ถึงแม้ว่าเราจะอยู่กับตัวเองมาทั้งชีวิต แต่อย่างน้อยทุกคนคงเคยสับสนบ้าง เวลาได้ยินคำปลุกใจ หรือคำโฆษณา อย่างเช่น “จงเชื่อมั่นในตัวเอง!” หรือ “เป็นตัวของตัวเองสิ!” เพราะจริงๆ บางครั้งเราเองยังตอบไม่ได้เลยว่าตัวตนของเราคืออะไร แล้วจะทำยังไงเพื่อค้นหามัน
ในยุคที่โลกหมุนเร็วปรี๊ดพร้อมกับสื่อหลายวงการที่ชวนให้เราขบคิดเรื่องนี้อยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเสนอภาพวัยรุ่นที่สับสนในตัวเองในหนัง coming of age ต่างๆ อย่าง The Perks of Being a Wallflower, Lady Bird, Paper Town หรือในเพลงชื่อดัง Lost Stars โดย Adam Levine ที่เปรียบเทียบว่าดาวที่เคว้งคว้าง ก็เหมือนกันมนุษย์ทุกคนที่เฝ้าตามหาตนเอง ภารกิจดังกล่าวฟังดูยิ่งใหญ่และน่าเหนื่อยใจในเวลาเดียวกัน เพราะในชีวิตประจำวันที่เราต้องสลับภาพลักษณ์ตัวเองไปมาเพื่อให้เข้ากับแต่ละสังคมที่เราอยู่ เช่น ที่ทำงาน พื้นที่ส่วนตัว ฝูงเพื่อน อาจนำไปสู่ identity crisis หรือ ‘วิกฤตของอัตลักษณ์’ ได้ เพราะถ้านิสัยและตัวตนเราต้องขึ้นกับผู้คนและสถานการณ์ แล้วสุดท้ายตัวตนเราคืออะไร? ทำไมต้องค้นหามัน? และเรามีอิสระที่จะ ‘เป็นตัวของตัวเอง’ โดยปราศจากกรอบที่สังคมตีไว้หรือไม่?
การเริ่มตามหาตัวตนของมนุษย์
แรงกระตุ้นในการตามหาตัวตนของตัวเองมาจากแนวคิด humanism (มนุษยนิยม) ที่เกิดประมาณศตวรรษที่ 13 หลังจากความนิยมที่เสื่อมถ่อยในศาสนา เพราะเมื่อก่อนมนุษย์นั้นตามหาความหมายชีวิตจากศาสนาต่างๆ ที่บอกชาวโลกว่า พระเจ้า เวรกรรม ดาวบนฟ้า หรือจักรวาลได้ลิขิตความหมายและหนทางชีวิตของเราเอาไว้แล้ว และเราเกิดมาเพื่อจุดประสงค์ที่กำหนดไว้แล้ว แต่มนุษยนิยมไม่เชื่อดังกล่าว โดยเสนอว่ามนุษย์เป็นผู้ควบคุมและให้ความหมายชีวิตตัวเองต่างหาก ไม่ใช่ว่าเราต้องอยู่ไปเพื่อจุดประสงค์ที่คนอื่นวางไว้ให้
คล้ายกับที่ Jean Paul Sarte ตัวพ่อแนวคิดอัตถิภาวนิยม (existentialism) ที่เป็นปรัชญาแขนงหนึ่งของมนุษยนิยม กล่าวไว้ว่า “การดำรงอยู่มาก่อนแก่นสาร”
เราอาจพูดเป็นอีกนัยได้ว่า มนุษย์ได้ยอมแลกเปลี่ยนความหมายชีวิตตำรับ ‘สูตรสำเร็จ’ เพื่อแลกกับอิสระ และอำนาจในการกำหนดชีวิตตัวเองนั่นเอง ถึงแม้จะต้องพ่วงมากับความกังวลที่ต้องเฝ้าถามตัวเองอยู่เสมอ ว่า ‘ตัวตนของฉันคืออะไร เกิดมาเพื่ออะไรกันแน่?’
และในเมื่อมนุษย์ต้องตามหาความหมายของชีวิตตัวเอง ตัวตนหรืออัตลักษณ์จึงมีบทบาทสำคัญมากๆ ในภารกิจนี้ ตามที่นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง Yuval Noah Harrari กล่าวไว้ว่า “ความหมายของชีวิต ไม่ได้นับจากว่าอะไรเกิดขึ้นในชีวิตเรา แต่หากเป็นการเรียงร้อยเรื่องราวทั้งหมดของตัวเอง โดยขึ้นอยู่กับว่าเราให้คุณค่ากับอะไร”
ดังนั้น ถ้าการตามหาความหมายของชีวิตเป็นเหมือนการหาประเด็นหลัก ในชีวิตที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์สะเปะสะปะมากมาย ‘ตัวตน’ จึงเป็นเหมือนเครื่องคัดกรอง และเครื่องทอที่ช่วยเรียงเรื่องราวต่างๆ ไว้ด้วยกัน เพราะตัวตนทำให้เรารู้เท่าทันตัวเอง (self-aware) ว่ามีจุดยืน ความสามารถ หรือความเชื่ออะไรที่เราจะเลือกทำ และปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ในที่นี้ ตัวตนจะเป็นเครื่องช่วยคัดกรองพฤติกรรมให้ไปในทางเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดความไม่ลงรอยในตัวเองหรือ cognitive dissonance ได้ ยกตัวอย่างเช่น คนที่บอกว่าเชื่อในประชาธิปไตยและความเท่าเทียมอย่างแท้จริง ก็จะคุมการกระทำตัวเอง และไม่ปล่อยให้ตนเองสนันสนุนโซตัส เพราะไม่อย่างนั้นก็จะกลายเป็นคนที่ดูย้อนแย้ง และวนกลับมาจุดเดิม ว่า “แล้วสรุปฉันเชื่อในอะไรกันแน่เนี่ย?”
