เวลาที่สาวๆ คนไหนถูกตราหน้าว่า ‘กะหรี่’ (เสียงสูง) นี่นางก็คงเจ็บน่าดูเลยนะครับ เพราะถึงแม้ว่าเธอจะไม่ได้ประกอบสัมมาอาชีวะนั้นก็เถอะ แต่ก็อย่างที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า กะหรี่ คือศัพท์ในภาษาไม่เป็นทางการหมายถึง หญิงผู้ให้บริการทางเพศ
การโดนตีตราด้วยเสียงซู๊งงสูงว่า กะหรี่ จึงเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามศักดิ์ศรีลูกผู้หญิง ตามมาตรฐานความเป็นไทย อย่างจงหนักเลยทีเดียว
แต่การทำความเข้าใจรากเดิมของคำว่า กะหรี่ ว่ามีที่มาจากไหน และแปลว่าอะไร? ทำไมถึงกลายมาเป็นศัพท์แสลง ที่ออกจะฟังแล้วชวนให้รู้สึกแสลงใจ และกลายมาหมายถึงหญิงผู้ประกอบอาชีพนี้ได้? ก็อาจจะทำให้เรารู้ตัวเพิ่มขึ้นด้วยว่า เวลาที่ปรามาส หรือตีตราใครด้วยถ้อยคำผรุสวาทหยาบคายในภาษาไทยทั้งหลายนั้น เราไม่ได้กำลังดูหมิ่นเฉพาะคนที่เราตีตราประทับให้กับเขาเท่านั้น แต่กำลังผลิตซ้ำการเหยียดหยามถึงอะไรบางอย่างที่เราเอามาใช้เป็นคำกล่าวว่าด่าทอนั่นแหละ
ใครหลายคนอาจจะเข้าใจว่า ‘กะหรี่’ มาจากคำว่า ‘curry’ ซึ่งหมายถึง ‘แกงกระหรี่’ แต่ว่าเจ้าคำศัพท์ที่หมายถึงแกงประเภทหนึ่งคำนี้ ก็ไม่เห็นจะมีอะไรเชื่อมโยงถึงหญิงผู้ประกอบอาชีพการขายบริการทางเพศเลยสักนิด
ดังนั้นคำว่า ‘กะหรี่’ ในภาษาไทย จึงควรจะมีที่มาจากคำอื่นมากกว่า และคำๆ นั้นน่าจะเป็นคำว่า ‘ช็อกกะรี’
‘ช็อกกะรี’ หรือ ‘โฉกกฬี’ เป็นภาษาฮินดี ที่ใช้แพร่หลายกันในอินเดีย แปลว่า ‘เด็กผู้หญิง’ (ตรงกันข้ามกับ ‘ช็อกกะรา’ หรือ ‘โฉกกฬา’ ที่แปลว่า ‘เด็กผู้ชาย’) ซึ่งแม้จะไม่ได้หมายถึงหญิงผู้ขายบริการทางเพศ เหมือนอย่างที่คนไทยเราหมายถึงอย่างชี้เฉพาะเจาะจงเลยก็ตาม แต่ก็เป็นเพราะอย่างนี้แหละนะครับ ที่ทำให้มันกลายเป็นประเด็นสำคัญ
เพราะการเลือกที่จะใช้คำในภาษาอื่นที่ความจริงแล้วเขาหมายถึงแค่เพียง ‘เด็กผู้หญิง’ ธรรมด๊าธรรมดา สำหรับในการหมายความถึง ‘หญิงผู้ขายบริการทางเพศ’ มันก็พอจะมองเห็นได้ไม่ยากนักหรอกใช่ไหมว่า เราจัดวางพวกเขาผู้เป็นเจ้าของคำในภาษานั้นไว้อยู่ตรงไหนในสังคมของเรา?
