ประสบการณ์หนึ่งที่ผมเชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะมีร่วมกันโดยเฉพาะในยุคแห่ง ‘Internet Debate’ หรือการเถียงกันในโลกอินเตอร์เน็ตเกิดขึ้นโดยทั่วไป ไม่นับรวมว่าในสังคมไทยนั้น อยู่ในช่วงของการแบ่งขั้วทางความคิด (Polarization) มานานกว่าทศวรรษนั้น ย่อมขับเน้นให้สงครามการถกเถียงยิบย่อยสารพันในโลกออนไลน์นั้นมีมากมายทั่วไปหมด หรือต่อให้ไม่ได้ผ่านประสบการณ์ตรงจากการถกเถียงที่ว่ามานี้ แต่บ่อยๆ ครั้งการชายตา เงี่ยหูไปฟังคำอธิบายต่างๆ ของคนที่มีตำแหน่งแห่งที่สูงๆ ทางการเมือง อย่างผู้นำรัฐบาลไทยแล้วนั้นก็มักจะได้ข้อสรุปหรือประสบการณ์ร่วมกันอีกข้อหนึ่งนั่นก็คือ “ทำไมมัน (อีกฝ่าย) ถึงโง่จังวะ นี่อธิบายและยกหลักฐานชัดเจนล้านแปดมาแล้ว มันก็ยังจะหลงเชื่อในเรื่องบ้าๆ ปลอมๆ พิสูจน์ไม่ได้ต่อไปอีก!”
สถานการณ์ดังว่านี้ แท้จริงแล้วเกิดขึ้นตลอดเวลาด้วย อย่างในสหรัฐอเมริกา มีคนกลุ่มหนึ่งจริงๆ ที่เชื่อเป็นมั่นเป็นเหมาะว่า ‘โลกนั้นแบน’ ขนาดที่ว่าอีกฝั่งยกหลักฐานเชิงประจักษ์สารพัดว่า ‘โลกนั้นกลม’ ก็ไม่อาจจะดึงสติกลับมาได้มากนัก ในทำนองเดียวกัน กรณีของไทยนั้น ลักษณะดังว่าหลายๆ ครั้งก็เห็นได้ในตัวผู้นำประเทศเอง ที่ต่อให้ประชาชนส่งเสียงทักท้วง อธิบายอย่างไร ก็ดูจะไม่อาจทำให้เข้าใจหรือมีขีดความสามารถในการทำงานหรือประกอบกิจกรรมให้บรรลุวัตถุประสงค์นั้นๆ ลงได้อย่างมีประสิทธิภาพเลย และนี่แหละครับคือความหมายของคำว่า ‘โง่’ ที่เราจะใช้งานกันในบทความรอบนี้ (ต้องระบุให้ชัด เพราะทราบดีว่าเรื่องที่เขียนนี้มีความเปรี้ยวตีนอยู่ และมีความหมายที่ลื่นไหลพอสมควร)
ในประเด็นดังกล่าวนี้ ได้มีการพยายามทำความเข้าใจในทางวิชาการขึ้นเช่นกันครับในฝั่งโลกตะวันตก โดยที่มีชื่อเสียงที่สุดก็คือ คำอธิบายลักษณะดังว่าในฐานะ ‘ปรากฏการณ์ดันนิ่ง-ครูเกอร์’ หรือ Dunning-Kruger Effect ครับ
ดังที่ชื่อของปรากฏการณ์ชี้นำนั่นแหละครับ คำอธิบายนี้มาจากนักวิจัยด้านจิตวิทยาสังคม (Social Psychologist) 2 ท่าน คือ David Dunning กับ Justin Kruger ครับ ทั้งสองเขียนงานของพวกเขาที่ชื่อ Unskilled and Unaware of It: How Difficulties in Recognizing One’s Own Incompetence Lead to Inflated Self-Assessment ขึ้นในปี ค.ศ.1999 ซึ่งจุดตั้งต้นของการศึกษาของทั้งคู่นั้นก็น่าสนใจทีเดียวครับ มันเริ่มมาจากข่าวของโจรปล้นธนาคารรายหนึ่งที่ชื่อ McArthur Wheeler ที่เข้าปล้นธนาคาร 2 แห่งเมื่อวันที่ 19 เมษายน ค.