เพลง Grândola vila morena (แกรนโดลา—เจ้าเมืองสีน้ำตาล) ถูกพูดถึงอีกครั้งเมื่อถูกนำมาประกอบในซีรีส์สัญชาติสัญชาติสเปน Money Heist (La casa de papel) ซึ่งเผยแพร่ผ่านทาง Netflix ซีรีส์พูดถึงการวางแผนการปล้นขนาดใหญ่ด้วยแผนที่ลึกซึ้ง โดยมีหลายบทสนทนาที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำ ความผิดปกติ และความสัมพันธ์ของอำนาจรัฐที่เอื้อต่อกลุ่มทุนขนาดใหญ่
ตัวอย่างของบทสนทนาสำคัญที่กลายเป็นแก่นของเรื่องนี้ก็ เช่น “คุณคิดว่าเงินไม่เคยหายจากธนาคารแห่งประเทศสเปนเหรอ ทุกวิกฤติเศรษฐกิจที่นายทุนและนายธนาคารเป็นผู้ก่อ พวกเขาเดินใส่สูทเข้าธนาคารแห่งชาติ คุยกับผู้ว่าการฯ แล้วพวกเขาก็ขนเงินหลายร้อยล้านยูโรออกไปทางประตูหน้า ค้ำจุนความเป็นอภิสิทธิ์ชนของพวกเขาต่อไป”
และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ซีรีส์ Money Heist ได้นำเพลงปฏิวัติมาประกอบเพราะ ก่อนหน้านี้ก็ได้นำเพลง Bella Ciao เพลงต่อต้านฟาสซิสต์ของขบวนการเคลื่อนไหวในสเปนมาใช้ในเรื่อง
เพลง Grândola vila morena (แกรนโดลา—เจ้าเมืองสีน้ำตาล) เพลงประจำการปฏิวัติคาร์เนชั่นในโปรตุเกสในทศวรรษ 1970 บรรยายถึงอุดมคติของ ‘ความเสมอภาค’ ความเป็นพี่น้อง ความเป็นใหญ่ของประชาชน การปฏิวัติคาร์เนชั่นมักถูกพูดถึงในฐานะการต่อสู้โค่นล้มเผด็จการอย่างสันติ แต่บทเพลงนี้ก็เป็นเชิงอรรถที่สำคัญว่า ‘ความรุนแรงที่ประชาชนหลั่งเลือด’ คือจุดเริ่มต้นของ ‘สันติวิธี’ อย่างแยกกันไม่ได้
ก่อนจะถึงสันติวิธีประชาชนหลั่งเลือดให้ชนชั้นปกครองต้องหวาดกลัว
เพลง Grândola vila morena แต่งโดย โฮเซ อฟอนโซ (José Afonso) ในปี ค.ศ.1964 อฟอนโซคือชาวโปรตุเกสที่เป็นทั้งนักแต่งเพลง นักร้อง ครู นักสหภาพแรงงาน ในยุคสมัยที่เขาอยู่คือยุคสมัยแห่งความสิ้นหวัง ความหดหู่กลายเป็นความเคยชิน การปกครองโดยระบอบเผด็จการอำนาจนิยมที่ยาวนานกว่า 40 ปีเกาะกินและทำลายทุกอย่าง นักโทษทางการเมืองหลายพันคนถูกคุมขัง ขบวนการนักศึกษาที่ถูกปราบปราม คือผลของระบอบเผด็จการภายใต้คำเรียกรวมๆ ว่า ‘Estado Novo’ หรือ ‘ชาติใหม่’ ผ่านการนำของ อังตอนียู ซาลาซาร์ (António de Oliveira Salazar) นายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งถึง 36 ปี ความน่ากลัวของเผด็จการซาลาซาร์คือเขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่ทหาร และมักวางตัวเป็น ‘เผด็จการที่ชาญฉลาดและมีเมตตา’ ไม่มีการจับกุมอย่างเปิดเผยแต่ผู้อยู่ตรงข้ามเขาก็สามารถหายไปได้เฉยๆ
ระบอบเผด็จการในโปรตุเกสถือว่าเป็นระบอบเผด็จการที่ยาวนานที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรปสมัยใหม่ อุดมการณ์หลักคือการต้านแนวคิดสังคมนิยม อนาธิปไตย เสรีนิยม และรักษาแนวคิดการเป็นจักรวรรดินิยมล่าเมืองขึ้นและเผด็จการชาตินิยม สังคมแบ่งผู้คนออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มคนที่เชื่อว่าตัวเองสามารถได้ประโยชน์จากชาติที่ชนชั้นนำสร้างขึ้นมา กับอีกกลุ่มหนึ่งที่พร้อมจะต่อต้านอย่างที่ไม่มีอะไรต้องเสียนอกจากโซ่ตรวน
