ในโลกทุนนิยมที่อุดมไปด้วยการแข่งขัน คนที่จะสำเร็จสมหวังมีแค่หยิบมือ ถ้าอยากเป็นคนนั้นที่ประสบความสำเร็จ พึ่งแค่ความสามารถอย่างเดียวคงเอาไม่อยู่ หรือเข้าวงการมูจะเป็นคำตอบ?!
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมูเตลู หรือความเชื่อเรื่องดวงชะตา โหราศาสตร์ บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ก่อนประเทศไทยจะเป็นไทยเสียอีก แต่เมื่อแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์เข้ามา มุมมองการให้เหตุผลของคนก็เริ่มเปลี่ยนไป คนเชื่อในสิ่งที่พิสูจน์ได้ทางรูปธรรมมากขึ้น เชื่อในความเป็นเหตุเป็นผลของมนุษย์ หรือมนุษย์นิยมมากขึ้น นั่นทำให้การมูเตลูเปลี่ยนรูปแบบความสำคัญไปเป็นทางความเชื่อและจิตวิญญาณแทน
แต่เมื่อโลกเผชิญหน้ากับปัญหาเศรษฐกิจภายใต้แนวคิดทุนนิยม การมูเตลูก็ดูเหมือนว่าจะกลับมามีบทบาทในฐานะเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนมากขึ้น ซึ่งในแวดวงวิชาการมีการชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมแบบนี้อยู่ เช่นการใช้หลักฮวงจุ้ยเข้ามาร่วมออกแบบพื้นที่ในบ้าน ในช่วงหลังของวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 หรือ การทำการตลาดสายมูเตลู (มูเก็ตติ้ง) ที่ขยายตัวอย่างมากในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ถ้ามองว่าทุกครั้งที่มีปัญหาเศรษฐกิจ การมูเตลูจะกลับมาได้รับความนิยม แล้วแบบนี้เราสามารถมองว่า ทุนนิยมทำให้คนศรัทธาในตัวเองน้อยลง แล้วศรัทธาในการมูเตลูมากขึ้น ได้หรือเปล่านะ?
คนไทยมูกันขนาดนั้นเลยเหรอ?
การที่หลาย ๆ บ้านมีหิ้งพระ ศาลพระภูมิ บางบ้านก็มีหิ้งบูชาองค์เทพทั้งจีนทั้งอินเดีย บางบ้านมีวัตถุมงคล กุมารทอง และการมีคอลัมน์ดูดวงโดยเฉพาะในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร รายการโทรทัศน์ ไปจนถึงการมีเนื้อหามูเตลูอยู่บนโซเชียลมีเดีย หลักฐานเหล่านี้นอกจากแสดงให้เห็นว่าการมูเตลูจะอยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนานแล้ว ยังแสดงให้เห็นว่าการมูเตลูมีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยด้วย
จากการรวบรวมสถิติจากความเคลื่อนไหวต่างๆ ในโลกโซเชียล (social listening) ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 16 ก.ย. 2567 โดยแสนรู้ (Zanroo) ผู้เชี่ยวชาญด้านโซเชียลพบว่าคนไทยให้ความสนใจกับเนื้อหามูเตลูกว่า 3,917 ล้านเอ็นเกจเมนต์ โดย 4.85% มองว่าการมูเตลูมีส่วนช่วยให้ประสบความสำเร็จ ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น หรือเป็นแรงจูงใจในการใช้ชีวิตในขณะที่เอ็นเกจเมนต์เชิงลบต่อการมูเตลู มีเพียง 0.12% เท่านั้น
สถิติยังแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างในพฤติกรรมการมูเตลูของคนแต่ละ Gen ด้วย โดยกลุ่มที่สนใจการมูเตลูมากที่สุดคือ Gen Z ซึ่งมีความสนใจมากถึง 50% โดยกลุ่มนี้มักจะมูผ่านสิ่งที่ใช้ในชีวิตประจำวันเช่น แต่งหน้าแต่งตัวตามสีมงคล ตั้งวอลเปเปอร์มงคล และนับถือเทพเจ้าองค์ต่างๆ โดยมักจะขอพรให้สมหวังในความรัก
รองมาเป็นกลุ่ม Gen Y คิดเป็น 26% ส่วนมาก คนกลุ่มนี้จะมูแบบซื้อเครื่องรางหรือวัตถุมงคล หรือไม่ก็ไปกราบไหว้ขอพรตามวัด ศาลเจ้า หรือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของแต่ละคน โดยคน GenY มักจะขอเรื่องการงาน การเงิน ชีวิตครอบครัวและสังคมรอบตัว
สุดท้ายคือกลุ่ม Gen X คิดเป็น 12% มักมีความสนใจการมู โดยเฉพาะเรื่องทำเลที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นฮวงจุ้ย ฤกษ์งามยามดี และยังมูเพื่อโชคลาภ ขอให้ถูกหวย ร่ำรวยเงินทอง และขอให้มีสุขภาพแข็งแรง
จากข้อมูลเหล่านี้จะเห็นได้ว่าคนไทยมูเพื่อขอพรในหลายเรื่อง ทั้งโชคลาภเงินทอง ความก้าวหน้ามั่นคงทางการงาน ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และความสำเร็จสมหวังในหลายเรื่อง แล้วแบบนี้ถ้าหากไม่มู เราจะสำเร็จสมหวังเหมือนที่ตั้งใจไหมนะ? แน่นอนว่า เรื่องนี้คงให้คำตอบที่ชัดเจนไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือ ในโลกทุนนิยม แม้เราจะพยายามมากมายขนาดไหน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับผลตอบแทนตามที่หวังไว้เสมอไป
ทุนนิยมทำให้คนไม่เชื่อมั่นในตัวเอง?
ในปัจจุบัน โลกภายใต้ระบบทุนนิยมทำให้คนต้องแข่งขันทั้งกับคนอื่น และกับตัวเอง บย็อง-ช็อล ฮัน (Byung-Chul Han) นักปรัชญาสมัยใหม่ เคยพูดถึง ‘กระบวนการแสวงหาความสำเร็จ’ ในหนังสือ The Burnout Society ว่า การทำงานในระบบทุนนิยม กระตุ้นให้คนทำงานผ่านกระบวนการแสวงหาความสำเร็จที่สนับสนุนแนวคิด ‘ไม่มีอะไรที่คนทำไม่ได้ ถ้าเราพยายาม’ การลงมือทำจนกว่าจะสำเร็จเลยกลายเป็นค่านิยมหลักในการทำงาน และความสำเร็จก็กลายเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็แสวงหา
ดังนั้นเมื่อระบบทุนนิยมมีบทบาทมากขึ้น คนก็เลยต้องกระเสือกกระสน พยายามกันมากขึ้นกว่าเดิมเพื่อให้ประสบความสำเร็จ มีเงินพอเลี้ยงปากท้องในวันที่ค่าครองชีพเพิ่มเอาเพิ่มเอา หรือเติบโตทางหน้าที่การงานเหมือนคนอื่น แล้วยิ่งมีแนวคิดกระบวนการแสวงหาความสำเร็จเข้ามาอีก คนก็ยิ่งติดอยู่ในบ่วงของทุนนิยม เพราะมองว่าหลายครั้งที่เกิดปัญหามันมาจากความพยายามของพวกเขาที่ไม่มากพอ ต้องพยายามให้มากขึ้น จนกว่าจะประสบความสำเร็จ แล้วยิ่งช่วงนี้ที่เศรษฐกิจไม่ค่อยโต