ศ..1995 ซึ่งฟังดูก็อาจจะปกติธรรมดา แต่ความน่าฉงนก็คือ พ่อคุณ McArthur นี้ปล้นธนาคารทั้งสองแห่งโดยเปิดหน้าแบบหราเลยครับ และไม่ใช่ว่าตนเองนั้นมีพลังพิเศษในการเปลี่ยนรูปลักษณ์อะไรแบบตัวละครในเรื่อง X-Men ด้วย แต่เพราะเขาเชื่อจริงๆ ว่าตัวเขานั้น ‘ล่องหนอยู่’ เพราะเขาได้ทาหน้าเข้าด้วยน้ำมะนาวแล้ว และเขาเห็นว่าน้ำมะนาวเป็นส่วนผสมสำคัญในการทำ ‘หมึกล่องหน’ เพราะฉะนั้นเมื่อเขานำน้ำมะนาวมาทาหน้าตัวเอง เขาก็ย่อมจะล่องหนอยู่ด้วยเช่นกันกับน้ำหมึก แต่ก็ดังที่ท่านผู้อ่านพอจะคาดเดาได้นั่นแหละครับว่า ตัวเองไม่ได้ล่องหน แต่หน้าแค่เปรี้ยวขึ้น และแน่นอนเขาก็ถูกจับได้ เพราะภาพจากกล้องวงจนปิดในธนาคารจับภาพหน้าเขาได้แบบเต็มๆ
Dunning และ Kruger เมื่อเห็นข่าวดังกล่าวก็เกิดสนใจขึ้นมาว่า “อะไรทำให้ McArthur มันมั่นหน้ามั่นตาและมั่นใจแบบผิดๆ ได้ปานนี้หนอ” และเกิดเป็นงานวิจัยขึ้นมานั่นเอง ข้อสรุปสำคัญของ Dunning-Kruger Effect ก็คือ “การประเมินความสามารถที่ผิดพลาดของฝั่งที่ด้อยประสิทธิภาพ (incompetent) นั้นเกิดจากความผิดพลาดในการประเมินความสามารถของตนเอง ในขณะที่การประเมินความสามารถที่ผิดพลาดของฝั่งที่ได้ประสิทธิภาพ (competent) นั้นเกิดจากการความผิดพลาดในการประเมินผู้อื่นเป็นสำคัญ”
กล่าวคือ ฝั่งคนโง่ (ในเซนส์ที่กำลังอภิปรายกันนี้) มักจะประเมินตนเอง
ว่า “เก่งกว่าที่แท้จริงนั้นเป็นอยู่” และพร้อมๆ กันไป ฝั่งคนที่เก่งนั้น
มักจะประเมินว่า “คนอื่นๆ ทั่วไปนั้นเก่งเกินกว่าที่ความเป็นจริง”
ลักษณะแบบที่ว่าในฝั่งคนโง่นี้เองในทางวิชาการแล้ว จัดได้ว่าเป็น Illusory superiority หรือ ‘ความเหนือกว่าอย่างลวงตา’ แบบหนึ่ง ซึ่งเป็นความผิดพลาดทางการรับรู้ (cognitive error) ประเภทหนึ่งนั่นเองครับ ที่มักจะเกิดขึ้นกับคนที่ขาดความสามารถในการรับรู้ว่าตนเองนั้นไร้ซึ่งความสามารถในด้านนั้นๆ กล่าวก็คือ ไม่ได้รับรู้ว่าตนเองไม่มีความสามารถในด้านนี้ เข้าใจมาตลอดว่าตนเองโอเคอยู่ เช่น คนที่ร้องเพลงเพี้ยน แต่ไม่รู้ตัวว่าร้องเพลงเพี้ยน ก็เข้าข่ายลักษณะที่ว่านี้นั่นเอง
ลักษณะดังว่านี้เองที่ทำให้ Jonathan Howard (2018, 362) อธิบายในงานของเขาที่ชื่อ Cognitive Errors and Diagnostic Mistakes ว่าคนเหล่านี้นั้นอาศัยอยู่บน ‘ภูเขาแห่งความโง่’ หรือ Mount Stupid
