1
เรื่อง ‘ลำไย ไหทองคำ’ นั้น มีมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องสองคน คนละสองขยัก
คนที่เข้าไปยุ่งวุ่นวายกับคุณลำไยคนแรกคือคุณประยุทธ์ ที่ท้วงติงแสดงความไม่เห็นด้วยกับวิธีการของคุณลำไยในการแสดงคอนเสิร์ตของเธอ ส่วนอีกคนหนึ่งคือคุณระเบียบรัตน์ ที่แสดงความไม่ชอบใจในนามสกุลของคุณลำไย
การแสดง ‘ความเห็น’ ของทั้งสองคนต่อคุณลำไยเป็นเรื่องที่ทำได้ จะบอกว่า ‘โดยส่วนตัว’ แล้ว เห็นว่าบัดสีบัดเถลิง ต่ำช้าเลวทราม ไร้ศีลธรรม ยั่วยุ ยั่วเย อะไรก็ได้ทั้งนั้น เพราะนี่คือการแสดงความคิดเห็นโดยเสรี จะเห็นด้วยเห็นต่าง ต่อว่าต่อขาน ก็ไม่เป็นไร
แต่การ ‘แสดงความเห็น’ ที่ว่า กลับไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านั้น นั่นคือขยักแรก แล้วถัดจากการแสดงความเห็นของทั้งสองคนนี้แล้ว ยังมีเรื่องเกิดตามมาอีกคนละขยัก ซึ่งจำเป็นต้องบอกกล่าวกันไว้ตรงนี้ ว่าเป็นขยักที่สองนี้ต่างหากที่เป็นปัญหา
2
ถ้าไม่หลอกตัวเองกันจนเกินไป ก็ต้องยอมรับกันนะครับว่าสิ่งที่คุณระเบียบรัตน์คิดและแสดงออกมาว่าด้วยเรื่องชื่อและนามสกุลของ ‘ลำไย ไหทองคำ’ นั้นมีมูลไม่น้อย
เพราะการตั้งชื่อในการแสดง (Pseudonym) ว่า ‘ลำไย ไหทองคำ’ นั้น สำหรับบางคนที่เติบโตมาในบางวัฒนธรรม มันอาจมีนัยประหวัดแบบขำๆ คันๆ แสบๆ ทะลึ่งๆ และนึกลึกลงไปถึงเรื่องเพศอยู่ก็ได้
แม้ตัวถ้อยคำทั้งหมดนั้นไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ แต่หากลองออกเสียงชื่อโดยตวัดท้ายคำคำว่า ‘ลำไย’ ทำให้คำเป็นมีลักษณะเกือบจะเป็นคำตาย แล้วลงเสียงซ้ำอีกรอบเพื่อกระแทกลงไปที่พยางค์แรกของนามสกุล ‘ไหทองคำ’ ก็จะรู้สึกได้ไม่ยากนะครับ ว่ามันให้ความรู้สึกข่อนๆ เสียวๆ บางอย่างอยู่ในอก เพราะคำว่า ‘ไห’ นั้นใช้พยัญชนะต้นเดียวกับคำบางคำ จึงเกิดอาการ ‘สัมผัสอักษร’ ขึ้นในมโนสำนึกของคนไทยทั่วไปที่คุ้นเคยกับการ ‘เล่น’ ในทางภาษากับคำอื่นๆ อีกหลายคำ โดยคำเหล่านี้มีระดับของเสียงวรรณยุกต์เดียวกัน เป็นคำเดี่ยวเหมือนกัน เพียงแต่ต่างกันตรงสระที่ใช้เท่านั้นที่ทำให้คำคำนี้ไม่ใช่คำหยาบโลนใดๆ
