ก่อนจะสอนสั่งให้คนอื่นหรือตัวเองสวดมนต์ บางทีอาจต้องลองนึกถามตัวเองดูก่อนว่า – การสวดมนต์คืออะไรกันแน่
หลายคนอาจบอกว่า ไม่เห็นจำเป็นต้องถาม เพราะการสวดมนต์ก็คือการนั่งนิ่งๆ อาจจะหลับตา แล้วพูดอะไรบางอย่างออกมา ไม่ว่าจะเป็นภาษาที่ฟังรู้เรื่องหรือไม่รู้เรื่องก็แล้วแต่ เพื่อรวมใจให้เป็นหนึ่งกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จะได้มีพลังงานบางอย่าง และบางคนก็ไปไกลถึงขั้นบอกว่าการสวดมนต์จะทำให้ ‘ได้’ อะไรบางอย่างขึ้นมา เช่น สวดมนต์ขอฟ้าฝนไม่ให้ตกอะไรทำนองนั้นเป็นต้น
แต่การสวดมนต์ในความหมายที่ว่ามาข้างต้น เป็นความหมายของการ ‘สวดมนต์’ ตามแบบพุทธศาสนาจริงหรือ?
หลายคนอาจคิดว่า การสวดมนต์นั้นเทียบเท่ากับคำว่า Prayer ในภาษาอังกฤษ ซึ่งถ้าเราย้อนกลับไปดูความหมายของ Prayer เราจะพบว่ามีอยู่หลากหลาย แต่โดยรวมๆ Prayer จะหมายถึงวิธีปฏิบัติที่มีการ ‘วิงวอน’ (invocation) ต่ออะไรบางอย่างที่ผู้วิงวอนเชื่อว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงส่ง หรือมีอำนาจเหนือตัวเอง เช่น เป็นเทพ (diety) หรือเป็นผีบรรพบุรุษที่มีฤทธิ์อำนาจเหนือตัวเอง (diefied Ancestor)
การสวดมนต์ในความหมายนี้ อาจจะทำแบบเดี่ยวๆ อย่างที่เราเห็นตัวละครอย่าง มาเรีย ใน ‘The Sound of Music’ นั่งสวดอยู่ข้างเตียงก่อนนอน หรือกระทำเป็นหมู่ก็ได้ โดยมีความเชื่อว่า การ ‘สวดมนต์หมู่’ นั้น จะให้ผลที่ยิ่งใหญ่กว่าสวดเดี่ยว เพราะเป็นการปลุกเร้าให้เกิดความปรองดองเป็นหนึ่งเดียว (rapport) ขึ้นมา โดยความเป็นหนึ่งเดียวนั้นสัมพันธ์แนบแน่นกับความศักดิ์สิทธิ์ของสิ่งที่สูงส่งกว่าตัวเอง
โดยนัยนี้ การ ‘สวดมนต์’ จึงไม่ใช่เรื่องปัจเจก แม้มาเรียจะนั่งสวดคนเดียวอยู่ข้างเตียง แต่เธอรู้ว่าตัวเธอเป็นหนึ่งใน ‘ผู้สวด’ อีกนับล้านคนทั่วโลกที่สวดบทสวดเดียวกัน จึงเกิดเป็น ‘ชุมชนจินตกรรม’ ของผู้สวด นั่นคือถึงไม่รู้ไม่เห็นว่ามีใครสวดอยู่บ้าง แต่มีสายใยบางๆ เชื่อมโยงร้อยรัดจินตนาการของตัวเองว่ามีคนที่เป็นแบบเดียวกันอยู่อีกมาก แต่กระนั้นก็ดีกว่าถ้าได้ไปสวดร่วมกันใน ‘สถานที่ศักดิ์สิทธิ์’ บางแห่ง เช่นในโบสถ์วิหาร
เมื่อมองแบบนี้ การสวดมนต์จึงไม่ใช่แค่การนั่งพร่ำบ่นบริกรรมอะไรบางอย่างเป็นภาษาที่ฟังไม่รู้เรื่อง หรือเป็นการวิงวอนขอไปเรื่อยเปื่อยโดยไม่รู้แน่ชัดว่าทำไปทำไม แต่สามารถพูดได้ว่า การสวดมนต์ถูก ‘ประดิษฐ์’ ขึ้นมาในฐานะ ‘เทคโนโลยี’ อย่างหนึ่ง ที่จะช่วยจัดการความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคม โดยเฉพาะการ ‘แบ่งแยก’ กลุ่มคนที่สวดมนต์แบบหนึ่งออกจากคนที่สวดมนต์อีกแบบหนึ่ง ซึ่งก็คือการแบ่งแยกมิตรออกจากศัตรู หรือใช้การสวดมนต์เพื่อ ‘นิยาม’ กลุ่มก้อนของตัวเองโดยผ่านการนับถือร่วม ทำให้เกิดความไว้วางใจในกลุ่มของตัวเองมากกว่าคนกลุ่มอื่นที่มีวิธีสวดมนต์แบบอื่น
