เหตุการณ์ประท้วงครั้งใหญ่ในฮ่องกง เริ่มจากจุดประสงค์เพื่อต่อต้านกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน จนยืดเยื้อเข้าสัปดาห์ที่ 10 แล้ว ล่าสุดลามไปเป็นการปิดสนามบิน ส่งผลให้เที่ยวบินถูกยกเลิก มีผู้โดยสารติดค้างมากมาย แถมยังดูไม่มีท่าทีจะสิ้นสุดอีกต่างหาก
เมื่อวานนี้ (13 ส.ค. 2019) ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา ร่วมกับ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานเสวนา ‘ฮ่องกงทำไมต้องประท้วง?’ ซึ่ง อ.ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในวิทยากร ได้วิเคราะห์สถานการณ์ และให้ความเห็นในแง่มุมของกฎหมายไว้มากมาย
The MATTER มีโอกาสไปเข้าร่วมฟัง และได้สรุปมาให้รับรู้กัน ว่าเหตุการณ์ประท้วงในฮ่องกงมีที่มาที่ไปอย่างไร? ภูมิหลังของทั้งฮ่องกงและจีนมีส่วนมากน้อยขนาดไหน? และทำไมผู้ชุมนุมยังคงประท้วงมาจนถึงวันนี้? ลองศึกษาเรื่องราวนี้ไปพร้อมๆ กัน
จากนี้ไปจะเป็นคำพูดของ อ.ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร
ทำความรู้จักการปกครองแบบ ’1 ประเทศ 2 ระบบ’
ต้นตอของเรื่องทั้งหมดต้องย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยปี 1997 ซึ่งฮ่องกงที่เคยเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษ ได้กลับคืนสู่จีน พร้อมอยู่ภายใต้เงื่อนไขการปกครอง ที่เรียกกันว่า ‘1 ประเทศ 2 ระบบ’ หมายความว่าฮ่องกงนั้นอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของประเทศจีน แต่มีระบบกฎหมาย และระบบเศรษฐกิจที่เป็นอิสระของตัวเอง ส่วนเรื่องการทหารและการต่างประเทศ รัฐบาลปักกิ่งจะเป็นผู้ดูแลเอง โดยทั้งหมดต้องเป็นแบบนี้ไปเป็นระยะเวลา 50 ปี
จุดชนวนของประเด็นกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน
ข้อถกเถียงในเรื่องของกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน มีจุดชนวนมาจากเหตุฆาตกรรมในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2018 เมื่อคู่รักชาวฮ่องกงคู่หนึ่ง เดินทางไปเที่ยวประเทศไต้หวัน แต่มีฝ่ายชายเพียงคนเดียวที่ได้เดินทางกลับมายังประเทศฮ่องกง เขาคนนี้ถูกกล่าวว่าได้ก่อเหตุฆาตกรรมแฟนสาวของตัวเอง แต่ศาลฮ่องกงไม่สามารถพิจารณาคดีนี้ได้ เพราะเหตุเกิดในประเทศไต้หวัน
เนื่องจากประเทศฮ่องกงจะส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ให้กับประเทศที่มีการตกลงสนธิสัญญากันเท่านั้น ทำให้เกิดปัญหาขึ้น เพราะในระบบกฎหมายฮ่องกง ประเทศไต้หวันถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ โดยที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 1997 ทั้งประเทศฮ่องกงและจีน ได้พยายามเจรจาข้อตกลงสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกันอยู่เรื่อยมา แต่ประเทศฮ่องกงไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประเทศจีน เพราะว่าศาลจีนอยู่ภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์ จึงไม่เป็นผลสำเร็จ
พอเป็นอย่างนี้ นักกฎหมายจึงเสนอว่าให้แก้กฎหมาย เปิดให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนได้แบบเป็นกรณีไป โดยจะเลือกส่งตัวหรือไม่ส่งตัวก็ได้ แต่แนวคิดนี้ก็ก่อให้เกิดการคัดค้านจำนวนมาก หลายฝ่ายมองว่านี่อาจเป็นการเปิดทางสู่การให้ส่งตัวบุคคลไปจีนได้ และจะเป็นไปได้อย่างไรที่จะปฏิเสธไม่ส่งตัวไปให้ประเทศจีน ตราบใดที่ยังอยู่ภายใต้การปกครองแบบ 1 ประเทศ 2 ระบบ
หลายฝ่ายกลัวว่าหากร่างกฎหมายนี้ได้ถูกนำไปใช้จริงๆ อาจเป็นช่องทางให้ประเทศจีนใช้กลไกนี้เล่นงานคนฮ่องกงที่อพยพมาจากประเทศจีน หรือกลุ่มคนที่ถูกมองว่าต่อต้านประเทศจีนได้ เกรงว่าจะเป็นประเด็นในเรื่องของผลประโยชน์ทางการเมืองอีกด้วย ทำให้เกิดการประท้วงขึ้นในวันที่ 9 มิถุนายน 2019 ซึ่งมีผู้คนมาเข้าร่วมจำนวนมาก
ในตอนนี้ร่างกฎหมายก็ถูกยกเลิกไปแล้ว ทำไมคนยังประท้วงอยู่?
