‘นอบน้อม มีระเบียบ ทุ่มเท เอาจริงเอาจัง’ นอกเหนือความคาวาอิแล้ว สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นคุณสมบัติที่ทำให้ชาวโลกนึกถึงอุปนิสัยชาวญี่ปุ่นอย่างไม่ต้องสงสัย ภาพกองเชียร์ที่ร่วมกันเก็บขยะในสนามหลังแข่งเสร็จ หรือภาพถนนหนทางสะอาดสะอ้านเป็นระเบียบมักปรากฏให้เห็นจนกลายเป็นภาพจำของการเป็น ‘คนคุณภาพ’ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คงไม่ได้มาโดยไม่มีที่มาที่ไป แต่เกิดจากการหล่อหลอมยาวนานจนกลายเป็นแบบแผนปฏิบัติทางสังคม โดยต้องเริ่มต้นจาก ‘ห้องเรียนแรก’ ของชาวญี่ปุ่นที่สอดแทรกขนบปฏิบัติในทุกขณะ จนกลายเป็นนิสัยติดตัว
จากงานวิจัยเรื่อง ‘การสร้างคนคุณภาพแบบญี่ปุ่น’ (Japanese ways of molding quality people) ของ ศาสตราจารย์ วรินทร วูวงศ์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พาเราไปสำรวจว่าประเทศญี่ปุ่นผลิตทรัพยากรมนุษย์ของเขาให้ไม่รบกวนสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติอย่างไร แนวคิดแบบไหนที่หล่อหลอมเยาวชนญี่ปุ่นนี้ให้สามารถขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันได้ทั้งประเทศ ไม่ใช่เป็นการขับเคลื่อนในแต่ละสังคมย่อยเพียงบางพื้นที่ แต่ครอบครัว โรงเรียน และสังคมรอบตัวต่างสอนในเรื่องเดียวกัน เป็นผลทำให้การขับเคลื่อนนี้มีประสิทธิภาพ การสอนในโรงเรียนที่มีการฝึกปฏิบัติจริง เป็นการปฏิบัติจนติดตัวไปไม่ใช่เพียงแค่การท่องจำจนขึ้นใจ น่าสนใจว่าโรงเรียนญี่ปุ่นเขาทำอย่างไรกัน
จุดเริ่มต้นความสนใจ
ศ.วรินทร เล่าให้ฟังว่า ในช่วงเวลาที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นยาวนานถึง 8 ปี ความสนใจในประเด็นเรื่องการพัฒนาคนของญี่ปุ่นยังมีไม่มากนัก แต่เมื่อเธอกลับมาใช้ชีวิตในเมืองไทย รวมถึงเจอคำถามจากคนใกล้ชิดอย่างอาจารย์ชาวญี่ปุ่นที่เคยสอนร่วมกันเข้ามาสะกิดความสนใจ
“20 ปีที่แล้ว มีอาจารย์ญี่ปุ่นที่สอนร่วมกันที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขามาคุยว่าทำไมนักศึกษาไทยถึงอ่านแผนที่ ดูทิศทางไม่เป็น เราก็สงสัยว่าแล้วคนญี่ปุ่นดูแผนที่เป็นเหรอ เขาบอกคนญี่ปุ่นดูแผนที่เป็นเป็นเรื่องปกติ ถูกสอนตั้งแต่เด็กแล้ว เราก็เลยเข้าไปดูการสอนที่ญี่ปุ่น ปรากฏว่าเด็กระดับชั้นประถมศึกษาประมาณ ป.3-4 จะมีแผนที่ในท้องถิ่นที่ตนเองอาศัยอยู่ มีแผนที่เมือง แผนที่จังหวัด แผนที่ประเทศ และแผนที่โลกติดกระเป๋าอยู่ พอเวลาครูสอนเกี่ยวกับเรื่องสถานที่ เขาก็ให้เด็กควักแผนที่มาดู มันเป็นการสอนตั้งแต่เด็ก”
นอกจากนี้ยังมีคำถามจากชาวญี่ปุ่นอีกหลายคนที่สอบถามมาว่า “ทำไมคนไทยเป็นแบบนี้” จากข้อสงสัยของชาวญี่ปุ่นที่ใกล้ชิด ทำให้เกิดคำถามว่า “แล้วคนญี่ปุ่น เขาสร้างคนของเขาอย่างไร” ทำให้ ศ.วรินทร หันมาศึกษาการพัฒนาคนของญี่ปุ่น โดยมีงานวิจัยออกมาหลากหลายชิ้น ไม่ว่าจะเป็น ‘การศึกษากับการสร้างคนแบบญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2’ ‘การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์กับการปฏิรูปการศึกษาครั้งที่ 3 ของญี่ปุ่น’ ฯลฯ จนมาถึงงานชิ้นล่าสุด
