1
ในฐานะ บ.ก.ไว้ใจให้เขียนคอลัมน์เกี่ยวกับเทรนด์ ผมขอสารภาพว่า ในช่วงหลังนี้ผมเริ่มรู้สึกว่าตัวเองตามความเปลี่ยนแปลงไม่ทันเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในโลกของอุตสาหกรรมบันเทิง
หลายต่อหลังครั้ง ผมพบว่าตัวเองแทบจะเป็นกลุ่มคนท้ายๆ ของสังคมที่รู้ว่า ตอนนี้เพลงไหนฮิต คลิปไหนฮอต เช่น ตอนที่เพลง ‘ผู้สาวขาเลาะ’ ของคุณลำไย ไหทองคำ ดังระเบิด สารภาพตามตรงว่า ผมคงไม่มีความรู้ใดๆ เกี่ยวกับเธอ จนกระทั่ง ‘ลุงตู่’ อินฟลูเอนเซอร์ผู้ทรงอิทธิพลแห่งยุคของบ้านเราพูดถึงเธอนั่นแหละ ผมจึงได้มีโอกาสได้เห็นผลงานของเธอ
ยิ่งลองค้นทำการบ้านเพิ่ม ผมยิ่งทึ่งในความเปลี่ยนแปลงและเห็นขอบฟ้าความรู้น้อยของตัวเอง มีเพลงจำนวนมากโดยเฉพาะ เพลงลูกท่งแบบที่คุณลำไยร้องที่ผมไม่รู้จักโดยสิ้นเชิงแต่มียอดวิว 50 – 100 ล้านวิวทั้งนั้น
ในฐานะ ‘คนเมือง’ ที่อยู่แต่ในโลกของตัวเอง แถมยังอยู่ในอุตสาหกรรมที่พยายามปั้นยอดไลค์ ยอดวิว บอกได้คำเดียวครับว่า มหัศจรรย์!
เพื่อไม่ให้ ‘เสียฟอร์ม’ ผมเลยอยากลองอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ดูสักหน่อย อาจจะไม่ใช่คำตอบที่หมดจด แต่ก็ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนกันกับผู้อ่านละกันนะครับ
ผมคิดว่า ความนิยมหรือความดังของศิลปินลูกทุ่งยุคใหม่หลายคนอย่างลำไย ไหทองคำ จ๊ะ คันหู ใบเตย อาร์สยาม (ที่โดยสไตล์แล้วไม่น่าถูกใจ ‘ลุง’) ก้อง ห้วยไร่ มีลักษณะแบบ ‘ป่าล้อมเมือง’ นั่นคือ ศิลปินเหล่านี้เข้ามามีพื้นที่ในวัฒนธรรมป๊อปของคนเมืองมากขึ้น
เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่าง ‘เมือง’ กับ ‘ชนบท’ ที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียวนะครับ เพราะดูเหมือนว่า ‘เมือง’ และ ‘ชนบท’ จะซ้อนทับกันและมีอิทธิพลต่อกันและกันเพิ่มมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
เดิมเรามักเชื่อกันว่า ชนชั้นสร้างสรรค์ (creative class) มักจะเกิดขึ้นเฉพาะในเมืองเท่านั้น ส่วนคนชนบทจะมีวิถีชีวิตที่ ‘สร้างสรรคน้อยกว่า’ และ ‘รสนิยมด้อยกว่า’ หากจะใครที่สร้างสรรค์ผลงานได้ คนนั้นจะต้องได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘ครู’ เสียก่อน คนเมืองจึงจะให้การยอมรับ (ในแง่นี้ ‘ครู’ ก็เป็นหนึ่งในชนชั้นสร้างสรรค์ คนที่คอยเชื่อมรสนิยมคนเมืองกับรสนิยมคนชนบทนั่นเอง)
ดังนั้น แม้งานสร้างสรรค์จากชนบทจะเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ แต่ก็มีงานเพียงไม่กี่ชิ้นหรอกนะครับที่คนเมืองยอมรับให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมป๊อปของตัวเองได้
แต่สังคมไทยกำลังเปลี่ยนไปอย่างมหาศาลเลยหละครับ ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา คนชนบทจำนวนมากได้เข้ามาเป็นเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจตลาดนอกภาคเกษตรไปอย่างกว้างขวางแล้ว โดยส่วนใหญ่แรงงานได้เข้ามาเป็นแรงงานนอกระบบในเมืองจนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนเมืองกับคนชนบทเปลี่ยนไปจากเดิม
คนชนบทมีสำนึกเกี่ยวกับตนเองและการมองโลกที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง พวกเขามีแบบแผนการบริโภคที่ทัดเทียมกับคนอื่นมากขึ้น และตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างช่องทางทำมาหากินกับสังคมโดยรวมมากขึ้น พร้อมกันนั้นเทคโนโลยีดิจิทัลและโลกของการเชื่อมต่ออย่างเข้มข้นทำให้การส่งผ่านแบบแผนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมระหว่าง ‘เมือง’ กับ ‘ชนบท’ เป็นไปอย่างรวดเร็ว คนหนุ่มสาวในชนบทมี ‘อุดมคติแบบเมือง’ มากยิ่งขึ้น พวกเขาเป็นพลังสำคัญในการนำอิทธิพลของชีวิตคนเมืองสมัยใหม่สู่ชนบท โดยการนำเทคโนโลยีทันสมัยและการเชื่อมต่อสมัยใหม่มาสู่ครอบครัวและชุมชน ในขณะเดียวกันพ่อแม่ก็ให้อิสระกับพวกเขาในการออกจากวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมมากขึ้น