ถ้าดูแยกส่วนแต่ละคำ เราจะพบว่า ไม่มีอะไรตรงไหนแสดงความทะลึ่งตึงตังหรือเรื่องเพศออกมาตรงๆ เลยแม้แต่คำเดียว เป็นการนำเอาคำธรรมดาๆ ทั้งนั้นมารวมกัน ลำไยเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่ใครๆ ก็ซื้อกินกัน ไหก็คือภาชนะอย่างหนึ่ง ส่วนทองคำก็เป็นธาตุชนิดหน่ึงเท่านั้น แต่เมื่อนำทั้งหมดนี้มารวมกัน คนบางคนที่ ‘อ่อนไหวทางวัฒนธรรม’ หรือเคยคุ้นต่อ ‘การเล่น’ ของภาษาไทย ก็อาจรู้สึกได้ตั้งแต่ฟังครั้งแรก ว่าชื่อนี้นามสกุลนี้ มีนัย (Implication) บางอย่างซ่อนอยู่ เป็นการตั้งชื่อที่ชวนให้คนอ่านลงน้ำหนักของเสียงโดยอัตโนมัติ ก่อให้เกิดรูปรอยของ ‘ความหมาย’ บางอย่างจากการออกเสียง พูดอีกอย่างก็คือ ‘รูป’ ที่เห็นในตัวอักษรนั้นดูเรียบร้อย แต่ความหมายจากการออกเสียงนั้นล้ำลึก ซึ่งในอีกด้านหนึ่งก็ต้องบอกว่าเป็น ‘อัจฉริยภาพ’ ของผู้ตั้งชื่อ ‘ลำไย ไหทองคำ’ จริงๆ เพราะสามารถสื่อถึงนัยประหวัดได้ในแบบซ่อนรูป ทำให้รู้สึกแสบๆ คันๆ ปนทะลึ่งตึงตังโดยไม่ได้มีอะไรหยาบคายแม้แต่นิดเดียว
แต่การที่คุณระเบียบรัตน์ออกมาบอกว่าชื่อ ‘ลำไย ไหทองคำ’ นั้นมีปัญหา แปลว่าคุณระเบียบรัตน์สามารถ ‘เข้าใจ’ ถึง ‘นัย’ ที่ซ่อนอยู่ในการตั้งชื่อได้อย่างรวดเร็ว – สมกับที่มีประสบการณ์ในทางวัฒนธรรมมามากมาย แต่ถ้าคุณระเบียบรัตน์บอกว่านี่เป็น ‘ปัญหา’ ก็ต้องยอมรับให้ได้ด้วยว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะกับตัวคุณระเบียบรัตน์หรือคนที่คิดเห็นแบบเดียวกับคุณระเบียบรัตน์เท่านั้น
ถ้าคนอื่นไม่ได้เห็นเป็นปัญหา – มันก็ไม่ควรจะเป็นปัญหาสำหรับคนอื่น และไม่ควรลากจูงคนอื่นให้ต้องเห็นว่าเป็นปัญหาแบบเดียวกันด้วย
3
กรณีคุณประยุทธ์ก็คล้ายๆ กัน สิ่งที่คุณประยุทธ์ทำ คือการ ‘พูดออกมา’ (มี Expression) ว่าคุณลำไย ไหทองคำ มีการแต่งตัวและท่าเต้นที่ไม่เหมาะสม ซึ่งนั่นก็เป็นความคิดเห็นของคุณประยุทธ์ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง แต่ด้วยความที่คุณประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี จึงเกิดการ ‘รับลูก’ โดยกระทรวงวัฒนธรรม ที่ทำหนังสือส่งไปใปยังต้นสังกัดของคุณลำไย เพื่อให้เปลี่ยนแปลงวิธีการนำเสนอ และระมัดระวังมากขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามตามความคิดเห็นของคุณประยุทธ์
สำหรับผม การแสดงความคิดเห็นของคุณประยุทธ์และคุณระเบียบรัตน์ไม่ใช่ปัญหา เพราะเป็นเรื่องที่ทำได้ แสดงออกได้ว่าชอบไม่ชอบ เห็นด้วยไม่เห็นด้วย แต่ปัญหากลับมาอยู่ตรง ‘ขยักที่สอง’ คือการ ‘รับลูก’ ของกระทรวงวัฒนธรรม และการที่คุณระเบียบรัตน์ไปไกลถึงขั้นเสนอให้คุณลำไยเปลี่ยนชื่อ (ที่จริงคือเปลี่ยนนามสกุล) ต่างหาก
คำถามก็คือ – ทำไมถึงเป็นปัญหา, และปัญหาคืออะไร?
