สัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีข่าวจากฮอลลีวู้ดที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นตื่นเต้นไม่น้อย เมื่อ Michael De Luca โปรดิวเซอร์ชื่อดังที่เคยมีผลงานกับภาพยนต์เด่นๆ อย่าง The Social Network และ Moneyball ประกาศว่าจะสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับ Yasuke ซามูไรผิวสีคนแรกของญี่ปุ่น โดยมี Chadwick Boseman ฝ่าบาทจาก Black Panther รับบทเป็น Yasuke แถมยังได้ Doug Miro มือเขียนบทจาก Narcos ซีรีส์ดังจาก Netflix มาดูแลบทด้วย
จากรายชื่อทีมงานระดับนี้ ก็ทำให้เป็นข่าวใหญ่ และคนญี่ปุ่นเองก็สนใจเป็นอย่างมาก แต่ที่น่าสนใจคือเรื่องราวของ Yasuke ซึ่งชาวญี่ปุ่นก็ไม่ได้รู้จักกันทั่วไปนัก แม้จะมีบทบาทสำคัญขนาดที่ได้รับการบันทึกเป็นซามูไรชาวต่างชาติคนแรกด้วยซ้ำ
สำหรับชาวญี่ปุ่น ถ้าเกิดถามว่า รู้จักซามูไรที่เป็นคนต่างชาติไหม ก็อาจจะงงๆ และถามกลับมาว่า มีด้วยเหรอ ถ้าเป็นคนที่เล่นเกม ก็อาจจะยกชื่อ William Adams หรือที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Miura Anjin หลังจากได้รับใช้ Tokugawa Ieyasu และมีบทบาทเป็นตัวเอกในเกม Nioh จนเป็นที่รู้จักกัน
แต่ถ้าคนที่ชอบประวัติศาสตร์หรือเคยเล่นเกมชุด Nobunaga no Yabou ก็คงจะรู้จัก Yasuke ในฐานะหนึ่งในข้ารับใช้ของ Oda Nobunaga เจ้าเมืองคนสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตัวเอกในเกม และในละครชุดประวัติศาสตร์ทางช่อง NHK ในปี 2014 เรื่อง ‘Gunshi Kanbei’ ก็มีช่วงที่ Yasuke มีบทบาทเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องเช่นกัน แต่สำหรับชาวญี่ปุ่นแล้วพวกเขาจะมองว่า Yasuke เป็นซามูไรหรือไม่ ก็คงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทำให้เรื่องราวของ Yasuke ในฐานะซามุไร เป็นเรื่องที่รู้กันเพียงในวงผู้สนใจประวัติศาสตร์เสียเป็นส่วนใหญ่
แต่สิ่งที่ทำให้เรื่องราวของ Yasuke เป็นที่สนใจขนาดถูกนำไปปรับเป็นภาพยนตร์ ส่วนหนึ่งคงเป็นหนังสือชื่อ African Samurai: The True Story of Yasuke, a Legendary Black Warrior in Feudal Japanโดย Thomas Lockley และ Geoffrey Girard ที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อเดือนก่อน รวมถึงกระแสภาพยนตร์ที่เชิดชูความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ทำให้ Yasuke กลายเป็นวัตถุดิบที่น่าสนใจขึ้นมาในสายตาชาวตะวันตก
