แม้มีความพยายามฟื้นฟูภิกษุณีในไทยอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายทศวรรษ แต่ก็เต็มไปด้วยอุปสรรคกีดกันกลั่นแกล้งต่างๆ นานา ทั้งทางกฎหมายและปฏิบัติการทางสังคม ขณะเดียวกันก็ถูกทำให้เชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ในโลกพุทธปัจจุบัน เพราะไม่ว่าจะอ้างพระไตรปิฎกหรือย้อนไปถึงพุทธกาลอย่างไร ศาสนาพุทธก็คือพื้นที่และสถาบันผู้ชายอยู่วันยังค่ำ การมีนักบวชหญิงสอนศาสนาได้เช่นเดียวกับผู้ชายย่อมสั่นคลอนสถานะที่สูงกว่าของผู้ชาย
แม่ชีจึงเป็นเพียงโอกาสหนึ่งที่จะใกล้ชิดพระพุทธศาสนามากขึ้นไปอีกก้าว และพอจะเป็นอีกพื้นที่ที่ศาสนาพุทธชายเป็นใหญ่ของไทยจะเจียดพื้นที่ให้บ้าง
แต่อย่างไรก็ตาม พวกเธอก็ยังได้รับการยกย่องน้อยกว่าพระสงฆ์ คนไม่นิยมทำบุญเท่าพระ เพราะชาวบ้านเชื่อว่าได้บุญน้อยกว่าทำกับพระ[1] เป็นเพียงตำแหน่งนึ่งที่ทำหน้าที่รับใช้ปรนนิบัติบริการพระสงฆ์ ช่วยงานวัดงานบุญ อย่างไม่เป็นกิจลักษณะ สัปเหร่อ กับเด็กวัด บทบาทหน้าที่ชัดเจนกว่า ภายใต้คำปลอบใจที่ว่าไม่เพศไหนก็บรรลุธรรมได้เหมือนกัน หรือ ‘การบวชใจ’ แทนการได้เป็นนักบวช
จะมีไม่กี่วัดที่ยอมรับแม่ชีออกหน้าออกตา ดูเป็นบุคลากรสำคัญของสถาบันนั้นๆ เช่นวัดธรรมกาย แต่ก็นั่นแหละ ธรรมกายก็ไม่ใช่วัดที่ได้รับการยอมรับจากสังคมกระแสหลักอีกที
สถานภาพของพวกเธอจึงไม่เป็นที่ยอมรับในทางโลกของศาสนาและโลกย์ของคนทั่วไป นักบวชก็ไม่ใช่ฆราวาสก็ไม่เชิงอยู่ในสภาวะลูกผีลูกคนในสายตารัฐ ไม่ได้รับบริการความสะดวกเหมือนนักบวชทั่วไป กระทรวงคมนาคมไม่ได้ยอมรับในฐานะนักบวชซึ่งจะได้ลดหย่อนค่าเดินทางเหมือนพระสงฆ์ การจะได้ลดหย่อนก็ขึ้นอยู่กับอัตวิสัยของแต่ละคนเก็บตังเอง กระเป๋ารถเมล์บางคนก็ถือว่าให้นั่ง seat นักบวชเป็นการทำบุญไป แต่พวกเธอก็ไม่ได้ลดค่ารักษาพยาบาลเพราะกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ตีความให้เป็นนักบวช ที่ตีความเธอเป็นนักบวชก็คือกระทรวงมหาดไทย ที่ไม่ให้พวกเธอมีสิทธิ์เลือกตั้ง และไม่สามารถทำนิติกรรมและธุรกรรมได้[2] ให้พวกเธออยู่กับธรรมะไปไม่ต้องมาข้องแวะกับทางโลกย์ ลงทะเบียนรับเงินสวัสดิการแห่งรัฐ หรือทะเบียนคนจนก็ไม่ได้ และในขณะที่มีการสำรวจสถิติภิกษุ สามเณร พวกเธอไม่มีตัวตน แม้แต่สำนักงานสถิติแห่งชาติก็ไม่ได้จัดเก็บสถิติแม่ชีขณะที่เก็บข้อมูล ภิกษุ สามเณร แยกตามนิกายตามจังหวัด ราวกับว่าพวกเธอไม่มีความสำคัญพอที่จะชี้ภาวะทางสังคมใดๆ ไม่แม้จะมีตัวตนในสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่การเก็บข้อมูลพื้นฐานมีเพียงการเก็บข้อมูลพื้นฐานทางพระพุทธศาสนา ไม่มีการเก็บข้อมูลแม่ชี เหมือนบรรดาพระเณรทั้งหลาย มีเพียงเก็บสถิติแม่ชีชาวต่างชาติที่มาพำนักอาศัยในประเทศเท่านั้น[3]