ดังนั้น ไม่ว่าเราจะผรุสวาทใส่ใครว่า ‘กะหรี่’ ก็ตามแต่ มันไม่ได้หมายความถึงเฉพาะเธอที่กำลังถูกหยามหยันศักดิ์ศรีลูกผู้หญิงแบบไทยๆ นางนั้นอยู่คนเดียว เพราะโดยรากที่มาของคำ มันก็กำลังตีตราความเป็นอื่นอย่างดูหมิ่นเหยียดหยามไปในคราวเดียวกันนั้นด้วย
ตีคู่มากับ ‘กะหรี่’ ยังมีอีกคำคือ ‘ดอกทอง’ ซึ่งเป็นคำที่เก่าแก่มากพอดูนะครับ เพราะมีหลักฐานอยู่ใน ‘พระไอยการลักษณวิวาทตีด่ากัน’ ส่วนหนึ่งของกฎหมายตราสามดวง ซึ่งตราขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1992 (ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) มีมาตราหนึ่งระบุคำ ‘อี่ดอกทอง’ ว่าเป็นคำหมิ่นประมาท และถ้าใครโดนปรามาสด้วยคำนี้ก็สามารถฟ้องเรียกสินไหมได้
แต่เอาเข้าจริงก็ไม่รู้ว่า ในยุคนั้นจะมีใครจะฟ้องร้องกันด้วยเรื่องนี้หรือเปล่า เพราะตัวอย่างเดียวที่เราพอมีว่า ในสมัยอยุธยาจะมีใครด่าทอกันด้วยคำนี้ ก็ดันอยู่ในวรรณคดีเสียอีก และวรรณคดีเรื่องนั้นก็คือ ‘มโนราห์’
เรื่องของเรื่องมันมีอยู่ว่า แม่ของนางมโนราห์คือนางเทวี ฝันไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่ และเรื่องก็เป็นไปตามสูตรของหนังจักรๆ วงศ์ๆ ที่จะต้องมีใครสักคนหนึ่งมาทำนายฝันให้ ดังนั้นพราหมณ์โหรก็เลยมาทำนายฝันให้นางเทวีว่า ลูกสาวคนสุดท้องคือนางมโนราห์กำลังมีเคราะห์ อย่าให้ออกนอกบ้านไปขึ้นน้ำลงท่า เพราะจะโดนพรานป่าจับไป
และแน่นอนว่า นางมโนราห์จะต้องอยากออกจากบ้านไปเล่นน้ำกับบรรดาพวกพี่สาวของเธอ นางเทวีจึงไปห้ามไว้ ส่วนลูกสาวเธอก็ไม่ยอมครับ อยากไปแว๊นซ์ใจจะขาด สุดท้ายก็เลยทะเลาะด่าทอกัน โดยนางเทวีว่าก่อนว่า
เลี้ยงลูกชาวบ้านเอย อีนี่ใจแข็งใจกล้า
กูจะพลิ้วหิ้วขา หน้าตากูจะตบให้ยับไป
ไว้กูจะเหยียบเอาหัวตับ ไว้กูจะยับเอาหัวใจ
ปากร้ายมาได้ใคร พวกอีขี้ร้ายชะลากา
ขวัญข้าวเจ้าแม่อา ตัวแม่ก็ทำเป็นไม่สู้
รู้มากอีปากกล้า มึงไปได้มาแต่ไหน
พระพายพัดไป สมเพชลมพัดอีดอกทอง
แต่ไม่ใช่โดนว่าอย่างนี้แล้วนางมโนราห์จะยอมใจให้คุณแม่ของนาง เพราะเธอก็ตอกนางเทวีกลับไปอย่างแสบๆ คันๆ ด้วยคำ ‘ดอกทอง’ เหมือนกัน แถมยังตอกกลับแบบเป็นคอมโบเซ็ตเลยว่า
นางแม่ของลูกอา แม่มาด่าลูกไม่ถูกต้อง
ทั้งพี่ทั้งน้อง เหล่าเราดอกทองเหมือนกัน
ดอกทองสิ้นทั้งเผ่า เหล่าเราดอกทองสิ้นทั้งพันธุ์
ดอกทองเสมือนกัน ทั้งองค์พระราชมารดา
เอาเป็นว่าเรื่องในครอบครัวของนางมโนราห์เราอย่าไปยุ่งเขาเลยนะครับ เพราะก็ไม่มีรายงานว่าแม่ลูกคู่นี้เขาไปฟ้องเรียกค่าสินไหมกันหรือเปล่า? เรื่องที่น่าสนใจสำหรับเรามากกว่าก็คือ ทำไมต้อง ‘ดอกทอง’?