ดังนั้น ถ้าจะบอกว่า การที่มนุษย์ได้ค้นพบตัวตน และตระหนักในความสามารถตัวเอง เป็นส่วนสำคัญของการตามหาความหมายในชีวิต ก็ไม่แปลกนัก เพราะ Abraham Maslow นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ยังได้จัดการรับรู้ถึงตัวตนและศักยภาพตัวเอง (self-actualization) ว่าเป็นความต้องการสูงสุดในชีวิตมนุษย์ เพราะนอกจากปัจจัย 4, ความสุข, ความรัก หรืออิสรภาพ แล้ว การที่ได้พบความหมาย ตัวตนหรือเอกลักษณ์ จะทำให้มนุษย์รู้สึกว่า การมีอยู่ของชีวิตเรายังมีคุณค่า และรู้ว่าเราอยู่ไปเพื่ออะไร
ไม่แปลกถ้าหากเรามีหลายตัวตน
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราหลายคนอาจจะยังตามหาตัวเองไม่เจอ เพราะจริงๆ แล้ว ตัวตนเรานั้นมีหลายมิติมากๆ โดยหลักๆ มีตัวตนสองแบบที่พูดถึงบ่อย อย่างแรกคือ self (ตัวตน) ที่เป็นตัวตนที่เรารับรู้และนิยามตัวเอง ทั้งด้านนิสัย หรือความคิดลึกๆ ในจิตใจ
และตัวตนอย่างที่สองคือ identity (อัตลักษณ์) คือมุมมองที่สังคมหรือคนรอบตัวนิยามเรา เช่น เป็นหญิง เป็นชาย สัญชาติไทย ไม่มีศาสนา ชนชั้นกลาง เป็นคนชอบแต่งตัวแซ่บๆ เป็นคนติสต์ๆ เป็นต้น และนิยามทางสังคมก็ลื่นไหลไปตามกาลเวลา ขึ้นอยู่กับทัศนคติ และโครงสร้างทางสังคมที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เช่น นิยามคำว่า ‘ผู้หญิง’ ในปัจจุบันกับสองร้อยปีก่อน ก็คงแตกต่างกัน ทั้งในการครอบคลุม transgender หรือทัศนคติที่สังคมมีต่อผู้หญิงเป็นต้น และในเมื่อมนุษย์เป็นสัตว์สังคม การหาอัตลักษณ์และนิยามจึงไม่ได้สำคัญแค่ในระดับส่วนบุคคลเพื่อหาที่พักพึงทางใจ แต่ยังสำคัญในระดับกลุ่ม เช่น การยอมรับอัตลักษณ์บางกลุ่มอย่างยุติธรรม เช่น LGBTQ คนชายขอบ ชนพื้นเมือง คนดำ อุยกูร์ ผู้ลี้ภัย เป็นต้น
นอกจากนั้น นักสังคมวิทยาอย่าง Georg Simmel ยังได้เชื่อมโยงการอยู่ในเมืองใหญ่เข้ากับการตามหาตัวตน โดยกล่าวว่า สิ่งที่ท้าทายที่สุดในการอยู่ในชุมชนเมือง เป็นการที่มนุษย์ต้องตามหาความเป็นตัวเองและพื้นที่ส่วนตัวท่ามกลางวัฒนธรรมที่ทับซ้อนกันมากมาย เหมือนถ้าหากเราถูกโยนไปท่ามกลางแม่น้ำเชี่ยวกรากที่เต็มไปด้วยอิทธิพลรอบตัวมากมาย เราจึงอยากนิยามตัวเองให้ได้ เพื่อเป็นเหมือนสมอยึดไว้เตือนสติตัวเอง และตระหนักว่าเราก็มีอำนาจควบคุมความเป็นไปของตัวเองได้เช่นกัน โดยการตระหนักนี้อาจค่อยๆ สร้างได้จาก การสำรวจตัวเอง หรือปรึกษาคนใกล้ตัว ว่าเรามีข้อดีอะไรบ้าง ทำอะไรเก่ง เชื่อมั่นในอะไรบ้าง ก็ได้
สุดท้ายแล้ว เมื่อเราสามารถค้นหาตันตนได้เจอท่ามกลางกระแสและบรรทัดฐานต่างๆ ที่คอยตีกรอบเรา จึงมีข้อดีที่ได้พบความมั่นใจว่าเราควรเดินไปทางไหนต่อดี และรู้ว่าเราทำทุกอย่างไปเพื่ออะไร แต่ในทางกลับกัน การที่เรายังไม่รู้ตัวตนของตัวเองแน่ชัด ก็ยังไม่เห็นเป็นไร เพราะนั่นหมายความว่าเราจะเป็นอะไรก็ได้ที่ต้องการ ตราบใดที่เรายังสามารถพบสิ่งใหม่ตลอดเวลา ในเมื่อทุกสิ่งล้วนประกอบสร้างต่อๆ กันมา ดังนั้นเราก็สามารถสร้างหรือตามหาความหมายและตัวต่อไปได้ในทุกๆ วัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
Harrari, Y. (2015). The Modern Covenant. Homo Deus. London: Harvill Secker. Vol. 1, pp. 233-347.
Simmel, G. (1903). The Metropolis and Mental Life. New Jersey: Blackwell Publishing. Vol. 1, pp. 11-20.