เดือนธันวาคม ค.ศ.1921 ‘ซันบีม’ แม่แมวสายพันธุ์ผสมเปอร์เซีย-แองโกล่า กำลังพักผ่อนอยู่ในลานสวนข้างบ้านพร้อมกับนอนเฝ้าดูลูกๆ 3 ตัวของเธอ พวกมันทั้งนอนและหยอกล้อเล่นไปมาอย่างสงบสุขเฉกเช่นวันอื่นๆ ทั่วไป มาร์จอรีน อินกัลส์ เจ้าของซันบีม อยู่ในตัวบ้านยืนเฝ้ามองเหล่าขนปุยด้วยความเอ็นดู
ทันใดนั้นเอง หางตาของอินกัลส์ก็เหลือบไปเห็นอะไรบางอย่างขนยาวสีน้ำตาลปนดำ มันมุดเข้าทางใต้รั้วหน้าบ้าน วิ่งพุ่งตรงไปยังลานสวนด้านข้าง มันคือสุนัขขนาดย่อมๆ ที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว จากนั้นมันได้กระโจนเข้าไปหาลูกแมวของเธอที่นอนอยู่อย่างรวดเร็วโดยไม่รีรอ มันไม่เห่าหรือส่งสัญญาณใดๆ ที่จะทำให้เหยื่อรู้ตัวได้เลย
ในเวลาไม่กี่วินาทีต่อจากนั้น ก่อนที่ มาร์จอรีน อินกัลส์ จะคิดอะไรได้ทัน สุนัขตัวนี้ก็กัดเข้าไปที่ลูกๆ ของซันบีม พวกมันแน่นิ่งอย่างรวดเร็วไปทีละตัวสองตัว สุดท้ายสุนัขตัวนี้ปิดท้ายด้วยการใช้ฟันแหลมๆ ของมันพุ่งเข้าไปที่คอของแม่แมวผู้เคราะห์ร้าย ภาพสุดท้ายที่อินกัลส์วิ่งมาเห็นคือสุนัขตัวนี้ได้ใช้ขากรรไกรของมันงับไว้รอบคอของซันบีม มันมองหน้าของเธอ พร้อมใช้ปากเขย่าเหยื่อตัวสุดท้ายเล็กน้อยว่าตายจริงไหม เมื่อเหยื่อตัวสุดท้ายอยู่ในสภาพแน่นิ่งแล้ว สุนัขตัวนี้จึงทิ้งศพที่ทรุดโทรมลงกับพื้นแล้ววิ่งหนีออกไป มันคือการจู่โจมที่นองเลือด โหดร้าย และจบลงอย่างรวดเร็ว
มาร์จอรีน อินกัลส์ อยู่ในสภาพที่โกรธแค้นอย่างขีดสุด เธอคิดว่าเธอจำสุนัขฆาตกรตัวนี้ได้ มันชื่อว่า ดอร์มี สุนัขสายพันธุ์แอเรเดล เทอร์เรียร์ เจ้าของของมันชื่อ อีตัน แมคมิลแลน เจ้าของธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์รายหนึ่ง และบ้านของเขาก็อยู่ในละแวกเดียวกับเธอ ดอร์มีเป็นสุนัขรูปร่างสวยงามสมส่วน ผลผลิตของพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ชนะรางวัลระดับประเทศ หากมันเป็นคนฆ่าจริง ภายใต้เปลือกด้านนอกนี้ก็มิอาจตัดสินจิตใจอันเป็นเพชรฆาตได้เลย
ด้วยความแค้นของอินกัลส์ กลุ่มเพื่อนบ้านและผู้คนในละแวกใกล้เคียงจึงถูกเธอเรียกมารวมตัวกันเพื่อหาข้อสรุปโดยมีแมคมิลแลนเข้ามารับฟังด้วย ที่ผ่านมาในละแวกย่านนี้ไม่ได้มีแต่เหตุโศกนาฏกรรมของซันบีมและลูกของมันเพียงอย่างเดียว เพราะทั้งหมดแล้วมีแมวเสียชีวิตถึง 14 ตัวจากการถูกปลิดชีพด้วยเขี้ยวอันแหลมคมในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน อินกัลส์และเพื่อนบ้านทั้งหมดเห็นพ้องว่าเกิดจากสัตว์ตัวเดียวกัน และดอร์มีก็กลายเป็นผู้ต้องสงสัยทันที
