ใครอยู่อเมริกา หรือเคยไปเที่ยวคงเห็นว่าสิ่งหนึ่งที่ฮิตมาก และต้องมีวางตามโต๊ะอาหารเหมือนร้านรวงบ้านเราต้องมีนางกวักยังไงยังงั้น นั่นก็คือ ‘ซอสศรีราชา’
เจ้าซอสนี่ป๊อบมากและหาซื้อได้ทั่วไปตามซูเปอร์มาร์เก็ต เชฟรายการอาหารฝรั่งบางรายการก็ใช้ซอสนี้เป็นเครื่องปรุงรส จนคนไทยในต่างแดนอยากจะอวดเพื่อนชาวต่างชาติว่า “นี่ๆ ซอสนี้ของบ้านเมืองชั้น” แต่ก็กล้าๆ กลัวๆ เพราะไม่แน่ใจว่าใช่อันเดียวกันกับของบ้านเราหรือเปล่านะ ไม่กล้าเคลม เพราะหน้าตาหีบห่อบรรจุภัณฑ์ก็ไม่เหมือนกัน แถมเคยได้ยินว่าฝรั่งซื้อไปหรือยังไงนี่แหละ คิดเองเออเองเอาว่าถ้ามาเบอร์นี้ก็ต้องอวดได้สิ กระทั่งอ่านเจอว่า “มันคนละอันกันเลยค่ะซิส” ก็เลยต้องไปกระทำความรีเสิร์ชข้อมูลใหม่ ว่าสรุปแล้ว ‘ซอสศรีราชา’ นั้นหนาเป็นของใครกันแน่
แล้วก็ได้พบว่าซอสพริกที่ฮิตกันในอเมริกาเป็นของคนเวียดนาม แต่มาใช้ชื่อตามชื่ออำเภอทางภาคตะวันออกของไทย แล้วบอกว่ามีจุดขายที่เผ็ดกว่า และเพิ่งเกิดขึ้นสัก 30 ปีมานี้เอง
ส่วนซอสพริกศรีราชาของไทยเกิดขึ้นเมื่อกว่า 80 ปีก่อน ซอสพริกศรีราชาพานิชผลิตขึ้นครั้งแรกที่ตรอกแหลมฟาน ในตัวอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
เริ่มจากเป็น ‘น้ำพริก’ ฝีมือของคุณแม่ถนอม จักกะพาก อันเป็นสูตรลับทำไว้กินกันเองในครอบครัว ซึ่งจริงๆ แล้วจุดเริ่มต้นของเจ้าซอสตัวนี้ทำขึ้นมาเพื่อเอาไว้กินกับอาหารทะเลโดยเฉพาะ (ใครไม่เคยอยากให้ลอง มันเข้ากันดี๊ดี)
จากไว้กินกันในครอบครัว พอนำไปให้เพื่อนบ้านได้ลองกินแล้วต่างก็ติดอกติดใจในรสชาติกันถ้วนหน้า จึงกลายมาเป็นซอสพริก ‘ศรีราชาพานิช’ ในเวลาต่อมา ถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเจ้าแรกที่ได้รับความนิยมทั้งในหมู่คนศรีราชาเองและนักท่องเที่ยว ขึ้นชื่อลือชาจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ยอดฮิตของอำเภอศรีราชา ต่อมาในปี 2527 บริษัท ไทยเทพรส จำกัด (มหาชน) ได้เข้าซื้อกิจการและจัดจำหน่ายจนเป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่ก็ยังคงความเป็นต้นตำรับดั้งเดิมที่สืบทอดกันมา และก็ยังคงใช้ชื่อ ‘ซอสพริกศรีราชาพานิช’ จนทุกวันนี้
เอาจริงๆ รสชาติแบบไหนจะถูกปากคนไทย มันก็ต้องสินค้าของไทยเราทำนี่แหละถึงจะแซ่บแบบเข้าใจกัน แอบไปถามคนศรีราชาท้องถิ่นดั้งเดิม เค้าบอกว่ารสชาติซอสพริกศรีราชาที่แท้จริง จะมาเผ็ดจี๊ดอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเผ็ด เปรี้ยว เค็ม หวาน กลมกล่อมครบรส
ซอสพริกศรีราชาพานิชจึงให้ความสำคัญกับส่วนประกอบ และคัดสรรวัตถุดิบมาเป็นอย่างดี กูร์เม่ต์มากขอบอก กรรมวิธีก็พิถีพิถันประหนึ่งนางในจากห้องเครื่องของซีรีส์เกาหลีมานั่งทำเอง พริกชี้ฟ้า ก็ต้องเป็นพันธุ์มันดำ สีแดง สด ผิวเกลี้ยง และมีขนาดเท่าๆ กัน หมักนานถึง 3 เดือนเพื่อให้ได้ที่ ก่อนจะนำมาปรุงรส เพื่อให้ได้รสชาติเข้มข้นและจัดจ้านยูนีคไม่เหมือนใคร กระเทียมไทยต้องผ่านการดองมาแล้ว 7 วัน น้ำตาลทรายขาว น้ำส้มสายชู และเกลือทะเล โนผงชูรส โนสี โนวัตถุกันเสีย และโนแป้ง แถมทั้งหมดผ่านกระบวนการผลิตอันพิถีพิถันที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น
สรุปว่าเคลียร์ทุกประเด็นเนอะ ก็คือซอสพริกศรีราชาของเรามาก่อนตัวที่ฮิตในอเมริกานั่นเองจ้า ที่สำคัญไม่ได้ขายสูตรหรือกิจการให้ฝรั่งด้วย
ยังมีอีกหลายเคสที่ชวนเหวอว่า เอ๊ะ เป็นของใครกันแน่ ทั้งข้าวหอมมะลิที่อเมริกานำไปปรับปรุงพันธุ์และยื่นจดทะเบียนการค้า โดยใช้ชื่อว่า ‘จัสมาติ’, เปล้าน้อยและกวาวเครือ สมุนไพรไทยที่ถูกบริษัทญี่ปุ่นนำไปจดสิทธิบัตร
ไปจนเคสบริษัท ตุ๊ก ตุ๊ก อินเตอร์เนชั่นแนล ขอยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า ‘ตุ๊ก ตุ๊ก’ ไว้ที่ British Virgin Island ในอเมริกา ปี 2543 และได้รับการจดเครื่องหมายการค้าในปีต่อมา
แบบนี้ไม่รู้ว่าแอบปลื้มหรือหัวการค้ากันแน่เนอะ ก็ฝากไว้ให้คิด
อ้างอิงข้อมูลจาก
thaitheparos.com/srirajapanich