สถานะที่ไม่ชัดเจนกำกวมของแม่ชี ก่ำกึ่งระหว่างนักบวชกับผู้หญิงธรรมดา เพียงแค่นุ่งขาวห่มขาว โกนผม โกนคิ้ว รักษาศีล 8 ข้อ ไม่กินข้าวเย็น ไม่ฟ้อนรำขับร้อง ไม่ใช้เครื่องหอมเครื่องประดับ ไม่นั่งนอนบนตั่งเตียงเท่านั้น แต่ปรากฎว่าก็มีท่าทีตะขิดตะขวงและเต็มไปด้วยเงื่อนไขเมื่อต้องนั่งข้างผู้ชายเมื่อใช้บริการขนส่งมวลชน ยิ่งผลักดันให้เธอกลายเป็นปัญหาสังคมมากกว่าจะเห็นว่าเธอคือผลกระทบจากโครงสร้างชายเป็นใหญ่ต่างหาก ที่ยังไม่ยอมรับว่าผู้หญิงจะสามารถเป็นนักบวชได้ เช่นเดียวกับที่พุทธไทยไม่ต้อนรับการมีอยู่ของภิกษุณี
ด้วยสถานภาพที่มีอย่างจำกัดจำเขี่ยและลักลั่น พวกเธอจึงต้องอยู่ในภาวะพึ่งพิง แม่ชีส่วนใหญ่มักถูกมองว่าบ้านจน ไม่อยากเป็นภาระลูกหลาน หรือลูกหลานไม่เลี้ยง, ไร้อาชีพ ไร้บ้านมาเป็นขอทาน อาศัยวัดช่วยงานในวัดประทังชีวิต ไม่เช่นนั้นก็ชีวิตชีช้ำกะหล่ำปลีจึงต้องบวชชี, หนีภัยเมียหลวงตามราวี, อกหักรักคุด หาผัวไม่ได้ หรือไม่ก็ถูกผัวทิ้ง เป็นที่เลียแผลใจ
แม้จะมีวัด หรือ ‘วัตร’ สำหรับภิกษุณีแล้ว แต่ผู้หญิงหลายคนก็เลือกที่จะบวชชีมากกว่า ไม่เพียงเพราะแบกรับข้อบังคับศีลที่น้อยกว่า แต่เพราะต้องเผชิญแรงเสียดทานน้อยกว่า เนื่องจากแม่ชีเป็นที่คุ้นชินและได้รับส่วนเมตตาจากพระสงฆ์ผู้ชายมากกว่า ขณะที่การบวชภิกษุณี มีภาพของความหัวก้าวหน้าและเฟมินิสม์ ท้าทายโครงสร้างชายเป็นใหญ่ในประเทศมากกว่าจะสยบยอมหรือขอเศษส่วนใต้ร่มกาสาวพัสตร์จากชายเป็นใหญ่
และด้วยเสรีภาพในการเผยแผ่คำสอนศาสนาและเป็นอิสระจากรัฐ จึงมีทั้งแม่ชีที่ใส่บาตรให้พระ หรือเดินบิณฑบาตเอง มีทั้งอาศัยวัดอยู่ สร้างชุมชนเฉพาะในเขตธรณีสงฆ์ ตั้งเป็นองค์กรสำนักชีเอง หรืออยู่ภายในบ้านส่วนบุคคล มีทั้งเป็นขอทาน เป็นจิตอาสา เป็นผู้นำระดมทุนสร้างสาธารณูปโภค นักพัฒนาสังคม นักสังคมสงเคราะห์สาธารณกุศล นักธุรกิจวิปัสสนากรรมฐาน นักธุรกิจพระเครื่อง เป็นไลฟ์โค้ชโดยยึดโยงกับคำสอนในนามพุทธศาสนา
ขณะเดียวกันก็ชดเชยสถานะของตนเองด้วยการเป็นแม่ชีอ่านกรรม ระลึกชาติ ถอดจิต แก้กรรมแก้เวร มีอภินิหารนอนบนผิวน้ำ ไปจนถึงเหาะเหินเดินหาวขึ้นไปปัดนิวเคลียร์ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้
ขณะเดียวกันสำนักปฏิบัติธรรมของแม่ชีที่แยกตนเองออกมาต่างหากจากวัด ไม่ใช่แค่เพื่อจะได้ไม่ปะปนกับพวกภิกษุที่เป็นผู้ชาย แต่ยังหลีกเลี่ยงการถูกกดทับจากสถาบันชายเป็นใหญ่ ก็ได้กลายเป็นอีกรูปแบบนึงของการเข้าสมาคมสโมสร เป็นที่พักร้อนทางโลกย์ของไฮโซกระฎุมพีที่พอจะมีงานอดิเรกหรือเวลาว่างมาปฏิบัติธรรมในศาสนสถานเพื่อสะสมทุนทางบารมี เป็นที่พักใจของดารา กลายเป็นอีกชุมชนหนึ่งของแม่ชีที่ต่างจากแม่ชีตามวัดวาอาราม
