูกปฏิเสธไอเดียที่นั่งคิดทั้งวันทั้งคืน หรือหนักสุดก็โดนไล่ออก สิ่งที่เรามองไม่ใช่ว่างานนั้นล้มเหลว แต่มองว่า ‘ตัวเราเอง’ ต่างหากที่ไม่ได้เรื่อง ห่วยแตก ไม่มีความสามารถ
อันตรายของการนิยามตัวเองด้วยงาน
คือการที่เรา ‘หลอมรวม’ คุณค่าในตัวเอง
กับงานที่ทำจนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ซึ่งนั่นจะทำให้เราจมอยู่กับการโทษตัวเองทางความคิดซ้ำๆ ไม่ไปไหน เนื่องจากเรามองว่าทั้งหมดคือคุณค่าของตัวเราเอง และเมื่อล้มเหลวมากๆ จนใจฝ่อ ทำไมเราถึงไม่เก่งเท่าคนอื่นบ้างนะ ทำไมเรื่องแค่นี้ถึงทำไม่ได้นะ ก็เลยทำให้เราเกิดอาการ Imposter Syndrome หรือโรคที่รู้สึกว่าตัวเองนั้นด้อยคุณภาพได้
เนตรปรียา ชุมไชโย นักจิตวิทยาจากแพล็ตฟอร์มให้คำปรึกษาทางสุขภาพจิต Ooca ได้แนะนำว่า เมื่องานออกมาไม่ดี สิ่งที่ควรทำเมื่อรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า คือ ‘การแยกตัวเองออกจากงาน’ ให้ได้
“เราควรมองงานให้เป็นงาน เมื่องานออกมาผิดพลาด ให้โฟกัสไปที่เนื้องาน ไม่ใช่ตัวเอง ซึ่งการมองแบบนี้ต่างกันนะ อย่างเวลาเจ้านายบ่นว่าเราทำงานไม่ได้เรื่อง คนที่เป็น imposter syndrome เขาจะคิดว่าตัวเขานั่นแหละที่ผิด ห่วยแตก หรือหมกมุ่นกับการโทษตัวเอง แต่ถ้าคนที่ไม่ได้เป็นจะมองที่สเต็ปของงาน สเต็ปนี้เราทำออกมาดีแล้ว แล้วสเต็ปไหนที่เกิดปัญหา นี่คือการที่เราเอาจิตไปหมกมุ่นกับตัวเนื้องานอย่างเดียว ซึ่งวิธีนี้จะเป็นการช่วยยก self-esteem ขึ้นได้”
นอกจากนี้การผูกตัวเองไว้กับงานมากไป อาจกระทบไปถึงความเครียดที่เกิดจากการไม่ได้พักผ่อน เนื่องจากเมื่องานกลายเป็นตัวเราไปแล้ว เราจึงทุ่มเทเวลา แรงกาย และแรงใจทั้งหมดให้กับมัน เพราะไม่อยากที่จะรู้สึกว่าตัวเองทำได้ไม่ดีพอ ไม่มากพอ เพราะนั่นจะส่งผลต่อการมองคุณค่าในตัวเองอย่างที่ได้กล่าวไป เราจึงเลือกที่จะอยู่ดึกเพื่อปั่นงาน ดูเอกสาร และเมื่อเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ภาวะหมดไฟ (Bornout Syndrome) ก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม
แต่…อย่าลืมว่างานที่ทำต้องมีวันจบลง และเมื่อถึงวันนั้นเราอาจจะเป๋หรือเคว้งหนัก เพราะกิจกรรมที่เคยมีในชีวิตประจำวันนั้นหายไป จึงอยากชวนให้ทุกคนลองมองในพาร์ทอื่นๆ ของชีวิตบ้าง เช่น ‘ความสัมพันธ์’ กับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว แฟน เพื่อน หรือสัตว์เลี้ยงก็ตาม อะไรเหล่านี้ก็นิยามตัวเราและสร้างความหมายในชีวิตเราได้ไม่แพ้งานหรืออาชีพเลย
