ผ่านพ้นไปสด ๆ ร้อน ๆ กับการประกวด Miss Universe Thailand 2020 หนึ่งในเรื่องที่ร้อนแรงที่สุดในวงสนทนาคงหนีไม่พ้นประเด็นการตอบคำถามของผู้เข้าประกวด บทความนี้จะพุ่งเป้าไปที่คำถามของคุณพรฟ้า ปุณิกา กลสุนทรรัตน์ ที่ได้รับคำถามว่า “จากการที่ประชาคมโลกให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาอย่างสมดุลและยั่งยืนในการขจัดความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำนั้น พรฟ้าคิดว่า สาเหตุหลักของความยากจนในสังคมไทยคืออะไร และจะแก้ไขปัญหานี้ยังไง”
คำตอบของคุณพรฟ้าคือ
“ปัญหาความยากจนของทุกวันนี้ คือ โครงสร้างทางสังคม เพราะโครงสร้างที่ไม่ดี ทำให้เราเกิดความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจน ว่าคนรวยและคนจนแบ่งแยกกันชัดเจนมาก สิ่งที่จะแก้ไขปัญหาได้ เราไม่สามารถแก้ไขโครงสร้างได้ทั้งหมด ณ ตอนนี้
“แต่เราสามารถแก้ไขที่ตัวเราเองได้ โดยที่ไม่ยอมแพ้กับความจน และเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองในการทำมาสัมมาอาชีพของตนเอง”
ต้องบอกก่อนว่า วัตถุประสงค์ของบทความนี้ไม่ได้ต้องการ ‘ตัดสิน’ คำตอบหรือความคิดของคุณพรฟ้า แต่ที่ต้องหยิบยกขึ้นมาพูด เพราะมันสะท้อนอะไรหลาย ๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกับนักเศรษฐศาสตร์ สื่อ และความเข้าใจเรื่องของความยากจนและความเหลื่อมล้ำ
เมื่อมาพิจารณาคำตอบของคุณพรฟ้าโดยละเอียด เราจะพบว่า ครึ่งแรกของคำตอบนั้น แจ่มมาก สะท้อนความเข้าใจในปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำเป็นอย่างดี ถ้าเราใช้แว่นตาทางเศรษฐศาสตร์เข้ามามองปัญหา ความเหลื่อมล้ำเกิดมาจากการที่มี ‘คนกลุ่มหนึ่ง’ ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง วิ่งตามไม่ทันขบวนรถไฟของการพัฒนาเศรษฐกิจ ในช่วงแรก ๆ ของการพัฒนาเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำเกิดจากการคนย้ายออกจากภาคเกษตรกรรมสู่อุตสาหกรรม ในปัจจุบันที่ระบบเศรษฐกิจเน้นไปที่ภาคบริการมากขึ้น (เช่น โรงแรม ร้านอาหาร การเงินการธนาคาร) ประชากรที่เป็นกลุ่ม high skilled เก่งเทคโนโลยี มีการศึกษาสูง ก็เข้าสู่ตลาดแรงงานโดยง่าย เป็นที่ต้องการ ได้รับเงินเดือนสูง เหลือทิ้งไว้แต่คนที่เก่งไม่ทัน โตไม่ทัน การพัฒนา แต่นี่ก็เป็นแค่ด้านเดียวเท่านั้น เพราะ (อย่างที่คุณพรฟ้าอธิบาย) ปัญหาความเหลื่อมล้ำผูกติดอยู่กับโครงสร้างทางสังคม เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ที่ไร้คุณภาพ การกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นที่แลกมาด้วยคอร์รัปชัน ความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับกลุ่มทุนและบริษัทยักษ์ใหญ่ สะท้อนออกมาผ่านพวกพ้องนิยม (cronyism) และเครือญาตินิยม (nepotism) ที่เด่นชัดในปัจจุบัน
สังคมที่ประสบความสำเร็จในการลดความเหลื่อมล้ำ จะต้องเป็นสังคมที่ ‘อนุญาต’ ให้เกิดการไต่บันไดสังคม (social ladder) อย่างอิสระเสรี โอกาสของคนจนและคนชายขอบจะต้องไม่ถูกบดขยี้และกดทับด้วยโครงสร้างทางสังคมที่เอื้อประโยชน์แค่คนเฉพาะกลุ่มที่รวยกว่า เก่งกว่า รู้จักลูกท่านหลานเธอ
ผมไม่แน่ใจเหมือนกัน ว่าทำไมคุณพรฟ้าถึงคิดว่า เราไม่สามารถแก้ไขโครงสร้างทางสังคมได้ในขณะนี้ และทางออกในมุมของคุณพรฟ้าก็คือ การที่คนจนจะต้องแก้ไขตัวเองราวกับว่าไปว่าไปทำผิดอะไรมา หรือถ้าอยากมีชีวิตที่ดีขึ้นก็ก้มหน้าก้มตาทำงาน หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน
ซึ่งคำตอบในครึ่งหลัง สะท้อนว่า ชุดความรู้เรื่องความยากจนและความเหลื่อมล้ำมันยังไปไม่ถึงคนส่วนใหญ่ และไปไม่ถึงแม้กระทั่งกลุ่มคนที่น่าจะเข้าถึงข้อมูลเรื่องเหล่านี้ได้มากกว่าใครเพื่อนอย่างผู้เข้าประกวดนางงาม ผู้ที่สามารถเป็นกระบอกเสียงสะท้อนความต้องการของคนในสังคม
คงไม่มีหนังสือเล่มไหนที่สลายมายาคติเรื่องความยากจนได้ครบถ้วนสมบูรณ์ (และเหมาะกับเป็น Starter สำหรับผู้เริ่มศึกษา) เท่ากับ Poor Economics ที่เขียนโดย Abhijit Banerjee และ Esther Duflo ที่พยายาม ‘เข้าใจ’ วิถีชีวิตของคนจน ทั้งเรื่องการใช้จ่าย การออม ที่ดิน และการตัดสินใจเรื่องอื่น ๆ คงไม่มีข้อสรุปไหนเกี่ยวกับคนจนได้ดีไปกว่า “คนจนก็เหมือนกับคนอื่น ๆ ทั่วไปในสังคม แต่เพียงพวกเขาต้องเผชิญกับข้อจำกัด (constraint) ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่ต่างจากคนอื่น ๆ” ดังนั้น แม้คนจนจะพากเพียร ‘แก้ไข’ ตัวเองอย่างที่คุณพรฟ้าพูด แต่หากข้อจำกัดมันไม่ถูกถอดออกไป คนจนก็ไม่อาจปีนป่ายบันไดทางสังคมขึ้นมาได้
ในเรื่องความเหลื่อมล้ำ แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องใหม่ ในระดับประชาคมโลก ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ได้รับความสนใจอย่างมากจากทั้งนักวิชาการและบุคคลทั่วไป หลังจากที่ Thomas Piketty ออกหนังสือชื่อว่า Capital in the Twenty-First Century ในปี ค.ศ.2014 แต่กระนั้น ประเด็นความเหลื่อมล้ำและการกระจายรายได้ก็ยังคงเงียบอยู่ในสังคมไทย แม้จะมีนักวิชาการหลายท่านที่ทำงานด้านความเหลื่อมล้ำอย่างต่อเนื่อง เช่น อ.เมธี ครองแก้ว อ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร
ทั้งนี้ คงจะไม่เกินจริงนัก ถ้าจะบอกว่ากระแส ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ในไทยรอบล่าสุด ถูกจุดติดขึ้นมาโดยโพสต์ในเฟสบุ๊กส่วนตัวของคุณบรรยง พงษ์พานิช เมื่อปี ค.ศ.2018 ที่อิงจากข้อมูลจากรายงานของ Credit Suisse อ้างว่าไทยเป็นประเทศที่เหลื่อมล้ำที่สุดในโลก แม้ว่าจะมีข้อถกเถียงเรื่องความถูกต้องและน่าเชื่อถือของข้อมูล แต่ความเหลื่อมล้ำก็ได้กลายมาเป็น ‘ส่วนหนึ่ง’ ของชีวิตประจำวันเราโดยไม่รู้ตัว เรียกได้ว่า อะไร ๆ ก็โยงไปความเหลื่อมล้ำเสียหมด สังเกตได้จากงานของภาษาไทยจำนวนมากที่พยายามอธิบาย ‘มายาคติ” เรื่องของความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ทั้งใน The Standard The Matter และ The 101 World (รวมไปถึงที่อื่น ๆ ซึ่งไม่สามารถยกขึ้นมาอ้างได้หมด)
คำถามก็คือว่า แล้วทำไม ‘ชุดความรู้’ เรื่องความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่มีมหาศาลจนอ่านกันไม่ไหวในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มันถึงไม่ ‘ซึม’ ไปในความคิดของคนทั่ว ๆ ไป ทำไมถึงยังมีคนที่น่าจะเข้าถึงสื่อเหล่านี้ได้อย่างไม่มีอุปสรรคกว้างกั้นถึงยังมี mindset ว่า คนจน คือ สมาชิกของสังคมที่ยังดีไม่พอ เก่งไม่พอ ขยันไม่พอ อดทนไม่พอ และต้องแก้ไขตัวเองเพื่อให้อยู่รอด
คำตอบน่าจะมีด้วยกัน 2 ข้อ ข้อแรกก็คือ ความล้มเหลวของนักวิชาการในการสลายมายาคติเรื่องความยากจนและความเหลื่อมล้ำให้กับคนส่วนใหญ่ อย่างที่สองก็คือ ความสนใจเรื่องความเหลื่อมล้ำอาจมีแค่เพียงผิวเผิน (ซึ่งลึก ๆ แล้ว อาจไม่มีใครอยากที่จะเปลี่ยนแปลงอะไร?)
