ในมุมมองของผม แค่พฤติกรรมเพียงอย่างเดียวคงไม่พอที่จะอธิบายว่าทำไมคนหนึ่งคนถึงเป็นคนจน
โชคดีที่ผมเกิดในครอบครัวฐานะปานกลางที่พ่อแม่ไม่ได้มีอะไรนอกจากใบปริญญาตรี ทั้งสองทำงานราชการที่ต้องย้ายไปตามจังหวัดต่างๆ บ่อยครั้ง เมื่อต้องย้ายโรงเรียนแทบจะทุกสองปี ทางเลือกที่สะดวกที่สุดนั่นก็คือโรงเรียนรัฐประจำจังหวัดหรือโรงเรียนใกล้บ้าน วัยเด็กของผู้เขียนจึงมีโอกาสเจอเพื่อนซึ่งมีพื้นเพแตกต่างหลากหลาย ทั้งลูกพ่อค้าแม่ขายไปจนถึงข้าราชการผู้ใหญ่
ตอนเด็กๆ ผมจึงได้มีโอกาสใกล้ชิดกับเพื่อนที่ครอบครัวที่รายได้น้อย ผมเคยไปเล่นบ้านเพื่อนที่มีขนาดเท่ากับหนึ่งห้องโดยใช้งานตั้งแต่ห้องนั่งเล่น ห้องกินข้าว ไปจนถึงห้องนอน เคยมีคนรู้จักที่ต้องออกจากโรงเรียนกลางคันเพราะพ่อแม่ไม่มีเงินส่งเสีย เคยมีเพื่อนโทรมาขอยืมเงินไปจ่ายค่าเทอมเพราะไม่อย่างนั้นจะไม่ได้ใบจบ เคยเดินเท้าเข้าไปทำกิจกรรมในโรงเรียนที่มีหนึ่งห้องเรียนและเด็กๆ ต้องเรียนรวมกันตั้งแต่ชั้น ป.1–ป.6 ฯลฯ ประสบการณ์เหล่านี้ทำให้ผมรู้สึกโมโหทุกครั้งเมื่อเห็นการที่พยายามจะหา ‘สูตรสำเร็จ’ ของความยากจน พร้อมทั้งกล่าวโทษว่าคนเหล่านั้นจนเพราะทำตัวเอง
พ่อแม่ของเด็กๆ เหล่านี้ยากจนเพราะใช้จ่ายเกินตัวหรือเปล่า? เล่นการพนันหรือไม่? ขาดหลักการในการดำเนินชีวิตใช่ไหม? หรือว่าพวกเขาใช้เวลาไปอย่างไร้ประโยชน์? แล้วเพื่อนๆ ผมเหล่านั้นล่ะครับ ถ้าเขาเติบโตมายากจนแสดงว่ามี ‘พฤติกรรมทำให้จน’ เหมือนกับพ่อแม่ของเขาหรือเปล่า?
คำตอบเหล่านั้นอาจมีส่วนจริงอยู่บ้าง แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่าคือโครงสร้างที่กดทับครอบครัวยากจนเหล่านี้ไม่ให้ลืมตาอ้าปาก แม้กระทั่งเด็กๆ ในครอบครัวก็ยังต้องสืบทอด ‘ความจน’ เหล่านั้นต่อไป
แล้วทำไมคนถึงจน?
ผู้เขียนจะพยายามตอบคำถามที่ซับซ้อนและยุ่งยากด้วยประโยคสั้นๆ ว่า เพราะพวกเขาซวยกว่าค่าเฉลี่ย
จนเพราะเกิดมาจน
“คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นได้”
คำคมแสนโรแมนติกที่อยากให้กรุณาเก็บใส่กระเป๋ากลับบ้าน เพราะต่อให้ผมเกิดมาพร้อมกับ IQ ติดตัวสูงขนาดไหน แต่อนาคตของผมคงไม่มีทางสดใสได้เลยหากเกิดมาในครอบครัวยากจน อยู่ในพื้นที่ห่างไกลซึ่งโรงเรียนไม่ได้คุณภาพ พ่อแม่ไม่มีเงินส่งเสีย ขาดแคลนไฟฟ้าและสัญญาณโทรศัพท์ สถานการณ์แบบนั้นอย่าพูดถึงเรื่อง ‘เลือกที่จะเป็น’ เลยครับ ขอแค่ให้มีคุณภาพชีวิตในระดับที่มนุษย์คนหนึ่งพึงมีในปี พ.ศ.2564 ก็ยังไม่ใช่เรื่องง่าย
ผมขอยกข้อมูลจากรายงานความยากจนและเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ปี พ.ศ.2562 มาประกอบเพื่อให้เห็นภาพ ลองจินตนาการดูนะครับว่าจะเป็นอย่างไรถ้าเราเกิดในครอบครัวของ 10 เปอร์เซ็นต์ที่ยากจนที่สุดซึ่งพ่อแม่มีรายได้เฉลี่ย 2,049 บาทต่อเดือน กับครอบครัวของ 10 เปอร์เซ็นต์ที่ร่ำรวยที่สุดซึ่งพ่อแม่มีรายได้เฉลี่ย 32,663 บาทต่อเดือน บอกตามตรงว่าผมนึกไม่ออกด้วยซ้ำว่าจะมีชีวิตรอดได้อย่างไรกับการต้องดูแลทุกคนในครอบครัวด้วยเงินหลักพันบาท