เรื่องราวของ Yasuke ไม่ได้มีรายละเอียดอะไรมากมายเหมือนขุนศึกรายอื่นๆ ในประวัติศาสตร์ คงเป็นเพราะเขามีบทบาทในช่วงเวลาไม่นานนัก และไม่ได้มีสาแหรกตระกูลอะไรให้สืบทอดต่อเหมือนกับขุนศึกชาวญี่ปุ่น พอจบเรื่องเขาก็จบลงเลย
แต่ถึงอย่างนั้น การเป็นซามูไรผิวสีคนแรก และอาจจะเป็น
ซามูไรชาวต่างชาติคนแรกในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น
ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจพอกัน
การผจญภัยในญี่ปุ่นของ Yasuke เริ่มต้นขึ้นเมื่อเขาเดินทางมาพร้อมกับมิชชันนารีนิกายเยซูอิตชาวอิตาเลียนชื่อ Alessandro Valignanoในปี 1579 ซึ่งญี่ปุ่นกำลังอยู่ในยุคเซ็งโกคุ หรือยุคไฟสงครามที่ขุนศึกแต่ละเมืองก็ต่างสะสมกำลังเข้ารบกันเพื่อชิงความเป็นใหญ่ในแผ่นดิน จุดกำเนิดของเขาไม่ชัดเจนนักว่ามาจากประเทศไหน แต่เดิมก็เชื่อกันว่าเขามาจากโมซัมบิกที่เป็นอาณานิคมของโปรตุเกส แต่ก็มีการวิเคราะห์เพิ่มเติมว่าเขาน่าจะเป็นชาว Habshi จากเอธิโอเปีย ซึ่งชื่อเดิมของเขาก็น่าจะเป็น Yisake ในภาษาถิ่น ที่มาจาก Isaqueในภาษาโปรตุเกส (ที่ก็มาจาก Isaac ชื่อตามตำราคริสต์อีกที) แล้วพอมาญี่ปุ่นก็ค่อยเพี้ยนเป็น Yasuke
บางตำราก็เชื่อว่าเขาคือชาว Dikka ในเอธิโอเปีย เพราะขนาดร่างกายที่ใหญ่โต และสีผิวที่ดำเข้มของเขามีความคล้ายคลึงกับชาติพันธุ์นี้ แต่สุดท้ายก็ไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าเขาเป็นคนชาติไหนและได้กลายมาเป็นทาสของมิชชันนารีได้อย่างไร เพราะมีบันทึกหลักฐานก็คือตอนที่เขามาปรากฏตัวที่เมืองเกียวโตแล้ว
เมื่อ ‘ของแปลก’ เช่นเขาปรากฏตัวขึ้น ก็เป็นที่ฮือฮาของชาวเมือง เพราะสำหรับชาวเกาะญี่ปุ่นแล้ว ชาวตะวันตกก็เป็นของแปลกเพียงพอแล้ว แต่เมื่อเจอกับคนที่มีผิวสีดำเมื่อม ก็ยิ่งทำให้พวกเขาตกใจเข้าไปอีก บางคนก็ลือกันว่าแค่สบตากับยาสุเกะ ก็ทำให้คนๆ นั้นต้องคำสาปและเสียชีวิตในเวลาต่อมาได้
แต่สำหรับไดเมียวชื่อดังผู้กำลังสั่งสมอำนาจในเวลานั้นอย่าง Oda Nobunaga แล้ว ของแปลกจากต่างแดน คือสิ่งที่กระตุ้นความสนใจของเขาได้เป็นอย่างดี นิสัยของ Oda Nobunaga คือ เห็นอะไรใหม่ๆ ไม่ได้ ต้องเข้าไปลอง ไปพิสูจน์ก่อนเสมอ และเขายังมีความสนใจในโลกกว้าง ไม่ได้คิดจำกัดตัวเองไว้แค่ประเทศญี่ปุ่น เขาจึงมีความสัมพันธ์อันดีกับเหล่ามิชชันนารีชาวตะวันตก ที่มักจะนำเสนอสิ่งต่างๆ จากทั่วโลกที่แปลกใหม่ให้เขาได้ทึ่งเสมอ