หลายชั่วโมงแห่งความตึงเครียด ท้ายที่สุดแล้วแมคมิลแลนก็ต้องเผชิญกับคำขาดของข้อสรุปในครั้งนี้ “จะทำการการุณยฆาตดอร์มีด้วยตนเอง หรืออยากเผชิญกับการลงโทษของระบบกฎหมายรัฐแคลิฟอร์เนีย” แน่นอนว่าแมคมิลแลนปฏิเสธที่จะฆ่าสัตว์เลี้ยงของตนเอง นักธุรกิจรายนี้และสุนัขของเขาจึงถูกเพื่อนบ้านของตนเองแจ้งความข้อหากระทำความผิดทางอาญา
ย้อนกลับไปในสมัยเมื่อ 100 ปีที่แล้ว หากคุณเป็นเจ้าของสุนัขที่ ‘อันตรายหรือดุร้าย’ คุณอาจถูกปรับทันที และสุนัขของคุณจะถูกส่งไปที่แดนประหารด้วยการรมแก๊สหากกระทำสิ่งเลวร้ายแก่สาธารณะ แมคมิลแลนฉลาดกว่านั้น เขาปฏิเสธที่จะจ่ายค่าปรับใดๆ เพราะว่าเขานั้นได้ซื้อใบอนุญาตสำหรับสุนัขตัวนี้มาตั้งแต่วันแรกที่ซื้อมันมา และนั่นหมายความว่าแอเรเดล เทอร์เรียร์ตัวนี้สามารถเดินไปทั่วซานฟรานซิสโกได้ทุกที่ทุกเวลาตามความพอใจของมันอย่างถูกกฎหมาย แมคมิลแลนยังกล่าวว่าสาเหตุนี้เขาจึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อพฤติกรรมของมันทุกครั้งที่ออกไปไหนและทำอะไร สุนัขตัวนี้ต้องรับผิดชอบการกระทำของตนเอง ยิ่งไปกว่านั้น แมคมิลแลนยังกล่าวว่าเขาไม่เคยสนับสนุนหรือพูดจูงใจให้ดอร์มีฆ่าแมวเลย
แน่นอนว่าแมคมิลแลนไม่ทอดทิ้งทิ้งสุนัขของเขาไปให้เผชิญกับระบบยุติธรรมของรัฐแคลิฟอร์เนียเพียงลำพัง เขาจ้าง เจมส์ เอฟ. เบรนแนน ทนายมือดีชื่อเสียงโด่งดังให้เป็นตัวแทนของจำเลยผู้ที่ทำได้แค่เห่ากับส่งเสียงแสดงความรู้สึก
ทนายเบรนแนนเรียกร้องกับ จอห์น ออคัตต์ ผู้ช่วยอัยการเขต ให้มีการพิจารณาคดีโดยคณะลูกขุนสำหรับลูกความขนยาวของเขา แน่นอนว่าไม่มีใครแปลกใจมากไปกว่าผู้ช่วยอัยการเขต เบรนแนนกล่าวว่าฝ่ายเขามี 16 คนที่พร้อมจะให้การเป็นพยาน ทนายผู้ถูกจ้างมาให้ไม่ยอมถอยจึงได้รับคำร้องนี้ในที่สุด
“กฏหมายที่อยู่ภายใต้คดีนี้เป็นเรื่องที่ไร้สาระ และเราคาดหวังไม่เพียงแต่จะช่วยดอร์มีเท่านั้น แต่เรายังโจมตีกฎหมายนี้ด้วย และเราจะประท้วงต่อต้านผู้หญิงในคณะลูกขุน เนื่องจากพวกเขาส่วนใหญ่เป็นพวกรักใคร่แมว” ทนายเบรนแนนกล่าวกับ The Stockton Daily Evening Record
สุนัขพันธุ์แอเรเดล เทอร์เรียร์ตัวนี้จึงถูกขึ้นศาลของมนุษย์ในฐานะจำเลยคดีฆาตกรรมแมว 14 ตัว หนึ่งในคดีที่บ้าคลั่งที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาจึงเริ่มต้นขึ้น
