ใน Glass Onion: A Knives Out Mystery (2022) ภาคต่อของ Knives Out (2019) หนังแนวสืบสวนสอบสวนสไตล์รหัสคดีสุดบันเทิง ของผู้กำกับ ไรอัน จอห์นสัน ที่ได้รับคำชมอย่างล้นหลามทั้งจากผู้ชมและนักวิจารณ์ แถมยังได้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม กับเรื่องราวของ ยอดนักสืบ เบนัวต์ บลองค์ ที่ไขคดีฆาตกรรมปริศนาอันแยบยลด้วยลีลาสุดครื้นเครง ในคราวนี้เขากลับมาอีกครั้งกับการไขคดีฆาตกรรมปริศนาอันสุดลึกลับซับซ้อนอย่าง สุดหรรษาในเกาะกลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ประเทศกรีซ
นอกจากเหล่าบรรดานักแสดงชั้นนำที่ตบเท้าเข้ามาประชันบทบาทกันถ้วนหน้า ทั้ง แดเนียล เคร็ก ที่กลับมารับบทบาทยอดนักสืบอัจฉริยะมาดกวน เบนัวต์ บลองค์ อย่างจัดจ้านโดนใจ หรือ เอ็ดเวิร์ด นอร์ตันที่มาสวมบทบาท ไมล์ส บรอน มหาเศรษฐี ซีอีโอตัวแสบแห่งบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลก กับลีลาที่ทำให้เราอดนึกถึงเจ้าพ่อวงการเทคโนโลยีคนล่าสุดของโลกอย่าง อีลอน มัสก์ ไม่ได้ รวมถึงนักแสดงอย่าง เคต ฮัดสัน, จาแนลล์ โมเน่, เดฟ บอทิสตา, แคทริน ฮาห์น, เลสลี่ โอดอม จูเนียร์, เจสสิกา เฮนวิก และ แมเดลิน ไคลน์ ที่ต่างก็สวมบทบาทตัวละครสมทบได้อย่างเปี่ยมสีสันจี๊ดจ๊าดไม่น้อยหน้ากัน หรือบทหนังอันสุดแสนจะแยบยลปนบันเทิง ตลกร้าย ยอกย้อนซ่อนกล รวมถึงจิกกัดเสียดสีความฉาบฉวยปลอมเปลือกของชนชั้นนายทุนและมหาเศรษฐีได้อย่างแสบสันคันคะเยอ
หากองค์ประกอบที่โดดเด่นโดนใจเราอย่างมากในหนังเรื่องนี้ก็คือ การออกแบบฉากและงานสร้างของหนังภายใต้การดูแลของ ริค ไฮน์ริคส์ โปรดักชั่นดีไซเนอร์ของหนัง เริ่มต้นด้วยกล่องปริศนา ที่ออกแบบมาอย่างประณีตงดงาม เต็มไปด้วยลูกเล่นซ่อนกลมากมาย ทั้งล็อกกล, ลูกคิด, ลำดับเลขฟีโบนักชี (Fibonacci’s number) และอัตราส่วนทองคำ (Golden Ratio) ประดับสีสันเก๋ไก๋
หรือในฉากนิวาสถานของ ไมล์ส บรอน บนเกาะส่วนตัวกลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ที่ไฮน์ริคส์เปลี่ยนโลเคชั่นของโรงแรมหรูบนเกาะในประเทศกรีซ ให้กลายเป็นคฤหาสน์สุดอลังการของไมล์ส ด้วยการประดับโดม “หัวหอมแก้ว” หรือ Glass Onion ลงไปบนยอดอาคารได้อย่างเหมาะเจาะ
ส่วนฉากภายในคฤหาสน์ของไมล์ส ไฮน์ริคส์สร้างขึ้นใหม่บนเวทีแสดงสดที่กรุงเบลเกรด ประเทศเซอร์เบีย โดยหยิบเอาแรงบันดาลใจจากงานสถาปัตยกรรมมินิมอลลิสม์, โมเดิร์นนิสม์ และสถาปัตยกรรมยุคคลาสสิคของกรีก มาผสมผสานกัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความร่ำรวย รสนิยมอันฟุ้งเฟ้อ และอัตตาอันล้นเกินของไมล์สนั่นเอง
องค์ประกอบอีกประการที่น่าจะโดนใจคอหนังผู้รักศิลปะก็คือ เหล่าบรรดาผลงานศิลปะของศิลปินชั้นนำของโลก ที่ไมล์สสะสมเอาไว้ในคฤหาสน์ที่เขาเชิญเพื่อนๆ มาเยี่ยมเยือน และยังเป็นสถานที่เกิดเหตุฆาตกรรมปริศนา ไล่ตั้งแต่ในห้องน้ำที่ประดับด้วยผลงาน Icarus, plate VIII from the illustrated book “Jazz” (1947) ของ อองรี มาตีส (Henri Matisse) ศิลปินชาวฝรั่งเศส ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในศิลปินหัวหอกแห่งยุคศิลปะสมัยใหม่ อันเป็นผลงานในช่วงบั้นปลายชีวิตของมาตีสในชุด Gouaches Decoupes ที่ป่วยหนักจนจับพู่กันวาดรูปไม่ได้ เขาเลยคิดค้นการทำงานศิลปะในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Paper Cuts Outs ซึ่งเป็นการใช้กระดาษสีสันสดใสตัดและปะติดเป็นรูปทรงเรขาคณิตและรูปทรงอันเรียบง่าย สดใส งดงามแทน
