หลังจากเรามีพื้นที่สาธารณะใหม่ให้ได้ใช้งานกัน ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2560 เมื่อกรุงเทพมหานครเปิด ‘หอสมุดเมืองกรุงเทพฯ’ เป็นอาคารออกแบบสวยงาม 3 ชั้น อยู่ตรงสี่แยกคอกวัว (ใกล้ๆ ถนนข้าวสารนั่นแหละ) โดยแผนในอนาคตตั้งใจจะเป็นห้องสมุดที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
การจะมีห้องสมุดใหม่เป็นอะไรที่น่าตื่นเต้น อย่างน้อยๆ คือการจะมีพื้นที่สะอาดๆ สวยๆ เย็นสบาย ให้เราไปใช้เวลาว่าง ไปอ่านหนังสือเพิ่มพูนความรู้ให้กับตัวเอง
ในระดับที่มากไปกว่านั้น ‘ห้องสมุด’ ดูจะเป็นพื้นที่พิเศษ คือเวลาเราจินตนาการภาพคำว่า ‘ห้องสมุด’ มันคือพื้นที่โอ่โถงที่รวบรวมสรรพความรู้ทั้งหลายไว้ ด้วยการออกแบบห้องสมุดที่มีความสลับซับซ้อน และบรรยากาศอันเคร่งขรึมของห้องสมุดเองก็เป็นเหมือนแหล่งบรรจุความรู้จากยุคต่างๆ บางอย่างไว้ ดังนั้นห้องสมุดเลยมีนัยของความลี้ลับให้เราได้เข้าไปค้นหาองค์ความรู้หรือความเข้าใจโลก
ในหนังหรือวรรณกรรมจึงมักพูดถึงห้องสมุดในฐานะพื้นที่ของความรู้หรือความลับบางอย่าง พื้นที่ๆ ผู้ทรงภูมิหรือบรรณารักษ์ได้ซุกซ่อนและเก็บรักษาไว้ซึ่งองค์ความรู้พิเศษ ในวรรณกรรมเรื่อง สมัญญาดอกกุหลาบ (The Name of the Rose) นวนิยายแนวสมคบคิดยุคแรกๆ ของ Umberto Eco ก็พูดถึงห้องสมุดที่เก็บงำความลับสำคัญไว้ ในงานของแดน บราวน์ ก็ทำนองเดียวกันที่ความลับถูกบรรจุไว้ในเอกสารโบราณสำคัญภายในห้องสมุดแห่งวาติกัน
ห้องสมุดกับอารยธรรมโบราณ
ด้วยความที่ห้องสมุดเป็นเสมือนพื้นที่ที่สะสมบันทึกทางความรู้และเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์อันล้ำค่าเอาไว้ ดังนั้นอารยธรรมต่างๆ เมื่อมีวัฒนธรรมการเขียนและบันทึกขึ้น มันก็เลยต้องมีพื้นที่หรืออาคารที่ใช้จัดเก็บเอกสารบันทึกทั้งหลาย
ห้องสมุดที่เก่าแก่ที่สุดส่วนใหญ่พบได้ในเกือบทุกอารยธรรมโบราณ ถ้ายังจำวิชาประวัติศาสตร์ได้ ในอารยธรรมเมโสโปเตเมีย พวกสุเมเรียนมีการประดิษฐ์อักษรลิ่มและจารลงบนแผ่นจากรึกที่ทำจากดินเหนียวที่เอาไปอบเพื่อให้ทนทานขึ้น ในสมัยนั้นก็มีหลักฐานพบห้องที่เก็บแผ่นบันทึกดินเหนียวในวิหาร
ห้องสมุดสำคัญจากยุคโบราณที่มีชื่อเสียงและมีความยิ่งใหญ่อลังการที่เป็นที่รู้จักแห่งหนึ่งคือห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรีย ในทำนองเดียวกับพวกสุเมเรียน อารยธรรมของอียิปต์มีการคิดค้นกระดาษปาปิรัส ห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรียก็เป็นห้องสมุดขนาดยักษ์ที่รวบรวมเอกสารสำคัญทั้งหลายของอาณาจักรไว้ บทบาทหนึ่งของห้องสมุดนี้คือการเอาเอกสารความรู้ต่างๆ จากอาณาจักรต่างๆ มาแปลและบันทึกลงในรูปแบบของกระดาษปาริรัส ดังนั้นความสำคัญของการมีห้องสมุดที่ยิ่งใหญ่จึงเป็นเหมือนเครื่องหมายที่บ่งบอกถึงความเกรียงไกรของอาณาจักรนั้นๆ ในการสะสมรวบรวมความรู้ต่างๆ ที่ต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการรวบรวมและบำรุงรักษาเอกสารจำนวนมากเหล่านั้น