การพิจารณาคดีเริ่มขึ้นในวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ.1921 ดอร์มีพบว่าตัวเองถูกจูงมาอยู่ในห้องพิจารณาคดีรัฐแคลิฟอร์เนีย เผชิญหน้ากับคณะลูกขุนโดยมีทนายอยู่เคียงข้าง และเมื่อผู้พิพากษา ไลล์ ที. แจ็กส์ เดินเข้ามา ทุกคนก็ยืนขึ้นมองไปที่ผู้พิพากษาอันทรงเกียรติ แจ็กส์ขอให้นั่งลง และตามด้วยให้คณะลูกขุนเริ่มพิจารณาคดี มันแทบเป็นไปไม่ได้เลยว่าดอร์มีจะเข้าใจกระบวนการอันซับซ้อนที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ คณะลูกขุน 12 คนที่อยู่ตรงหน้าจะเป็นคนตัดสินว่าดอร์มีนั้นควรมีชีวิตอยู่ หรือต้องตายเพื่อชดใช้ในสิ่งที่ตนเองทำด้วยการกลับขึ้นไปบนดาวสุนัข
ถึงแม้ว่ามันจะเป็นการพิจารณาคดีเมื่อหนึ่งร้อยปีที่แล้ว บางคนในปัจจุบันอาจมองว่ามันเป็นวิธีการจัดการกับสัตว์ที่แปลกประหลาดโบราณอย่างเหลือเชื่อ แท้จริงแล้วชาวซานฟรานซิสโกในตอนนั้นส่วนใหญ่ก็คิดว่าคดีของดอร์มีเป็นเรื่องตีโพยตีพายและไร้สาระจริงๆ อินกัลส์ต้องการเรียกคืนความชอบธรรมให้กับแมวอันล้ำค่าของตนโดยให้ชีวิตฆาตกรขนปุยตัวนี้จบสิ้นลงแทนที่จะจัดการกับผู้ที่เป็นเจ้าของมัน
ห้องพิจารณาคดีเต็มแน่นไปด้วยประชาชนผู้สนใจเป็นจำนวนมาก หารู้ไม่ว่าดอร์มีเป็นสุนัขที่ได้รับความนิยมอย่างมากในเมืองและเด็กจำนวนมากกลายมาเป็นพยานในคดีนี้ พวกเขาต่างรวบรวมเงินเพื่อช่วยสมทบทุนค่าใช้จ่ายทางกฎหมายในคดีของดอร์มีเพื่อนสนิทของพวกเขา มันกลายเป็นสงครามระหว่างคนรักสุนัขและคนรักแมวที่ทะเลาะกันทั้งในหนังสือพิมพ์และวงสนทนาทั่วไปในประเทศ โดยเฉพาะสมาคมคนรักสุนัขและสมาคมคนรักแมว
“เราขอบอกว่าสุนัขสายพันธุ์ แอเรเดล เทอร์เรียร์ ทุกตัวไม่มีเจตนาที่จะทำร้ายแมว ประวัติของพวกมันเต็มไปด้วยความกล้าหาญและพร้อมปกป้องสัตว์ที่อ่อนแอกว่า โดยเฉพาะแมว” เอ. เอ็กซ์. ดีคอร์ตูว์ ประธานสมาคมนักเล่นสุนัขชายฝั่งแปซิฟิกกล่าว
“ซันบีมถูกพรากชีวิตแมวออกไป เธออายุเพียง 8 ปี แมวธรรมดาเสียชีวิตระหว่าง 8–12 ปี แต่แมวพันธุ์เปอร์เซียอยู่ได้ถึงประมาณ 19 ปี ดังนั้นแมวเปอร์เซียในช่วงอายุ 8 ปีเป็นวัยที่มีแต่ความสงบสุข สง่างาม และมีความสุขถ้าไม่มีสิ่งใดมารบกวน” แฟรงก์ อาร์. เดอ คาสโตร ประธานชมรมแมวซานฟรานซิสโกกล่าว

ภาพจากหนังสือพิมพ์ The Jasper weekly courier