จึงไม่แปลกที่เราจะมีการบันทึกว่าเขาชอบใส่ชุดเกราะแบบตะวันตกมาก รวมถึงขนมคัสเทลล่าก็กลายมาเป็นสินค้านำเข้าในยุคนั้น แน่นอนว่ามิชชันนารีเองก็อาศัยโอกาสนี้ตีสนิทกับเขาเพื่อความสะดวกในการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในญี่ปุ่น แต่ในขณะเดียวกัน Oda ก็เอาอิทธิพลของศาสนาคริสต์มาเป็นตัวคานอำนาจกับเหล่านักบวชศาสนาพุทธ ที่ตั้งตนเป็นขุมกำลังนักบวชและชาวนาที่เรียกว่า Ikkou Ikki
และพอข่าวของ Yasuke มาถึงหู Oda ว่ามีชายผิวดำ
กำลังเยอะเท่าคน 10 คน อยู่ที่เกียวโต เขาก็เรียกให้มาเข้าพบ
ตอนที่ได้พบกันครั้งแรก Oda ก็ไม่เชื่อเรื่องสีผิว ขนาดที่เขาพยายามขัดผิวของ Yasuke เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นสีของหมึกหรือไม่ จนสุดท้ายก็ยอมรับว่าเป็นสีผิวจริงๆ และด้วยความถูกใจ Oda ก็ได้ให้เงินกำนัลกับ Yasuke ก่อนที่ Yasuke จะออกเดินทางตามบาทหลวงไปยังจังหวัดอื่นๆ แล้วค่อยกลับมาเกียวโต แม้ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า Yasuke กลายมาเป็นข้ารับใช้ของ Oda Nobunaga ได้อย่างไร แต่ก็คาดว่าไม่ทางมิชชันนารีเสนอตัวเขาให้เป็นของกำนัลเพื่อผลประโยชน์ ก็เป็น Oda เองที่ขอตัว Yasuke มารับใช้ตรงๆ เพื่อเข้าคอลเลกชั่นของเขา
เมื่อเข้ามารับใช้ Oda ตัว Yasuke เองก็ได้เรือนพักของตัวเอง ซึ่งก็น่าจะเป็นชีวิตที่ดีกว่าชีวิตทาสแบบเดิมแน่นอน (ซึ่ง ‘ทาส’ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่แปลกสำหรับชาวญี่ปุ่นในยุคนั้น) และเขาก็ยังได้รับดาบสั้น Koshigatana พร้อมทั้งได้รับตำแหน่งผู้ถืออาวุธ จะว่าไปก็คงคล้ายกับบอดี้การ์ดส่วนตัวของ Oda ที่เขาก็ชอบพา Yasuke ไปไหนมาไหนด้วย และยังได้ร่วมมีบทบาทในการรบอีกด้วย ซึ่งบทบาทของเขาก็จะพบได้ตามบันทึกของตระกูลขุนศึกดังต่างๆ เช่น บันทึกของตระกูล Maeda หรือของตระกูล Togugawa ว่าเขาสูงถึงเกือบ 190 เซนติเมตรและมีพละกำลังมหาศาล และอีกเรื่องที่น่าสนใจคือ ภาษาที่ Yasuke ใช้สื่อสาร เพราะคิดว่า Oda คงไม่สามารถพูดภาษาต่างประเทศได้มากนัก Yasuke จึงน่าจะพูดภาษาญี่ปุ่นได้พอประมาณ ตามหลักของมิชชันนารีที่ต้องการศึกษาภาษาท้องถิ่นเพื่อเผยแพร่ศาสนา
จุดที่น่าสนใจคือ Oda Nobunaga ถูกใจเขาขนาดที่มอบสิ่งต่างๆ ให้ จนมีนักประวัติศาสตร์บางส่วนก็มองว่า หาก Oda มีชีวิตยืนยาวกว่านี้ Yasuke อาจจะได้รับปราสาทของตัวเองเสียด้วยซ้ำ และก็น่าสนใจว่า ในหลักการนับว่าใครเป็นซามูไรหรือไม่ ก็มักจะมองว่าได้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการหรือไม่ และได้รับผลตอบแทนเป็นข้าวตามศักดินาหรือไม่ (แทนเงินเดือน) ซึ่งใน Wikipedia ส่วนภาษาอังกฤษจัดให้เขาเป็น