รายงานเรื่อง Mind The Gap | When Rural Meets Digital : A Truth Perspective สำรวจพฤติกรรมของกลุ่มเจนวายในสังคมชนบท (อายุ 17 – 23 ปี) บอกไว้ว่า คนเจนวายในชนบทนั้นไม่ได้มีพฤติกรรมที่แตกต่างคนเจนวายในเมืองเท่าไหร่ คนกลุ่มนี้รับเอาอุดมการณ์และพฤติกรรมการเชื่อมต่อ (being connected) ของคนยุคใหม่ทั่วโลกไว้เหมือนกัน และก่อให้เกิด ‘วัฒนธรรมดิจิทัล’ ในแบบฉบับของคนรุ่นใหม่ในชนบทขึ้น
วัฒนธรรมดิจิทัลในชนบทนั้นมีความน่าสนใจหลายอย่างเลยทีเดียว ที่เด่นชัดที่สุดคือ การให้คุณค่ากับโทรศัพท์มือถือมากกว่ารถจักรยานยนต์ หรือ ‘smartphone is the new motorbike’ แต่เดิมรถจักรยานยนต์เป็นสิ่งที่วัยรุ่นชนบททุกคนต้องการและต้องมีตลอดมา เพราะนอกจากจะจำเป็นในการใช้ชีวิต ยังเป็นเครื่องหมายแสดงถึงการเติบโตจาก ‘เด็ก’ เป็น ‘วัยรุ่น’ อีกด้วย การเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้อาจเทียบเท่าได้กับการที่คนเมืองรุ่นใหม่ที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองให้ความสำคัญกับการมีรถยนต์น้อยลง
นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่ในชนบทใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อไล่ตามความทันสมัยที่อยู่ในเมืองในมิติต่างๆ เช่น ละคร ข่าวบันเทิง เพลง ความงาม แฟชั่น อาหาร ฯลฯ แต่ในอีกด้านหนึ่ง พวกเขาก็ยังมีความสนใจในเนื้อหาและรูปแบบเฉพาะตัว ดังจะเห็นได้จากปรากฏการณ์ คนดังออนไลน์ที่มาจากชนบท เช่น pancake is sexy ซึ่งสร้างเนื้อหาจากความ ‘จริง’ อีกชุดหนึ่ง ซึ่งไม่ต้องสวยหล่อเหมือนกับมาตรฐานของเมือง แต่ก็กลายเป็นที่รู้จักและชื่นชอบในวงกว้างได้ เป็นต้น
‘ผู้สาวขาเลาะ’ เกิดขึ้นได้ภายใต้บริบทแบบนี้แหละครับ
3
ไม่ใช่แค่ชนบทเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลง เมืองก็เปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน
ความหลากหลายภายในเมืองทำให้คนเมืองจำเป็นต้องเปิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมของตนเองมากยิ่งด้วย โลกใหม่ทำให้คนชนบท ซึ่งแม้ไม่ใช่คนในสังกัด ‘ชนชั้นสร้างสรรค์’ (ตามความเชื่อดั้งเดิม) สามารถสร้างสรรค์ผลงานให้เป็นที่ยอมรับได้ง่ายมากขึ้นด้วย
ถ้าสังเกตให้ดี เราจะเห็นความเชื่อมร้อยระหว่างเมืองกับชนบทมากยิ่งขึ้น เนื้อหาที่ได้รับความนิยมจากคนชนบทถึงจุดหนึ่งก็อาจเป็นที่สนใจของคนเมืองในเมืองก็เป็นได้ โดยไม่ใช่ผู้สันทัดวงการเพลง ผมคิดว่าเพลง ‘ขอใจแลกเบอร์โทร’ (หญิงลี ศรีจุมพล) ‘ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน’ (ก้อง ห้วยไร่) หรือ “ตราบธุลีดิน” (ปู่จ๋าน ลองไมค์) ที่ฮิตกันทุกชาร์ตงานเลี้ยงและคาราโอเกะ น่าจะอยู่ในข่ายนี้
การเชื่อมร้อยกันระหว่างชนบทกับเมืองทำให้เกิดตลาดและโอกาสใหม่ที่น่าสนใจได้ด้วยนะครับ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ มิวสิควิดีโอและเพลงผสมผสานคอนเทนต์จากทั้งสองฝั่งเข้าด้วยกันอย่างลงตัวและเนียนตา อาทิ การฟีเจอริ่งกันระหว่างบอดี้สแลม กับ ศิริพร อำไพพงษ์ (เพลงคิดฮอด) พี่ป้าง-นครินทร์กับตั๊กแตน ชลดา (เพลงภูมิแพ้กรุงเทพ) คามิคาเซ่ กับ ใบเตย อาร์สยาม (เพลงแน่นอก) เป็นต้น
มานึกดูอีกที ‘ป่าล้อมเมือง’ อาจจะเป็นคำเปรียบเปรยที่เชยไปแล้วก็ได้นะครับ เพราะถึงที่สุดแล้วเราอาจไม่สามารถแยกป่าแยกเมืองได้เลยต่างหาก