งานก็หายากขึ้น ภาษีบางอย่างเพิ่มขึ้น ของแพงขึ้น แต่เงินเดือนไม่เพิ่มขึ้นด้วย โอกาสที่จะก้าวหน้าทางการงาน หรือเปลี่ยนงานใหม่เพื่อจะได้รับเงินเดือนที่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างไม่ยากลำบาก กลายเป็นความเสี่ยงที่ยากจะแบกรับสำหรับหลายๆ คน เพราะตำแหน่งงานที่เปิดมีน้อย ขัดกับจำนวนคู่แข่งที่สูง ความสามารถที่คอยฝึกปรือ หรือประสบการณ์ที่คอยสั่งสมมานานหลายปีก็อาจจะไม่เพียงพอ เรียกว่ามีโอกาสไม่สมหวังสูง ยิ่งถ้าเป็นเด็กจบใหม่ จากไฟแรงพร้อมทำงาน พอหางานไปนานๆ แล้วยังไม่ได้ก็กลายเป็นไฟมอดดับหมดกำลังใจไปเลยก็มี
เมื่อเป็นอย่างนี้ หลายคนก็จะเริ่มรู้สึกว่าพยายามมากแค่ไหนก็ยังไม่สำเร็จ เริ่มเหนื่อยล้า และเริ่มสงสัยในความสามารถของตัวเอง แต่ก็ไม่สามารถยอมแพ้ หรือล้มเลิกความพยายามของตัวเองได้ การมูเตลูด้วยสารพัดวิธี จึงเข้ามาเป็นตัวเลือกในการแก้ปัญหาทางใจแทน อย่างน้อยใส่เสื้อสีมงคลเรื่องการงานแล้ว วันนี้ลูกค้าคงไม่วีน ไม่เร่ง ไม่ตัดงบหรอก เมื่อวานไปไหว้องค์พ่อมาแล้ว ช่วยดลบันดาลให้ลูกได้งานนี้ด้วยเถิด งานนี้ไพ่ออกว่าเหนื่อยหน่อยแต่ผลลัพธ์จะดี แบบนี้เราก็มาสู้กันอีกสักตั้งเถอะ!
นอกจากเรื่องการงานแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่คนนิยมไปมูเตลูกันมากๆ ก็คือเรื่องความรัก มีงานวิชาการหลายชิ้นที่ตั้งข้อสังเกตว่าในสังคม โดยเฉพาะสังคมเมือง ที่ทุนนิยมเติบโต วิถีชีวิตของคนมีความเร่งรีบและวุ่นวายมากขึ้น รวมไปถึงสถานะทางการเงินที่ไม่แน่นอน ทำให้คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับการทำงานมากกว่าการมีเวลาส่วนตัว คนเลยเป็นโสดกันมากขึ้น ซึ่งก็สอดคล้องกับรายงานสภาวะสังคมของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ชี้ให้เห็นว่า คนโสดในช่วงวัยเจริญพันธุ์ มีมากถึง 40.5% เลยทีเดียว แต่ใช่ว่าคนโสดทุกคนจะไม่อยากมีแฟน แค่โอกาสที่จะได้เจอคนตรงใจมีไม่มาก จนหลายคนเลือกไปมูเตลูเพื่อขอแฟนกันอย่างจริงจัง ถึงขนาดทำสไลด์ไปเสนอพระแม่ลักษมี บางคนบินไปขอแฟนถึงต่างประเทศเลยก็มี
สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเรื่องการงานหรือความรัก การแข่งขันในโลกทุนนิยมก็ทำให้คนรู้สึกขาดความมั่นคง และสงสัยในศักยภาพของตัวเองได้ เพราะในอัตราการแข่งขันที่สูง พวกเขาไม่เชื่อว่าเพียงแค่ความสามารถของตัวเองจะทำให้ตัวเองสมหวัง การมูเตลูจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในฐานะเครื่องช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจให้หลายคนยังคงสามารถเดินทางตามเป้าหมายต่อไปได้
แล้วการมูเตลูช่วยเราได้จริงหรือเปล่า?
