ย้อนกลับไปสมัยเด็กๆ หรือหลายสิบปีที่แล้ว ช่วงที่โซเชียลมีเดียยังไม่ได้บูมมากนัก โทรทัศน์คือแหล่งบันเทิงชั้นเยี่ยมที่เราทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เมื่อเลื่อนผ่านไปทีละช่อง ทีละช่อง ก็จะพบกับคอนเทนต์มากมาย ทั้งละคร สารคดี ข่าวสาร และเกมโชว์ ซึ่งแต่ละเกมโชว์ก็จะมีรายละเอียดข้างในที่แตกต่างกันไป โดยเป้าหมายหลักๆ ก็คือสร้างความเพลิดเพลินให้กับผู้ชมทางบ้าน
แต่หนึ่งในความเพลิดเพลินดังกล่าวกลับเป็น ภาพคนที่ต้องแบกของเต็มหลังวิ่งลุยโคลน พิสูจน์ตัวตนด้วยการแหกปากร้องเพลง หรือตอบคำถามปัญหาเชาว์ โดยท้ายที่สุด ก็เพื่อนำเงินรางวัลเหล่านั้นไปปลดหนี้ จ่ายค่าเทอมของลูกหลาน ใช้ซื้อข้าวกินไปอีกสิบกว่าวัน หรืออะไรก็ตามแต่
ซึ่งมันอาจเป็นเรื่องง่ายสำหรับเราที่นั่งดูรายการเหล่านั้น โดยปราศจากความกังวลว่า มื้อต่อไปจะมีอะไรกินหรือไม่ หรือพรุ่งนี้ต้องเดินทางยังไงให้ประหยัดค่าใช้จ่ายที่สุด แต่มันอาจจะง่ายดายเกินไป จนถึงขั้นที่เผลอมองข้ามความลำบากตรงหน้า แล้วคิดว่าเป็นเรื่องโรแมนติกชวนอบอุ่นหัวใจของคนไม่มีอันจะกินแทน
เมื่อความจนถูกโรแมนติไซส์จนหอมหวาน
การโรแมนติไซส์ความยากจน (romanticizing the poverty) คืออะไร? ภาพชนชั้นแรงงานนั่งป้อนข้าวกันใต้สะพานลอย พร้อมติดแคปชั่น “ไม่ต้องรวยล้นฟ้า ก็หาความสุขได้ไม่ยาก” น่าจะอธิบายปรากฏการณ์นี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะเห็นได้บ่อยครั้งตามคอนเทนต์สร้างแรงบันดาลใจ หรือในโฆษณาประกันชีวิตบางเจ้า
“ยากสิวะ เอาอะไรมาไม่ยาก” และนี่ก็น่าจะเป็นความในใจที่คนในภาพอยากจะบอกจริงๆ หากเรายื่นไมค์ไปจ่อปากพวกเขา
อะไรที่ทำให้เรามองว่าการกินข้าวใต้สะพานลอยเป็นเรื่องอบอุ่นหัวใจ? เพราะท่าทีของพวกเขาที่ดูไม่เศร้ามองอย่างที่เราจินตนาการไว้หรือเปล่า? ซึ่งบางทีรอยยิ้มบนใบหน้าอาจจะมาจากการพูดเรื่องตลกของคนข้างๆ หรือเพราะอากาศไม่ร้อนเกินไปจึงทำให้พวกเขาอารมณ์ไม่หม่นหมองมากนัก
อาจจะด้วยอะไรก็ตามแต่ ความยากจนและการขาดแคลนไม่เคยเป็นหนึ่งในเหตุผลของรอยยิ้มพวกเขา แต่ภาพเหล่านั้นกลับถูกแปะป้ายว่าเป็นเรื่องสวยงาม และสร้างแรงบันดาลใจมากมายให้กับชนชั้นกลาง (และกลางไปค่อนข้างสูง) ในการใช้ชีวิต
อยากมีไลฟ์สไตล์ที่เรียบง่ายแบบนั้นบ้างจัง ไม่ต้องหวือหวา ไม่ต้องมากมาย มีคนข้างๆ ที่สบายใจก็พอ แค่นี้ชีวิตก็ปังปุริเย่ หรือแม้แต่วิถีชีวิตของชาวชนบท คนเมืองกรุงก็ยังอยากสงวนไว้ให้เป็นความงดงาม เรียบง่าย ที่เอาไว้ให้พวกเขาไปพักผ่อนหย่อนใจชั่วคราว และไม่อยากให้บ้านเมืองเหล่านั้นพัฒนาจนเจริญมากเกินไป
แต่มันดันตลกตรงที่ว่า
ความจนเป็นเรื่องโรแมนติก
แค่เฉพาะในสายตาของคนที่ไม่ได้จนจริงๆ เท่านั้น
การถือพรีวิเลจไว้ อาจทำให้มองไม่เห็นปัญหาที่แท้จริง
การนั่งดูคนจนดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดจากการไม่มีจะกิน ไม่ต่างจากชาวแคปิตอลในภาพยนตร์เรื่อง The Hunger Games ที่ดูพาเน็ม 13 เขตแข่งขันกันอย่างสนุกสนาน มิหนำซ้ำ บางครั้งความจนยังถูกมองว่าเป็นงานอดิเรก หรือความฝันชั่ววูบของคนรวย ที่อยากจะมีไลฟ์สไตล์แบบสมถะบ้างสักครั้งในชีวิต
