ผมเขียนบทความรอบนี้ ระหว่างที่มาญี่ปุ่นเพื่อถ่ายทำรายการแนะนำประเทศญี่ปุ่น เซ็ตธีมกันไว้ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถไปเที่ยวแบบไปเช้ากลับเย็นจากโตเกียวได้ ซึ่งหลังจากถ่ายทำมาได้ 4 เมือง 4 วัน ผมก็เพิ่งรู้สึกตัวว่า ไม่มีวันไหนเลยที่ผมจะไม่ไปถ่ายทำที่ศาลเจ้าในญี่ปุ่น
เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าน่าสนใจเป็นการส่วนตัว เพราะตัวผมเองก็ประกาศตัวว่าเป็น ‘อศาสนิกชน’ หรือคนไม่นับถือศาสนามาได้หลายปี ซึ่งการไม่นับถือศาสนาสำหรับผมก็เป็นแค่ทางเลือกหนึ่งของชีวิต ไม่ได้หมายความว่าผมต้องไปต่อต้านศาสนา ใครจะพาเข้าวัด เข้าโบสถ์ ไปมัสยิด ผมก็ไม่ได้อิดออดอะไร (ยกเว้นแต่จะขี้เกียจ) แต่กลับกลายเป็นว่าทุกครั้งที่มาญี่ปุ่น แทบจะไม่มีครั้งไหนเลยที่ผมกลับไทยโดยไม่ได้แวะศาลเจ้าชินโตสักที่ มันต้องมีอะไรดึงดูดแน่ๆ
มาคิดดูอีกทีว่าทำไมผมถึงหลงใหลศาลเจ้ามากนัก ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะว่า ศาลเจ้าคือที่ๆ ผมสามารถหาความสงบได้โดยไม่ต้องทำอะไร
ส่วนใหญ่แล้วศาลเจ้าชินโตในญี่ปุ่นมักจะเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ เข้าไปแล้วก็สงบเงียบ (ยกเว้นศาลเจ้าดังๆ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว) ไม่มีพิธีกรรมอะไรมากมาย คนที่เข้าไปก็แค่ชำระล้างร่างกายด้วยการล้างมือและบ้วนปาก แล้วค่อยไปทำความเคารพแบบเรียบง่าย ยกเว้นแต่ใครต้องการให้ปัดรังควาญหรือทำพิธีมงคลต่างๆ เช่นงานแต่งงาน หรือเด็กเพิ่งเกิด ก็ต้องรบกวนนักบวชในศาลเจ้าช่วยทำพิธีให้อีกทีหนึ่ง แต่โดยปกติแล้วก็แทบจะไม่มีอะไร แค่เข้าไปทำใจให้สงบเท่านั้น จะว่าไปก็อาจจะเหมาะกับสังคมขี้อายแบบญี่ปุ่นนะครับ ที่สามารถเข้าไปทำในสิ่งที่ตัวเองสนใจโดยไม่ต้องสนคนอื่นนัก
แต่สิ่งที่ทำให้รู้สึกสงบจริงๆ ก็คงเป็นธรรมชาติต่างๆ ในศาลเจ้านี่ล่ะครับ โดยเฉพาะต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ในศาลเจ้า หลายต่อหลายต้นใหญ่แบบที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน ผมเคยไปเดินเล่นในศาลเจ้าเมจิ ที่สถานีฮาราจูกุ ใครจะเชื่อว่าแค่ออกจากสถานีแล้วเลี้ยวคนละทางจะต่างกันราวกับคนละโลกแบบนี้ ทางหนึ่งเป็นศูนย์รวมวัยรุ่นแต่งตัวมาแข่งกันอย่างเมามันในตรอกที่เต็มไปด้วยแสงสีและสิ่งกระตุ้น แต่เมื่อหันมาอีกทางหนึ่ง กลายเป็นป่าที่เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ชวนเดินเข้าไปสงบใจ และต้องเดินนานมากเอาเรื่องกว่าจะไปถึงตัววิหารซึ่งก็ช่วยให้สงบจิตสงบใจได้ดี
รอบนี้ผมก็เพิ่งได้ไปศาลเจ้าคาชิมะที่จังหวัดอิบารากิ ก็เจอต้นไม้ใหญ่เต็มไปหมด ที่สำคัญระหว่างทางเดินเข้าไป เจ้าหน้าที่ก็เล่าให้ฟังว่าไม่ได้ทำอะไรกับป่าตรงนี้เลย ปล่อยให้งอกงาม (รก) แบบธรรมชาติแบบนี้ล่ะ จะมีแค่ทางเดิน ที่คนเดินจนต้นไม้ไม่งอกขึ้นมาเท่านั้น เล่นเอาผมต้องลองก้มส่องดูว่ามีต้นไม้อะไรบ้าง แถมต้นไม้ในศาลเจ้าก็มีอายุถึง 1,300 ปีเลยทีเดียว
