ปัญหาปากท้องไม่ใช่เรื่องโรแมนติก แต่บางครั้งกลับถูกบิดเบือนจนดูเหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่ หรือไม่ได้มองว่ามันเป็นปัญหาเลยด้วยซ้ำ
ตั้งแต่ชีวิตชนบทอันแสนเรียบง่าย ลุยฝนวันน้ำท่วมยังไงก็ไม่เป็นปัญหา หรือมีแค่ข้าวคลุกน้ำปลาทุกวันก็กลายเป็น ‘มื้อที่สุขที่สุด’ ได้ เพราะมองว่าความลำบากทำให้เราเห็นคุณค่าของสิ่งเล็กๆ รอบกาย ขณะที่ความเป็นจริงของชีวิตเกษตรกรนั้นไม่ง่าย น้ำท่วมคือภัยพิบัติและความเสียหาย ส่วนข้าวคลุกน้ำปลาคือสารอาหารที่ไม่เพียงพอต่อร่างกาย
ถึงแม้การมองโลกในแง่ดีจะช่วยให้เรามีเรี่ยวแรงลุกขึ้นมารับมือสถานการณ์ตรงหน้า แต่หากมองทุกอย่างสวยงามจนบิดเบือนความเป็นจริงไป นั่นคงไม่ใช่การมองโลกในแง่บวก แต่เป็น ‘การโรแมนติไซส์ปัญหา’ มากกว่า ซึ่งนอกจากจะไม่ได้ช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้นแล้ว มันยังเป็นเหมือนการเติมเชื้อเพลิงให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมเพิ่มมากขึ้นทุกวันอีกด้วย
ความลำบาก ไม่ใช่ความเรียบง่าย
ลองนึกภาพว่าคนคนหนึ่งออกไปทำงาน และได้รับเงินมาด้วยค่าแรงขั้นต่ำวันละไม่ถึง 400 บาท ค่าข้าวอย่างต่ำก็ 50 บาทต่อมื้อ ยังไม่นับรวมค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าที่อยู่อาศัย และปัจจัยอื่นๆ ที่จำเป็นต่อชีวิต ยิ่งบางคนมีหนี้สิน มีครอบครัวที่ต้องดูแลด้วยแล้ว นี่คงไม่ใช่เรื่องแสนละมุนใจสักเท่าไร หรือภาพการกินข้าวคลุกน้ำปลาพร้อมใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มที่เราเห็น อาจเป็นรอยยิ้มเพียงเสี้ยววินาที ซึ่งบางครั้งก็ไม่อาจลบล้างความเหน็ดเหนื่อยแสนสาหัสตลอดทั้งวันไปได้เลย แถมร่างกายที่ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน วันหนึ่งอาจตามมาด้วยปัญหาสุขภาพที่ไม่รู้ว่าจะนำเงินจากไหนไปรักษา เพราะหากป่วยก็เท่ากับขาดรายได้
ความลำบากยากเข็ญที่หลายคนเผชิญอยู่
จึงต่างไปจาก ‘ชีวิตอันเรียบง่าย’ อย่างสิ้นเชิง
เพราะความเรียบง่าย คือการละทิ้งสิ่งที่ ‘ไม่ได้จำเป็น’ กับชีวิต ทว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยตอนนี้ คือใครหลายคนไม่มีหรือแทบจะไม่มีปัจจัยพื้นฐานที่ ‘จำเป็น’ กับชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสารอาหารที่ครบถ้วน บ้านที่ปลอดภัย การศึกษาที่มีคุณภาพ ไปจนถึงรายได้ที่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐาน และที่น่าเศร้าคือวิถีชีวิตรูปแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยความสมัครใจ หากเกิดจากการจำใจและอดทน เพราะไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรที่มากกว่านี้ได้
รากของปัญหาไม่ได้มาจากตัวบุคคล
เลนส์ของการโรแมนติไซส์ความจนในสังคมไทย อาจเกิดจากหลากหลายปัจจัยที่หล่อหลอมมา ไม่ว่าจะเป็นสื่อ การศึกษา และการเติบโตมาท่ามกลางความเหลื่อมล้ำ จนบางคนคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตรงหน้านั้นเป็นเรื่องธรรมดา คนสู้ชีวิตก็ยังต้องสู้ชีวิตต่อไป คนที่คาบช้อนเงินช้อนทองมาตั้งแต่เกิดก็นับว่าโชคดีไป อีกทั้งยังมองว่าหนทางเดียวที่จะทำให้สังคมดีขึ้นได้ คือการช่วยเหลือและการบริจาคเท่านั้น เราไม่ปฏิเสธว่าการบริจาคเป็นเรื่องดี แต่ก็ไม่ควรถูกมองเป็น ‘ทางออกเดียว’ ของปัญหา แล้วละเลยต้นตอที่แท้จริงอย่างการเมืองและปัญหาเชิงโครงสร้าง
