ประเทศอังกฤษเมื่อ 100 ปีที่แล้วไม่ได้มีความเท่าเทียมกันเหมือนสมัยนี้ ผู้หญิงถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพ ไม่ได้รับอนุญาตให้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง จำกัดการศึกษา แทบไม่มีบทบาททางการเมือง กฎมารยาทและกฎหมายมีมากกว่าเพศชาย ทั้งที่เสียภาษีไม่ต่างกัน แต่พวกเขาต่างถูกพร่ำสอนว่าชีวิตมีเพียงการแต่งงานและมีลูก
สิทธิเท่าเทียมกันระหว่างเพศเริ่มมีการพูดถึงในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 แต่ยังไม่เป็นที่สนใจจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะนักการเมืองที่เป็นเพศชาย พวกเขาต่างมองว่าเรื่องสิทธิเลือกตั้งของสตรีเป็นเรื่องที่น่าขัน จุกจิก และไร้สาระ
กลุ่มต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีจึงเกิดขึ้นในปี 1903 เป้าหมายหลักของพวกเขา คือให้ผู้หญิงมีสิทธิในการเลือกตั้ง ยุทธวิธีที่พวกเขาใช้ในการต่อสู้ค่อนข้างเป็นไปในแนวทางที่รุนแรง ส่วนใหญ่คือการประท้วงด้วยการอดอาหาร ทุบหน้าต่างตามอาคารสถานที่ราชการ หรือทำลายร้านค้าบ้านเรือน มีหลายคนที่ถูกรัฐบาลจับและนำไปคุมขัง และประท้วงกลับด้วยการอดอาหารในเรือนจำ แต่การอดอาหารของพวกเขาถูกโต้กลับอย่างน่าสยดสยองด้วยวิธีการ ‘Force-Feeding’ หรือการ ‘บังคับป้อนอาหาร’ มันคือวิธีการทรมานทรกรรมนักโทษด้วยการยัดอาหารผ่านสายยางซึ่งจะเล่าในช่วงถัดไปไป
หนึ่งในสมาชิกที่มีชื่อเสียงที่สุดของกลุ่มต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีคือ เอมิลี เดวิสัน (Emily Davison) จากเหตุการณ์ที่เธอเสียสละชีวิตเพื่อสิทธิเสรีภาพของชาวอังกฤษด้วยการเดินเขาไปหาม้าของพระเจ้าจอร์จที่ 5 ขณะที่มันกำลังวิ่งแข่งด้วยความเร็วสูงในระหว่างการแข่งขันม้าเอปซอมดาร์บี จนโคม่าและเสียชีวิตในเวลาต่อมา
เอมิลี เดวิสัน เกิดวันที่ 11 ตุลาคม 1872 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เธอเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดแม้ว่าในขณะนั้นมหาวิทยาลัยจะไม่อนุญาตให้สตรีมีปริญญา เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยลอนดอน และมหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหราชอาณาจักร แต่เธอก็ตัดสินใจเรียน และใช้ความรู้ที่ได้มาประกอบอาชีพครู
เดวิสันอุทิศตนเพื่อสิทธิสตรีมาตลอด เธอเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิสตรีในการเลือกตั้งอยู่บ่อยครั้ง จนในปี 1906 เดวิสันเข้าร่วมองค์กรที่เรียกว่า ‘Women’s Social and Political Union (WSPU)’ ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อสิทธิสตรีที่ใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักร คนส่วนใหญ่เรียกกลุ่มที่ต่อสู้เพื่อสตรีว่ากลุ่ม ‘ซัฟฟราจิสต์’ (Suffragette) และในไม่ช้าเดวิสันก็กลายเป็นแกนนำองค์กร จนในที่สุดเธอตัดสินใจลาออกจากการเป็นครูเพื่ออุทิศตนให้กับอุดมการณ์เต็มเวลา เดวิสันทุ่มตัวเองเต็มที่ในการเคลื่อนไหวเรียกร้อง จนเป็นที่รู้จักในการใช้กลวิธีสุดโต่งเพื่อประท้วง
การกระทำของเดวิสันรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนบางคนในกลุ่มไม่กล้าที่จะทำตาม ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายตนเอง ทำลายทรัพย์สิน หรือการวางเพลิง แม้เดวิสันจะได้รับการยกย่องจากบางคนในฐานะผู้เสียสละอย่างกล้าหาญ แต่ใครหลายคนยังวิพากษ์วิจารณ์เธอว่าเป็นพวกอนาธิปไตยสุดโต่ง และกลายเป็นที่รู้จักในฐานะแกนนำที่มักใช้กลวิธีประท้วงที่รุนแรงเสมอ
