เวลาเราทักทายกับคนใหม่ๆ เรามักจะบอกว่าตัวเองเป็นใคร ทำงานอะไร และเราก็สนใจว่าอีกฝ่ายทำงานประกอบอาชีพอะไร ขณะนั้นเราก็คิดประมาณไปว่า อ้อ คนนี้เขาทำอาชีพนี้นะ ต้องเป็นคนแบบนี้แน่ๆ เลย งานเขาตำแหน่งประมาณนี้ น่าจะทำเงินได้เท่านี้ๆ ความก้าวหน้าประมาณนี้
ถึงวัยหนึ่งความสัมพันธ์ของเราดูจะขึ้นอยู่กับหน้าที่การงานไปซะทั้งหมด งาน งาน งาน พูดคุยกับใครก็มีแต่เรื่องงาน หลายครั้งกระทั่งในมุมของความสัมพันธ์ทั้งกับเพื่อนฝูง ครอบครัว ไปจนถึงคนรัก ประเด็นในการพูดคุยก็แทบหนีไม่พ้นเรื่องหน้าที่การงาน
ถ้าปราศจากคำว่า ‘งาน’ แล้วลองหลับตาว่าถ้าเราไม่มีอาชีพ เราจะไปแนะนำตัวกับคนอื่นว่าอะไรดี เราจะ ‘เป็น’ อะไร ในโลกแห่งการทำงาน คล้ายกับว่าเราไม่อาจมีตัวตนได้ ถ้าไม่มีงานมานิยามตัวเรา
เงิน – แค่ส่วนเล็ก ตัวตนสิเรื่องใหญ่
แน่สิ ถ้าไม่ทำงานก็ไม่มีเงิน แต่มากไปกว่าการทำงานเพื่อหาเงินเลี้ยงชีพแล้ว งาน – ในโลกทุนนิยม ยังเป็นสิ่งที่ถูกใช้เพื่อนิยามความหมายในการมีชีวิตอยู่ของเราด้วย เราเริ่มใช้งานมานิยามตัวตนของเรา เราอาจเคยมีภาวะ ‘ตกงาน’ แล้วรู้สึกว่า เออ ในภาวะว่างเปล่าแบบนี้ เรา ‘เป็นอะไร’ ตัวเรามันช่างว่างเปล่าและไร้ค่าเหลือเกิน
Sense of Self/Identity เป็นสิ่งสำคัญเนอะ มันเป็นความรู้สึกที่ว่าเราเป็นใคร มีชีวิตนี้เพื่ออะไร ความหมายของตัวเราเกิดจากอะไร และในโลกทุกวันนี้ ‘งาน’ เป็นประเด็นสำคัญแรกๆ ที่คนจะใช้นิยามตัวตน การทำงานกลายเป็นความหมายของการมีชีวิต และการทำงานไม่ได้ถูกโยงเข้ากับประเด็นเรื่องเงิน
มีการสำรวจพบว่ายิ่งคนมีสถานะสูง การศึกษาไปจนถึงรายได้ยิ่งมีแนวโน้มในการใช้เพื่อมานิยามความหมายของชีวิตมากขึ้น Dawn R. Norris เจ้าของงานศึกษาความสัมพันธ์ของภาวะตกงาน ตัวตน และสุขภาพจิต บอกว่า เธอศึกษาผลกระทบทางจิตใจของผู้คนที่เกิดจากการตกงาน และพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่เป็นชนชั้นกลาง มีการศึกษาสูง และมีรายได้สถานะทางสังคมสูง – บอกว่าความเจ็บปวดสำคัญของการตกงาน คือความรู้สึกว่างเปล่าและไร้ตัวตน
Norris ชี้ให้เห็นว่า คนกลุ่มนี้เป็นคนที่มีสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจสูง เป็นกลุ่มคนที่ต่อให้ว่างงานสักพักหนึ่งก็ไม่ได้มีความเดือดร้อนเรื่องค่าใช้จ่าย ไม่ต้องดิ้นรนทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานในชีวิตขนาดนั้น ในการตกงาน ความเจ็บปวดสูงสุดของคนเหล่านี้อยู่ที่ความรู้สึกสูญเสียตัวตนไป ผลของความรู้สึกนั้นนำไปสู่ภาวะทางจิตใจต่างๆ ได้แก่ ภาวะซึมเศร้า โกรธเกรี้ยว และเกิดความวิตกกังวล
สถานะยิ่งสูง ตัวตนยิ่งอิงกับการงาน
ข้อสังเกตของ Norris สอดคล้องกับผลสำรวจทัศนคติของชาวอเมริกา จากการสำรวจเก็บข้อมูลอันยาวนานตั้งแต่ปี 1990-2014 ในผลการสำรวจของ Gallup พบว่าอเมริกันชนกว่าครึ่ง (55%) นิยามตัวตนจากการทำงาน ในขณะที่ 42% มองว่าการทำงานเป็นเพียงแค่การทำมาหากินเพื่อเลี้ยงชีพ