ไตรมาสนี้เราอาจทำยอดได้น้อยกว่าไตรมาสที่แล้ว หรือลูกค้ารายล่าสุดไม่ซื้อไอเดียทันทีเหมือนลูกค้ารายที่แล้ว แต่เราก็ยังเป็นสายซัพพอร์ตที่ดีให้กับเพื่อนๆ ในยามที่พวกเขากลุ้มใจ เป็นลูกเป็นหลานที่สร้างบรรยากาศดีๆ ที่โต๊ะอาหารครอบครัวได้เสมอ เป็นเจ้านายที่หมาตั้งหน้าตั้งตารอทุกวัน หรือคนเฮฮาที่ไม่ว่าปาร์ตี้ไหนก็ต้องการตัว
แต่ถึงแม้ทั้งงานและความสัมพันธ์มีความสำคัญต่อชีวิตเราทั้งคู่ ความไม่แน่ไม่นอนก็สามารถเปลี่ยนแปลงทั้งสองอย่างนี้ได้เรื่อยๆ วันดีคืนดีความสัมพันธ์ที่มีอาจจบลง แบบที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะจบลงได้ ถึงตอนนั้นชีวิตก็คงเป๋ไม่แพ้การลาออกจากงานเลยล่ะ
สมัยเด็กเรามักจะโดนผู้ใหญ่ถามบ่อยๆ ว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร ซึ่งคำตอบจะต้องออกมาเป็นชื่ออาชีพหรือวิชาชีพ แต่ไม่ค่อยมีใครถามถึงความชอบ ความสนใจ งานอดิเรกเล็กๆ น้อยที่นำไปสู่การสร้างอาชีพเลย ทำให้เราคิดว่างานหรืออาชีพคงเป็นเป้าหมายใหญ่ของชีวิตแน่นอน และเราจะต้องทำทุกวิถีทางที่จะไปถึงเป้าหมายนั้น โดยละทิ้งสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างทางที่อาจเป็นอัตลักษณ์หนึ่งของเราไปก็ได้
ดังนั้น จะดีที่สุดหากอัตลักษณ์ของเราออกมาจากการมุมมองที่เรามีต่อตัวเองและโลกใบนี้ อาจจะเป็นมุมมองที่ออกมาผ่านอะไรที่เราชอบ อะไรที่เราไม่ถนัด อะไรที่เรารู้สึกมีส่วนร่วมกับมัน อะไรที่เราเชื่อมั่น หรือกลุ่มคนที่เราอยากใช้เวลาอยู่ด้วยบ่อยๆ หรือเรียกว่าเป็นช่วงรอคอยอัตลักษณ์ เป็นอัตลักษณ์ที่เรายังไม่ได้ตัดสินใจแน่ชัด (Identity Moratorium) หรือการที่บุคคลที่กำลังอยู่ใน Identity Crisis แล้วกำลังค้นหาสำรวจตัวเองอยู่ อาจใช้เวลาเร็วช้าไม่เท่ากับคนอื่น ไม่ต้องกังวลใจไป
และเมื่อได้คำตอบมาแล้ว มันจะเป็น ศูนย์กลางที่แท้จริง (True Center) เปรียบเสมือนสถานที่ที่เราสามารถเดินกลับไปหาได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าอะไรหลายอย่างในชีวิตจะล้มเหลว เปลี่ยนแปลง หรือแตกสลายไปกี่ครั้งก็ตาม จะเลิกกับแฟน ลาออกจากงาน หรือสูญเสียคนสำคัญในชีวิต แต่ศูนย์กลางที่ว่านี้จะยังอยู่ให้เรายึดถือไม่หายไปไหน
อัตลักษณ์ของคนเรามีการพัฒนาอยู่เสมอ หากรู้สึกเหนื่อยกับการเร่งตามหาตัวเองจนรู้สึกหมดแรง ลองหางานอดิเรกเล็กๆ น้อยๆ หรือค่อยๆ ทำความรู้จักผู้คนใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ แบบนี้อาจจะช่วยดึงเอาอัตลักษณ์บางอย่างที่เรามองข้ามไปออกมาให้ชัดเจนมากขึ้นก็ได้นะ
อ้างอิงข้อมูลจาก