ยกตัวอย่างเช่น กระแส ‘poverty chic’ ที่แพร่หลายในช่วงปี ค.ศ.2002 ท่ามกลางเล่าเซเลบริตี้ที่นิยมสร้างภาพลักษณ์ตัวเองให้ดูจน ผ่านเครื่องแต่งกาย ไลฟ์สไตล์ และอาหารการกิน เนื่องจากพวกเขามองว่าความจนเป็นความบริสุทธ์ที่คนรวยไม่สามารถซื้อได้ เป็นความชิค ความคูล ที่ไร้กาลเวลา หรือจริงๆ พวกเขาแยกไม่ออกระหว่างไลฟ์สไตล์แบบมินิมอลกับความยากไร้
เหมือนอย่างล่าสุด ไฮโซคนหนึ่งอยากลองเป็นกระเป๋ารถเมล์ 1 วัน เพื่อสัมผัสกับอาชีพในฝันตอนเด็ก พร้อมกับแต่งตัวไฮแฟชั่น ถือที่เก็บเงินโพสท่าชิคๆ กับตัวรถเมล์ ซึ่งหนึ่งวันที่ไฮโซคนนั้นได้กลับมา คือโฟโต้เซ็ตที่เอาไว้ลงโซเชียลมีเดียเก๋ๆ ที่ดูยังไงก็ไม่เพียงพอต่อการเก็บรายละเอียดของอาชีพกระเป๋ารถเมล์แต่อย่างใด เพราะมากกว่าการยืนขาแข็งบนรถที่โยกไปมาเป็นเวลาหลายสิบชั่วโมง และความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนิ่วอันเนื่องมาจากต้องอั้นปัสสาวะเอาไว้นานๆ มันยังมีช่วงเวลาหลังเลิกงาน ที่พวกเขากลับไปบ้านนั่งคำนวณค่าใช้จ่ายในหัวว่า เงินนี้จะซื้อไข่ได้กี่ฟอง มาม่ากี่ซอง หรือข้าวกี่ถุง แล้วรถของเล่นที่ลูกชายอยากได้ จะบอกยังไงดีว่าอาจจะต้องล้มเลิกความหวังไปก่อน
หรือช่วงวิกฤตโรคระบาด COVID-19 ที่การกักตัวถือเป็นเรื่องโรแมนติกแค่เฉพาะคนบางกลุ่ม ดีจังเลย ได้กลับมาอยู่บ้าน ใช้เวลาพักผ่อนกับคนที่เรารัก ทำกับข้าวมื้อพิเศษกินด้วยกัน นอนคลุมโปงดูเน็ตฟลิกซ์ทั้งวันทั้งคืน ในขณะที่คนอีกจำนวนหนึ่งกำลังแพนิกกำเริบว่า จะตกงานกันเมื่อไหร่
มันเลยมีคำว่า ‘check your privilege’ เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้เราบ้งต่อการตัดสินอะไรจากมุมมองของตัวเองเพียงอย่างเดียว โดยให้เราลองกลับมาตรวจสอบพรีวิเลจหรืออภิสิทธิ์ของตัวเองดูว่า ในขณะที่เราพูดหรือตัดสินความยากลำบากของคนอื่นว่าเป็นเรื่องโรแมนติก เราทำไปในฐานะของคนที่มีอันจะกินหรือเพียบพร้อมอยู่แล้วหรือเปล่า
มันไม่ใช่ความเรียบง่ายที่มาจากความสมัครใจ
แต่มาจากความขาดแคลนและความไม่มี
ที่พวกเขาเลี่ยงไม่ได้ต่างหาก
หากเป็นเช่นนั้น ขอให้ลองมองภาพตรงหน้าใหม่อีกที ด้วยแว่นของคนไม่มีอันจะกิน เพราะมันไม่ใช่ความเรียบง่ายที่มาจากความสมัครใจของชนชั้นล่างหรือชนชั้นแรงงาน แต่มาจากความขาดแคลนหรือความไม่มี (having nothing) ที่พวกเขาเลี่ยงไม่ได้ต่างหาก ซึ่งคนมีอภิสิทธิ์อย่างเรานั้น คงไม่มีทางเข้าใจได้อย่าง 100% แน่นอน
ถึงแม้จะพูดว่า “พอเพียงสิ” “ใช้เท่าที่มีสิ” หรือ “อย่าเครียดไป เงินซื้อความสุขทุกอย่างบนโลกไม่ได้หรอก” แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้อยู่ดีว่า การไม่ต้องมานอนก่ายหน้าผาก กังวลว่าพรุ่งนี้จะมีอะไรกินหรือไม่ ยังไงมันก็สบายใจกว่า
การมองข้ามปัญหารัฐสวัสดิการ
ก่อนที่เราจะกวาดฝุ่นผงความยากลำบาก ซุกไว้ใต้พรมที่เรียกว่า ‘ความเรียบง่ายของชนชั้นรากหญ้า’ อยากให้ลองตั้งคำถามว่าอะไรที่นำพวกเขามาสู่จุดนั้น ความล้มเหลวของปัจเจกบุคคล หรือโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย?