ตามด้วยในห้องโถงรับแขกของคฤหาสน์ที่ประดับด้วยผลงานของโคตะระศิลปินชาวสเปน ปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) อย่าง Still Life With Stone (1924) ภาพวาดแบบคิวบิสม์ (Cubism) ที่คลี่คลายรูปร่างของสรรพสิ่งรอบตัวให้กลายเป็นรูปทรงเรขาคณิต เพื่อแสดงภาพของสิ่งเหล่านั้นออกมาในหลากหลายมุมมอง
และผลงานของศิลปินอาร์ตนูโวตัวพ่อชาวออสเตรีย กุสตาฟ คลิ๊มต์ (Gustav Klimt) อย่างภาพวาด Goldfish (1902) ที่ผสานร่างกายคนเข้ากับลวดลายอันวิจิตรพิสดารอย่างกลมกลืนจนราวกับจะหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน
หรือผลงานของ เดวิด ฮอกนีย์ (David Hockney) ศิลปินป๊อปอาร์ตชาวอังกฤษผู้ยิ่งใหญ่และเปรี้ยวจี๊ดที่สุดในโลกศิลปะ อย่างภาพวาด Nichols Canyon (1980) ที่โดดเด่นด้วยสีสันสดใสสไตล์ป๊อปอาร์ต และรูปแบบที่ผสมผสานระหว่างความเหมือนจริงและลักษณะอันคลี่คลายแบบภาพการ์ตูน
และผลงานของ ฌอง-มิเชล บาสเกีย (Jean-Michel Basquiat) ศิลปินโพสต์โมเดิร์นและนีโอ เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ชาวอเมริกันดาวรุ่งชื่อเสียงรุ่งโรจน์ผู้ล่วงลับไปก่อนวัยอันควร อย่างภาพวาด In This Case (1983) ที่ผสมผสานศิลปะหลากสไตล์หลายเทคนิค ทั้งงานศิลปะแบบกราฟิตี้บนท้องถนน, งานจิตรกรรมสีน้ำมัน และงานวาดเส้นเข้าไว้ด้วยกันอย่างเปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัว
หรือผลงานของศิลปินนามธรรมระดับปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 พีท มองเดรียน (Piet Mondrian) อย่าง Composition No. II, with Red and Blue (1929) ภาพวาดนามธรรมที่ใช้เส้นแนวตั้งแนวนอน และรูปทรงเรขาคณิตง่ายๆ อย่างสี่เหลี่ยมจัตุรัส สี่เหลี่ยมผืนผ้า และแม่สีพื้นฐานไม่กี่สี เช่น แดง น้ำเงิน และเส้นตัดสีดำบนพื้นสีขาวอันนิ่งน้อย แต่ลงตัว
และผลงานของศิลปินชาวอเมริกันผู้สร้างสรรค์นามธรรมแห่งเส้นสี ไซ ทว์อมบลี (Cy Twombly) อย่าง Untitled (Bacchus Ist Version V) (2004) ภาพวาดฝีแปรงยุ่งเหยิงตวัดไปมาอย่างอิสระ ที่ทำลายเส้นแบ่งระหว่างงานจิตรกรรมและงานวาดเส้นลงอย่างสิ้นเชิง
หรือผลงานภาพวาด PROJET POUR UN STABILE (1969) ของ อเล็กซานเดอร์ คาลเดอร์ (Alexander Calder) ศิลปินอเมริกันที่หลายคนน่าจะรู้จักกันดีจากประติมากรรมโมบาย ที่เล่นกับความสมดุลของวัตถุทั้งหลายของเขา
และผลงานของ มาร์ค รอธโก (Mark Rothko) ศิลปินอเมริกันผู้มีชื่อเสียงและทรงอิทธิพล ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้สร้างรูปแบบใหม่ของงานศิลปะแนวนามธรรม ที่โดดเด่นในการใช้รูปทรงที่ตัดทอนจนเรียบง่ายและบริสุทธิ์ จนไม่เหลืออะไรมากไปกว่าปื้นสีที่ลอยอยู่บนพื้นที่ว่างอย่างฟุ้งกระจายจนแทบหลอมละลายเข้าหากันและกัน ทำให้ภาพวาดของเขาดูเวิ้งว้างกว้างไกลไร้ขอบเขต อย่างภาพวาด Number 207 (Red over Dark Blue on Dark Gray) (1961) ซึ่งทีมงานเบื้องหลังจงใจแขวนภาพนี้ให้กลับหัวกลับหาง เพื่อแสดงถึงความปลอมเปลือก กลวงเปล่าของไมส์ลนั่นเอง (อันที่จริงแล้ว แม้แต่พิพิธภัณฑ์ชั้นนำของโลกก็ยังเคยแขวนภาพของศิลปินชื่อดังระดับโลกกลับหัวมาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปินนามธรรม อย่างเช่นพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยแห่งนิวยอร์ก หรือ MoMA ก็ยังเคยแขวนงานของ พีท มองเดรียน กลับหัวมาตั้งหลาย 10 ปีด้วยซ้ำไป!)