คนเราเลือกเกิดไม่ได้ ใครโชคดีเกิดในครอบครัวฐานะดีก็สามารถร่ำเรียนไปแบบไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย พร้อมโอกาสที่จะ ‘ก้าวกระโดด’ ไปได้ไกลกว่าคนอื่นๆ ส่วนคนที่สุ่มมาเกิดในครอบครัวยากจนกลับต้องกระเสือกกระสนกว่ามาก ต่อให้เรียนดีก็อาจไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ
ดังนั้น ‘โชค’ จึงมีส่วนอย่างมากตั้งแต่จุดเริ่มต้นโดยส่งผลต่อความได้เปรียบและเสียเปรียบตลอดชีวิตของเด็กๆ ตั้งแต่ด้านการพัฒนาตามวัย อาหาร สุขภาพ โอกาสทางการศึกษา ไปจนถึงการหางานทำ
แล้วควรหรือไม่ที่จะตำหนิใครคนหนึ่งที่จนเพียงเพราะเขาดวงซวยที่เกิดมาในครอบครัวที่ยากจน?
จนเพราะอับโชค
ตอนนี้ผมคิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จพอประมาณ มีงานการหาเลี้ยงชีพ มีเวลาได้อยู่ดูแลลูก และได้เขียนหนังสือซึ่งเป็นงานที่ผมรัก หากย้อนกลับไปถามตัวเองเมื่อสัก 10 ปีก่อนว่ามีวันนี้เพราะใคร ผมคงตอบว่าเพราะความขยันหมั่นเพียรและความเก่งฉกาจที่เหนือกว่าค่าเฉลี่ย แต่ถ้าถามตัวเองในวันนี้ ผมคงตอบตามตรงว่า ‘โชค’ มีส่วนมากกว่าครึ่ง
ถ้าไม่นับเรื่องโชคดีที่เกิดในครอบครัวที่ฐานะทางการเงินมั่นคง ชีวิตเรายังต้องเจอกับการเสี่ยงโชคอีกหลายครั้งหลายครา ตั้งแต่โชคของการคบหาเพื่อนและคนรัก โชคในการสอบเข้าโรงเรียนและมหาวิทยาลัย และโชคในการสมัครงาน ทั้งหมดคือเรื่องของจังหวะชีวิตที่แต่ละคนอาจโชคดีและโชคร้ายไม่เท่ากัน
เรื่องเหล่านี้พิสูจน์ในโลกจริงได้ยาก นักวิจัยจึงพยายามสร้างแบบจำลองโดยสร้างบุคคลสมมติจำนวนมากแล้วกำหนดให้แต่ละคนมีทักษะแตกต่างกันและมีการกระจายตัวแบบปกติ (normal distribution) โดยที่ทุกคนจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ต้องแก้ไขแบบสุ่ม หากทำได้สำเร็จก็จะร่ำรวยขึ้น แต่หากไม่สำเร็จก็จะยากจนลง
ตัวอย่างเช่น นาย ป. มี IQ 100 แต่ต้องแก้ไขสถานการณ์ที่หากทำสำเร็จจะร่ำรวยมากขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ โดยเงื่อนไขที่จะฝ่าฝันอุปสรรคไปได้คือต้องมี IQ อย่างน้อย 95 ทำให้สามารถฟันฝ่าไปได้ ส่วน นาย ธ. มี IQ 100 เช่นกัน แต่เจอกับอุปสรรคที่ต้องอาศัย IQ 105 มิฉะนั้นจะยากจนลง 10 เปอร์เซ็นต์ นับว่าโชคร้ายที่เขามี IQ ไม่เพียงพอ แบบจำลองจะสุ่มเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ เป็นจำนวน 40 ครั้งเสมือนหนึ่งเท่ากับอายุ 40 ปีของคนหนึ่งคน
ผู้อ่านคงเดาได้นะครับว่าคนที่มี IQ สูงกว่าค่าเฉลี่ยย่อมจบเกมส์ด้วยฐานะที่ร่ำรวยกว่าค่าเฉลี่ย แต่สิ่งที่อาจทำให้หลายคนแปลกใจคือคนที่ร่ำรวยที่สุดกลับไม่ใช่คนฉลาดที่สุด แต่คือคนที่โชคดีที่สุดต่างหาก เช่นเดียวกับคนที่ยากจนที่สุดซึ่งไม่ได้มี IQ ต่ำที่สุดแต่เป็นเพราะเขาดวงซวยที่สุดในกลุ่ม คงไม่เหมาะสมนักที่เราจะต่อว่าใครสักคนเพียงเพราะเขาเกิดมาโชคร้ายกว่าค่าเฉลี่ย
จนเพราะโง่? จนเพราะขี้เกียจ?