การสวดมนต์จึงเป็นการจัดระเบียบทางสังคมแบบหนึ่ง
ที่ดูว่า ผู้สวดนั้นกำลัง ‘วิงวอน’ ต่อใครอยู่
ถ้าวิงวอนพระเจ้า ก็ต้องถามว่าเป็นพระเจ้าองค์ไหน ด้วยวิธีการแบบไหน ใช้ภาษาอะไร มีวิธีปฏิบัติอย่างไรในการสวดมนต์ที่ว่า
การสวดมนต์ในความหมายนี้จึงมี ‘อำนาจ’ มาคอยกำกับอยู่ด้วย เคยมีผู้วิเคราะห์เอาไว้ว่า การสวดมนต์ในความหมายนี้ โดยเนื้อแท้ก็คือการ ‘ศิโรราบ’ ต่ออำนาจอะไรบางอย่าง คนที่สวดมนต์เพื่อ ‘การวิงวอน’ (supplication) จะต้องถ่อมตัวเองลงต่ำเพื่อ ‘ร้องขอ’ อีกฝ่ายหนึ่งให้ทำอะไรบางอย่างให้ตัวเองในสิ่งที่ตัวเองไม่สามารถทำได้ ตั้งแต่การวิงวอนร้องขอชีวิต (เช่นเมื่อถูกจับเป็นเชลยศึก) ไปจนถึงการวิงวอนขอให้ฝนตก พืชพรรณจะได้บริบูรณ์ไม่แห้งแล้ง เป็นต้น
แน่นอน การสวดมนต์ยังเกี่ยวข้องกับศาสนาอย่างแนบชิดด้วย เพราะการ ‘ศิโรราบ’ แบบหมอบราบคาบแก้ว ก็คือการศิโรราบต่อสิ่งที่ตัวเองอธิบายไม่ได้ เช่นปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างฟ้าร้องฟ้าผ่าภูเขาไฟระเบิดและอื่นๆ ที่เหนือพ้นการอธิบาย ซึ่งเป็นบ่อเกิดของศาสนาหลายศาสนา
เมื่อการสวดมนต์เกี่ยวพันกับทั้งศาสนาและอำนาจ สุดท้ายการสวดมนต์ในศาสนาต่างๆ จึงมีประโยชน์ในทางการเมืองเพื่อใช้เป็นฐานหนึ่งในการสร้างรัฐขึ้นมาด้วย จะเห็นว่ารัฐโบราณจำนวนมากขัดแย้งกันด้วยเรื่องศาสนา หรือแม้แต่เป็นศาสนาเดียวกัน แต่หากมีวัตรปฏิบัติในการสวดมนต์ที่แตกต่างกัน (เช่น สวดมนต์บูชาเทพองค์นี้ไม่บูชาเทพองค์นั้น) ก็อาจถึงขึ้นลุกขึ้นมาฆ่าแกง เกิดเป็นสงครามศาสนาที่กินเวลายาวนานเป็นร้อยๆ ปีได้เหมือนกัน
เมื่อเวลาผ่านไป การสวดมนต์ของแต่ละวัฒนธรรม แต่ละภูมิภาค เริ่มมีการพัฒนาจนมีความพิสดารแตกต่างกันออกไป แต่ลักษณะร่วมอย่างหนึ่งก็คือ บ่อยครั้งที่การสวดมนต์ในความหมายของการวิงวอนร้องขอถูกมองว่าเกี่ยวพันกับเรื่องเชิง ‘ไสยศาสตร์’ หรือเหนือพ้นธรรมชาติ
คำว่า ‘ไสยศาสตร์’ หรือ Superstition นั้น หมายถึง ‘ความเชื่อ’ หรือวิธีปฏิบัติอะไรบางอย่างที่ถูกมอง (โดยผู้ที่ไม่เชื่อแบบเดียวกัน) ว่ามัน ‘ไม่ได้เป็นเหตุเป็นผล’ ต่อกัน เช่น นักกีฬาบางคนเชื่อว่าถ้าใส่กางเกงตัวนี้ลงแข่งแล้วจะชนะ หรือนักเรียนบางคนเชื่อว่าต้องใช้ปากกาด้ามนี้ในการตอบข้อสอบแล้วจะทำคะแนนได้ดี อะไรอย่างนี้เป็นต้น