4
ปัญหาแรกคือปัญหา ‘การเมืองเรื่องวัฒนธรรม’
ถ้าย้อนกลับไปดูความหมายของคำว่า ‘วัฒนธรรม’ กันให้ดี เราจะพบว่าคำคำนี้มีความหมายที่แฝงฝังอยู่สองอย่าง
อย่างแรก วัฒนธรรมคือวิถีชีวิต เพราะฉะนั้น วัฒนธรรมจึง ‘หลากหลาย’ ได้ไม่รู้จักจบสิ้น คนที่อยู่ต่างถิ่นที่ ย่อมถูกกำหนดด้วยภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ ระบบเศรษฐกิจ ระบบความสัมพันธ์ ระบบวัฒนธรรม ฯลฯ ที่แตกต่างกัน และดังนั้นจึงส่งผลให้เกิดการแสดงออกที่แตกต่างกันไปด้วย
แต่ในความหมายที่สอง คำว่า ‘วัฒนธรรม’ มักถูก ‘ฉีด’ ด้วยคำว่า ‘อันดีงาม’ เข้าไปภายใน เหมือนกับไวรัสฉีดสารพันธุกรรมของตัวเองเข้าไปผสมกับเซลล์โฮสต์ จนทำให้เวลาพูดคำว่า ‘วัฒนธรรม’ ผู้พูดไม่หลงเหลือความสามารถที่จะมองเห็น ‘ความหลากหลาย’ ของคำว่า ‘วัฒนธรรม’ ได้ จึงมักลดรูปวัฒนธรรมที่เพริศแพร้วพร่างพรายหลายหลากให้เหลือเพียงวัฒนธรรมในแบบ ‘ของกู’ เพียงอย่างเดียว และมักเห็นว่าเป็น ‘วัฒนธรรมของกู’ เท่านั้นที่ดีงาม วัฒนธรรมอื่นๆ ที่แตกต่างไปจาก ‘ของกู’ มักจะเลวร้าย และเมื่อเลวร้ายก็จะส่งผลต่อเนื่องไปยังสิ่งมีชีวิตที่ถูกเรียกว่า ‘เยาวชน’ ด้วย ดังนั้น วัฒนธรรมอื่นๆ จึงต้องถูกกำกับควบคุมหรือกระทั่งกำจัดออกไปจากสังคม
ความหมายของวัฒนธรรมอย่างแรก แม้จะมีเรื่องของการเมืองหรืออำนาจมากำกับ แต่ก็มักเป็นอำนาจที่อยู่ในระดับที่ไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ละวัฒนธรรม แต่ละกลุ่มก้อนของผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย สามารถประกวดประขัน (Contest) วัฒนธรรมของตัวเองระหว่างกันได้ ซึมซับรับเอา หรือส่งออกส่งผ่านวัฒนธรรมของตัวเองไปผสมผสานกับของคนอื่นได้เสมอ หลายคนจึงเห็นว่า วัฒนธรรมที่หลากหลายมีความเป็นประชาธิปไตยอยู่ไม่น้อย (แม้จะต้องถกเถียงกันในรายละเอียดลึกลงไปอีกก็ตามที)
แต่ถ้าเรามาพินิจ ‘วัฒนธรรม’ ในความหมายที่สอง เราจะเห็นได้ชัดเลยว่า การจะทำให้ ‘วัฒนธรรม’ ที่เป็น ‘ของกู’ ได้มีโอกาสสถาปนาตัวเองอยู่เหนือหัวของวัฒนธรรมแบบอื่นๆ แปลได้ความว่า ‘ตัวกู’ ใน ‘วัฒนธรรมของกู’ ก็ต้องเป็น ‘ตัวกู’ ที่มีอำนาจเหนือวัฒนธรรมอื่นๆ ไปด้วย จึงสามารถชี้นิ้วบอกคนที่มีวัฒนธรรมแบบอื่นๆ ได้ว่า พวกเขาควรต้องปฏิบัติอย่างไรถึงจะ ‘ถูกต้องดีงาม’
การที่กระทรวงวัฒนธรรมรับลูกนายกรัฐมนตรี แล้วมีหนังสือขอความร่วมมือไปยังต้นสังกัดของคุณลำไย แสดงให้เห็นถึงการ ‘ออกกำลังอำนาจ’ (Power Excercise) ตามแนวคิดที่สองนี้อย่างชัดเจน เพราะคือการใช้ ‘อำนาจอย่างเป็นทางการ’ ที่มาจาก ‘อำนาจส่วนกลาง’ ตามระบอบการปกครองของรัฐแบบรวมศูนย์ เพื่อไป ‘สั่ง’ อำนาจที่เล็กกว่า คืออำนาจทางธุรกิจ เพื่อให้อำนาจทางธุรกิจนั้นไปกำกับการแต่งตัวและการแสดงออกของคุณลำไย – อันเป็นเรื่องทางวัฒนธรรมอีกทีหนึ่ง