การศึกษาของญี่ปุ่น
จากประเทศที่พ่ายแพ้สงคราม ท่ามกลางความยากจนของคนในประเทศ แต่ยังสามารถพลิกกลับมาเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่สรรสร้างนวัตกรรมทันสมัยที่ทั่วโลกยอมรับ การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดนี้ต้องยอมรับว่าการสร้างคน ซึ่งเป็นทรัพยากรมนุษย์จากการศึกษาของญี่ปุ่นเป็นกุญแจดอกสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศ
“ญี่ปุ่นให้ความสำคัญของการศึกษามาก ในการปฏิรูปการศึกษาแต่ละครั้งหมายถึงการปฏิรูปการผลิตสินค้า ฉะนั้นจะให้การศึกษาแบบเดิมๆ ไม่ได้ ต้องเปลี่ยน มันมีเป้าหมายชัดเจน” ศ.วรินทรกล่าว
“การศึกษาของญี่ปุ่น ถ้าเราแยกเป็นสองกลุ่มใหญ่ในการสร้างคน ข้อที่หนึ่งคือต้องมีความรู้สูง ข้อที่สองคือต้องเป็นมนุษย์ที่พึงประสงค์ในสังคมของเขา” เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าคุณภาพการศึกษาของญี่ปุ่นอยู่ในระดับท็อปของโลก ยิ่งถ้าวัดจากการประเมินผล PISA การสอบที่วัดความรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่านในเด็กอายุประมาณ 15 ปีหรือที่จบการศึกษาภาคบังคับทุกๆ 3 ปีนั้นประเทศญี่ปุ่นเองก็ได้อันดับที่ดีมาตลอด แต่สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือการให้ความสำคัญกับการเป็น ‘มนุษย์ที่พึงประสงค์ในสังคมญี่ปุ่น’
การเป็นมนุษย์ที่พึงประสงค์ในสังคมญี่ปุ่นกล่าวโดยสรุป คือการมีพฤติกรรมที่เหมาะสมในการอยู่ร่วมกันในสังคม คนที่มีพฤติกรรม หรือมีมารยาทที่ไม่เหมาะสมที่จะอยู่ร่วมกันญี่ปุ่นจะถูกปฏิเสธเข้าร่วมกลุ่ม ซึ่งจากการศึกษาพบว่าญี่ปุ่นเน้นให้สังคมสงบสุข ซึ่งการที่จะเกิดได้นั้น ประชากรในสังคมญี่ปุ่นจำเป็นต้อง ‘เข้มงวดกับตนเอง’ ในทุกๆ เรื่อง จะทำอะไรต้อง ‘ไม่รบกวนคนอื่น ไม่รบกวนธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม’ อันนี้เป็นหัวใจเป็นสำคัญในการปฏิบัติตัวในสังคม
การเข้มงวดกับตนเองถูกนำไปปรับใช้กับทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องใหญ่ๆ ไปจนถึงเรื่องเล็กน้อยที่อาจส่งผลต่อคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตรงต่อเวลา การต่อคิว การไม่ส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น หรือแม้กระทั่งเรื่องการเดินบนบาทวิถี ชาวญี่ปุ่นจะเข้มงวดกับตนเอง เดินทางเดียวอย่างระมัดระวัง ไม่ให้เกะกะคนรอบข้างทั้งซ้ายขวาหน้าหลัง หากเดินริมทางเท้า หลายๆ คนก็จะไม่เดินเรียงหน้ากระดาน แต่จะเข้าแถวเรียง 1-2 แถว เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนที่อาจจะเดินสวนมา
กลุ่มเครื่องมือในการสร้างชาติ
นอกจากการเข้มงวดกับตัวเองแล้ว การศึกษาในโรงเรียนญี่ปุ่นยังปลูกฝัง และให้ความสำคัญกับการตั้งเป้าหมายร่วมกันของคนในชาติผ่านการตั้งเป้าหมายเล็กๆ น้อยๆในห้องเรียนเพื่อสอนให้เด็กที่เติบโตตั้งแต่ชั้นอนุบาลเป็นต้นไปเรียนรู้ที่จะร่วมมือกัน
