“โป๊มั้ยพี่?”
วัยรุ่นยุค 90s ตัวจริงคงต้องเคยได้ยินประโยคนี้มาแล้ว ในยุคที่อินเทอร์เน็ตยังไม่แพร่หลาย รูปรูปหนึ่งใช้เวลาโหลดประมาณกาแฟหายร้อน เด็กหนุ่มยุคนั้นก็เลยต้องอาศัยพึ่งพาหนังสือโป๊ (หรือจริงๆ คือนิตยสาร) ที่เป็นที่นิยมในช่วงยุครุ่งเรือง ไม่ว่าจะตั้งแต่เล่มละหลักสิบแบบมีภาพสีสลับกับเรื่องเล่าแบบ ไทยเพลย์บอย หรือ นางนวล ยาวไปถึงแบบสี่สีอาบมันทั้งเล่มขายกันราคาเล่มละสองร้อยขึ้น
แต่พออินเทอร์เน็ตบูม บวกกับยุคฟองสบู่แตก คนก็เลยเลิกสนใจ หนังสือหลายหัวเลยค่อยๆ ล้มหายตายจาก ถึงขนาดที่ทุกวันนี้กลายเป็นของหายากไป ชนิดที่ว่าตอนผมเจอที่แผงหนังสือเมื่อสองปีก่อนยังต้องซื้อเก็บไว้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเทรนด์ของวงการสิ่งพิมพ์ด้วย หนังสือโป๊ก็เลยได้รับผลกระทบก่อนชาวบ้านนี่ล่ะครับ
ส่วนในญี่ปุ่น เมื่อเดือนก่อนก็มีข่าวฮือฮาว่าสามร้านสะดวกซื้อเจ้าใหญ่ของญี่ปุ่น ทั้ง Seven-Eleven, Family Mart และ Lawson ก็ออกมาประกาศว่า จะเลิกวางขายหนังสือโป๊ในร้านของตัวเอง เพื่อเตรียมตัวต้อนรับการแข่งโอลิมปิกที่โตเกียวในปีหน้า โดยใช้ฤกษ์ในการเลิกขายคือช่วงเดือนสิงหาคมปีนี้ก่อนมีงานแข่งรักบี้ ก็เล่นเอาคนฮือฮากัน หลายคนก็เล่นมุกตลกๆ ว่า เดี๋ยวไปหาที่อื่นแทน บางคนก็บอกว่า เสน่ห์ของร้านสะดวกซื้อสำหรับชาวต่างชาติก็คือหนังสือโป๊สิ
แต่สำหรับผู้ผลิตหนังสือโป๊ของญี่ปุ่นหรือที่เรียกกันว่า Ero Hon
(มาจาก Erotic และ 本ーHon ที่แปลว่าหนังสือ)
นี่อาจจะเป็นการตอกตะปูลงบนฝาโลงของจริงก็ได้ครับ
ชาวไทยโดยเฉพาะหนุ่มๆ ที่เสพสื่อบันเทิงลามกทั้งหลายของญี่ปุ่น ก็คงจะรู้ดีว่าหนังเอวีหรือหนังโป๊ของญี่ปุ่นนั้นมีปริมาณมากมายมหาศาล มีอัพเดตให้ดูรายวัน มีดาราดังๆ ปล่อยงานออกรัวๆ และการที่ญี่ปุ่นขายหนังสือโป๊ในร้านสะดวกซื้อกันง่ายๆ แบบนี้ ก็แสดงว่าวงการบ้านเขาต้องรุ่งเรืองแน่ๆ
แต่จริงๆ แล้ว วงการหนังสือโป๊ญี่ปุ่นก็เข้าสู่ช่วงซบเซามาหลายปีแล้ว แม้จะยังมีขายในร้านสะดวกซื้อจนถึงทุกวันนี้ก่อนที่จะหายไปในไม่ช้า แต่จริงๆ แล้ว มันก็เป็นเพียงซากศพที่ไม่ยอมตายของหนังสือโป๊จากยุครุ่งเรื่องเมื่อต้นยุค 90s คืออยู่แบบไปวันๆ รอวันตายที่แท้จริงเท่านั้น
เมื่อย้อนกลับไปในยุครุ่งเรือง หนังสือโป๊ญี่ปุ่นก็ไม่ค่อยต่างกับหนังสือโป๊ไทย คือมียุครุ่งเรืองถึงสมัย 90s ตอนต้น ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจยังดีอยู่ ในยุคนั้นยังขายหนังสือโป๊กันในร้านสะดวกซื้อ บวกกับแผงหนังสือแบบที่เราคุ้นตากันในอดีต
วงการหนังสือโป๊มันเคยรุ่งเรืองได้ขนาดที่ว่า การผลิตหนังสือโป๊ก็ไม่ต่างกับนิตยสารอื่นๆ ที่มีบรรณาธิการคอยดูแลเรื่องเนื้อหาในเล่ม แต่ละเล่มก็มีการถ่ายแบบของตัวเอง โดยแต่ละเล่มก็ต้องมีการโปรดิวซ์ว่าจะถ่ายรูปออกมาแนวไหน เขียนข้อความประกอบอย่างไร เพื่อให้คนอ่านอ่านแล้วอิน จินตนาการตามอย่างเพลิดเพลิน
วงการหนังสือโป๊ญี่ปุ่นเองก็รุ่งเรืองขนาดที่สร้างนิตยสารดังเช่น Dera Beppin ทำยอดขายได้อย่างมากมาย แต่ละเล่มมีงบในการจัดทำหลักล้านเยน นอกจากนี้ก็มีช่างภาพเฉพาะทางมืออาชีพมากมายที่เข้าวงการด้วยการเป็นช่างภาพหนังสือโป๊โดยเฉพาะ เป็นยุคที่คำว่า ‘แฮร์นู้ด’ หรือ ภาพโป๊ที่ถ่ายเห็นขนในที่ลับนั้นถูกต้องตามกฎหมายญี่ปุ่นและเป็นที่นิยมอย่างมาก แถมรายรับของนิตยสารไม่ได้มาจากยอดขายเท่านั้น แต่ยังมาจากการขายโฆษณาให้กับบริการหาคู่ต่างๆ ซึ่งยุคนั้นก็ยังต้องอาศัยโทรศัพท์เป็นหลัก (แน่นอนว่าบริการแบบนี้ก็ค่อยๆ ล้มหายตายจากไปเช่นกัน จากที่เคยมีโฆษณาติดเต็มตู้โทรศัพท์สาธารณะ ตอนนี้ก็หายไปพร้อมๆ กับตู้โทรศัพท์นั่นล่ะครับ) ส่วนคนที่อยู่ในวงการสิ่งพิมพ์ทุกวันนี้ ก็มีหลายคนที่เข้าวงการจากการทำงานให้กับหนังสือโป๊ ก่อนจะเก่งกล้าออกไปผจญภัยในวงการอื่น
แต่ก็เช่นเดียวกับงานเลี้ยงที่ต้องมีวันเลิกรา
หนังสือโป๊ญี่ปุ่นที่เคยพบยุครุ่งเรืองก็ต้องเจอยุคเสื่อมถอย
ก่อนจะเลิกวางขายในร้านสะดวกซื้อไปในที่สุด
ในยุค 90s แม้หนังสือโป๊จะเป็นแหล่งรายรับสำคัญของร้านสะดวกซื้อ แต่ก็ยังมีการตักเตือนผู้ผลิตเป็นระยะว่าหนังสือโป๊ที่วางขายมันหวาดเสียวเกินไป ขอให้ลดความโหดสัสลงบ้าง และพออินเทอร์เน็ตเริ่มเข้ามา คนก็เริ่มหาคอนเทนต์แบบเดียวกันได้ง่ายขึ้น จนหนังสือโป๊ค่อยๆ ลดความสำคัญลง