เรื่องนี้ยืนยันได้จากข้อมูลของ KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทรที่พบว่า สาเหตุสำคัญของความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยมาจากปัจจัยภายนอก ปัจจัยในเชิงนโยบาย และโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เช่น ราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำ โอกาสการเข้าถึงการศึกษาคุณภาพดีที่แตกต่างกัน ค่าแรงที่ขยับไม่ทันสภาพเศรษฐกิจ การขาดรัฐสวัสดิการที่ครอบคลุมและเพียงพอ รวมทั้งการก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ ในรายงานเดียวกันนี้ยังวิเคราะห์อีกว่า
“การเมือง คือหนึ่งในรากลึกของปัญหาความเหลื่อมล้ำไทย”
ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพสื่อ ปัญหาการคอร์รัปชั่นและการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างโปร่งใส รวมทั้งการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาในไทยที่ไม่ได้มาตรฐาน จนบั่นทอนแรงจูงใจเพื่อพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ไปจนถึงปัญหาการผูกขาดของธุรกิจบางกลุ่ม
สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ภาพความลำบากที่เกิดขึ้นนั้นเป็นปัญหาเชิงระบบที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน แต่การโรแมนติไซส์กลับทำให้ต้นตอที่แท้จริงเป็นเพียงภาพเลือนราง และเป็นปัญหาที่ถูกซุกไว้ใต้พรมไปเรื่อยๆ
‘โรแมนติไซส์’ มุมมองที่ไร้หวัง
ความเข้าใจผิดในหลายๆ ครั้ง คือมุมมองที่ว่า ‘การโรแมนติไซส์’ กับ ‘การมีความหวัง’ เป็นเรื่องเดียวกัน ทั้งที่ 2 เรื่องนี้แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว เพราะการโรแมนติไซส์ คือการละเลยปัญหาเชิงโครงสร้าง แล้วบิดเบือนไปว่าสิ่งที่ต้องแก้คือทัศนคติ มุมมอง และความพยายามส่วนบุคคล เช่น คนที่พยายามปากกัดตีนถีบไปเรื่อยๆ เมื่อไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้สักทีก็มักถูกกล่าวโทษว่า พยายามไม่มากพอ หรือไม่รู้จักมีความสุขกับสิ่งที่มีอยู่ แทนการหันกลับมาตั้งคำถามต่อระบบและโครงสร้างทางสังคม เหมือนกับการปลูกเมล็ดพันธุ์ลงบนดินแล้วชี้นิ้วกล่าวโทษเมล็ดพันธุ์เหล่านั้น พร้อมปิดตาข้างหนึ่งอย่างไม่สนใจว่า ดินตรงนั้นแห้งแล้ง หรือแสงแดดส่องไม่ถึงหรือเปล่า
ฉะนั้น การโรแมนติไซส์ความยากจนจึงเป็นมุมมองที่ ‘สิ้นหวัง’ และเป็นประโยชน์ต่อความเหลื่อมล้ำมากกว่าจะเติมความหวังให้กับชีวิต เพราะคิดว่า ‘เราทำอะไรไม่ได้’ มากกว่าจะยอมรับความจริงแล้วเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหา จนเกิดเป็นวังวนความเหลื่อมล้ำที่หนักข้อขึ้นทุกวัน ซึ่งแน่นอนว่าคนที่ต้องแบกรับสิ่งเหล่านี้คือ ‘คนส่วนใหญ่ในประเทศ’
ทั้งนี้ธนาคารระดับโลกอย่าง Credit Suisse ได้ประเมินว่า สินทรัพย์ในประเทศไทยเราเกือบ 80% ถูกถือครองโดยคน 10% ของประเทศ และในช่วงปี 2008-2018 คนที่รวยที่สุด 1% ของประเทศนั้นมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเรียกง่ายๆ ว่าคนรวยยิ่งรวยล้นฟ้าขึ้นไปใหญ่ ขณะที่คนอีกชนชั้นหนึ่ง แม้จะกัดฟันสู้แค่ไหนก็ยังได้แต่วิ่งวนอยู่ตรงที่เดิม
แม้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยนี้ จะไม่ใช่เรื่องที่แก้ได้ง่ายและจำเป็นต้องใช้เวลาอีกยาวนาน แต่อย่างน้อยก็อย่าได้เติมเชื้อไฟให้กับมัน ด้วยการมองความยากจนเป็นเรื่องโรแมนติก แต่โปรดหันกลับมามองตามความเป็นจริงว่า ความเหลื่อมล้ำคือปัญหา เพราะเมื่อสิ่งนั้นเป็นปัญหาก็หมายความว่า เรายังพอจะหาทางออกและทางเลือกที่ดีกว่าให้กับผู้คนได้
และมุมมองนี้อาจจุดประกายความหวังให้กับผู้คนได้มากกว่า
อ้างอิงจาก