“เป้าหมายของญี่ปุ่นจะเน้นความร่วมมือ มาร่วมมือทำอะไรกันเถอะ เขาเน้นความร่วมมือ เพราะเขาจะสร้างชาติ สร้างเศรษฐกิจ ถ้าไม่ร่วมมือกันมันทำไม่ได้ แล้วใช้อะไรเป็นเครื่องมือในการเน้นความร่วมมือไปสู่ความสำเร็จ เขาใช้กลุ่ม” ศ.วรินทร กล่าว
กลุ่มในห้องเรียนของเด็กญี่ปุ่นแฝงอยู่ในห้องเรียนมากมาย โดยคนคนหนึ่งไม่ได้อยู่ในกลุ่มใดกลุ่มเดียว แต่เขาจะอยู่ในหลายๆ กลุ่ม ซึ่งกลุ่มก็อาจจะเกิดจากการไปเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการนักเรียน กลุ่มจากการเข้าชมรม กลุ่มเพื่อนในห้องเรียน ซึ่งกลุ่มนี้เองที่เป็นเครื่องมือในการควบคุมผู้คนให้ไม่ออกนอกลู่นอกทางในสิ่งที่สังคมต้องการ
วัฒนธรรมการอยู่รวมกลุ่มกันตั้งแต่เล็กจึงสร้างนิสัยให้ชาวญี่ปุ่นมักใช้วิธีการเดาใจเมื่ออยู่รวมกัน หรือคาดคะเนความรู้สึกของคนในกลุ่มโดยปราศจากคำพูด แต่อย่างไรก็ดีการอยู่รวมกลุ่มกันก็มี ‘ข้อเสีย’ โดยเฉพาะเมื่อชาวญี่ปุ่นเอาไปใช้กับคนต่างชาติ คนญี่ปุ่นไม่ค่อยพูดเวลาร่วมงานกับคนต่างชาติ นึกว่าคนต่างชาติควรจะรู้ ทำให้การทำงานอาจเป็นไปอย่างยากลำบาก และการที่เป็นกลุ่มมากเกินไปทำให้คนญี่ปุ่นจะไม่ค่อยแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง ดาวเด่น ซูเปอร์แมน ซูเปอร์เกิร์ลจึงไม่เกิดในสังคมญี่ปุ่น เพราะว่าทุกคนจะคอยดูท่าทีของคนอื่นเพื่อแสดงความคิดเห็นที่สอดคล้องกัน นอกจากนี้ผลร้ายของการเป็นกลุ่มที่สุดโต่งเกินไป คืออาจจะเกิดเคสการฆ่าตัวตายของเด็ก เพราะว่าเขาถูกกลั่นแกล้ง หรือกีดกันออกจากกลุ่ม
แต่ไม่ใช่เพียงแค่กลุ่มเท่านั้นที่ใช้ในการหล่อหลอมคนของญี่ปุ่น ยังมีกิจกรรมในห้องเรียนอย่างการทำความสะอาด การแยกขยะ การรับประทานอาหารร่วมกัน ที่ปลูกฝังให้พวกเขาเป็นคนคุณภาพ โดยการสอนผ่านผู้นำอย่างคุณครูในห้องเรียนที่สอนถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่าง วิธีล้างมือ วิธีเดิน วิธีนั่งที่ถูกต้อง การถือของ การจับตะเกียบ การจับไม้กวาด การพับผ้าขี้ริ้วในการทำความสะอาดห้องเรียน การกวาดห้อง การเช็ดห้อง และการตรวจดูว่ามีอะไรบกพร่องหรือไม่ อีกสิ่งที่น่าทึ่งของญี่ปุ่นคือ โรงเรียน ครอบครัว สังคม สามสถาบันนี้ต่างก็สอนในเรื่องเดียวกัน สิ่งเหล่านี้ถูกบ่มเพาะตั้งแต่ชั้นอนุบาลเป็นต้นไปทำให้นิสัยเหล่านี้ติดตัวคนญี่ปุ่นจนนำไปปฏิบัติใช้จริง
มองย้อนกลับมาไทย
“วิถีแบบไทยๆ เราก็เข้าใจ แต่ว่าวิธีแบบนี้มันไม่เป็นสากล ถ้าเราอยู่เดี่ยวๆ ไปตามธรรมชาติเราก็อาจจะโอเค แต่ตอนนี้มันเข้าสู่ระบบสากล เด็กรุ่นใหม่ไม่ได้อยู่ในประเทศไทยประเทศเดียว” ศ.วรินทร ให้เหตุผลว่าเหตุใดประเทศไทยถึงควรเรียนรู้การพัฒนาคนของประเทศญี่ปุ่นมาปรับใช้กับการสร้างคนรุ่นใหม่ในประเทศไทย เพราะหลายครั้งที่คำว่า “นิดหน่อยน่า” อาจจะใช้ไม่ได้เสมอไป