สำหรับข้อแรก เป็นไปได้ว่านักเศรษฐศาสตร์ รวมไปถึงนักวิชาการในสาขาอื่น ๆ ยังทำงานหนักไม่มากพอที่จะ ‘ส่งต่อ’ เรื่องราวจากงานวิจัยอันซับซ้อนผ่านตัวอักษรที่เป็นมิตรกับคนหมู่มาก หรือจริง ๆ แล้ว แม้จะมีบทความออกมา คนก็ไม่ค่อยเชื่อนักเศรษฐศาสตร์อยู่ดี จากการสำรวจในสหราชอาณาจักรโดย YouGov ปี ค.ศ.2017 (ในไทย น่าจะมีการสำรวจอะไรทำนองนี้บ้าง) พบว่า มีผู้ตอบแบบสอบถามเพียง 25% เท่านั้น ที่เชื่อคำพูด/ข้อคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งถือว่าน้อย เมื่อเทียบกับพยาบาล (84%) หมอ (82%) และนักวิทยาศาสตร์ (71%) ซึ่งเรื่องนี้ Abhijit Banerjee นักเศรษฐศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลประจำปี ค.ศ.2019 ให้ความเห็นว่า หากนักเศรษฐศาสตร์อยากจะได้รับความเชื่อมั่นจากสาธารณะกลับมาอีกครั้ง นักเศรษฐศาสตร์ต้องอธิบายเหตุผล ที่มาที่ไปของคำแนะนำทางเศรษฐศาสตร์ ถ้าเราเอาคำแนะนำของ Abhijit มาดูในเรื่องของความเหลื่อมล้ำในไทย ในขณะที่เรารู้ว่าความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ทรัพย์สิน ที่ดิน มันเปลี่ยนแปลงอย่างไรในตลอด 30 ปี แต่ก็ต้องยอมรับว่าชุดความรู้ว่า ‘ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น’ ยังคงไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร
อีกหนึ่งเหตุผลที่สำคัญว่า ทำไมเรายังไม่เข้าใจความเหลื่อมล้ำ นั่นก็คือ ลึก ๆ แล้ว เราไม่คิดว่าความเหลื่อมล้ำมันเป็นปัญหา หรือถ้าหากมันเป็นปัญหา มันก็เป็นปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ ยังไงซะ สังคมก็คงจะต้องเหลื่อมล้ำอยู่วันยังค่ำ
ก่อนที่จะพาไปดูทัศนคติของคนทั่วไปที่มีต่อความเหลื่อมล้ำ ในแวดวงเศรษฐศาสตร์เอง ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ทุกคนที่เชื่อว่าความเหลื่อมล้ำมันเป็นปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิค Robert Lucas นักเศรษฐศาสตร์สำนักชิคาโก ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ในปี ค.ศ.1995 ที่บอกว่า สิ่งที่เป็นยาพิษสำหรับเศรษฐศาสตร์มากที่สุด คือ การคำนึงถึงเรื่องการกระจายรายได้
Lucas ยังบอกว่า การปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนจนมันไม่สำคัญอะไรเลยเมื่อเทียบกับการเพิ่มการผลิตอย่างไร้ขีดจำกัด ซึ่งสาเหตุที่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้ไม่ค่อยสนใจเรื่องความเหลื่อมล้ำ (อาจ) เป็นเพราะพวกเขาคิดว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (ที่วัดด้วย GDP) เพียงพอแล้วที่จะทำให้สังคมเจริญก้าวหน้า พวกเขาอาจจะเชื่อว่า เมื่อเศรษฐกิจโต ทรัพยากรก็จะกระจายไปยังคนในภาค/ชนชั้นต่าง ๆ โดยอัตโนมัติ (trickle-down effect) ขณะที่การกระจายรายได้ (การโยกย้ายทรัพยากรจากคนรวยมายังคนจน) อาจชะลอการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ นอกจากนั้น อาจเป็นเพราะนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้เชื่อว่า ปัจเจกบุคคลที่มีเหตุผล (rational individuals) จะสนใจแค่การเพิ่มขึ้นของรายได้ของตัวเอง (maximize own well-being) และเชื่อว่าการกระจายรายได้จะไปบิดเบือนระบบแรงจูงใจนี้ ซึ่งเหตุผลเรื่อง rational individuals นี้ถูกปฏิเสธด้วยงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (ผ่านการเล่นเกมส์ที่รู้จักกันในชื่อ Ultimatum Game) ที่พบว่า โดยพื้นฐานแล้ว มนุษย์ให้ความสนใจกับเรื่องของความเท่าเทียม (fairness) และสวัสดิการของสังคม ไม่ได้คิดถึงแค่เงินในกระเป๋าของตนเองเพียงอย่างเดียว
