โดยปกติเรามักจะคิดว่างานหัตถกรรมอย่างเครื่องปั้นดินเผา หรือเซรามิก นั้น เป็นอะไรที่อยู่คนละขั้วกับเทคโนโลยีอันล้ำสมัยอย่างเทคโนโลยีดิจิทัล แต่ในปัจจุบัน ศาสตร์และศิลป์ 2 ขั้วนี้ สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน ดังเช่นในผลงานล่าสุดของแบรนด์ผู้เชี่ยวชาญด้านภาชนะเซรามิกสำหรับแคคตัสอย่าง ANOA (อะโนอา) ที่หยิบเอานวัตกรรมการสร้างผลงานศิลปะดิจิทัล (Digital Art) ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing) มาใช้ในการสร้างสรรค์กระถางแคคตัสเซรามิกเป็นแบรนด์แรกและแบรนด์เดียวในประเทศไทย
โดยแรกเริ่มเดิมที ประสงค์ ศุภชาติวงศ์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ ANOA เริ่มต้นธุรกิจนี้จากความหลงใหลในต้นไม้พืชพรรณที่สืบทอดมาจากพ่อแม่ ธำรง และ ไฮเก้ ศุภชาติวงศ์ ผู้ทำธุรกิจส่งออกต้นกล้วยไม้สู่ยุโรปและสหรัฐอเมริกามาราว 20 – 30 ปี ความหลงใหลนี้ยังขยับขยายมาสู่ไม้พรรณเล็กอย่าง กระบองเพชรจิ๋ว หรือ แคคตัส แต่ด้วยความที่กระถางเซรามิกที่เหมาะกับแคคตัสนั้นค่อนข้างหายาก ซื้อหาอย่างไรก็ไม่ถูกใจเสียที เขาจึงตัดสินใจทำขึ้นมาเอง จนแตกหน่อต่อยอดจนกลายมาเป็นธุรกิจใหม่ ในการเป็นผู้ผลิตและออกแบบกระถางเซรามิกสำหรับแคคตัสที่มีสไตล์เฉพาะตัว โดดเด่นด้วยรูปทรง สีสัน และพื้นผิวเคลือบอันเปี่ยมเอกลักษณ์ ที่ได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติ
ที่สำคัญ กระถางเซรามิกของเขาไม่ได้มีความโดดเด่นสวยงามแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นความสวยงามที่ไม่บดบังความงามของแคคตัส และเหมาะกับธรรมชาติของแคคตัส ที่เอื้อต่อการเติบโต งอกงามของพรรณไม้ชนิดนี้ นับเป็นกระถางเซรามิกสำหรับแคคตัส ที่ถูกออกแบบมาเพื่อการปลูกแคคตัส โดยผู้ที่หลงใหลแคคตัสอย่างแท้จริง
เนื่องจากเล็งเห็นข้อจำกัดบางอย่างของงานเซรามิก ประสงค์จึงทดลองแนวทางการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ อย่างการใช้เซรามิกมิกซ์แอนด์แมตช์กับโลหะอย่างทองเหลือง บรอนซ์ และอัลลอย จนกลายเป็นดีไซน์ที่มีกลิ่นอายและสัมผัสอันแปลกใหม่
แต่เขาก็ไม่หยุดแค่นั้น ด้วยความหลงใหลและอยากไปให้สุดทางในสายงานนี้ และด้วยข้อจำกัดของงานหัตถกรรม ที่ไม่สามารถสร้างสรรค์รูปทรงได้ตามความคิดฝัน ประสงค์จึงหันมาสนใจค้นคว้าเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเทคโนโลยี Digital Art และการพิมพ์ 3 มิติ เพื่อนำมาปรับใช้ในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ของเขาขึ้นมา
ในตอนแรก เขาทดลองใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติแบบพลาสติก แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์การผลิตกระถางที่เหมาะสมกับการปลูกแคสตัส แถมยังเป็นเทคโนโลยีที่ใครๆ ต่างก็ใช้กันในปัจจุบัน หาได้มีความแปลกใหม่แต่อย่างใด เขาจึงเดินหน้าค้นคว้าข้อมูลต่อ จนค้นพบเทคโนโลยีใหม่อย่าง 3D Clay Printing หรือ 3D Potter เครื่องพิมพ์ดินเหนียว 3 มิติ สำหรับทำเซรามิกโดยเฉพาะ ที่สามารถพิมพ์ดินเหนียวขึ้นเป็นรูปทรงได้ตามความต้องการ ตามแต่ผู้ออกแบบจะป้อนข้อมูลดิจิทัลเข้าไป
“อุปกรณ์นี้จะทำงานคล้ายกับเครื่องพิมพ์ 3 มิติแบบพลาสติก หากแต่จะพิมพ์ดินเหนียวออกมาเป็นเส้นแทน และยังเป็นดินเหนียวที่มีความความหนืดและเปียกอยู่ ซึ่งโดยปกติอุปกรณ์พวกนี้จะไม่ถูกกับน้ำ แต่เราก็มีการดัดแปลงไปเรื่อยๆ จนสามารถใช้งานกับดินเหนียวได้อย่างปลอดภัย ปกติเทคโนโลยีนี้จะเป็นอะไรที่เฉพาะกลุ่มมากๆ แทบไม่มีใครใช้งาน ส่วนใหญ่จะใช้กันในสถาบันการศึกษา ให้นักศึกษาใช้ทดลองทำงานออกแบบ แต่การใช้อุปกรณ์นี้ในการผลิตกระถางแคสตัส เราน่าจะเป็นแบรนด์เดียวในโลกที่ทำ เพราะเท่าที่ผ่านมายังไม่เคยเห็นใครทำออกมา”
เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ หลายคนอาจคิดว่าน่าจะต้องใช้ดินสังเคราะห์ในการผลิต แต่ในความเป็นจริง เครื่องพิมพ์ที่ว่านี้สามารถใช้ดินจากธรรมชาติ 100%
“ดินที่ใช้กับเครื่องนี้เป็นดินจากธรรมชาติ จากหลายๆ แห่งที่เราเอามาบด และผสมให้มีความเหนียวพอเหมาะที่จะใช้งานกับเครื่องพิมพ์เครื่องนี้ และถึงแม้จะพิมพ์งานเสียหาย เราก็ไม่จำเป็นต้องทิ้งไป แต่ปล่อยให้แห้งและนำไปบดละลายน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้ ถึงแม้จะนำไปเผาแล้วก็ยังนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เราแค่บดให้เป็นผง และผสมทำในสูตรบางงานได้ รีไซเคิลได้ทั้งหมด ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานที่เป็นมิตรกับธรรมชาติมากๆ ”
“ผมเลยเรียกโครงการนี้ว่า FUN project เพราะเป็นอะไรที่ผมทำแล้วสนุก และพยัญชนะแต่ละตัวก็สื่อความหมายแทนปรัชญาของการทำงานในโครงการนี้ โดย “F” คือ unlimited FUTURE possibility ส่วน “U” คือ UNIQUE design และ “N” คือ with a touch of NATURE เพราะเราต้องการสร้าง อนาคตแห่งความเป็นไปได้ที่ไร้ขีดจำกัด และการออกแบบที่มีความเป็นเอกลักษณ์ ด้วยสัมผัสจากธรรมชาติ”
ด้วยการใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ เราอดคิดไม่ได้ว่าเทคโนโลยีนี้น่าจะช่วยให้ผลิตผลงานออกมาในจำนวนมากได้อย่างรวดเร็วแบบเดียวกับระบบอุตสาหกรรม ซึ่งประสงค์กล่าวปฏิเสธอย่างติดตลกว่า
“ต้องขอโทษด้วยที่ทำให้ผิดหวัง (หัวเราะ) เพราะการทำงานด้วยเครื่องแบบนี้ช้ากว่าทำด้วยมือมากๆ ช่างของเราทำกระถางเซรามิกไม่กี่ชั่วโมงก็ได้หลายสิบใบแล้ว เวลาทำด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เราไม่สามารถสั่งพิมพ์แล้วทิ้งไว้ 3 ชั่วโมงแล้วค่อยกลับมาดูตอนเสร็จแล้วได้ ต้องมีคนเฝ้า เพราะมันเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน เพราะดินที่ฉีดออกมายังเปียกอยู่ บางทีขึ้นไปนิดหน่อยก็ล้มพับลงมา เราต้องค่อยป้อนคำสั่งว่าจังหวะนี้ให้ฉีดดินออกมาน้อยลง หรือจังหวะนี้เพิ่มดินได้ ไม่ใช่อะไรที่ตายตัวที่คอมพิวเตอร์จะทำเองได้ทั้งหมด ถ้าให้เปรียบเทียบก็คงเหมือนหมอใช้แขนกลหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเพื่อให้ผ่าตัดได้ละเอียดยิ่งขึ้น แต่ก็ยังต้องใช้มนุษย์ควบคุมเครื่องอยู่ดี เหมือนเราใช้เทคโนโลยีช่วยในการทำงานศิลปะในรูปแบบใหม่ๆ ขึ้นมามากกว่า เพราะเทคโนโลยีนี้จะช่วยทำงานดีไซน์บางอย่างที่งานเซรามิกแบบดั้งเดิมไม่สามารถทำได้ หรือทำรูปทรงบางอย่างที่เป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างขึ้นด้วยมือมนุษย์ เราเลยเรียกงานแบบนี้ว่าเป็นงานแบบ Computer Craft”
“ในอนาคต เราอยากให้ทุกคนรู้จักว่า ANOA เป็นแบรนด์กระถางเซรามิกสำหรับแคคตัสที่ดีที่สุดที่ถูกผลิตขึ้นมา ไม่ว่าจะด้วยกระบวนการหัตถกรรม หรือComputer Craft ช่วงนี้เราเริ่มส่งออกผลิตภัณฑ์ของเราไปยังแถบเอเชีย อย่างประเทศจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ทำให้คนเริ่มรู้จักแบรนด์เรามากขึ้น อนาคตเรามีแผนว่าจะส่งออกไปยังยุโรป อเมริกา และอเมริกาใต้ เรามีความฝันว่าอยากให้แบรนด์เราไปได้ไกลจนกลายเป็นอันดับ 1 ของโลก ผมคิดว่าเราทำไหวนะ เพราะเราก็พัฒนาตัวเองและก้าวต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่หยุด”
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ชื่อแบรนด์ ANOA (อะโนอา) นั้นมีที่มาจากชื่อของควายพันธุ์หนึ่งซึ่งตัวเล็กจนถูกเรียกว่า “ควายแคระ” พบได้ส่วนใหญ่ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเจ้าของแบรนด์อย่างประสงค์ มีความผูกพันกับน้องควายแคระชนิดนี้ และเลี้ยงดูเอาไว้ที่บ้านถึง 40 กว่าตัว และเขายังเห็นว่าชื่อนี้ค่อนข้างโดดเด่นไม่ซ้ำใครอีกด้วย