“คนญี่ปุ่นจะเน้นการปฏิบัติจนติดกาย ของไทยเน้นท่องจำจนขึ้นใจ เช่น เด็กเอ๋ยเด็กดี” เป็นการปลูกฝังคุณลักษณะที่ดีที่แตกต่างกันระหว่างสองประเทศ โดยอาจารย์มองว่าปัญหาของไทยคือเน้นการท่องจำ แต่อาจขาดการทำจริงจนเป็นนิสัย เฉกเช่นเดียวกับการอบรมสัมมนาพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่คนไทยอาจจะปฏิบัติ เมื่ออยู่สถานที่นั้นเพราะมันเป็นกฎ แต่เมื่อได้ก้าวออกจากตรงนั้นก็ปฏิบัติเหมือนเดิม นอกจากนี้ปัญหาในการพัฒนาคนของไทย คือโรงเรียนไม่ได้สอนเหมือนกันในทุกแห่ง บางโรงเรียนสอน บางโรงเรียนไม่ได้สอน ไม่ได้เป็นระบบเดียวกันทั้งประเทศ โรงเรียนสอนอย่างหนึ่ง สังคมสอนอีกอย่าง พ่อแม่ก็สอนอีกแบบหนึ่ง มันไม่ผสานกัน สิ่งเหล่านี้คือจุดอ่อนของการสร้างคนคุณภาพของประเทศไทย
แม้จะมีจุดอ่อน แต่ ศ.วรินทร มองว่าหากรัฐบาลไทยเอาจริงในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ก็น่าจะมีผลลัพธ์ที่ดี ตัวอย่างเช่น การสอนเรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ก็สอนสำเร็จในระดับประเทศ จากการศึกษาจึงมีข้อเสนอแนะ 5 ข้อในเรื่องที่เห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สังคมไทยควรตระหนักอย่างจริงจัง เพื่อประโยชน์ในการอยู่ร่วมกันในสังคม และประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอันได้มาจากการถอดบทเรียนการพัฒนาคนคุณภาพของญี่ปุ่น ได้แก่เรื่อง การตรงต่อเวลา การทิ้งขยะ การทำความสะอาด การเคารพต่อกฎระเบียบ และการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งข้อเสนอแนะเหล่านี้ต่างเริ่มต้นในห้องเรียน
“เพราะมีความเชื่อว่าการสร้างคนให้มีคุณภาพมันต้องเริ่มต้นมาจากอนุบาล มันต้องเริ่มต้นมาจากโรงเรียน ไม่ค่อยมีความเชื่อว่าการจัดอบรมทรัพยากรมนุษย์ พัฒนาศักยภาพการทำงานของคนในองค์กรจะประสบความสำเร็จ เพราะไปฟังก็สนุกดี เฮฮากัน พอกลับบ้าน พฤติกรรมก็เหมือนเดิม สิ่งเหล่านี้ต้องสอนต่อเนื่องกันในระยะเวลายาวนาน” การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระยะยาวต้องเริ่มต้นจากนโยบายที่ออกผ่านกระทรวงศึกษาธิการ เริ่มจากในโรงเรียนก่อนจะขยับขยายไปยังที่อื่น เมื่อเด็กกลับบ้าน ครอบครัวก็ควรรับแนวทางจากโรงเรียนนำไปปฏิบัติต่อในการสั่งสอนบุตรหลาน สังคมก็จะเต็มไปด้วยคนคุณภาพ
แน่นอนว่าการนำแนวคิดการหล่อหลอมคนแบบญี่ปุ่นทั้งหมดเข้ามาใช้ในสังคมไทย ไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก เนื่องจากทั้งสองประเทศต่างก็มีบริบท และภูมิหลังที่แตกต่างกัน บางเรื่องเป็นพฤติกรรมเฉพาะตามวิถีแบบญี่ปุ่น บางเรื่องเป็นอัตลักษณ์ของคนไทยที่ควรจะรักษาไว้ แต่ก็มีบางพฤติกรรมที่เป็นพฤติกรรมสากลซึ่งประพฤติปฏิบัติกันเป็นเรื่องปกติในประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งประเทศไทยสามารถเรียนรู้จากการถอดบทเรียนหล่อหลอมคนจากประเทศญี่ปุ่น
พฤติกรรมที่เหมาะสมในการอยู่ร่วมกันในสังคมหลายเรื่องมีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วย จึงจำเป็นที่จะต้องปลูกฝังให้เป็นระบบและครอบคลุมทั้งประเทศ เป็นเรื่องสำคัญทางนโยบายที่ผู้นำประเทศไทยต้องคิดคำนึงเพื่อพัฒนาประเทศในระยะยาว นอกเหนือไปจากการแก้ปัญหาปากท้อง
ขอขอบคุณ
ศาสตราจารย์ วรินทร วูวงศ์
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)