คำอธิบายในเรื่องเดียวกันนี้ Dunning, Kruger และมิตรสหายของเขา ได้ขยายความเพิ่มเติมในปี ค.ศ.2003 ในงานที่ชื่อ Why People Fail to Recognize Their Own Incompetence โดยเขามีข้อสรุปจากการศึกษาว่า คนโง่นั้นได้รับผลกระทบจากการไม่ตระหนักรู้ถึงการขาดซึ่งประสิทธิภาพของตนถึง 2 ชั้น กล่าวคือ ในชั้นแรก พวกเขาไม่รู้ว่าคำตอบหรือการจัดการที่ถูกต้องของประเด็นหนึ่งๆ นั้นคืออะไร และในชั้นที่สอง พวกเขาไม่รู้กระทั่งว่าสิ่งที่ตอบไปซึ่งผิดนั้น ‘มันผิด’ (คือ คิดว่ามันโอเคอยู่)
เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า คนเรานั้นมักจะวางฐานการรับรู้ต่อ ‘ประสิทธิผล’ (performance) ต่างๆ บนข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับความสามารถของตนที่ได้ตั้งธงไว้ก่อนแล้ว (preconceived notion) และเพราะว่าข้อสันนิษฐานที่ตั้งธงไว้ก่อนเหล่านี้ มันมักจะไม่ได้สอดคล้องไปกับประสิทธิภาพที่เกิดขึ้นจริงหากมองอย่างเป็นภววิสัย (objectively) เช่นนี้เองมันจึงชักนำให้คนโง่จำนวนมากตัดสินความสามารถของตนโดยแยกขาดออกจากผลงานจริงที่เกิดขึ้น
กล่าวอย่างถึงที่สุด มนุษย์เราหากจะทำอะไรได้ดีและประเมินความสามารถและผลงานได้อย่างถูกต้องนั้น จะต้องตระหนักรู้ถึงขีดความสามารถและข้อจำกัดของตนเอง อย่างในการอ่านเปเปอร์ภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นธรรมดาที่จะมีศัพท์ที่ไม่รู้จักโผล่ขึ้นมาบ้าง แต่หลายๆ ครั้งก็จะพอเดาหรือคาดการณ์ความหมายของคำได้บ้างตามสภาวะที่แวดล้อมศัพท์เหล่านั้นอยู่ อย่างไรก็ดีแต่ละคนนั้นจะต้องทราบถึงขีดจำกัดของตัวเองมากพอว่า “ถึงจุดไหนที่จะซุยอ่านแบบนี้ไม่ได้แล้ว” ถึงเวลาต้องเปิดดิกชันนารีแล้ว เพราะหากซุยอ่านเช่นนั้นต่อไป จะพาลไม่รู้เรื่องเอาเสียทั้งหมดได้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามในงานศึกษาชิ้นดังกล่าวนี้ กลับพบว่าคนจำนวนไม่น้อยที่ขาดซึ่งความสามารถในการจะรับรู้ถึงส่วนพร่องของความรู้และความสามารถของตน บ่อยๆ ครั้งเป็นความไม่รู้ (ignorance) อย่างบริสุทธิ์ใจเลย คือ ไม่รู้แบบไม่เคยกระทั่งจะคิดถึงเรื่องนี้มาก่อนได้เลย ผลก็คือ มันนำมาซึ่งการประเมินความรู้ความสามารถของตนสูงจนเกินไป ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วผลงานที่ทำออกมานั้นค่อนข้างแย่ (หากเป็นไปได้ก็อยากจะให้นายกประเทศไทยได้ลองอ่านงานวิจัยนี้จังเลยครับ)