ในรายละเอียดนี้พบว่าคนที่มีรายได้สูง – 63% ของคนจากกลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้ต่อครัวเรือนมากกว่า 5 หมื่นเหรียญฯ ต่อปี – มีแนวโน้มที่จะใช้งานมานิยามตัวเองมากกว่า ในขณะที่ในกลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้น้อยกว่านั้น มีคนไม่ถึงครึ่ง (43%) ที่ใช้งานมานิยามตนเอง
ดูเหมือนว่า ยิ่งตำแหน่งงานและสถานะของผู้คนสูง เราก็ดูจะยิ่งยึดกับหน้าที่การงานของเรา จนกระทั่งการงานกลายเป็นตัวตนของเราไปโดยปริยาย พอถึงจุดหนึ่งเราอาจนึกไม่ออกว่าเราเป็นอะไรอื่น นอกจากการงานหรือตำแหน่งที่เราทำ
ตรงนี้เองอาจเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ที่เรามีแนวโน้มจะเลือกและใช้การงานมานิยามว่าเราเป็นใคร ในที่สุดปัญหานี้ก็นำไปสู่วิกฤติของตัวตนเมื่อถึงจุดที่คนคนนั้นสูญเสียงานที่ทำไป ตกงานอาจจะเป็นแค่ภาวะชั่วคราว แต่ถ้าถึงการเกษียณอายุเป็นภาวะสิ้นสุดการทำงานอย่างถาวร
ช่วงเวลาหนึ่ง โลกแห่งการผลิตบอกเราว่าตัวตนของเรามีความหมาย เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของการผลิต ของโลกแห่งการค้าใบนี้ เรามีความหมายได้เพราะเราเข้าขับเคลื่อนระบบอันใหญ่โตให้เดินหน้าทำกำไรต่อไป ในขณะที่บุคคลยังคงเป็นเฟืองที่ใช้งานได้ โลกมักบอกว่าเราคือเฟืองที่สำคัญ เราเกิดมาเพื่อทำอะไรบางอย่าง – ทำงาน – แต่พอถึงจุดที่เรากลายเป็นเฟืองที่บุบสลาย ไม่ว่าเราจะเป็นเฟืองที่พิเศษแค่ไหน แต่ในที่สุด เราก็ถูกทดแทนได้เสมอ คนจำนวนมากที่ใช้งานนิยามตัวเองจึงมักประสบความว่างเปล่าเมื่อชีวิตดำเนินไปจนถึงวัยเกษียณ
‘งานไม่ใช่ตัวเรา และตัวตนของเราไม่ได้มีแค่เรื่องงาน’ หนึ่งในคำแนะนำของการใช้ชีวิตให้เป็นสุข… ฟังดูไลฟ์โค้ชนิดหน่อย และอีกด้านก็ฟังดูทำง่าย แต่จริงๆ แล้วแสนยาก เพราะบางทีเราก็ลืมไปว่า ‘ตัวตน’ (identity) เป็นสิ่งที่ซับซ้อนและมีหลายมิติ
นอกจากจากเราจะเป็นเพื่อนร่วมงาน เป็นมืออาชีพในด้านในด้านหนึ่งแล้ว เรายังมีตัวตนในแง่มุมอื่นๆ ด้วยเสมอ เราเป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว เป็นลูก เป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นสมาชิกของสมาคมใดสมาคมหนึ่ง เป็นเพื่อนเล่นกีฬา เป็นคนรักของใครสักคน เป็นคนที่เจ๋งในเรื่องอื่นๆ เป็นคนน่ารักที่หัวเราะเสียงดัง
เรามีแง่มุมที่ควรจะเห็นค่าและทำนุบำรุงไม่แพ้แง่มุมตัวตนของการมีและการเป็นมืออาชีพ
แค่รู้สึกว่าเวลามองย้อนมองดูตัวเองแล้วมีแต่เรื่องงาน งาน งาน เท่านี้ เราก็พอจะสัมผัสได้ว่า เราได้กลายเป็นคนที่แสนจะน่าเบื่อ หัวใจของเราได้กลายเป็นทะเลทรายอันแห้งแล้งไปแล้วเรียบร้อย
อ้างอิงข้อมูลจาก