ในขณะที่หนังสือโป๊ถูกแยกไปไว้เป็นสัดส่วนต่างหาก ก็มีนิตยสารประเภทหนังสือวาบหวิวที่เน้นขายนางแบบกราเวียร์ไอดอลในชุดว่ายน้ำ ไม่ดิบเถื่อนแบบหนังสือโป๊ ซึ่งเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงต้นยุค 2000 ก็ได้สร้างนางแบบกราเวียร์ไอดอลไว้จำนวนมากมาย (อ่านบทความเก่า ยุคน้ำแข็งของวงการ ‘กราเวียร์ไอดอล’ ) ซึ่งนิตยสารเหล่านี้ใช้นางแบบวัยรุ่น ดูสดใส งานอาร์ตก็ดูทันสมัยกว่า แถมด้านในก็แอบแทรกเนื้อหาโป๊เปลือยบ้างโดยให้แกะดูเองทีหลัง ทำให้วางแผงร่วมกับนิตยสารทั่วไปได้ รวมไปถึงนิตยสารรายสัปดาห์ที่มีทั้งเรื่องการเมือง เรื่องฉาวดารา แล้วมีการแทรกรูปนางแบบโป๊ก็ขายดีขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของหนังสือโป๊ที่ค่อยๆ เสื่อมความนิยมลง
เท่านั้นยังไม่พอ ในช่วงต้นยุค 2000 อิชิฮาระ ชินทาโร่ ผู้ว่าการกรุงโตเกียวในขณะนั้น ก็พยายามสร้างโตเกียวที่ ‘สะอาดขึ้น’ ด้วยการบังคับให้หนังสือโป๊ต้องแพ็คให้เป็นสัดเป็นส่วน จะเปิดอ่านในร้านสะดวกซื้อไม่ได้อีกแล้ว อยากดูก็ต้องหยิบไปจ่ายเงินซื้อด้วยตัวเอง ซึ่งดูเหมือนจะดีว่าทำให้คนต้องซื้ออ่าน แต่จริงๆ มันทำให้ภาพลักษณ์ของหนังสือโป๊แย่ลง และคนก็เลี่ยงที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับหนังสือโป๊มากขึ้นเรื่อยๆ
ส่วนตู้ขายหนังสือโป๊อัตโนมัติ หนึ่งในของชื่อดังที่ชาวต่างชาติเคยฮือฮาก็ค่อยๆ หายไปเรื่อยๆ ขนาดที่มีคนไปทำสกู๊ปตามดูว่าจังหวัดไหนไม่มีตู้ขายหนังสือโป๊อัตโนมัติแล้วบ้าง (เอาจริงๆ ตั้งแต่ผมไปเรียนที่ญี่ปุ่นจนถึงทุกวันนี้ก็เคยเห็นแค่ครั้งสองครั้งเอง คงเพราะไม่มีคนซื้อนั่นล่ะครับ) ร้านหนังสือขนาดเล็กก็หายไปเรื่อยๆ เหลือแต่ร้านใหญ่ที่ไม่ยอมรับหนังสือโป๊มาขายอีกต่อไป กลายเป็นว่าช่องทางการขายก็เลยหายไปเรื่อยๆ นั่นเอง
กระแสลมที่โหมพัดใส่วงการหนังสือโป๊ ทำให้รายรับลดลงเรื่อยๆ
จากที่เคยมีกองบรรณาธิการหลายคน ก็เหลือแค่คนเดียวแถมไม่มีงบสำหรับถ่ายแบบด้วยตัวเอง คุณภาพงานก็ลดต่ำลงเรื่อยๆ งบการจัดทำแต่ละเล่มก็เหลือแค่หลักแสนเยน ส่วนอายุของคนอ่านก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เด็กรุ่นใหม่ก็ไม่ได้สนใจหนังสือโป๊แล้ว มีแต่คนวัยกลางคนที่ไม่คุ้นกับเทคโนโลยี ไม่ถนัดใช้อินเทอร์เน็ตที่ยังคงต้องพึ่งพาหนังสือโป๊อยู่ ก็ไม่แปลกที่วงการจะซบเซาขนาดนี้ ซึ่งหนทางในการเอาตัวรอดของพวกเขาก็คือ การปรับตัวเป็นหนังสือโฆษณาหนังเอวีแทนครับ