ทีมวิจัยได้ทำการทดลองกับนักศึกษาจิตวิทยาปีสองจำนวน 141 คน โดยให้พวกเขาประเมินความพร้อมของการเตรียมตัวของตนในการสอบว่าพร้อมมากแค่ไหน เปรียบเทียบกับผลคะแนนจริงที่ออกมา ข้อค้นพบน่าสนใจมากทีเดียวครับ ผลปรากฏออกมาว่า นักศึกษาที่ทำคะแนนได้ในส่วนล่างของชั้น (Bottom percentile) นั้นประเมินความพร้อมและความรู้ของตนสูงกว่าตัวผลงานที่ทำออกมาได้จริงมาก ซึ่งเป็นช่องว่างที่ ‘ใหญ่มาก’ ด้วย โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับการประเมินของกลุ่มคะแนนสูง (อยู่ในช่วง 80%) ซึ่งแม้จะมีจำนวนน้อยกว่ามาก แต่ก็มีแนวโน้มที่จะประเมินความสามารถของตน ต่ำกว่าความสามารถของตน ช่วงที่ดูจะประเมินได้ใกล้เคียงความสามารถของตนที่สุด คือช่วงเปอร์เซ็นไทล์ประมาณ 70-80% ตามรูปข้างล่างนี้เลยครับ
จากรูปนั้น ส่วนเส้นทึบและมีสี่เหลี่ยมตะแคงวางอยู่บนตัวเส้น แสดงถึงเส้นประเมินความพร้อมหรือขีดความสามารถที่เตรียมตัวมาเพื่อการสอบ ส่วนเส้นประที่มีสีเหลี่ยมวางอยู่บนตัวเส้นนั้น แสดงถึงคะแนนสอบที่ประเมินว่าตนเองจะได้รับ สุดท้ายเส้นทึบที่มีสามเหลี่ยมแนบอยู่นั้น คือผลการสอบจริง จากรูปจะเห็นได้ชัดเจนครับว่านักศึกษาในช่วง Bottom กับ Second Percentile นั้น ประเมินขีดความสามารถของตน ‘หลุดผลงานจริงไปเยอะมาก’ จุดนี้เองคือสิ่งที่ผู้วิจัยเค้าเสนอว่า เป็นผลมาจากการขาดความสามารถในการประเมินขีดความสามารถและข้อจำกัดของตน ที่ส่งผลไปสู่ “การเข้าใจตนเอง หรือระดับความรู้ความคิดของตนแบบผิด” หรือก็คือ ‘โง่โดยไม่รู้ตัวว่าโง่’ นั่นเอง
ต่อมาในปี ค.ศ.2005 David Dunning เสนอไกลขึ้นไปอีกว่า ถึงที่สุดแล้ว Dunning-Kruger Effect ที่ว่านี้ถือเป็น Anosognosia ในชีวิตประจำวันแบบหนึ่ง[1] ซึ่ง Anosognosia นี้ มันเป็นความไม่สมบูรณ์ทางสมองแบบหนึ่งครับ (neurological condition) ที่มักเกิดในผู้พิการที่ไม่รับรู้ถึงความพิการของตน ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการได้รับผลกระทบทางจิตวิทยา (Psychological damage) ต่อสมองส่วน Parietal Lobe (ส่วนสีเหลืองในรูป) และเพราะมันเป็นอาการทางสมองนี่เอง มันจึงถูกจัดเป็นความผิดปกติทางจิตวิทยาของสมอง (neuropsychiatric disorder) แบบหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้ผู้มีอาการนั้น “ขาดซึ่งความตระหนักรู้ต่อตัวเอง” (lack of self-awareness) เช่นนี้เอง Dunning จึงสรุปว่า “หากคุณเป็นบุคคลซึ่งพร่องความสามารถ (หรือในที่นี้คือ “โง่”) คุณก็จะไม่สามารถที่จะรู้ตัวได้ว่าตนนั้นพร่องความสามารถ … เพราะว่าความสามารถที่จำเป็นในการจะผลิตคำตอบที่ถูกต้องนั้น คือ ความสามารถชุดเดียวกันที่จำเป็นต่อการตระหนักรู้ว่าอะไรคือคำตอบที่ถูกต้อง” นั่นเอง