ถ้าพูดในมุมจิตวิทยา สภาวะที่คนเริ่มสงสัยในความสามารถ หรือความพยายามของตัวเอง จากอัตราการแข่งขันในระบบทุนนิยมที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเรื่องการงาน หรือความรัก การมูเตลูก็มีส่วนช่วยให้คนสามารถรักษาความมั่นใจในตัวเองเอาไว้ได้ ผ่านความลำเอียงเข้าข้างตน (self-serving bias)
ชาญ รัตนะพิสิฐ อาจารย์สาขาวิชาจิตวิทยา คณะมนุษย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เคยกล่าวไว้ใน การเสวนาทางจิตวิทยา (PSY Talk) เรื่อง จิตวิทยา กับ มูเตลู: จะ พ.ศ.ไหน ทำไมคนไทยก็ยังมูเตลู ว่า เมื่อคนพยายามแล้วไม่ประสบความสําเร็จ หรือทำพลาด แล้วต้องการหาที่ลงเพื่อรักษาความมั่นใจหรือปลอบใจตัวเอง การกล่าวโทษ ดวงชะตา หรือเรื่องมูเตลูอื่นๆ อาจทำให้พวกเขาสะดวกใจมากกว่า เช่นการที่ทำผลงานในCVไว้ดีมาก แต่บริษัทก็ยังไม่จ้างงาน หรือการที่ชีวิตเพรียบพร้อมทุกอย่าง แต่ไม่มีคนเข้ามาจีบสักที บางทีโทษบุญโทษกรรม โทษดวงชะตา อาจทำให้สบายใจมากกว่ามาโทษตัวเอง ซึ่งการคิดแบบนี้ ก็คือความลำเอียงเข้าข้างตน (self-serving bias) นั่นเอง
นรุตม์ พรประสิทธิ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาวิชาจิตวิทยาชุมชน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังกล่าวเสริมเรื่องความลำเอียงเข้าข้างตนด้วยว่า คนเราจะจดจำคำทำนายของหมอดู แล้วพยายามเชื่อมโยงกับสิ่งที่พวกเขารับรู้อยู่ก่อนแล้ว เลยคิดว่าหมอดูดูแม่น หรือถ้าหมอดูทำนายดวงชะตาไปในแง่บวก ก็ทำให้คนที่ได้ฟังรู้สึกมีกำลังใจ แล้วมีพฤติกรรมส่งเสริมให้เกิดผลลัพธ์ในแง่บวกนั้นขึ้นมาจริงๆ ดังนั้นถ้าผลการมูเตลูออกมาในแง่บวก คนก็สามารถคิดลำเอียงเข้าข้างตัวเอง เพื่อรักษาความมั่นใจ หรือเสริมสร้างกำลังใจให้พยายามต่อไปจนประสบความสําเร็จขึ้นมาจริงๆ ก็ได้
จริงอยู่ที่ทุนนิยมทำให้คนศรัทธาในตัวเองน้อยลง เพราะในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วภายใต้แนวคิดทุนนิยม ความก้าวหน้ามั่นคงเป็นสิ่งที่หลายคนโหยหา ความเหงาเปล่าเปลี่ยวเป็นสิ่งที่หลายคนผลักไส และความสำเร็จสมหวังเป็นสิ่งที่หลายคนไขว่คว้า จนสร้างความสงสัยว่า บางทีแค่ความสามารถอาจจะยังไม่พอหรือเปล่า
หลายคนเลยเลือกไปมูเตลู เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจ ช่วยประคับประคองสภาพจิตใจของพวกเขา ไม่ให้แตกสลายจนเกินไป ช่วยเติมกำลังใจให้มีแรงฮึดสู้ขึ้นมาพยายามอีกสักตั้ง และกลับมาศรัทธาในตัวเองมากขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
สุดท้ายแล้วการมูเตลูเพื่อเสริมสร้างกำลังใจก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ถ้าวันไหนที่ประสบความสำเร็จหรือพอใจในย่างก้าวของตัวเองแล้ว อย่าลืมให้เครดิตความพยายามของตัวเองด้วยนะ เราเองก็เก่งมากที่ฝ่าฟันมาจนถึงวันนี้ได้ สุดยอดไปเลย
อ้างอิงจาก