อย่างไรก็ตาม มีความพยายามยกระดับภาพลักษณ์แม่ชีให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและยาวนาน (พอๆกับการกีดกันการบวชภิกษุณี) เช่น ในปี 2512 มีการสถาบันแม่ชีไทย ที่พยายามเป็นการยกระดับสถานภาพและสวัสดิการแม่ชี ไปพร้อมกับจัดระเบียบและจดทะเบียนแม่ชี เพื่อกำจัด ‘นักบวชปลอม’ และแม่ชีขอทาน, มีการใช้คำว่า ‘บวชพุทธสาวิกา’ แทนบวชชี, มีการนิยาม ‘แม่ชีสงฆ์’ แทน ‘แม่ชี’ ธรรมดา ที่ต้องผ่านการศึกษาตามที่วิทยาลัยแม่ชีและสถาบันแม่ชีไทยได้วางหลักสูตรเอาไว้[4]
แต่นั่นก็ไม่ได้ช่วยให้สถานภาพแม่ชีดีขึ้นอย่างจริงจัง ตราบเท่าที่ไม่ได้แก้ไขโครงสร้างชายเป็นใหญ่ของพุทธไทย
เพราะแม่ชียังไม่ได้รับการรับรองเป็นนักบวช เธอยังต้องถูกเลือกปฏิบัติ เสียโอกาสและสิทธิต่างๆอย่างที่ภิกษุสามเณรได้ แม้จะมีการสนับสนุนให้แม่ชีได้รับการศึกษาปริยัติธรรมภาษาบาลี จนสามารถเรียนได้จบบาลีศึกษา 9 ประโยค แต่เมื่อเปรียบเทียบกับภิกษุสามเณรที่จบเปรียญธรรม 9 ประโยค ซึ่งเป็นระดับชั้นสูงสุดของการศึกษาแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทยเทียบเท่าระดับปริญญาตรีของฆราวาส จะได้รับค่าอาหารที่ทางราชการถวายแก่สงฆ์ทุกเดือน 4,500 บาท แต่ไม่ใช่กับแม่ชี ทั้งๆ ที่การศึกษาปริยัติธรรมแผนกบาลีของพระสงฆ์กับแม่ชีก็มีมาตรฐานเดียวกัน ซ้ำแม่ชีจบมาก็ไม่ได้เป็น ‘ครูสอนบาลี’ อยู่ดี พวกเธอต้องไปประกอบอาชีพอื่นแทน[5]
ไม่ว่าจะบวชชีเพราะหนีรัก สถานการณ์บีบบังคับ หรือต้องการเข้าถึงทรัพยากรสถานภาพบางอย่าง อำนาจชายเป็นใหญ่ก็ยังยัดเยียดวิบากกรรมให้ผู้หญิงอยู่ดี
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1]ปรานี วงษ์เทศ. เพศสภาวะ ในสุวรรณภูมิ (อุษาคเนย์). กรุงเทพ: มติชน, 2549, หน้า 186.
[2] https://mediainsideout.net/en/node/216
[3] กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ, สำนักงานเลขานุการกรม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. ข้อมูลพื้นฐานทางพระพุทธศาสนา ปี 2560. นครปฐม: สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
[4] ลัดดาวัลย์ ต๊ะมาฟู. แม่ชี: โลกของผู้หญิงที่ถูกลืม. วารสารสังคมศาสตร์ ฉบับที่ 2 / 2549 หน้า 104-131.
[5] แม่ชีณัฐหทัย ฉัตรทินวัฒน์ และไพเราะ มากเจริญ. แนวทางการพัฒนาการศึกษา สถานภาพ และบทบาทของแม่ชีไทย. วารสารบัณฑิตศึกษาปริทรรศน์. ปีที่ 13 ฉบับพิเศษ เล่ม 2 มิถุนายน 2560, หน้า 348-36.