เมื่อการโง่อย่างไม่รู้ตัวว่าโง่นี้ เป็นอาการบกพร่องทางสมองจริง ในทางหนึ่งมันจึงเป็นเรื่องที่ยากมากครับที่คนคนนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้ หรือพูดแบบบ้านๆ ก็คือ ยากเกินแกงที่เขาคนนั้นจะฉลาดขึ้นได้ แต่หากเข้าใจในการทำงานของ Dunning-Kruger Effect แล้ว เราก็พูดได้เช่นกันครับว่า การที่เขาโง่อยู่เช่นนั้นเนี่ย ไม่ได้มากจากการที่เค้าจงใจที่จะโง่หรือดักดานอยู่เช่นนั้น แต่เป็นเพราะเขาขาดไร้ซึ่งความสามารถที่จะทำเช่นนั้นได้นั่นเอง เพราะสมองของเขานั้นมันพร่องในส่วนนี้นั่นเอง ในแง่หนึ่งก็อาจจะต้องเห็นใจเค้าแทนนะครับ หากว่าเขาไม่ได้กำลังใช้ความโง่ที่ไม่รู้ตัวของตนเอง มาสร้างภาระให้เราอยู่แบบนี้
ไม่เพียงเท่านี้ มันบอกกับเราด้วยว่า ในกรณีที่เราเป็นคนโง่ ที่มองเห็นความโง่ของตน และปรับปลี่ยนได้ (ซึ่งทุกคนย่อมผ่านประสบการณ์ดังกล่าวมาก่อน ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ทั่วไปนั่นเอง) ก็ไม่ได้เข้าข่ายของ Dunning-Kruger Effect นี้ และพร้อมๆ กันไป การโง่หรือพร่องทางความสามารถในแบบ Dunning-Kruger Effect นี้ ไม่ได้จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นกับทุกเรื่องในตัวบุคคลหนึ่งๆ ได้ เช่น เราอาจจะเห็นความโง่ของตนเองในเรื่องหนึ่ง แต่กลับไม่เห็นถึงความโง่หรือขีดจำกัดของตนในอีกเรื่องหนึ่งชนิดสิ้นเชิงเลยก็ได้ครับ
ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่จะพบคนที่สามารถเรียนเก่งมากๆ
ฉลาดมากๆ ในด้านหนึ่ง แต่กลับแลดูโง่หรือพร่องความสามารถ
และไม่รู้ตนเลยในอีกเรื่องหนึ่งได้
ไม่เพียงเท่านั้น ในปี 2020 ที่ผ่านมา Peter Belmi, Margaret Neale, David Reiff, และ Rosemary Ulfe ได้นำเสนอผลงานวิจัยของพวกเขาที่ชื่อ The Social Advantage of Miscalibrated Individuals โดยอาศัย Dunning-Kruger Effect เป็นฐานตั้งต้น และนำมาจับกับชนชั้นในสังคม พวกเขาพบข้อสรุปว่า คนจากชนชั้นสูงกว่า (โดยเปรียบเทียบ) มีแนวโน้มที่จะหลงตัวเอง (overconfident) และประเมินตัวเองสูงเกินจริงมากกว่าคนชนชั้นล่าง (โดยเปรียบเทียบ) ด้วย ในแง่หนึ่งมันก็ดูจะสะท้อนให้เราเห็นแนวโน้มที่น่าสะเทือนใจในสังคมว่า ชนชั้นสูงนั้นไม่เพียงแต่จะอยู่ในเงื่อนไขที่เข้าสู่และเข้าถึงอำนาจในสังคมนั้นๆ ได้ง่าย ได้มากกว่าชนชั้นล่างแล้ว คนในพื้นที่ทางอำนาจนี้กลับมีแนวโน้มสูงกว่าที่จะเป็นคนโง่ที่ไม่รู้ตัวว่าโง่ด้วย ไม่เพียงเท่านั้นเมื่อผลการทดลองนี้กล่าวถึงสภาวะของชนชั้นในเชิงเปรียบเทียบ (Relatively) นั่นก็แปลว่า “ยิ่งเป็นชนชั้นสูงมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสมากเท่านั้นที่จะโง่แล้วไม่รู้ตัวว่าโง่” ฉะนั้นคนที่มีอำนาจล้นฟ้าทั้งหลาย ก็อาจจะยิ่งต้องขยันประเมินตนให้มากนะครับ
ท้ายที่สุดเลย ผมคิดว่ามีข้อควรระวังในการใช้งาน Dunning-Kruger Effect อยู่ด้วย หลักๆ 2 ประเด็นครับที่อาจจะนำไปใช้ผิดกันได้ ประการแรก ก็คือ Dunning-Kruger Effect นี้ หลักๆ แล้วมันคือเรื่องของความผิดพลาดในการ ‘ประเมินตนเอง’ แต่ไม่ใช่ความผิดพลาดในการประเมินคนอื่นๆ ด้วย กล่าวก็คือ เขาไม่รู้ตัวว่าตัวเองโง่ แต่ไม่ได้แปลว่าเขาไม่สามารถตัดสินได้ว่าคนอื่นนั้นฉลาดนั่นเอง ประการที่สอง การประเมินความโง่ หรือความพร่องประสิทธิภาพบนฐานของ Dunning-Kruger Effect นั้น กำหนดความโง่หรือความพร่อง “เมื่อเทียบหรือวัด” จากค่าประสิทธิภาพสากลที่ยอมรับโดยทั่วไปในสังคมนั้นๆ กล่าวก็คือ สิ่งที่มันโง่เมื่อเทียบกับกับความเข้าใจกระแสหลัก อย่างกรณีความเชื่อเรื่องโลกแบน หรือการเอามะนาวทาหน้าแล้วคิดว่าจะล่องหนได้ เมื่อเทียบกับความเข้าใจหลักแล้ว จึงกำหนดความโง่หรือความพร่องขึ้นได้ ในแง่นี้กรณีของการเป็น “สลิ่ม” (ในความหมายว่า “คนตายังไม่สว่าง”) ในช่วงก่อนหน้านี้ อย่างช่วงรัชกาลก่อนนั้น ตรรกะอันไม่เป็นสากล ที่เราเรียกกันแบบสะดวกปากว่า “ตรรกะสลิ่ม” นั้น เป็นตรรกะชุดหลัก ชุดทางการของรัฐไทย มันถูกใช้เป็นค่ามาตรฐานในการชี้วัดความผิดถูกในสังคม (ขนาดที่คนตาสว่าง หรือผู้ซึ่งเห็นตามตรรกะสากลของโลก ถูกตราหน้าว่าโง่ก็เกิดขึ้นมาแล้ว) กรณีในลักษณะนี้ ไม่ใช่ความโง่ในลักษณะเดียวกันกับที่อภิปรายใน Dunning-Kruger Effect ครับ ซึ่งก็อาจจะต้องศึกษากันเพิ่มเติมต่อไป แต่ ณ ตอนนี้ ผมคิดว่าในกรณีของคนที่เคยขู่จะทุ่มโพเดี้ยม หรือฉีดแอลกอฮอล์ใส่หน้านักข่าวทำเนียบมาแล้วนั้น เราพูดได้แน่นอนว่าเข้าข่ายของ Dunning-Kruger Effect ที่ว่านี้
ก็หวังว่าที่อภิปรายมา จะช่วยให้เข้าใจได้มากขึ้นนะครับว่าเหตุใด ทำอย่างไร อธิบายแค่ไหน คนโง่บางจำพวกก็ดูจะไม่ยอมหายโง่เสียที … บางทีก็อาจจะต้องเห็นใจเค้าแทนครับ เพราะเค้าขาดแคลนความสามารถที่จะหายโง่ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู David Dunning (2005). Self-Insight: Roadblocks and Detours on the Path of Knowing Thyself. New York: Psychology Press.