จะว่าไป ‘ศาสนาชินโต’ ก็ไม่ได้เหมือนศาสนานัก ฟังดูเหมือนวิถีชีวิตซะมากกว่า
ความเชื่อแบบชินโตเน้นไปที่การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ เพราะในธรรมชาติทุกแห่งล้วนแล้วแต่มี ‘คะมิ (神)’ ซึ่งหลายครั้งก็แปลได้ว่า ‘พระเจ้า’ หรือ ‘เทพ’ อยู่บ่อยๆ แต่ คะมิสำหรับชินโตแล้ว ดูเหมือนจะเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติและมนุษย์ จะเรียกว่าเป็น ‘วิญญาณ’ หรือ ‘จิต’ คล้ายๆ กับความเชื่อของศาสนาดั้งเดิม animism ดังนั้นในความเชื่อของชินโต ทุกแห่งและทุกสิ่งล้วนมีวิญญาณอยู่ ชินโตจึงให้ความเคารพต่อต้นไม้ใหญ่ หินใหญ่ ไล่ไปจนกระทั่งเม็ดข้าวหรือเตาไฟ ศาลเจ้าชินโตจึงอยู่คู่กับต้นไม้ใหญ่เสมอ และไม่น่าแปลกใจเลยว่าชินโตก็มีบทบาทในการรักษาธรรมชาติอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว (ใครจะกล้าตัดต้นไม้ในศาลเจ้าล่ะครับ เขาก็มีความเชื่อว่าทำอะไรแบบนี้แล้วจะซวยแบบคนไทยนี่ล่ะครับ)
แต่ก็ใช่ว่าศาสนาชินโตจะเป็นศาสนาโบราณที่อยู่กับธรรมชาติอย่างเดียวมาโดยตลอด ช่วงศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 ศาสนาชินโตก็กลายมาเป็นศาสนาประจำชาติของญี่ปุ่น และกลายเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมในการแผ่ขยายอำนาจไปยังประเทศอื่น ลัทธิทหารส่งพลทหารออกไปรุกรานชาติอื่นโดยอาศัยความเชื่อว่ากำลังปกป้องจักรพรรดิซึ่งสืบสายมาจากเทพเจ้าผู้ก่อตั้งประเทศโดยตรง และเหล่าทหารที่ตายในสงครามก็กลายมาเป็นคะมิเช่นกัน วิญญาณของพวกเขาก็ถูกบูชาอยู่ที่ศาลเจ้ายาสุคุนิ (ศาลเจ้าประเทศปลอดภัย) จนกลายเป็นที่มาของความขัดแย้งกับชาติต่างๆ จนถึงทุกวันนี้ และความเชื่อว่าทหารที่ทำความดีงาม ตายไปแล้วก็จะได้กลายเป็นคะมิ ก็ยังมีกรณีอื่นอีก เช่น กรณีนายพลโนกิ มะเระสุเกะ ที่ปลิดชีพตัวเองตามจักรพรรดิเมจิ หลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์ บ้านของท่านก็กลายมาเป็น ‘ศาลเจ้าโนกิซากะ’ จะว่าคล้ายๆ กับกรณีศาลเจ้ากวนอูก็ว่าได้ครับ
หลังญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงคราม จักรพรรดิประกาศว่าตนเองก็เป็นมนุษย์ธรรมดา มิใช่เทพอะไร (ทำให้ชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยถึงกับช็อกกับความจริงนี้) และชินโตก็ถูกบังคับให้หมดสภาพการเป็นศาสนาประจำชาติของญี่ปุ่น ถูกตัดงบสนับสนุน และญี่ปุ่นก็กลายเป็นรัฐฆราวาสไป ฟังดูก็เป็นเรื่องน่าเป็นห่วง แต่มันก็ทำให้ชินโตได้กลับสู่รากเหง้าที่แท้จริงของการเคารพธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นต้องมีคำสอนหรือการสร้างสิ่งก่อสร้างใหม่ๆ ที่อลังการโดยไม่จำเป็น
เพียงแค่ตระหนักได้ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เมื่อเดินเข้าไปในศาลเจ้าก็จะพบความสงบกับการอยู่กับธรรมชาติ เป็นพื้นที่ที่ให้เราหลบหนีความวุ่นวายจากสิ่งเร้ารอบตัว บางทีนี่ก็อาจจะเป็นรูปแบบการใช้ชีวิตกับศาสนาที่เหมาะกับความเป็นอยู่ของชาวเมืองใหญ่ก็ได้นะครับ