ความที่การสวดมนต์มีลักษณะ ‘ศิโรราบ’ หรือยอมตนให้แก่อำนาจของสิ่งสูงส่งมากๆ การสวดมนต์จึงพรากเอาคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งของมนุษย์ไป นั่นก็คือการตั้งคำถาม โต้แย้ง หรือสงสัย เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณสงสัยหรือคิดจะโต้แย้ง ก็แปลว่าสิ่งที่เรียกว่า ‘ศรัทธา’ กำลังสั่นคลอนลงไป สภาวะศิโรราบหรือยอมตนในระดับนี้ จึงเปิดโอกาสให้สภาวะ ‘ไสยศาสตร์’ (ในความหมายของ superstition) เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสวดมนต์ได้มาก เช่น เชื่อว่าถ้านั่งลงสวดมนต์ขอให้ฝนไม่ตก แล้วฝนจะหยุดตกขึ้นมาได้จริงๆ ทั้งที่การสวดมนต์ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับกระแสลมตะวันตก ร่องความกดอากาศต่ำ หรือเส้นทางเดินของพายุดีเปรสชันเลย
ย้อนกลับมาที่คำถามแรก – นั่นคือการสวดมนต์แบบนี้
เป็นความหมายของการ ‘สวดมนต์’ ตามแบบพุทธศาสนาจริงหรือ?
ในคอลัมน์ ‘คนข้างวัด’ ที่เขียนโดย อุทัย บุญเย็น ตีพิมพ์อยู่ในสยามรัฐออนไลน์ มีตอนหนึ่งเขียนไว้ว่า
จำได้ว่า พระพุทธเจ้าเคยห้ามพระสงฆ์ “ให้พร” เพราะการให้พร เป็นอาการประจบประแจงอย่างหนึ่ง และเป็นการขัดกับคำสอนเรื่อง “กรรม” ของพระพุทธเจ้าที่สอนว่า คนเราจะเจริญหรือเสื่อมเป็นเพราะการกระทำ (กรรม) ของตน พรใดๆ ก็บันดาลให้เกิดความเจริญและความเสื่อมได้
ในทางพุทธศาสนา ถ้าจะมีการสวดของพระสงฆ์ ก็เป็นการ “สาธยาย” ซึ่งเป็นการทบทวนคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่การ “สวดมนต์” อย่างที่ฝรั่งใช้คำว่า pray
ข้อเขียนของคุณอุทัยสอดคล้องกับที่ ว.วชิรเมธี เคยอธิบายเอาไว้ว่า การสวดมนต์เป็นวิถีแบบ ‘มุขปาฐะ’ (ปากต่อปาก) ในการจดจำรำลึกคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยพระสงฆ์จะฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า แล้วแบ่งกันจำเป็นกลุ่มๆ เช่น สายพระอานนท์จะจดจำพระสูตร สายพระสารีบุตรจะจดจำพระอภิธรรม เมื่อจำแล้วก็นำมาเล่าต่อ เรียกว่าเป็นการ ‘ต่อหนังสือ’ ซึ่งคล้ายคลึงกับการคัดลอกคัมภีร์สืบเนื่องต่อๆ กันมาในศาสนาคริสต์ เพียงแต่การต่อหนังสือด้วยความจำแบบนี้ ครูจะเป็นผู้บอกพุทธวจนะหรือคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ศิษย์นำไปท่อง แล้วก็กลับมาท่องให้ครูฟัง แล้วค่อยๆ เพิ่มสิ่งที่ต้องท่องจำให้มากขึ้นเรื่อยๆ การ ‘ท่องบ่น’ ที่ว่านี้เรียกว่าการ ‘สวดมนต์’ โดยคำว่า ‘มนต์’ ก็หมายถึงคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นเอง ซึ่งการวิเคราะห์ของ ว.วชิรเมธี ก็สอดคล้องกับบทความของคุณอุทัยอีกเช่นกัน คุณอุทัยเขียนไว้อีกท่อนหนึ่งว่า