การแสดงของคุณลำไยนั้น หลายคนบอกว่ามีรากมาจากการแสดงพื้นบ้าน ซึ่งเอาเข้าจริงก็ลด ‘ความแรง’ ลงไปแล้วไม่น้อยเพื่อให้สามารถ ‘ลอดเรดาร์’ เข้ามาสู่การเผยแพร่ในแบบแมสได้ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผู้สร้างสรรค์พยายามเดินไต่เส้นอยู่ตรงพรมแดนอำนาจอยู่แล้ว แต่กระนั้นก็ยัง ‘โดนจนได้’
เรื่องนี้ทำให้เราเห็นการทำงานของอำนาจเป็นทอดๆ ได้ชัดเจน เป็นการทำงานของอำนาจรัฐจากส่วนกลาง ที่พยายามไปกำกับควบคุมอำนาจของวัฒนธรรมส่วนภูมิภาค เพื่อบังคับควบคุมให้วัฒนธรรมอื่นๆ (ที่ควรหลากหลายแตกต่าง) ให้ต้องบิดเบี้ยวดัดแปลงตัวเองหวนกลับมารับใช้วิธีคิดของอำนาจรัฐจากส่วนกลางที่คิดว่าตัวเองมีอำนาจทางวัฒนธรรม ‘ใหญ่’ กว่าอำนาจทางวัฒนธรรมอื่นๆ
นี่จึงไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่แสดงให้เห็นถึงวิถีแบบ ‘รัฐราชการ’ ที่แข็งตัวและไม่ต้อนรับความแตกต่างหลากหลายลึกลงไปถึงระดับวัฒนธรรม
อย่าบอกนะครับ – ว่านี่ไม่ใช่ปัญหา!
5
ปัญหาที่สองคือปัญหาเรื่องการสร้างอัตลักษณ์
ชื่อ ‘ลำไย ไหทองคำ’ นั้น เป็นชื่อแบบ Pseudonym ซึ่งก็คือชื่อที่ตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อใช้กับบางสถานการณ์เท่านั้น ไม่ใช่ชื่อถาวรที่จะใช้กับตัวตนหนึ่งๆ ตลอดเวลา
ชื่อแบบ Pseudonym คือชื่อที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างและแสดงถึง ‘อัตลักษณ์’ หรือตัวตน (Identity) บางอย่าง มีทั้งที่เป็นนามปากกา (Pen Names) ชื่อที่ใช้ในการแสดง (Stage Names หรือ Screen Names) ฯลฯ ชื่อเหล่านี้จะแตกต่างไปจากชื่อจริง (Orthonym) หรือชื่อที่ถูกต้องตามกฎหมาย (Legal Names) อยู่แล้ว ไม่ใช่เพื่อปกปิด อำพรางตัว หรือใส่หน้ากากหลอกชาวบ้าน ทว่าตั้งขึ้นเพื่อการ ‘แสดงออก’ ของอัตลักษณ์อีกแบบหนึ่ง
แม้จะเป็น ‘คน’ คนเดียวกัน แต่อัตลักษณ์ขณะอยู่ใต้ชื่อแบบ Orthonym กับขณะใช้ชื่อแบบ Pseudonym นั้น อาจแตกต่างไม่เหมือนกันเลยก็ได้ (หรือจะเหมือนกันก็ได้ด้วย) ดังนั้น แม้ ลำไย ไหทองคำ จะเป็นคนคนเดียวกับ สุพรรณษา เวชกามา แต่ ‘อัตลักษณ์’ ที่คนในสองชื่อนี้แสดงออก – ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน
ด้วยเหตุนี้ ข้อเสนอของคุณระเบียบรัตน์ ที่บอกให้เปลี่ยนชื่อจาก ลำไย ไหทองคำ เป็น ลำไย ใจงาม หรืออื่นๆ ที่มีนัยของอำนาจเหนือทางวัฒนธรรม จึงต้องตระหนักให้ได้ด้วยว่า ไม่ได้แค่กำลังเสนอให้เปลี่ยนชื่อเท่านั้น แต่ยังเท่ากับเสนอให้เปลี่ยน ‘อัตลักษณ์’ หรือ ‘ตัวตน’ ที่สร้างขึ้นผ่าน Pseudonym ด้วย