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า วงการหนังเอวีญี่ปุ่นก็ยังคงรุ่งเรือง ผลิตผลงานออกมาจำนวนมากอยู่ เมื่อเทียบกับหนังสือโป๊แล้วก็เหมือนกับเดินสวนกันคนละทาง ซึ่งวิธีเอาตัวรอดของหนังสือโป๊ก็คือ รับคอนเทนต์จากผู้ผลิตหนังเอวีมารวมเป็นเล่ม ไม่ว่าจะรูปถ่ายดาราหนังเอวี หรือตัวอย่างหนังเอวีที่ถูกนำมารวมเป็นคลิปสั้นๆ ในแผ่นดีวีดี (ครับ เชยขนาดยังแถมดีวีดีได้ ไม่ใช่ให้ลิงก์ไปดูในเว็บ) ทั้งหมดก็เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการจัดทำเนื้อหาลง แน่นอนว่าสำหรับผู้ที่รักหนังสือโป๊แบบคลาสสิก นี่คือการลดทอนคุณค่าของงานลงเพื่อให้อยู่ต่อได้ไปเรื่อยๆ เท่านั้น จนไม่ต่างอะไรกับซอมบี้ที่ร่างกายยังเหลืออยู่แต่ไม่มีวิญญาณอีกต่อไปแล้ว
ที่น่ากลัวยิ่งกว่าเดิมคือ ผู้ให้บริการหนังโป๊ออนไลน์เจ้าใหญ่ยักษ์อย่าง DMM (จริงๆ ทำหลายอย่างแต่คนไทยคงคุ้นกับหนังโป๊ที่สุด) ก็เริ่มไม่เห็นคุณค่าของหนังสือโป๊ ไม่ได้มองว่าเป็นสื่อที่ช่วยโปรโมทอะไรได้มากเท่าเดิม จึงเริ่มไม่ส่งรูปหรือคลิปตัวอย่างให้บริษัทหนังสือโป๊แล้ว ก็เล่นเอาวงการนี้หืดขึ้นคอกว่าเดิม
แต่ก็ยังมีร้านสะดวกซื้อนี่ล่ะครับที่เป็นเหมือนโอเอซิสแหล่งสุดท้าย
ให้หนังสือโป๊ยังพอมีที่ทางอยู่
แม้จะโดนเงื่อนไขต่างๆ ที่เข้มงวดขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อยอดขายตกลง ร้านสะดวกซื้อก็ไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องง้อหนังสือโป๊แบบเดิมอีกแล้ว
เอาเข้าจริงๆ ยิ่งร้านสะดวกซื้อพัฒนาขึ้นไปแค่ไหน มุมขายหนังสือโป๊ก็ยิ่งเหมือนซากฟอสซิลหลงยุคขึ้นทุกวัน ที่ผมไม่เข้าใจคือ เขาพยายามเอาหนังสือโป๊ไปวางไว้ตรงขอบของมุมขายหนังสือ แต่ปัญหาคือ ที่วางอยู่ก่อนนั้นเป็นพวกนิตยสารมังงะ ที่มีมังงะสำหรับให้เด็กอ่านวางอยู่ด้วย ก็ไม่รู้ว่าใช้ตรรกะอะไรในการจัดชั้นวางนะครับ เลยไม่แปลกใจที่นับวันยิ่งมีเสียงร้องเรียนให้เอาหนังสือโป๊ออกไปจากร้านหนังสือ เพราะมันอยู่ในระยะสายตาที่เด็กเห็นได้