เบรนแนนเริ่มต้นด้วยการทำให้ศาลเห็นว่านาง มาร์จอรีน อินกัลส์ เป็นผู้ไม่น่าเชื่อถือในการระบุตัวตนของสุนัข และการฟันธงว่าดอร์มีคือฆาตกรที่แท้จริงเป็นเรื่องที่ผิดพลาด เบรนแนนจึงพาสุนัขหลากหลายแบบหลายสายพันธุ์มานั่งไปทั่วห้องพิจารณาคดี และขอให้อินกัลส์ชี้ว่าสุนัขตัวไหนคือผู้จู่โจมซันบีมอีกครั้ง มันมีทั้งไอริช วอเตอร์ สแปเนียล, อิงลิช มาสทิฟฟ์, บอร์ซอย และแอเรเดล เทอร์เรียร์อีกหลายตัว รวมถึงน้องชายของดอร์มี
เบรนแนนตกใจเล็กน้อยหลังจากที่นางอินกัลส์ระบุตัวดอร์มีได้ถูกต้อง แต่เขาก็ชี้ให้เห็นอย่างรวดเร็วว่าดอร์มีนั้นเป็นสุนัขตัวเดียวที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจูงเข้าไปในห้องพิจารณาคดี ซึ่งตัวอื่นไม่ได้ถูกนำตัวเข้ามาโดยตำรวจ ผู้พิพากษาแจ็กส์ยอมรับประเด็นนี้ และบอกคณะลูกขุนอย่านำประเด็นที่นางอินกัลส์ระบุตัวดอร์มีได้ถูกต้องนี้เป็นส่วนในการตัดสินผู้กระทำผิด
เบรนแนนเรียก ‘ราวดี้’ พยานแรกของเขา ราวดี้เป็นแอเรเดล เทอร์เรียร์ เหมือนกับดอร์มี อีกทั้งยังเป็นพี่ชายสุนัขเลี้ยงของ วาร์เรน จี. ฮาร์ดิง ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น เบรนแนนกล่าวกับศาลว่านอกจากราวดี้จะเป็นสุนัขที่นิสัยดีแล้วนั้น มันยังเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดกับแมวเปอร์เซียตัวหนึ่งนามว่า แมรี แอนน์ ประเด็นที่น่าสนในคือเมื่อ แมรี แอนน์ ได้เสียชีวิตลง ราวดี้รู้สึกโศกเศร้าเป็นอย่างมาก มันมีอาการซึมเศร้าติดต่อกันถึง 8 วัน พูดอีกอย่างก็คือสุนัขพันธุ์แอเรเดล เทอร์เรียร์ นั้นเป็นไปได้ยากมากที่จะมีนิสัยดุร้ายและจะฆ่าแมวได้ลง
การพิจารณาคดีวันแรกผ่านไป หนังสือพิมพ์ทั่วประเทศต่างลงข่าวเกี่ยวกับคดีของดอร์มี หนังสือพิมพ์ Chicago Tribune กล่าวว่าดอร์มีนั้น “ถูกข่มเหงโดยความเชื่อใจของไส้กรอก” ถูกสุนัขตัวเมียฟ้องเพราะ “ผิดสัญญา” และทำให้เกิด “ความตกตะลึงทั่วทั้งคอกสุนัข”
วันที่ 21 มกราคม ค.ศ.1922 The Washington Times ได้ตีพิมพ์ข้อความที่ได้รับจากจดหมายของพลเมืองคนหนึ่งชื่อว่า แฮโรลด์ เอ. อิสราเอล เขากล่าวว่า “จุดประสงค์ที่แท้ของการพิจารณาคดีคือการทำให้อาชญากรในอนาคตหวาดกลัวต่อการก่ออาชญากรรมไม่ใช่หรือ? แล้วการประหารสุนัขก็ไม่ได้สามารถตอบสนองวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้ มันไม่สำคัญหรอกว่าคณะลูกขุนจะตัดสินว่าดอร์มีบริสุทธิ์หรือมีความผิด เพราะสุนัขตัวอื่นจะยังคงขัดขืนและวิ่งไล่ตามแมวต่อไปอยู่ดี”
อิสราเอลตอกกลับการพิจารณาคดีนี้อย่างชาญฉลาด ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรสุนัขตัวอื่นก็ไม่ได้รับรู้และมีความตระหนักมากขึ้นว่าพวกมันควรเลิกไล่กัดแมว และไม่มีผลต่อจำนวนอาชญากรรมที่มากขึ้นหรือน้อยลงในอนาคต
ดูเหมือนว่าคณะลูกขุนส่วนใหญ่จะได้อ่าน The Washington Times เพราะสุดท้ายแล้วคณะลูกขุน 11 คนลงมติให้ปล่อยดอร์มีเป็นอิสระ มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่คิดว่าควรประหารดอร์มี เจมส์ เบรนแนน จึงขอให้ศาลยกฟ้อง ผู้พิพากษาแจ็กส์จึงสั่งยกฟ้อง ไม่เพียงแค่นั้น เบรนแนนยังขอให้ศาลพิจารณายกเลิกกฎหมายที่มีโทษประหารชีวิตสำหรับสุนัขที่ ‘ดุร้ายและอันตราย”’

หนังสือพิมพ์ The Seattle star 21 ธันวาคม ค.ศ.1921
สุดท้ายแล้วไม่มีใครรู้ว่าดอร์มีเป็นฆาตกรตัวจริงหรือไม่ และมันกลับไปใช้ชีวิตต่ออย่างไร คดีนี้อาจดูเหมือนเป็นเรื่องตลกเรื่องใหญ่ แต่ศาสตราจารย์ สแตนลีย์ คอร์เนน จากมหาวิทยาลัย British Columbia ได้เขียนในบทความลงใน Psychology Today ถึงการพิจารณาคดีของดอร์มีนี้ว่า “เรื่องราวทั้งหมดนี้ได้กำหนดแบบอย่างทางกฎหมายที่ไม่เหมือนใครหลายประการ สุนัขกลายเป็นผู้มีสิทธิ์ถูกพิจารณาคดีโดยคณะลูกขุนและมีโทษสูงสุดคือการประหารชีวิต โดยที่แมวกลับไม่มีสิทธิ์ทางกฎหมาย มันไม่ใช่เรื่องตลก เพราะคดีส่วนใหญ่มักถูกตัดสินโดยอ้างอิงจากการตัดสินใจก่อนหน้านี้ในอดีต บางทีสักวันหนึ่งทนายคนหนึ่งอาจย้อนการตัดสินไปถึงปี ค.ศ.1921 และใช้การพิจารณาคดีของดอร์มีเป็นวิธีให้สุนัขตัวอื่นที่อาจดุร้ายและทำร้ายใครหลายคนตายต้องรอดพ้นจากคดี”
การตัดสินสิ่งมีชีวิตตัวอื่นด้วยหลักการและกฏของมนุษย์ผู้ที่ประวัติศาสตร์เคยฆ่าทุกอย่างแม้กระทั่งพวกเดียวกันนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นคดีแรก
ในช่วงยุคกลาง สัตว์หลายประเภทได้กลายเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบในการละเมิดกฎหมายของมนุษย์ และถ้ามันเป็นคดีอาชญากรรมเมื่อไหร่ สัตว์เหล่านี้ก็ต้องถูกลากไปที่ศาลอยู่เสมอ โดยเฉพาะในทวีปยุโรป ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 8 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17 สัตว์ตั้งแต่สุนัข วัว ม้า หมู หรือแม้กระทั่งปลาไหล มักถูกนำตัวไปตัดสินคดีและประหารชีวิตด้วยการเผาหรือแขวนคอ
ยกตัวอย่างเช่น
ในปีค.ศ.1314 วัวตัวหนึ่งถูกประหารด้วยการแขวนคอเพราะมันมีอาการดุร้าย
ในปี ค.ศ.1379 หมูสามตัวได้ทำร้ายชาวนาฝรั่งเศสคนหนึ่งจนเสียชีวิต พวกมันถูกพาเข้าห้องพิจารณาคดีเพื่อตัดสินประหารชีวิต แต่สุดท้ายแล้วเจ้าของของพวกมันก็โน้มน้าวให้ดุ๊กแห่งเบอร์กันดี (ตำแหน่งของประมุขผู้ปกครอง) ให้อภัยแก่พวกมัน จนสุดท้ายหมูสามตัวนี้ก็รอดชีวิต
การประหารสัตว์บางครั้งก็เป็นไปด้วยความแปลกประหลาด ในปี ค.ศ.1386 ที่เมืองฟาเลส์ ประเทศฝรั่งเศส มีการประหารชีวิตหมูตัวหนึ่งด้วยการแขวนคอ มันถูกป้อนอาหารอย่างดี จากนั้นจึงแต่งตัวใส่เสื้อของมนุษย์ พร้อมทั้งกางเกง ถุงมือ และหน้ากาก ก่อนที่จะประหารด้วยการแขวนคอจนหมดลมหายใจ
ในปี ค.ศ.1474 ไก่ตัวหนึ่งถูกประหารด้วยการเผา เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ามันออกไข่ที่สภาพน่ารังเกียจออกมา
ในปี ค.ศ.1587 ที่เมืองเซนต์จูเลียน ประเทศฝรั่งเศส ตัวมอดถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีในข้อหาทำลายพืชผล การตัดสินใช้เวลาถึงแปดปีในการตัดสินว่ามันผิดหรือไม่ ปัจจุบันเราไม่ทราบได้ว่าสุดท้ายแล้วศาลตัดสินอย่างไร เนื่องจากบันทึกของศาลหน้านั้นได้หายไป จนกลายเป็นเรื่องตลกที่ว่ากันว่าแมลงอาจจะกินหน้านั้นเข้าไป
ในปี ค.ศ.1547 แม่หมูและลูกของเธอถูกตั้งข้อหาฆ่าเด็กชายคนหนึ่ง แม่หมูถูกประหารก่อนด้วยการแขวนคอบนต้นไม้ แต่ระหว่างลูกหมูกำลังถูกนำตัวไปประหารนั้น มนุษย์กลับตัดสินใจปล่อยตัวพวกมันด้วยเหตุผลว่า “เนื่องจากความเยาว์วัยและการรับอิทธิพลอันเลวร้ายของมารดามา”
ในปี ค.ศ.1595 โลมาสามตัวถูกตัดสินประหารชีวิตในเมืองมาร์เซย์ ประเทศฝรั่งเศส น่าเสียดายที่ไม่มีใครรู้ว่าทำไมพวกมันถึงถูกประหารชีวิต
คดีของดอร์มีไม่ใช่คดีสุดท้ายที่สุนัขถูกขึ้นศาล เพราะในปี ค.ศ.1924 กิฟฟอร์ด พินโชต์ ผู้ว่าการรัฐเพนซิลเวเนียได้ดำเนินคดีกับสุนัขตัวหนึ่งที่ฆ่าแมวของเขา และจากการตัดสินพบว่าสุนัขนั้นมีความผิด มันถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิตที่เรือนจำรัฐฟิลาเดลเฟียจนเสียชีวิตที่นั่น
นอกจากเรื่องราวของสัตว์ขึ้นศาลแล้ว สัตว์ที่ถูกตำรวจจับก็มี เช่นในปี ค.ศ.1920 ลิงชิมแปนซีตัวหนึ่งในรัฐอินเดียน่าถูกจับกุมในข้อหาสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ
ในบางครั้ง เมื่อมีสิ่งเลวร้ายเกิดขึ้น ผู้คนต้องการความยุติธรรม และบางครั้งแพะรับบาปก็คือแพะอย่างแท้จริง
อ้างอิงข้อมูลจาก