น่าตื่นเต้นไม่น้อยที่เมื่อเดือนที่แล้ว วงดนตรี getsunova ร่วมกับ Three Man Down ได้ปล่อยเพลง ‘อีกไม่นาน นานแค่ไหน’ ออกมาในแบบ visualizer โดยเลือกให้ Uninspired by current events เพจเนื้อหาการเมือง มาทำอนิเมชั่นให้กับเพลงนี้ พร้อมทั้งได้พระมหาไพรวัลย์มามีส่วนร่วมด้วย
โดยไม่ต้องคิดอะไรให้นาน เราก็พอจะเดาได้ว่าคำพูด “อีกไม่นาน นานแค่ไหน” ในเนื้อเพลงนั้น ทางวงต้องการจะสื่อถึงใคร (หลังจากนั้นไม่นาน เพลงนี้ถูกนำไปร้องในม็อบที่ราษฎร์ประสงค์)
ด้วยความที่มิวสิกวิดีโอของเพลง ‘อีกไม่นาน นานแค่ไหน’ ที่เพิ่งปล่อยออกมานั้น เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ที่สื่อถึงประเด็นสังคมและการเมืองไทย The MATTER เลยอยากชวนทุกคนมากด pause พร้อมกับนั่งแงะแกะหาความหมายที่ซ่อนไว้ในมิวสิกวิดีโอไปพร้อมๆ กัน
ดูมิวสิกวิดีโอได้ที่: www.youtube.com
1. ก่อนจะไปถึงตัว MV ขอเริ่มที่อนิเมชั่นจากเพจ Uninspired by current events กันก่อน ในอนิเมชั่นมีความเป็น symbolic หรือมีสัญลักษณ์ที่แฝงอยู่แทบทุกมุมของภาพ ที่ชัดเจนก็เช่น ก้อนหินทรงคล้ายอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หัวเสากินรี หรือซากรถไฟโบราณที่อยู่ไกลออกไปในฉาก นี่ขนาดแค่ visualizer มางวดนี้พอวงปล่อยมิวสิกวิดีโอออกมา มันก็อดไม่ได้ที่จะตามแกะสัญลักษณ์และภาพสะท้อนความไทยๆ ต่างในเนื้องานในทางวงวางเอาไว้
ดูอนิเมชั่นได้ที่นี่: www.youtube.com
2. มากันที่ซีนแรกของมิวสิกวิดีโอด้วยภาพเปิดพิธีการแสนคุ้นตา ที่ต้องรอฤกษ์รอยาม อย่างในเนื้อเรื่องของมิวสิกวิดีโอ การต้องรอ 9 โมง 9 นาที 9 วินาที คงเพราะนี่เป็นเลขมงคลและศักดิ์สิทธิ์ของบ้านเรา
3. โครงงานของกลุ่มนักเรียนตัวเอกคือโครงงานเมืองไทยในฝัน ซึ่งถ้าดูผ่านๆ ก็น่ารักสดใสดี ไม่มีอะไร แต่ถ้าเพ่งมองโดยละเอียดจะพบแผนภูมิข้างหลังน้องซึ่งเป็นแผนภูมิเดียวกับแผนภูมิงบสถาบันพระมหากษัตริย์ปี พ.ศ.2564 ที่ปรากฏตามสื่ออย่างชัดเจน และในเฟรมเดียวกับจะเห็นที่เสื้อนักเรียนปักว่า ป.ช.ต. หรือ ประชาธิปไตย
4. ฐานที่สอง อิสระในการแต่งกาย มาแนวนี้น่าสงสัยว่า หรือทางวงจะสื่อกลายๆ ถึงการเคลื่อนไหวเพื่อยกเลิกชุดนักเรียนของกลุ่มนักเรียนในช่วงปลายปี พ.ศ.2563 โดยหลักๆ แล้วจะมีภาคีนักเรียนKKC และกลุ่มนักเรียนเลว ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ผู้มีอำนาจส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เหมือนกับอารมณ์ตงิดๆ ตะขิดตะขวงใจเมื่อกล้องไปจับสีหน้าอาจารย์ผู้หญิงในมิวสิกวิดีโอ
5. ในซีนต่อมาเราจะเห็น ลูกโป่ง free speech ที่อยู่ในกรงขัง ชัดเจนว่าสื่อถึงเสรีภาพในการพูด และคงต้องกลับไปถามว่า ในบ้านเมืองนี้เราพูดถึงเรื่องอะไรได้บ้างโดยไม่โดยจับเข้าคุก ยิ่งเห็นข่าวการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 10 ที่ผ่านมาก็ยิ่งเห็นความเชื่อมโยง (ขำขื่นเล็กน้อยเมื่อตอนเด็กปล่อยลูกโป่ง แล้วครูพละเป่านกหวีดใส่)
6. การเปิดไฟกับฐานของการจัดระเบียบ sex worker เหมือนจะบอกเป็นนัยๆ ว่า เรื่องนี้ควรจะถูกนำขึ้นสู่แสงสว่างและจัดระเบียบกันให้ชัดเจนได้แล้ว ไม่ใช่ซุกอยู่ในเงามืด ซึ่งทำให้เกิดหลายปัญหาตามมา เช่น การควบคุมสุขอนามัย หรือความปลอดภัยของทั้งผู้ซื้อและผู้ขายบริการ
7. ฐานสุดท้ายคือเรื่องการจัดการงบประมาณ ที่ทางตัวโครงงานของเด็กๆ ในมิวสิกวิดีโอแสดงให้เห็นง่ายๆ ว่า ถ้าลดอัตราส่วนการซื้อยุทโธปกรณ์แล้ว เราจะเอางบประมาณไปพัฒนาสาธาณูปโภคได้แค่ไหน
8. ตรงนี้เป็นกิมมิกเล็กๆ คือ การให้คะแนนเลข 10 ของคณะครูที่ให้คะแนนโครงงาน ที่พออ่านอีกทีก็เหมือนตัวย่อ IO (internet operation) เหมือนกัน
9. ช่วงท้ายของเพลงเป็นการยำฟุตเตจจากหลายเหตุการณ์ เป็นเหมือนเมดเลย์ประเด็นสังคมตั้งแต่ปัญหาสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างรถเมล์ ฟุตปาธ สายไฟ น้ำท่วม ไปจนถึงเหตุบ้านการเมืองในช่วงปีที่ผ่านมาอย่างเรื่องเสากินรี การจัดการวัคซีน การผูกโบว์ขาวต้านเผด็จการ หรือภาพการเผชิญหน้าของม็อบและเจ้าหน้าที่ คฝ. เช่นเดียวกับภาพอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ปรากฏอยู่หลายครั้งในมิวสิกวิดีโอตัวนี้
10. สุดท้าย ในใบประเมินคะแนนจะแอบมองเห็นชื่อของเด็กสามคนไวๆ แม้จะเห็นไม่หมด แต่ใช้เวลาเดาไม่นานก็รู้ว่าน่าจะเป็นชื่อของแกนนำกลุ่มราษฎรก็คือ ‘เพนกวิน—พริษฐ์’, ‘รุ้ง—ปนัสยา’, และ ‘ไผ่—จตุภัทร์’ นั่นเอง
โดยรวมแล้วน่าตื่นเต้นที่ได้เห็นวงระดับแมสและค่ายเพลงระดับประเทศ กล้าใช้การเมืองมาผสมผสานในเนื้องาน นับเป็นการเคลื่อนไหวในกระแสวัฒนธรรมป๊อปที่เราต้องติดตามกันต่อไป