ในปี ค.ศ.1964 อฟอนโซได้เข้าร่วมงานแสดงดนตรีในเทศกาลดนตรีของชนชั้นกรรมาชีพในเมืองแกรนโดลา และแต่งเพลง Grândola vila morena ระหว่างทางขับรถออกจากบ้าน อีกสิบปีถัดมาเพลงนี้กลายเป็นเพลงสัญญาณของกองทัพปฏิวัติโค่นล้มระบอบเผด็จการที่ยาวนานกว่าครึ่งอายุคน
การปฏิวัติคาร์เนชั่น : ภาพตัดต่อของคำว่าสันติวิธี
‘การปฏิวัติคาร์เนชั่น’ ชื่อเรียกอันแสนโรแมนติกนี้มาจากชนชั้นแรงงานหญิงที่มอบดอกคาร์เนชั่นสีแดงและสีขาวให้แก่ทหารฝ่ายรัฐบาล ก่อนนายทหารจะนำดอกไม้ไปแขวนไว้กับกระบอกปืนของรถถัง การกระทำนี้ถูกส่งต่อไปในวงกว้างจนร้านดอกไม้ในโปรตุเกสต่างร่วมบริจาคดอกคาร์เนชั่นให้ประชาชนออกมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และกลายเป็นภาพการโค่นล้มเผด็จการที่ฝังรากลึกเกือบครึ่งศตวรรษอย่างสันติวิธี ทว่าก็ยังมีผู้เสียชีวิตถึง 5 คน ในวันที่ 22 เมษายน ค.ศ.1974 เป็นความสูญเสียเพิ่อโค่นล้มระบอบที่ยาวนาน และผลักดันโปรตุเกสสู่การเป็นประชาธิปไตยทางการเมือง
แต่การพูดถึง ‘สันติวิธี’ อย่างล้นเกินและโรแมนติกอาจเป็นการมองข้ามกระบวนการต่อสู้ก่อนหน้านั้น
การปกครองของซาลาซาร์มากกว่า 30ปี มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบผ่อนคลายบ้าง ภายหลังที่เขาเสียชีวิตในปี ค.ศ.1968 ผู้สืบทอดของเขาพยายามผ่อนคลายมาตรการการควบคุมทางการเมืองและสังคมหลังจากถูกกดันอย่างมาก และเปิดโอกาสให้มีการรวมตัวของสหภาพแรงงานเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี และการต่อสู้รวมตัวของประชาชนในวงกว้างที่ต่อเนื่องยาวนานกว่า 6 ปี คือจุดเริ่มต้นสำคัญก่อนการโค่นล้มระบอบเผด็จการได้ในที่สุด
การปกครองของซาลาซาร์เป็นการปกครองที่รวมเครือข่ายฝ่ายขวาไว้ใน ‘สหภาพแห่งชาติ’ และเป็นการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีดำเนินการผ่านกลไกนี้ สมาชิกของสหภาพแห่งชาติที่ถูกตั้งขึ้นมานั้นก็เพื่อหล่อเลี้ยงและเป็นแขนขาให้ระบอบเผด็จการ โดยจะถูกเลือกจากชนชั้นนำในระดับท้องถิ่นไล่ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นเจ้าที่ดิน นักธุรกิจ ตัวแทนคลั่งศาสนา กลุ่มอนุรักษ์นิยมขวาจัด ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 10% ของประชากร กลุ่มนี้แม้ไม่ได้มีบทบาทในฐานะกองกำลังต่างๆ แต่มีบทบาทในฐานะ ‘พื้นที่’ (platform) ของฝั่งอนุรักษ์นิยมในการสื่อสารและส่งต่อว่าระบอบนี้คือระบอบที่ดีที่สุดไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และตามตารางที่แสดงด้านบน มันคือการเลือกตั้งที่ผลออกมาน่าอัปยศสำหรับคนโปรตุเกส หรือชาวโลกที่ปรารถนาในประชาธิปไตย เพราะผลลงคะแนนออกมาก 100% มามากกว่าสามสิบปีติดกัน คือภาพสะท้อนว่าองคาพยพที่ใหญ่โตฝังรากหลายทศวรรษนี้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงด้วย ‘ดอกคาร์เนชั่น’ ดอกเดียวอย่างแน่นอน