เมื่อตรัสรู้ใหม่ๆ พระพุทธเจ้านำหลักธรรม “ปฏิจจสมุปบาท” ขึ้นสาธยาย (เหมือนสวดทบทวน) แต่นั่นก็ไม่ใช่การสวดมนต์ แต่เป็นการทบทวนหลักธรรม “ปฏิจจสมุปบาท” ที่ทรงพิจารณาเห็นต่างหาก
บทสวดมนต์ที่พระสงฆ์ใช้สวดในพิธีต่างๆ ล้วนแต่หรือส่วนมากเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น
การสวดมนต์ในความหมายแบบพุทธ จึงไม่ใช่การสวดมนต์เพื่อ
‘วิงวอน’ หรือ ‘ร้องขอ’ จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอำนาจล้นพ้นตัวเรา
แต่คือการ ‘ทบทวนหลักธรรม’ ที่พระพุทธเจ้าทรงสอน
หลักธรรมส่วนใหญ่เป็นภาษาบาลีที่เราคนไทยฟังแล้วแปลไม่ออก แต่ต่อให้แปลไม่ออก การสวดมนต์ในความหมายนี้ก็ยังมีประโยชน์ เพราะอย่างน้อยถ้าท่องถูกต้อง ก็เป็นเหมือนการ ‘ต่อหนังสือ’ คือรักษาคำสอนของพระพุทธเจ้าเอาไว้ในรูปของบทสวด และส่วนที่จะได้ประโยชน์โดยตรงกับตัวผู้สวดเอง ก็คือการฝึกความจำและฝึกสมาธิ รวมไปถึงอาจฝึก ‘แผ่เมตตา’ ได้ด้วย
จะเห็นว่า การสวดมนต์แบบนี้ เป็นไปตามหลัก ‘ปฏิจจสมุปบาท’ โดยแท้ นั่นคือการเห็น ‘เหตุ’ และ ‘ผล’ (หรือในทางพุทธเรียกว่าสภาวะธรรม) เป็นหลักธรรมที่อธิบายถึงการเกิดขึ้นของสิ่งต่างๆ เพราะทุกอย่างอิงอาศัยกัน มีสิ่งนี้ถึงได้มีอีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งหากเห็นสรรพสิ่งได้ในมุมนี้ ก็จะเป็นคำอธิบายได้ว่าทำไมการสวดมนต์ในความหมายนี้จึงหมายรวมถึงการแผ่เมตตาได้ด้วย เพราะเมื่อเห็นความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งได้แล้ว ความเมตตาก็จะบังเกิดขึ้นเอง
แต่การสวดมนต์แบบยอมลงต่ออำนาจ เต็มไปด้วยการวิงวอนร้องขอต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่มีอยู่จริง ไม่เป็นเหตุเป็นผล มัวหม่นด้วยวิธีคิดแบบไสยศาสตร์ ย่อมเป็นการสวดมนต์ที่มีประโยชน์น้อย เพราะทำให้ผู้สวดมองข้ามเรื่อง ‘กรรม’ หรือการกระทำที่เป็นเหตุและผลต่อกัน เช่น น้ำท่วมก็บอกให้สวดมนต์ให้ฝนหยุด ทั้งที่ ‘วิบาก’ ที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่แล้วมาจากการบริหารจัดการที่ล้มเหลวต่างหาก
การสวดมนต์ในแบบที่ยอมศิโรราบต่ออำนาจโดยไม่เป็นเหตุเป็นผล ในอีกแง่หนึ่งก็คือการยอมตกอยู่ใต้ปกครองของวิสัยแบบเผด็จการโดยไม่ตั้งคำถามนั่นแหละ ดังนั้นจึงไม่น่าสงสัยเลยว่า ทำไมคนที่มีวิสัยเผด็จการ จึงได้สมาทานตัวเองกับการสวดมนต์ในแบบที่เกี่ยวพันกับความเหนือธรรมชาติได้ง่าย
เป็นไปได้เช่นกันว่า – ต่อให้สวดมนต์ทุกวัน แต่หากสวดมนต์ผิด และยังพร่ำสอนให้คนอื่นสวดมนต์ด้วยวิธีที่ผิดตามไปด้วย สติปัญญาอันมืดมัวก็จะยังดำรงคงอยู่ต่อไปไม่เสื่อมคลาย
และนั่นแหละคือต้นตอของปัญหาที่แท้จริง