“โง่ จน เจ็บ” แพ็กเกจสามคำที่แพร่กระจายมายาคติผิดๆ เกี่ยวกับความจนว่าต้องเริ่มจากความโง่ แล้วจึงกลายเป็นคนจน ตามมาด้วยความป่วยไข้ แต่เคยสงสัยไหมครับว่าคนจนเพราะโง่ หรือจริงๆ ความจนต่างหากที่ทำให้เขาตัดสินใจแย่ๆ
แน่นอนครับว่ายิ่งมีการศึกษาสูงขึ้นเท่าไหร่ก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่คำว่า ‘โง่’ ในที่นี้ไม่ใช่ระดับการศึกษาหรือปริญญาที่ประดับฝาผนังบ้าน แต่หมายถึงการตัดสินใจแย่ๆ ที่แม้จะเรียนจบสูงหรือมีประสบการณ์มากแค่ไหนก็ยัง ‘โง่’ ได้อย่างที่เราคงจะนึกภาพกันออก
ภาพของคนจนมักถูกผูกโยงกับการตัดสินใจที่ผิดพลาด ทั้งติดหวยชอบการพนัน จัดการการเงินในครัวเรือนย่ำแย่ ใช้จ่ายเงินเกินตัว แถมยังก่อหนี้แบบไม่ได้รู้ถึงอัตราดอกเบี้ยและศักยภาพในการจ่ายคืน เราเคยคิดว่าพวกเขายากจนเพราะการตัดสินใจที่ผิดพลาด แต่ผมขอชวนมองในมุมกลับโดยอิงจากงานวิจัยในศตวรรษที่ 21 ซึ่งค้นพบว่า พวกเขาตัดสินใจผิดพลาดเพราะพวกเขายากจนต่างหาก
งานวิจัยชิ้นดังกล่าวศึกษากลุ่มตัวอย่างชาวไร่อ้อยที่จะได้เงินก้อนใหญ่หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิต แต่จะต้องใช้ชีวิตอย่างกระเบียดกระเสียรหลังจากเพราะปลูกอ้อยชุดใหม่ กลายเป็นโอกาสทดสอบความสามารถในการควบคุมตนเองและการตัดสินใจของเกษตรกรแต่ละรายเปรียบเทียบระหว่างสองช่วงเวลาคือ (1) ช่วงที่เขากลายร่างเป็นคนรวยหลังมีรายได้จากการขายผลผลิต และ (2) ช่วงที่อดอยากปากแห้งในระหว่างฤดูเพาะปลูก
ผลปรากฏว่าความสามารถในการตัดสินใจคนคนเดียวกันในช่วงที่เผชิญความยุ่งยากทางการเงินจะเลวร้ายกว่าช่วงที่มีเงินใช้ง่ายจ่ายคล่องอย่างมีนัยสำคัญ
สาเหตุก็เพราะว่าสมองคนเรามีความสามารถในการคิดและตัดสินใจอยู่จำกัด หากนึกภาพตามง่ายๆ ก็คล้ายกับแบนด์วิธของอินเทอร์เน็ต ในช่วงที่มีปัญหาทางการเงิน เกษตรกรเหล่านั้นต้องวิ่งกู้หนี้ยืมสิน คอยกังวลถึงค่าใช้จ่ายที่กำลังจะมาถึง พร้อมทั้งคิดหาหนทางเอาตัวรอดจนกว่าจะได้เงินก้อนหลังการเก็บเกี่ยวการผลิต
ความเครียดเหล่านี้ก็เหมือนคนที่บ้านนั่งสตรีมดูหนังพร้อมกันสองเครื่องตอนที่เรานั่งเล่น LOL ต่อให้ฝีมือดีแค่ไหนแต่อินเทอร์เน็ตที่สะดุดและกระตุกก็สามารถเปลี่ยนมือโปรกลายเป็นมือใหม่ที่ต้องทนฟังเสียงก่นด่าจากเพื่อนร่วมทีม สมองของชาวไร่อ้อยเองก็ไม่ต่างกัน เพราะความกังวลที่มากมายทำให้ไม่เหลือกำลังสำหรับประมวลผลแก้ไขปัญหาที่อยู่ตรงหน้า สุดท้ายก็ทำให้ตัดสินใจผิดพลาดและถลำลึกลงไปในความยากจน
นอกจากนี้ความสามารถในการประมวลผลของสมองซึ่งถูกลดทอนประสิทธิภาพจากสารพัดความกังวลที่คนจนต้องเผชิญ นอกจากจะทำให้การตัดสินใจย่ำแย่ลงแล้วยังส่งผลถึงประสิทธิผลในการทำงานอีกด้วย การศึกษาชิ้นล่าสุดทำการทดลองกับแรงงานในโรงงานผลิตจานใช้แล้วทิ้งในประเทศอินเดีย แรงงานกลุ่มนี้คือกลุ่มแรงงานค่าแรงต่ำที่มาหางานทำเป็นรายได้เสริมนอกฤดูเพาะปลูกและแบกปัญหาทางการเงินมาในระดับปานกลาง