เดวิสันเชื่อว่าต้องใช้ ‘การเสียสละชีวิตมนุษย์’ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิเท่าเทียมกันในผู้หญิง
เธอยึดมั่นในอุดมการณ์จนไม่กลัวผลกระทบที่ตามมาจากการกระทำของเธอ เดวิสันทั้งขว้างปาหิน ลอบวางเพลิง วีรกรรมที่โด่งดังที่สุดคือบุกเข้าไปในพระราชวังเวสต์มินสเตอร์และนอนค้างคืน เธอถูกจับ 9 ครั้ง และอดอาหารประท้วงในคุกถึง 7 ครั้ง หลังจากการถูกจับกุมครั้งที่ 5 ของเธอ รัฐบาลก็ตัดสินใช้ ‘Force-Feeding’ กับเธอเพื่อไม่ให้อด
Force-Feeding คือ การให้สารอาหารผ่านทางท่อพลาสติกขนาดเล็ก โดยผ่านทางจมูก หรือทางปาก เข้าไปในกระเพาะอาหารโดยตรง ซึ่งในตอนแรกออกแบบมาให้ใช้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคอะนอเร็กเซีย หรือโรคคลั่งผอม เพื่อให้ผู้ป่วยไม่ขาดสารอาหารและมีน้ำหนักเพิ่ม ภายใต้การควบคุมของแพทย์ภายในโรงพยาบาลจิตเวช
ต่อมาจึงเริ่มมีการใช้กับกลุ่มผู้ประท้วงด้วยการอดอาหารในเรือนจำ โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษ กับกลุ่มซัฟฟราจิสต์ จนยกเลิกในปี 1913 หลังจากมีพระราชบัญญัตินักโทษซึ่งกล่าวว่านักโทษที่มีร่างกายอ่อนแอถึงขั้นอันตรายจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อให้พักฟื้นร่างกาย หลังจากพ้นวิกฤติแล้วจึงเข้ามารับโทษอีกครั้ง กลุ่มซัฟฟราจิสต์ที่ถูกบังคับป้อนกล่าวว่า พวกเขาถูกมัดมือมัดเท้าเข้ากับเตียงหรือเก้าอี้ ทีมแพทย์ในเรือนจำจะนำสายยางสอดเข้าทางปาก บางครั้งก็ทางจมูก จากนั้นสารอาหารจะถูกเทเข้าไปในกระเพาะ มันทั้งเจ็บแสบ ทรมาน และสำลักตลอดเวลา ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่เปรียบได้กับการถูกข่มขืน
ซิลเวีย แพงค์เฮิสต์ หนึ่งในกลุ่มซัฟฟราจิสต์ที่ถูก Force-Feeding กล่าวว่าผู้คุมกดเธอลงกับเตียง และบังคับให้เธออ้าเปิดปากออกมาด้วยด้ามเหล็กงัดเข้ากับปาก จนเหงือกของเธอมีเลือดไหลออกมา และหลังจากเทอาหารลงไป มันมากเกินจะรับไหวจนส่วนใหญ่เป็นการอาเจียนออกมาเสียมากกว่า
ในปี 1909 เดวิสันถูกจับอีกครั้ง และตัดสินให้ไปเป็นแรงงานโดยทำงานหนักเป็นเวลา 1 เดือนในเรือนจำสเตรนจ์เวย์ของแมนเชสเตอร์ ฐานปาก้อนหินใส่รถม้าของเดวิด ลอยด์ จอร์จ ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดีของกระทรวงการคลังในขณะนั้น
ในปี 1912 เดวิสันถูกจับอีกครั้งพร้อมกับกลุ่มผู้ประท้วงสิทธิอีกมากมาย ทุกคนพร้อมใจกันอดอาหารประท้วงขณะอยู่ในคุก แม้เดวิสันและเพื่อนร่วมอุดมการณ์อีกหลายคนจะชินชากับการถูกบังคับป้อนอาหาร แต่สิ่งที่พวกเธอทนไม่ได้ คือการที่ต้องมาได้ยินความเจ็บปวดทรมานของเพื่อนในขณะที่พวกเขาถูกบังคับป้อนอาหารเข้าปากและจมูกที่ดังเกือบทุกชั่วโมง
“เรือนจำฮอลโลเวย์กลายเป็นสถานที่แห่งความสยดสยองและความทรมาน ฉากความรุนแรงที่น่าสยดสยองเกิดขึ้นเกือบทุกชั่วโมงในแต่ละวัน ข้าพเจ้าจะไม่มีวันลืม เสียงของผู้คนที่ทุกข์ระทมร้องไห้ดังก้องอยู่ในหูของข้าพเจ้าตลอดเวลา” เอ็มเมลีน แพงค์เฮิร์สต์ ผู้ก่อตั้ง Women’s Social and Political Union กล่าว
วันหนึ่งในขณะที่เดวิสันออกจากห้องขังเพื่อทำความสะอาดชั่วคราว เธอได้ตัดสินใจกระโดดลงมาจากระเบียงเพื่อฆ่าตัวตาย แต่มันไม่สูงพอ เธอกลับรอดชีวิต และกล่าวในภายหลังว่านี่เป็นการเสียสละชีพเพื่อหยุดการทรมานเพื่อนของเธอ โดยเชื่อว่าโศกนาฏกรรมจากการเสียชีวิตของเธอจะช่วยพวกเขาจากการถูกทรมานได้