การสร้างอัตลักษณ์ผ่าน Pseudonym นั้น ไม่ใช่การสร้างที่เกิดขึ้นง่ายๆ ชั่วข้ามคืน แต่ต้องผ่านการสั่งสมยาวนาน กว่าจะทำให้คนทั่วไปเกิดการรับรู้ (Perception) ขึ้นมาว่าหากเอ่ยชื่อ ลำไย ไหทองคำ ขึ้นมา ผู้บริโภคจะได้พบกับอะไร แบบเดียวกับการสั่งสมทางธุรกิจเพื่อสร้างแบรนด์ สร้างความตระหนักรู้ และสร้าง Loyalty ต่อแบรนด์นั่นแหละครับ เรื่องแบบนี้ไม่ได้สร้างได้ในฉับพลันทันที
ที่สำคัญ ชื่อ ‘ไหทองคำ’ ยังไม่ใช่ชื่อที่ตั้งขึ้นมาเพื่อใช้สร้างอัตลักษณ์ให้กับคนคนเดียวเท่านั้น แต่ชื่อนี้คือชื่อของต้นสังกัด (ได้แก่ค่ายไหทองคำเรคคอร์ด) ซึ่งก็ต้องยอมรับนะครับ ว่าค่ายมีส่วนในการ ‘สร้าง’ อัตลักษณ์ของบุคคลที่เรียกว่า ‘ลำไย ไหทองคำ’ ขึ้นมาตั้งแต่ต้น โดยผ่านการ ‘ลงทุน’ เพื่อทำให้อัตลักษณ์นี้โด่งดังขึ้นมา
ดังนั้น การที่อยู่ๆ จะมาเสนอให้เปลี่ยนนามสกุลไปเป็นแบบอื่น (เช่น ‘ลำไย ใจงาม’ ฯลฯ) ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม – จึงคือการไม่รู้หนเหนือหนใต้ เป็นการเสนอให้ ‘ทำลาย’ ไม่เพียงทำลายอัตลักษณ์หนึ่งของคนคนหนึ่งเท่านั้น แต่ยังเป็นการทำลายย้อนลึกกลับไปถึง ‘ราก’ ที่มาของอัตลักษณ์ที่ว่านี้ ในทางธุรกิจ ยังอาจพูดได้ว่าเป็นการทำลาย Business Unit หนึ่งของต้นสังกัดด้วย โดยใช้อำนาจทาง ‘วัฒนธรรมอันดีงาม’ ที่คิดว่าตนมี ‘ศักดิ์’ และ ‘สิทธิ์’ แบบ ‘รวมศูนย์’ ที่ ‘เหนือ’ กว่าวัฒนธรรมอื่นๆ มาเป็นฐาน
6
อย่างไรก็ตาม อำนาจรัฐและอำนาจทางวัฒนธรรมรวมศูนย์นั้น ต่อให้มีอำนาจสูงส่งล้นฟ้า แต่ก็มักจะมีความไม่มั่นใจในตัวเองมากนัก เพราะลึกๆ ก็อาจตระหนักอยู่แก่ใจว่าอำนาจที่ตนมีอยู่นั้นไม่ได้มีฐานที่มั่นคงแข็งแรงอะไร จึงมักไปพึ่งพิงอำนาจอีกอย่างหนึ่งอยู่เสมอ – นั่นคืออำนาจทางศีลธรรม
ความถูกต้องดีงามตามแบบและเบ้าของวัฒนธรรมแห่งรัฐ มักจะอ้างอิงความบาปผิดและจริยธรรมพื้นฐานให้เราเห็นอยู่บ่อยๆ วิธีหนึ่งก็คือการสร้าง ‘ความเป็นอื่น’ ให้กับอีกฝ่าย ด้วยการทำให้ฝ่ายตรงข้ามหรือฝ่ายที่ตนต้องการจะควบคุม มีสถานะประดุจผีปีศาจ ในขณะที่ฝ่ายตัวเองที่ยึดกุมทุกมิติของอำนาจ ทั้งอำนาจรัฐ อำนาจวัฒนธรรม และอำนาจศีลธรรมนั้น, กลายเป็นฝ่ายเทพ
หากมองแบบนี้ ‘ไหทองคำ’ จึงอาจไม่ได้มีความหมายตรงตัวว่าเป็นภาชนะใส่ทองคำ แต่อาจถูกมองว่าเป็นเหมือน ‘ปีศาจ’ ที่ต้องเข้าไปกำกับควบคุมอย่างเข้มงวดก็เป็นได้
หากมองในมิติของอำนาจและการใช้อำนาจ, ต้องบอกว่าเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิดที่อันตรายอย่างยิ่ง