ถึงแม้ แคร์รี แลม ผู้นำของฮ่องกง จะออกมาประกาศว่าร่างกฎหมายนี้ถูกยกเลิกไปแล้ว โดยใช้คำว่า “kill the law” แต่กลุ่มผู้ชุมนุมก็ยังประท้วงอยู่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าทั้งคนฮ่องกงและจีน ได้รับข้อมูลข่าวสารมาไม่เหมือนกัน ยิ่งก่อให้เกิดความแตกแยก และยังมีความไม่ไว้วางใจในรัฐบาลฮ่องกง เพราะเชื่อว่าได้รับอิทธิพลมาจากประเทศจีนอีกด้วย
จริงๆ แล้วยังมีอีกสาเหตุหนึ่ง ที่เชื่อว่าเป็นเป้าหมายหลัก คือข้อเรียกร้อง 5 ข้อของผู้ชุมนุม ได้แก่
1.ถอนกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนร่างนี้ออกไป
2.ไม่ให้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุม
3.หยุดเรียกผู้ชุมนุมว่าการก่อจลาจล
4.ตั้งกรรมการอิสระมาตรวจสอบการกระทำที่เกินกว่าเหตุของตำรวจต่อกลุ่มผู้ชุมนุม
5.ปฏิรูประบบเลือกตั้ง
(บางกลุ่มก็ต้องการให้ แคร์รี แลม ลาออกด้วย)
อย่างไรก็ตาม แคร์รี แลม กลับดูเหมือนจะยอมทำแค่ในข้อแรก แต่ข้ออื่นๆ นั้นแทบจะไม่ยอมเลย ยังดีที่ไม่ได้มีการตั้งข้อหาผู้ชุมนุมมากนัก ถึงมีก็แค่เพียงไม่กี่คน ถือว่าใช้มาตรฐานที่เบามากๆ แต่ทางกลุ่มผู้ชุมนุมกลับรู้สึกว่ามีการขู่อยู่ตลอด ทำให้ไม่เชื่อมั่นในรัฐบาลและตำรวจ
ชาวฮ่องกงต้องการมีสิทธิเลือกตั้งอย่างอิสระ
นับตั้งแต่ปี 1997 ฮ่องกงยังไม่เคยได้มีการเลือกตั้งอย่างเสรีเลย ต้องเลือกตั้งผ่านคณะกรรมการการเลือกตั้งจำนวน 2,000 คน ซึ่งคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ทางปักกิ่งเป็นผู้เลือกมาให้ คนจำนวนมากจึงต้องการสิ่งที่เรียกว่า ‘Universal Suffrage’ หรือการมีสิทธิเลือกตั้งกันอย่างทั่วถึงทุกคน
จนกระทั่้งในปี 2007 สภาของปักกิ่ง บอกว่าในอีก 10 ปี อาจจะให้ใช้ระบบ Universal Suffrage ได้ ในการเลือกตั้งผู้บริหารเขตฮ่องกง แต่พอมาในปี 2014 รัฐบาลปักกิ่งกลับบอกว่าจะให้ชาวฮ่องกงเลือกตั้งได้แล้ว แต่แคนดิเดตจะเป็นคนที่ทางปักกิ่งคัดเลือกมาให้ หลายฝ่ายมองว่ามันไม่เป็นธรรมเอาเสียเลย กฎหมายนี้จึงไม่ผ่านมติในสภา และต้องกลับไปใช้ระบบเดิมที่เลือกผ่านคณะกรรมการการเลือกตั้ง บานปลายจนเกิดเป็นการปฏิวัติร่มอย่างที่เราเห็นกันในปี 2014
หากจะหาจุดเชื่อมโยงเพิ่มไปยังการประท้วงในปัจจุบัน ก็คือการที่ชาวฮ่องกงไม่เชื่อมั่นในบุคคลที่จะมาดูแลจัดการเรื่องกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน เพราะคนเหล่านี้ทางปักกิ่งมีส่วนในการเลือกมา ทำให้เกิดข้อกังวลว่าการพิจารณาแบบเป็นกรณีไปจะเป็นไปอย่างไม่เป็นธรรม หรืออาจถูกนำไปใช้หาผลประโยชน์ทางการเมืองได้