แล้วยุคปัจจุบัน ค่านิยมก็เปลี่ยนไปเยอะ ไม่ว่าใครก็อยากปกป้องลูกตัวเองจากสิ่งเหล่านี้ครับ นี่ผมเดินเข้าร้านสะดวกซื้อเล่นๆ เจอหนังสือโป๊แต่ละเล่มก็ได้แต่เหนื่อยใจ เพราะพาดหัวไว้หราเช่น ‘รวมภาพใต้กระโปรงสาวออฟฟิศ’ ‘สาวกะทิที่เร่าร้อน’ ‘แม่บ้านเปลี่ยวขี้เหงา’ ถ้าลูกผมเห็นคำเหล่านี้แล้วมาถามว่าแปลว่าอะไรคงเหนื่อยใจครับ
และถึงกระแสการแบนหนังสือโป๊ของร้านสะดวกซื้อเครือใหญ่จะมาในปีนี้ แต่จริงๆ แล้ว สัญญาณก็เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2017 เมื่อร้านสะดวกซื้อ Ministop เป็นเจ้าแรกที่ออกมาประกาศเลิกขายหนังสือโป๊ แม้จะเป็นร้านสะดวกซื้อที่ไม่ใช่เครือใหญ่เท่าอีก 3 เจ้า แต่ก็เป็นสัญญาณที่น่ากลัวไม่น้อย เพราะว่าต้นสังกัดของ Ministop คือ Aeon เครือห้างสรรพสินค้าเจ้าใหญ่ของญี่ปุ่นที่ต้องการสร้างภาพลักษณ์ที่เหมาะกับครอบครัว เป็นเจ้าแรกๆ ที่มีพื้นที่นั่งกินในร้าน เพื่อให้ครอบครัวนั่งพักผ่อน (และซอฟต์เซิร์ฟของเจ้านี้ก็อร่อยดีครับ แฮ่)
พวกเขาคิดว่าถ้าเด็กๆ เจอนิตยสารแบบนี้ก็คงไม่ดี เลยตัดสินใจเอาออกจากร้านไปเลย และทุกวันนี้ ร้านสะดวกซื้อหลายเจ้าก็เริ่มพัฒนาไปในแนวทางเดียวกัน เหมือนกับว่า แทนที่จะหวังยอดขายจำนวนไม่มากจากสินค้าเฉพาะทางแบบหนังสือโป๊ ก็หันมาทำให้ร้านเหมาะกับคนทุกวัยมานั่งเล่นได้ ซึ่งดูจะสามารถทำรายรับได้มากกว่า จึงไม่แปลกที่หนังสือโป๊จะถูกตัดหางปล่อยวัดแบบนั้น
ดังนั้น การที่ร้านสะดวกซื้อต่างๆ ล้มเลิกการวางหนังสือโป๊ในร้าน สำหรับพวกเราอาจจะเป็นแค่เรื่องโจ๊กกันเล่นๆ (เอาเข้าจริงๆ ชาวต่างชาติที่ซื้อของพวกนี้กลับประเทศก็มีไม่มากขนาดรันวงการอยู่แล้ว) แต่สำหรับผู้ผลิตหนังสือโป๊ทั้งหลาย นี่คงเป็นการตัดขาดช่องทางทำมาหากินสุดท้าย หลังจากที่เคยรุ่งเรืองมานาน ซึ่งก็ไม่แปลกอะไรหรอกครับ มีรุ่งก็ต้องมีร่วง แต่ถึงหนังสือโป๊จะหายไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนจะเลิกเสพคอนเทนต์แบบนั้น เพียงแต่ว่ารูปแบบมันเปลี่ยนไปเท่านั้นเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://ddnavi.com/news/305954/
https://www.cyzo.com/2017/11/post_143693_entry.html/amp