แน่นอนว่าผลงานศิลปะชิ้นเด่นเป็นเอกที่สุดในหนังเรื่องนี้ ก็คือผลงานของศิลปินเอกผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งยุคทองของเรอเนสซองส์ เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) อย่าง Mona Lisa (1503-1505)ภาพวาดชิ้นเอกของโลกที่ครองใจคนรักศิลปะทั่วโลกด้วยรอยยิ้มอันเป็นปริศนา และเทคนิคการเกลี่ยขอบของวัตถุและบุคคลให้พร่าเลือนกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมรอบข้างและธรรมชาติเบื้องหลัง เพื่อสร้างความสมจริงเช่นเดียวกับที่ตามนุษย์มองเห็นที่เรียกว่า สฟูมาโต (Sfumato) แทนที่ภาพนี้จะอยู่ที่พิธภัณฑ์ลูฟวร์ ในฝรั่งเศส ก็กลับมาอยู่ในคฤหาสน์ของไมล์สซะงั้น!
นอกจากผลงานของศิลปินระดับตำนานของโลกดังที่กล่าวมาแล้ว ในหนังยังมีผลงานของศิลปินร่วมสมัยและศิลปินรุ่นใหม่ที่น่าสนใจอย่าง ผลงานภาพถ่ายประติมากรรมจัดวาง Revision, Division, Subdivision (2014) ของศิลปินมัลติมีเดียชาวนิวซีแลนด์ แมกซ์ พาเท (Max Patté)
หรือผลงานจิตรกรรมฝาผนัง Nothing Lasts Forever บนผนังพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง Wynwood Walls ในไมอามี ฟลอริดา ของศิลปินกราฟฟิตี้ชาวอเมริกัน เดวิด โช (David Choe) ก็ยังถูกถอดมาแปะไว้บนผนังในห้องรับแขกในคฤหาสน์ของไมล์สได้ยังไงก็ไม่รู้
นอกจากนี้ยังมีผลงานที่ทำขึ้นมาใหม่โดยไม่ได้อ้างอิงงานศิลปะชิ้นไหนๆ อย่าง ภาพวาดฝาผนังปูนเปียก (Fresco) รูปวุฒิสมาชิกชาวโรมันโบราณที่มีใบหน้าเป็น คานเย เวสต์ ไปเสียฉิบ
หรือภาพวาดของไมส์ล (หรือเอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน) ยืนเปลือยท่อนบนโชว์ร่างกำยำ จนทำให้เราอดนึกถึงบทบาทของเขาในหนัง Fight Club (1999) ไม่ได้ แถมนอร์ตันเองก็ยังบอกว่าภาพนี้คือ “ไมล์สในหนัง Fight Club ที่วาดโดย ฟรานซิส เบคอน” แต่อันที่จริงภาพนี้ทีมงานวาดขึ้นโดยได้แรงบันดาลใจจากสไตล์การทำงานของ ลูเซียน ฟรอยด์ (Lucian Freud) ศิลปินชาวอังกฤษ ผู้วาดเนื้อหนังของมนุษย์ได้อย่างจะแจ้งตรงไปตรงมาที่สุดในโลกศิลปะต่างหาก
งานศิลปะทั้งหลายแหล่ที่เห็นในหนังเรื่องนี้ก็ไม่ได้เป็นผลงานจริงแต่อย่างใด หากแต่เป็นผลงานเลียนแบบที่ถูกทำขึ้นใหม่อย่างประณีตสมจริงโดยไฮน์ริคส์และทีมงานของเขา ซึ่งท้ายที่สุด ผลงานทั้งหมดที่ว่านี้ก็ต้องถูกทำลายทิ้งจนเหี้ยนหลังจากถ่ายทำหนังเสร็จ เพื่อไม่ให้มือดีที่ไหนฉกฉวยเอาไปขายเป็นงานศิลปะปลอมแปลงในตลาดมืดนั่นเอง
อ้างอิงจาก