สำหรับทัศนคติของคนทั่ว ๆ ไป ต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำ
ผลสำรวจในสหรัฐอเมริกา โดย Robert Wood Johnson Foundation บอกว่า น้อยกว่าครึ่งของผู้ถูกสัมภาษณ์ (1,885 ตัวอย่าง) คิดว่าความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างคนรวยกับคนชั้นกลางเป็นปัญหาที่สำคัญ และจะต้องได้รับการแก้ไขจากรัฐบาล นอกจากนั้น มีแค่คนจนเท่านั้นที่คิดว่ารัฐบาลควรทำอะไรมากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหานี้
สำหรับการสำรวจในประเทศไทย World Values Survey ได้ทำการสำรวจทัศนคติของประชากรต่อความเหลื่อมล้ำ ผลการสำรวจล่าสุด (ระหว่างปี ค.ศ.2017 – 2020) พบว่า มีผู้ตอบแบบสอบถามเพียง 206 คน (13.8%) จาก 1,500 คน เท่านั้น ที่คิดว่าการกระจายรายได้ควรจะมีความเป็นธรรมมากขึ้น ย้อนกลับไปเมื่อการสำรวจครั้งก่อน (สำรวจระหว่างปี ค.ศ.2010 – 2014) สัดส่วนนี้มีมากกว่าถึง 18% ซึ่งสะท้อนว่า แม้ว่าเราจะพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำกันอยู่ทุกวี่วัน แต่จริง ๆ แล้ว สังคมก็อาจจะไม่ได้ต้องการ ‘ความเท่าเทียม’ อะไรขนาดนั้นก็เป็นได้ เพราะเมื่อเราต้องการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ นั่นหมายถึงการที่เรา (ทั้งในฐานะคนชั้นกลาง รวมไปถึงคนที่มีรายได้สูง) อาจจะต้องสละทรัพยากรเพื่อไปลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ผ่านภาษีที่สูงขึ้น
ดังนั้น ถึงแม้จะมีบทความต่าง ๆ ที่เผยแพร่ออกมามากมาย เราก็ยังไม่ได้เข้าใจสาเหตุของปัญหา และไม่คิดว่าปัญหานี้เป็นปัญหาที่สำคัญ และส่งผลอย่างไรบ้างต่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงโอกาสที่คนรุ่นลูกหลานจะได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำที่สูงในปัจจุบัน
สังคมสังคมอเมริกัน จะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘American Dream’ ซึ่งเป็นคติความเชื่อของคนอเมริกันเกี่ยวกับความสุขและความสำเร็จในชีวิตที่ทุกคนปรารถนา เป็นไปได้ว่า เมื่อคนชั้นกลางในสหรัฐยังคง ‘เชื่อ’ ใน American Dream อยู่ พวกเขาจึงไม่คิดว่าความเหลื่อมล้ำมันเป็นปัญหาและรัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องรีบแก้ไข สำหรับสังคมไทย ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่าอะไรคือ ‘Thai Dream’ แต่คงน่าแปลกใจไม่ใช่น้อย หากคนชั้นกลางในไทยยังคงคิดว่าตัวเองจะมีชีวิตในอนาคตที่ดีประหนึ่งอาศัยอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์ ทั้ง ๆ ที่สภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เป็นเหมือนในปัจจุบัน
เมื่อเราส่งสารไปไม่ถึงคนส่วนใหญ่ และเมื่อคนส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจที่จะลดความเหลื่อมล้ำ สังคมก็อาจจะ ‘อดทน’ กับสิ่งที่ไม่ควรอดทนอย่างความเหลื่อมล้ำ ก้มหน้าก้มตาทำงานโดยไม่ตั้งคำถาม ไม่แสดงความเห็น ยอมรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่ถูกออกแบบโดยคนไม่กี่คน คนที่ได้รับประโยชน์จากระบบที่มันบิดเบี้ยวก็ได้ใจ
ท้ายที่สุด เป้าหมายของสังคมที่ทุกคนกินดีมีสุข เท่าเทียมถ้วนหน้า ก็เป็นได้แค่เป้าหมาย ไม่ได้เริ่มแก้ไขมันสักที ครั้นจะฝากความหวังไว้กับนางงามให้เป็นกระบอกเสียงในเรื่องนี้..ก็ไม่ได้เสียแล้ว