คนรวยหรือชนชั้นกลางหลายคน เที่ยวกว้านเหมาของหาบเร่จนหมดเกลี้ยง ซึ่งก็ดีเป็นผลดีที่แม่ค้าพ่อค้าเหล่านั้นจะมีข้าวกินไปอีกเกือบสัปดาห์ แต่โดยท้ายที่สุดท้ายแล้ว พวกเขาจะกลับมาสู่วังวนเดิม หาเข้ากินค่ำ และเฝ้ารอคนรวยใจดีมากว้านซื้อแบบนี้อีกครั้ง และจะเห็นปรากฏการณ์ในลักษณะอีกตามมูลนิธิร่วมบริจาค ที่บางครั้งก็เป็นแค่กิจกรรมเสริมวาสนาของชนชั้นกลาง แต่ดันไปบดบังปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่ควรจะชูขึ้นมาหาทางแก้ไขในที่สุด
ยิ่งเรามองความยากจนไปในด้านบวกมากเท่าไหร่
เรายิ่งถูกผลักออกไปให้ไกล
จากการเข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้างมากเท่านั้น
กลับมาที่รายการปลดหนี้ต่างๆ ทำไมคนจนจะต้องมีพรสวรรค์บางอย่าง เพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าฉันควรจะได้รับเงินเยียวยา หรือได้รับเงินที่รัฐควรจะให้ เพื่ออุ้มคนตกงานหรือผู้พิการที่ไม่มีรายได้ ทำไมเด็กนักเรียนจะต้องมาแข่งขันตอบคำถามชิงค่าเทอม ทั้งๆ ที่ทุนหรือปัจจัยด้านการศึกษา ควรจะเป็นรัฐสวัสดิการพื้นฐานที่ทุกคนต้องเข้าถึงได้ ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะตอบคำถามดีหรือไม่ก็ตาม และยิ่งเราเห็นว่าเด็กคนนั้นตอบคำถามผิดมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งย้ำให้ชัดว่าเขาควรจะได้รับทุนการศึกษา ได้มีโอกาสเติมความรู้เข้าหัว พอๆ กับเพื่อนที่ตอบถูกด้วยเช่นกัน
รายการปลดหนี้เหล่านี้ หากมองดูดีๆ มันคือการสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่รัฐไม่สามารถทำให้ประชาชนที่อยู่ภายใต้การปกครองของพวกเขาสามารถลืมตาอ้าปากได้อย่างที่ควรจะเป็น และต้องย้อนกลับไปตั้งคำถามกับสิ่งที่เกริ่นมาต้นบทความว่า ถ้าการเมืองดี มีรัฐสวัสดิการที่เพียบพร้อมจริงๆ รายการที่ขยี้ความจน หรือเล่นกับความน่าสงสารของชนชั้นล่าง จะยังคงมีอยู่ในสังคมต่อไปหรือไม่?
เมื่อไหร่ก็ตามที่เราทำให้ความยากลำบากของชนชั้นล่างเป็นเรื่องโรแมนติก เมื่อนั้นเราจะหลงลืมไปว่า บนโลกที่ควรจะเท่าเทียม ไม่มีใครต้องแลกเลือดเนื้อ หยาดเหงื่อ และหยดน้ำตามากมาย เพื่อที่จะมีชีวิตรอดไปวันๆ หรือเพื่อสิ่งที่ควรจะต้องมีตั้งแต่ทีแรก
อ้างอิงข้อมูลจาก