พลังของห้องสมุดสาธารณะ
ถ้าเคยเล่นพวกเกมสร้างเมือง เวลาที่เราสร้างพวกห้องสมุด ผลของมันคือมักจะเพิ่มค่าต่างๆ ให้กับชาวบ้านผู้คนที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้น คือลองนึกภาพว่าถ้าเรามีห้องสมุดอยู่ใกล้ๆ เป็นที่ๆ เราว่างๆ ก็เข้าไปอ่านหนังสือ ใช้เวลาสงบๆ ในการเรียนรู้ นานๆ ทีก็มีการสัมนา มีเรื่องราวให้ความรู้ต่างๆ มันก็ดีกับคุณภาพชีวิต คุณภาพประชากร
Art Council แห่งประเทศอังกฤษเกิดอยากหาคำตอบว่าเอ๊ะ ห้องสมุดเนี่ยมีผลยังไงกับประชาชนเลยทำรายงานชื่อ ‘The health and wellbeing benefits of public libraries’ ผลคือการเข้าถึงห้องสมุดสาธารณะมีผลทั้งต่อคุณภาพชีวิตที่ดีโดยรวมของประชากรและต่อสุขภาพจริงๆ ด้วย บทบาทสำคัญของห้องสมุดคือการเป็นแหล่งทรัพยากร เช่นการมีหนังสือให้ยืม มีคอมพิวเตอร์ให้ใช้ เป็นพื้นที่สำหรับคอร์สเรียน การอบรม ไปจนถึงเป็นพื้นที่พบปะที่มีคุณภาพ การเข้าถึงทรัพยากรเหล่านี้อย่างฟรีๆ จึงเป็นปัจจัยและความสำคัญของตัวห้องสมุดเองที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับพลเมือง
ถ้าเรามองว่า โอเค การเป็นพื้นที่ของความรู้และการพบปะสังสรรค์กันเป็นประโยชน์หลักของการมีห้องสมุดสาธารณะ จากรายงานยังพบอีกด้วยว่าห้องสมุดมีผลต่อสุขภาพของประชากรในมิติต่างๆ ด้วย ส่วนหนึ่งคือการที่พลเมืองสามารถเข้าถึงองค์ความรู้เรื่องสุขภาพ การเข้าร่วมการเสวนา สัมมนาที่เกี่ยวข้องสุขภาพร่างกาย ผลก็คือพบว่าการที่พลเมืองมีสุขภาพที่ดีขึ้นอันเป็นผลจากห้องสมุด ทำให้มีความเป็นไปได้ที่รัฐจะต้องใช้งบประมาณสำหรับค่าใช้จ่าทางสาธารณสุขของประชากรในจำนวนที่ลดลง
สรุปแล้วก็คือ เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่กรุงเทพมีห้องสมุดเพิ่มขึ้นมาอีกแห่งหนึ่ง และถ้ามีห้องสมุดแล้วมีผู้ใช้บริการเยอะๆ จากรายงานเรื่องประโยชน์ของห้องสมุดพบว่า ถึงห้องสมุดฟรีจะมีค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องทำนุบำรุง แต่สำหรับผู้ใช้บริการเองก็บอกว่า ถ้าจะต้องมีการเสียค่าใช้จ่ายบางอย่าง สำหรับการเข้าถึงบริการต่างๆ เพิ่มเติม (อันเป็นรายได้ที่จะใช้เพื่อดูแลห้องสมุด) พวกเขาส่วนใหญ่ก็ยินดีที่จะจ่ายเหมือนกัน