จากหนังสือประวัติศาสตร์ประชาชนในการปฏิวัติโปรตุเกส หรือ A People’s History of the Portuguese Revolution โดย ราเควล วาเรลา (Raquel Varela) ได้ระบุว่า ก่อนหน้าและระหว่างการปฏิวัติคาร์เนชัน ไม่มีช่วงไหนที่คนโปรตุเกสรู้สึกภูมิใจในความเป็น ‘ชนชั้นแรงงาน’ เท่าช่วงเวลานั้น ข้อเรียกร้องเรื่องสังคมนิยมมีความเด่นชัดมาก ข้อเรียกร้องเรื่องเสรีภาพต้องมาพร้อมกับ อาหาร สันติภาพ และที่อยู่อาศัย รวมถึงสวัสดิการต่างๆ ขณะที่ประวัติศาสตร์กระแสหลักพยายามกลบเสียงของคนธรรมดาด้วยการตัดสินใจของกลุ่มชนชั้นนำ นายทหาร ทูต หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ แต่แท้จริงแล้วแรงกดดันที่เกิดขึ้นในสังคมในช่วงสิบปีสุดท้ายของระบอบล้วนมาจากการเรียกร้องของคนธรรมดา เหล่าทหารตำรวจชั้นผู้น้อย ผู้ใช้แรงงานมีทักษะในเมือง รวมถึงคนงานในระบบอุตสาหกรรม สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างกระจัดกระจายไร้ทิศทาง พวกเขารวมตัวกันผ่านการนัดหยุดงาน สร้างวัฒนธรรมคู่ขนาน ประท้วง ส่งเสียงแทนเพื่อนที่ถูกคุมขัง และใช้ความรุนแรงตอบโต้กับรัฐที่เพิกเฉยต่อสิทธิพื้นฐานของประชาชน
แม้หลังการโค่นล้มระบอบเผด็จการ การต่อสู้ก็ไม่ได้สิ้นสุดในวันนั้น ในช่วงเวลา 1 ปีก่อนและหลังหลังการโค่นล้มเผด็จการ จากการบันทึกพบว่า ผู้คนนับแสนหยุดงานประท้วง โรงงานหลายร้อยแห่งถูกยึดด้วยคนงาน ไปจนถึงทำการบริหารด้วยตนเอง ผู้คนกว่าสามล้านคนออกมาประท้วงบนท้องถนนอย่างต่อเนื่อง ทรัพย์สินของเจ้าของที่ดินหลายแห่งถูกยึดและนำมาจัดสรรให้แก่ชาวนาไร้ที่ดิน การประท้วงหยุดงานเรียกร้องเพื่อให้จ่ายค่าแรงที่เท่าเทียมกันระหว่างเพศเกิดขึ้นในวงกว้าง
การโค่นล้มเผด็จการจึงไม่ได้เกิดขึ้นจากการ ‘ประนีประนอม’ ‘ยื่นข้อเสนอ’ ‘เจรจา’ หรือ การเรียกร้องของเหล่าชนชั้นนำในระบบการเมืองและราชการที่ช่วงชิงความหมายของคำว่า ‘เปลี่ยนแปลงโดยสันติ’ แต่เกิดขึ้นเมื่อประชาชนส่วนใหญ่ต่อสู้เพื่อยืนยันสิทธิพื้นฐานของพวกเขา สิทธิในการกำหนดชีวิตตัวเอง สิทธิที่พึงได้รับสวัสดิการในน้ำ อาหาร อากาศ เรื่องพื้นฐานที่นำสู่การรวมตัวควบคู่กับพัฒนาการของความคิดที่ท้าทายระบบสังคมต่างๆ จากการรวมตัว ท้าทายทั้งในขบวนการต่อสู้บนท้องถนน ชีวิตในบ้าน ในที่ทำงาน ท้าทายกับคุก ศาล ทหาร ตำรวจและศาสนา รวมถึงการต่อต้านแนวคิดจักรวรรดินิยมที่ผลาญงบประมาณประเทศไปมหาศาลกับการรักษาพื้นที่อาณานิคม
หลังการเปลี่ยนแปลงปี ค.ศ.1974 โปรตุเกสยังล้มลุกคลุกคลานบนเส้นทางประชาธิปไตยอีกหลายปี แต่จิตสำนึกความเป็นประชาชนที่เสมอภาคกัยทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองได้ชักนำให้ สวัสดิการประชาชนของโปรตุเกสพัฒนาขึ้นในช่วงหลายสิบปีถัดมา และสามารถกันกองทัพออกจากการเมืองได้ในที่สุด
Grândola vila morena—เพลงกรานโดลาเจ้าเมืองสีน้ำตาล เมืองแห่งความเป็นพี่น้อง เมืองที่ทุกผู้คนเสมอภาคกัน เมืองนี้ที่ประชาชนเป็นผู้นำ จึงเป็นเชิงอรรถการปฏิวัติที่สำคัญ ในการยืนยันว่า การต่อสู้ของคนธรรมดาที่หาญกล้าท้าทายอำนาจรัฐทุกรูปแบบคือหนทางแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้งระยะสั้นและระยะยาว
เอกสารอ่านเพิ่มเติม
Raquel Varela, Peter Robinson (2019), A People’s History of the Portuguese Revolution Pluto Press