ข้อความในพระไอยการลักษณวิวาทตีด่ากัน สมัยอยุธยาที่ว่า ระบุคำ ‘ดอกทอง’ เอาไว้ในบริบทที่ว่า ‘มึงทำชูเหนือผัวกูก็ดี แลด่าท่านว่าอี่แสนหกแสนขี้จาบ อี่ดอกทอง อี่เยดซ้อน ก็ดี สรรพด่ากันแต่ตัวประการใดๆ’ ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ดอกทองสมัยอยุธยาหมายความว่าอย่างไร?
แม้จะยังสรุปกันไม่ได้ชัดว่า ทำไมต้อง ‘ดอกทอง’ แต่ก็มีผู้รู้สันนิษฐานว่า คำนี้เกี่ยวพันกับภาษาจีนฮกเกี้ยนว่า ‘หลกท่ง’ ซึ่งแปลว่า หญิงโสเภณี ซึ่งภาษามลายูยืมไปใช้เป็นคำว่า ‘loktong’ เช่นกัน แถมคำว่า ‘ลก’ เฉยๆ ในภาษาฮกเกี้ยนก็แปลว่า หญิงขายบริการทางเพศ เมือประกอบกับคำว่า ‘เช้า’ เป็น ‘เช้าลก’ จะการเป็นคำด่าว่า ‘หญิงโสเภณีที่เหม็นโฉ่’ (ส่วนอะไรเหม็นนี่ไปสืบกันเอาเองนะ)
ส่วนทำไมคนในสมัยอยุธยาต้องไปยืมคำว่า ‘โสเภณี’ มาจากภาษาจีน? นี่อาจจะตอบยากหน่อยเพราะไม่มีหลักฐานทางตรงระบุเอาไว้เลย แต่น่าสังเกตว่า ในเอกสารที่ชื่อ คำให้การขุนหลวงหาวัด ซึ่งก็เป็นคำให้การของเชลยศึกที่ถูกจับไปเป็นตัวประกัน หลังอยุธยาถูกตีแตกในปี พ.ศ. 2310 มีข้อความระบุว่า
‘ตลาดบ้านจีน ปากคลองขุนละครชัย มีหญิงละครโสเพณีตั้งอยู่ท้ายตลาด 4 โรง รับจ้างทำชำเราแก่บุรุษ ตลาดนี้เป็นตลาดใหญ่ใกล้ทางเรือและทางบก มีตึกกว้านร้านจีนมาก ขายของจีนมากกว่าของไทย’
แปลง่ายๆ ว่ามี ‘ซ่อง’ หรือที่ในสมัยอยุธยาเรียกว่า ‘สถานรับจ้างทำชำเราแก่บุรุษ’ อยู่ในย่านคนจีน (ซึ่งก็คือ เยาวราช หรือสำเพ็ง ในยุคนั้น) การที่จะมีโสเภณีจีน หรือมีคนจีนเรียกผู้หญิงเหล่านี้ด้วยสำเนียงของตนเองจึงไม่น่าจะแปลกอะไรนัก
แต่การที่นางเทวี และนางมโนราห์ ซึ่งไม่ใช่ผู้หญิงที่จะประกอบอาชีพอย่างนี้แน่ๆ มาด่าทอกันด้วยคำว่า ‘ดอกทอง’ นี่สิครับแปลก เพราะนอกจากแม่และลูกจะเหยียดกันเองแล้ว ยังไปเหยียดพวกเธอผู้ประกอบอาชีพรับกระทำชำเราแก่บุรุษ แถมเหยียดไม่เหยียดเปล่า ยังเหยียดกันด้วยคำที่ไม่ใช้แม้กระทั่งภาษาของตนเองอีกด้วย