ชาวต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้ครองดาบและมีดสั้นเท่านั้น แต่ในส่วนภาษาญี่ปุ่น เขาถูกจัดให้เป็นซามูไรชาวต่างชาติคนแรก ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า ในส่วนของภาษาอังกฤษอาจจะยึดว่า จะเป็นซามูไรได้ต้องได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ ซึ่งก็เป็นระบบที่มีขึ้นในยุคของ Togugawa ในภายหลังนั่นเอง
แต่ต่อจากนี้ไปคนคงเรียกเขาว่าเป็นซามูไรต่างชาติคนแรก
เพราะอิทธิพลของสื่อมากกว่า
เส้นทางการผจญภัยของ Yasuke ก็จบลงเมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญที่วัด Honnouji ในตอนที่ Akechi Mitsuhide ขุนศึกคนสำคัญของ Oda ก่อกบฎ บุกเข้าจู่โจมวัดที่ Oda พักอยู่ Yasuke ซึ่งอยู่ในวัดเดียวกันเอาตัวรอดออกไปได้ แม้นายจะเสียชีวิตในกองเพลิง เขารีบไปสมทบกำลังกับ Oda Nobutada ลูกชายของนาย แต่สุดท้ายก็โดนจับตัวไว้ Akechi เองก็รู้ว่าYasuke คือลูกน้องคนสนิทของ Oda Nobunaga แต่เขาก็ปล่อยตัว Yasuke ไปโดยบอกว่า “คนดำคือสัตว์ ไม่รู้เรื่องอะไร ไม่ใช่คนญี่ปุ่น ไม่มีค่าให้ฆ่าทิ้ง” แม้ถ้าฟังในตอนนี้จะไม่พีซีเอาเลย แต่นักประวัติศาสตร์ก็เสนอว่าบางที Akechi อาจจะไม่อยากฆ่า Yasuke จึงปล่อยตัวไป
หลังจากเหตุการณ์นั้น Yasuke ก็เงียบหายไปกับสายลม เพราะไม่มีใครรู้ว่าเขาไปไหน ไม่มีบันทึกอีกต่อไป ตามประสาคนธรรมดาที่ไม่ใช่ขุนนางหรือขุนศึกในตระกูลต่างๆ จนเป็นปริศนาว่าเขาหายไปไหน บ้างก็เชื่อว่าเขาถูกส่งให้ไปอยู่กับมิชชันนารีเยซูอิตที่นางาซากิ Lockley เชื่อว่าเขากลายมาเป็นที่ปรึกษาเรื่องการค้าต่างประเทศให้กับขุนนางทางตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาจจะกลายเป็นสมาชิกกองโจรสลัดก็ได้ แต่ในขณะเดียวกัน ในบันทึกของสมรภูมิโอคิตะนาวะในปีค.ศ. 1584 ก็มีบันทึกว่ามีนักรบผิวสีร่วมอยู่ในการรบฝั่ง Arima Harunobu ด้วย ก็มีโอกาสที่จะเป็น Yasuke เช่นกัน
เรื่องราวของ Yasuke แม้จะเป็นบันทึกเล็กๆ ในหน้าประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นยุคเซ็งโกคุที่เต็มไปด้วยเรื่องราวต่างๆ แต่เรื่องราวของเขาก็มีความน่าสนใจตรงที่เป็นเรื่องของ ‘คนนอก’ ของสังคม ที่เริ่มต้นจากติดลบ แต่สามารถพุ่งขึ้นสูงได้ ก่อนที่จะเสียทุกอย่างไปอีกครั้ง ก็น่าสนใจว่าฮอลลีวู้ดจะเล่าเรื่องราวของเขาออกมาในแง่ไหน และทำได้ดีแค่ไหน เพราะหลายครั้งที่พอเป็นเรื่องของตะวันออกแล้ว ก็ชวนหนักใจเวลาได้ชมจริงๆ เหมือนกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก