แผ่นดินไหวในวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา อาคารสูงจำนวนมากในกรุงเทพฯ ล้วนสัมผัสได้ถึงแรงสั่นสะเทือน ทว่ามีอาคาร สูง 30 ชั้นที่กำลังก่อสร้างของ สตง.ด้วยงบประมาณภาครัฐ 2,136 ล้านบาท บนถนนกำแพงเพชร 2 เพียงแห่งเดียวที่พังถล่มลงมา
เหตุการณ์นี้ส่งผลให้มีผู้สูญหายภายใต้ซากอาคารเป็นจำนวนมาก ข้อมูลล่าสุด (20 เมษายน) เวลา 18.00 น. มีผู้ประสบภัย 103 คน เสียชีวิต 51 คน บาดเจ็บ 9 คน ติดค้าง 43 คน
เหตุการณ์อันเลวร้ายดังกล่าวร่วงเลยมาเป็นเวลากว่า 3 สัปดาห์แล้ว ซึ่งตลอดที่ผ่านมาเกิดการตั้งคำถาม และเปิดโปงสิ่งที่ถูกซุกอยู่ใต้การก่อสร้างอาคารแห่งนี้เป็นระยะ The MATTER จึงรวบรวมสิ่งผิดปกติ ที่เกิดขึ้นหลังจากตึก สตง.แห่งนี้ถล่มลงมา
บีบีซีไทยรายงานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่ระบุว่า บริษัทนี้จดทะเบียนวันที่ 10 สิงหาคม 2018 ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย 51% ได้แก่ โสภณ มีชัย, ประจวบ ศิริเขตร และ มานัส ศรีอนันท์ ซึ่งโสภณ และ ประจวบ มีรายรับประมาณ 10,000 บาทต่อเดือน ขณะที่มานัสทำงานรับจ้างส่งของ-ยกของ มีรายได้รายวัน โดยทั้ง 3 คน ถูกตั้งข้อสงสัยว่าอาจเป็น ‘นอมินี’ ให้กับบริษัทต่างชาติ เพราะสถานะทางการเงินไม่สอดคล้องกับตำแหน่งที่ดำรงอยู่
สืบเนื่องจากวันที่ 15 เมษายน ที่ผ่านมา สมเกียรติ ชูแสงสุข ประธานอนุกรรมการคลินิกช่างฯ เดินทางเข้าพบคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อให้ข้อมูลกรณีถูกแอบอ้างชื่อและปลอมแปลงลายเซ็นเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างตึก สตง. ที่พังถล่ม
หลังจากนั้น พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า พบรายชื่อบุคคลที่เซ็นชื่อออกแบบก่อสร้างอาคาร สตง.แห่งนี้ คือ วิศวกร บริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด ที่รับผิดชอบงานออกแบบอาคาร สตง.ที่มีอายุถึง 85 ปี อย่างไรก็ตาม เขาระบุว่า ไม่ทราบเรื่องดังกล่าว
วันที่ 31 มีนาคม สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย หรือ ไอทีเอสไอ (ITSI) แถลงผลตรวจสอบเหล็กตัวอย่างที่เก็บจากซากอาคาร สตง.ถล่ม ว่า “เหล็กที่ใช้ก่อสร้างอาคารนั้น มีบางส่วนไม่ได้มาตรฐาน”
ต่อมาวันที่ 10 เมษายน กระทรวงอุตสาหกรรม ยืนยันว่าจากการเก็บตัวอย่างเหล็กจากสถานที่เกิดเหตุ มีเพียงเหล็กของบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล ที่ตกมาตรฐาน
ทว่า บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล ชี้แจงว่า บริษัทไม่ได้เป็นผู้จำหน่ายเหล็กให้กับโครงการก่อสร้างอาคาร สตง.โดยตรง สถานะปัจจุบันของบริษัทคือ ถูกสั่งพักใบอนุญาตฯ ตามมาตรา 40
สตง.ออกมาแถลงการณ์เกี่ยวกับตึกถล่มเป็นครั้งแรก (30 มีนาคม) โดยกล่าวว่า ทุกกระบวนการดำเนินการเป็นไปด้วยความสุจริต โปร่งใส มีประสิทธิภาพ และตรวจสอบได้ โดยมีการเปิดเผยข้อมูลทุกขั้นตอน จัดทำตามระยะเวลาที่เหมาะสม ทั้งหมดเป็นไปตามที่ผู้ออกแบบได้กำหนด และ ‘ไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด’
จากนั้น 10 เมษายน สุทธิพงษ์ รองผู้ว่า สตง.ชี้แจงกับ กมธ.ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณฯ ว่า “มีการปรับแก้แบบจุดแกนกลางของลิฟต์” เนื่องจากบริเวณนั้นมีทั้งทางเดินหลักและทางเดินรอง จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแบบให้ถูกต้องตามกฎหมายการก่อสร้าง
ดังนั้นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนแบบก่อสร้างของ สตง.ในวันที่ 30 มีนาคม และ 10 เมษายน นั้นไม่สอดคล้องกัน
โดยตลอดที่ผ่านมา นักวิชาการหลายคนคาดเดาว่า ‘ปล่องลิฟต์’ อาจเป็นต้นตอของการถล่มของอาคาร อาทิ ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ที่มองว่า ปล่องลิฟต์อาจเป็นจุดตั้งต้นสาเหตุตึก สตง.ถล่ม เพราะปล่องลิฟต์ด้านหลังอาคารถล่มลงมาก่อน จากนั้นโครงสร้างทั้งหมดยุบตัวลงมา ซึ่ง สตง.มีการแถลงเรื่องความหนาของปล่องลิฟต์ ที่มีการขอแก้ไขจาก 30 ซม. เป็น 25 ซม. เท่ากับว่าลดลงถึง 5 ซม. ทั้งนี้ ยังไม่มีการยืนยันว่าการแก้ไขดังกล่าวนำไปสู่สาเหตุของตึกถล่ม
เมื่อวันที่ 13 เมษายน สมเกียรติ ชูแสงสุข ประธานอนุกรรมการคลินิกช่าง ภายใต้สภาวิศวกร และวุฒิสมาชิก สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สน.วังทองหลาง ลงบันทึกประจำวัน หลังพบว่าถูกแอบอ้างชื่อเป็นผู้ควบคุมงานและถูกปลอมลายเซ็น
ชมรม STRONG ต้านทุจริตแห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยราคาเฟอร์นิเจอร์และสิ่งของตกแต่งภายในตึก สตง.แห่งใหม่ ที่หลายรายการถูกมองว่า แพงและหรูหราจนเกินไป ซึ่งมีราคารวมกันกว่า 139 ล้านบาท เช่น ฝักบัวอาบน้ำ ชุดละ 11,214 บาท จัดซื้อทั้งหมด 44 ชุด รวมมูลค่ากว่า 493,416 บาท หรือ งบสำหรับสุขภัณฑ์ของผู้บริหารตึก สตง.ที่ใช้งบประมาณกว่า 4.1 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี สุทธิพงษ์ รองผู้ว่า สตง.ชี้แจงกับ กมธ.ว่า “ถ้าวันนี้มันแพง ครั้งหน้าเราจะทำไม่ให้แพง จริงๆ ครับ ขอรับรองเลย”
สิ่งผิดปกติข้างต้นที่เราได้หยิบยกมา ต่างยังไม่ได้คำตอบที่แน่ชัด อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 19 เมษายน ที่ผ่านมา องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกเรื่อง ‘ขอให้เร่งรัดและชี้แจงความคืบหน้ากรณีอาคาร สตง.ถล่ม’ โดยเสนอ 5 ข้อเรียกร้องแก่รัฐบาล พร้อมย้ำให้ออกมาชี้แจงต่อประชาชนภายใน 28 เมษายน หรือ 1 เดือนนับจากเกิดเหตุ
- การออกแบบถูกต้องตามมาตรฐานหรือไม่ และใครเป็นคนรับผิดชอบ
- การควบคุมงาน ใครเป็นวิศวกรและสถาปนิกผู้ควบคุมงานที่แท้จริง และมีการตรวจสอบวัสดุที่ใช้เป็นประจำหรือไม่ (ในสัญญาควบคุมงานระบุว่า ต้องตรวจสอบวัสดุกี่ครั้ง/อย่างไร และได้มีการทำตามขั้นตอนหรือไม่/ อย่างไร) ต้องหาคนรับผิดชอบมาลงโทษตามกฎหมาย
- ผู้รับเหมาได้ทำงานผิดพลาดในการก่อสร้าง หรือไม่/อย่างไร ทั้งวิธีการทำงานและวัสดุที่ใช้ และบทลงโทษคืออะไร
- การที่อาคารถล่มเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันหรือไม่/อย่างไร ใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังที่ต้องนำตัวมาลงโทษ
- การปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ไม่ให้เกิดการคอร์รัปชัน ใครเป็นคนรับผิดชอบ เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียเช่นนี้อีกในอนาคต
“องค์กรฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า นายกรัฐมนตรีจะเร่งรัดให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างโปร่งใส ดำเนินการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม และให้ได้คำตอบที่ชัดเจน…เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน และเสริมสร้างหลักธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้น ในภาคราชการ อันจะนำมาซึ่งความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล ในการบริหารงานของประเทศต่อไป” มานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรฯ กล่าว