การทดลองดังกล่าวจะสุ่มให้แรงงานกลุ่มหนึ่งได้รับค่าจ้างก่อนเริ่มงานเพื่อคลายความกังวลทางการเงิน ผลปรากฏว่าแรงงานกลุ่มนี้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดยผลิตได้มากขึ้น 7.1 เปอร์เซ็นต์ และสามารถลดความเสียหายจากข้อผิดพลาดที่ไม่ตั้งใจ จึงสรุปได้ว่าแรงงานที่ได้รับเงินนั้นทั้งทำงานได้เร็วขึ้นและใส่ใจมากขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงการรู้คิด (cognition) ที่ดีขึ้นนั่นเอง
ดังนั้นการคิดเองเออเองว่าคนจนเพราะโง่หรือจนเพราะขี้เกียจจึงเป็นเรื่องผิดถนัด เพราะความจริงกลับตรงกันข้ามคือความจนต่างหากที่เป็นสาเหตุของการตัดสินใจแย่ๆ และการทำงานผลิตภาพต่ำ
ขจัดความจนด้วยรัฐสวัสดิการ
เราไม่ควรลงโทษใครสักคนเพียงเพราะเขาโชคร้ายกว่าค่าเฉลี่ย แต่รัฐควรจะเข้าไปโอบอุ้มคนเหล่านั้นให้มีคุณภาพในชีวิตที่มนุษย์คนหนึ่งพึงมีพึงได้ เช่นระบบสวัสดิการ ‘รายได้ขั้นต่ำสากล’ (universal basic income) ที่คงไม่ต้องหรูหราถึงขั้นสามารถหาซื้อนาฬิการาคาหลักล้านมาใส่หรือเอาไปซื้อเฟอร์รารีมาขับ เพราะการให้เงินก้อนอย่างสม่ำเสมอที่เพียงพอต่อการหาซื้อปัจจัยสี่ก็สามารถทำให้คนบางกลุ่มคลายกังวลและลืมตาอ้าปากได้ในสังคม
ส่วนในมิติของความเหลื่อมล้ำ นอกจากรัฐจะพิจารณาเพียงความแตกต่างทางรายได้หรือความมั่งคั่งแล้ว ยังควรตั้งเป้าหมายด้านโอกาสในการเปลี่ยนลำดับชั้นทางเศรษฐกิจของคนแต่ละเจเนอเรชั่น (inter-generational economic mobility) เป็นการเปรียบเทียบฐานะทางเศรษฐกิจระหว่างพ่อแม่กับลูกหลานในครอบครัว
เป้าหมายในอุดมคติของรัฐคือการสร้างโลกที่โอกาสในการเปลี่ยนลำดับชั้นทางเศรษฐกิจเท่าเทียมกัน ไม่ว่าเด็กจะเกิดในครอบครัวร่ำรวยหรือยากจนก็ย่อมมีโอกาสที่จะขยับฐานะทางเศรษฐกิจได้ไม่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความสามารถของเด็กล้วนๆ ไม่ใช่ว่าเด็กชายหรือเด็กหญิงคนนั้นเป็นลูกของใคร
ปัญหาความยากจนเป็นเรื่องสลับซับซ้อนและแปรเปลี่ยนตลอดเวลา เราจึงต้องทำความเข้าใจผ่านการศึกษาวิจัยยุคใหม่เพื่อไม่ให้ติดกับดักมายาคติแบบเดิม พร้อมเลิกปัดปัญหาความยากจนให้เป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคลโดยละเลยปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะไม่มีใครหรอกครับที่อยากจน
ถ้าไม่เชื่อก็ลองจนดูสิครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Talent vs Luck: the role of randomness in success and failure
Poverty Impedes Cognitive Function
Do Financial Concerns Make Workers Less Productive?
Illustration by Waragorn Keeranan