“ฉันรู้สึกว่าการเสียสละชีวิตมนุษย์จะทำให้ประเทศชาติตระหนักถึงภาระกรรมอันน่าสลดที่ผู้หญิงของเราต้องเผชิญ ถ้าฉันทำสำเร็จ ฉันแน่ใจการบังคับป้อนอาหารจะไม่ถูกนำมาใช้อีกในมโนธรรมสำนึกทั้งหมด” เอมิลี เดวิสัน เขียนไว้ในจดหมายของตน
4 มิถุนายน 1913 ในระหว่างการแข่งขัน ‘ดาร์บี เดย์’ หรือการแข่งขันม้าเอปซอมดาร์บี งานแข่งม้าประจำปีที่ได้รับความนิยมจากชาวอังกฤษเป็นจำนวนมาก ผู้ชมหลายพันคนรายล้อมรอบลานแข่งเพื่อรอดูม้าที่ตนเองชื่นชอบควบผ่าน
เอมิลี เดวิสัน เดินเข้าไปในสนามแข่งเอปซอมดาร์บี ก้าวออกจากรั้วกันฝูงชนเข้าไปในลานแข่ง หันหน้าไปทางม้าที่วิ่งเข้ามาความเร็วมากกว่า 30 ไมล์ต่อชั่วโมง ไม่กี่วินาทีเธอก็ถูกม้าของพระเจ้าจอร์จที่ 5 กระแทกเข้าอย่างจังจนกระเด็นไปไกล ต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้าจอร์จที่ 5 และสมเด็จพระราชินีแมรีที่เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการแข่งขันครั้งนี้ เดวิสันไม่ตื่นขึ้นมาอีกเลย หัวกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงจนยากเกินที่จะรักษา เธอมีอาการโคม่า หลายคนมองว่าการกระทำของเธอเป็นการประท้วงครั้งสุดท้าย แต่เนื่องจากเธอไม่เคยให้คำอธิบายการกระทำนี้กับใครมาก่อน แรงจูงใจที่แท้จริงของเธอจึงยังไม่ชัดเจนและเป็นที่ถกเถียง
ในระหว่างที่เดวิสันกำลังนอนโคม่าไร้ความหวังอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในมณฑลเซอร์รีย์ ชายชาวอังกฤษนิรนามคนหนึ่งก็ได้ส่งจดหมายหาเดวิสัน โดยมีข้อความว่า
“ฉันดีใจมาก ที่ได้ยินว่าเธอต้องเข้าโรงพยาบาล หวังว่าจะได้เจ็บปวดทรมานจนตายไปเลยนะอีโง่”
สุดท้ายแล้ว เอมิลี ไวล์ดิง เดวิสัน วัย 41 ปี ก็ไม่ได้ตื่นขึ้นมาอ่าน เธอเสียชีวิตในอีก 4 วันต่อมา
งานศพของเธอถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 1913 ในกรุงลอนดอน บนโลงศพของเธอสลักคำว่า “สู้ต่อไป พระเจ้าจะประทานชัยชนะ” ผู้คนกว่า 50,000 คนยืนตั้งแถวตามถนนในขณะที่โลงศพของเธอถูกแห่ไปทั่วเมือง
การเสียชีวิตของเดวิสันเป็นการประท้วงครั้งสุดท้ายหรือเป็นอุบัติเหตุที่น่าเศร้า?
นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ล้วนให้ความเห็นว่าที่เดวิสันเดินออกไปที่ลานแข่งม้า ก็เพื่อพยายามติดธงประท้วงบนม้าของกษัตริย์จอร์จที่ 5 เพราะรายงานของตำรวจระบุว่าพบธง 2 ผืนบนร่างของเธอ แต่พยานบางคนก็บอกว่าเธอแค่พยายามจะข้ามไปอีกทาง โดยคิดว่าม้าได้ผ่านไปแล้ว พยานบางคนก็กล่าวว่าเป็นการฆ่าตัวตายอีกครั้งหลังจากที่ครั้งแรกไม่สำเร็จ
แต่จากตั๋วรถไฟไปกลับจากเอปซอมที่เดวิสันพกติดตัว พร้อมแผนวันหยุดกับน้องสาวของเธอในไม่กี่วันข้างหน้า ทำให้นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่มีความตั้งใจที่จะฆ่าตัวตาย
แม้จะไม่มีใครทราบคําตอบ แต่ความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าของเธอต่อขบวนการเพื่อสตรีที่ทำมาตลอดนั้น ทำให้ใครหลายคนในทุกชนชั้นเริ่มเข้ามาสนใจกับปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศมากขึ้น ในปี 1918 ผู้หญิงที่อายุเกิน 30 ปีได้รับสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงในสหราชอาณาจักร จากนั้นอายุก็ลดลงเหลือ 21 ปีในปี 1928 และเหลือ 18 ปีในปี 1969
เดวิสันถูกฝังอยู่ในนอร์ธัมเบอร์แลนด์ ประเทศอังกฤษ ป้ายหลุมศพของเธอมีประโยคที่ยังคงโด่งดังและใช้จนถึงปัจจุบัน
“Deeds not words. – การกระทำไม่ใช่คำพูด”
อ้างอิงจาก