ทรราช (อ่านว่า ทอ-ระ-ราด) หรือภาษาอังกฤษ tyrant (n.) หมายถึง ผู้ปกครองอำนาจเบ็ดเสร็จที่ไม่ถูกจำกัดด้วยกฎหมาย ไม่อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ใดใด และมักได้รับการบรรยายว่า เป็นผู้โหดร้ายที่รักษาฐานะตำแหน่งของตนด้วยการใช้วิธีเอาแต่ตัวเองและกดขี่ผู้ที่อยู่ด้านล่างอย่างไม่ใยดี
เราอาจเคยได้ยินคำว่าทรราชมามากกว่า 1 ครั้งในชีวิต และเมื่อไหร่ก็ตามที่ได้ยินคำนี้ ใบหน้าอันคุ้นเคยของผู้ที่ถูกเรียกด้วยคำคำนี้ก็มักผุดเข้ามาในหัวอย่างอัตโนมัติ (ไม่ต่างจากตอนที่ใครซักคนพูดคำว่า ‘รัฐบาล’ หรือ ‘COVID-19’ แล้วคำที่มาคู่กันคือ ‘ซิโนแวค’) แต่คงสงสัยใช่มั้ยครับว่าอะไรทำให้สารคดีเรื่องนี้แตกต่างจากเรื่องอื่นๆ และเป็นสารคดีที่อยากจะแนะนำให้ทุกคนที่มีแอคเคาต์ Netflix ได้ดู?
‘How to Become a Tyrant’ เส้นทางทรราช คือสารคดีความยาว 6 ตอน ความยาวแค่ราวๆ ตอนละครึ่งชั่วโมง ที่ไม่ได้พูดถึงวีรกรรมอันโด่งดังของผู้กดขี่ในแบบที่คนรู้อยู่แล้ว แต่พูดถึงในแง่ที่บอกคนดูว่า “คุณเองก็เป็นเผด็จการได้เหมือนกันนะ ถ้าสนใจ อยากรู้ความลับและขั้นตอนมั้ยล่ะ?” ด้วยการสร้างคู่มือสูตรสำเร็จหรือฮาวทูประเภท DIY (Do It Yourself) ของการเป็นทรราช ผ่านการศึกษาเรื่องราวของเผด็จการชื่อดัง ไม่ว่าจะเป็น อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler), ซัดดัม ฮุสเซน (Saddam Hussein), อีดี อามิน (Idi Amin), โจเซฟ สตาร์ลิน (Joseph Stalin), มูอัมมาร์ กัดดาฟี (Muhammad Gaddafi) และตระกูลคิมแห่งเกาหลีเหนือ
นี่ไม่ใช่สารคดีประเภทคลาสเลคเชอร์ประวัติศาสตร์ แต่เป็นซีรีส์สารคดีที่เล่าเรื่องตีแผ่วิเคราะห์ได้อย่างง่ายๆ สนุกสนาน และน่าสนใจผ่านฟุตเทจจริงกับการใช้อนิเมชั่นการ์ตูน 2D ช่วยเล่าเรื่อง เพื่อเป็นการใช้ความบันเทิงให้เกิดประโยชน์ในแง่ของการสร้างการจดจำตามทฤษฎีที่ว่า เมื่อไหร่ที่เรารับสารใดสารหนึ่ง ข้อมูลใดข้อมูลหนึ่ง โดยไร้ความกดดันและรู้สึกเพลิดเพลิน อินไปกับมัน ไม่รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องซีเรียสมาก เราจะจดจำมันได้ดี และพาไปสำรวจทรราชคนหนึ่งตั้งแต่นิสัยใจคอ พฤติกรรม ต้นกำเนิด แรงกระตุ้นในการเป็นทรราช กับสิ่งที่บุคคลเหล่านั้นทำเมื่อได้ขึ้นเป็นทรราช
ทำไมเราจึงควรศึกษาความเป็นทรราชผ่านสารคดีเรื่องนี้?
ปราชญ์ชาวกรีกโบราณผู้เลื่องชื่ออย่างเพลโตและอริสโตเติลนั้นได้ให้ความหมายของคำว่า ‘ทรราช’ ไว้อย่างน่าสนใจว่า “การปกครองในรูปแบบของคนคนเดียวอยู่สูงสุดที่ขาดคุณธรรม จริยธรรม ใช้อำนาจในทางที่ผิดหรือฉ้อฉลในอำนาจ มีเป้าหมายมุ่งประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง ละเลยการให้ความใส่ใจต่อความทุกข์ยาก เดือดร้อน และประโยชน์สุขของสังคมโดยรวมของผู้ใต้การปกครอง”
เมื่อดูจบก็ต้องขอชื่นชมว่า 6 ตอนนี้กับการจัดลำดับทรราชกับประเด็นในการนำเสนอ 6 ข้อถูกเรียงร้อยเข้าหากันอย่างดี ลำดับเรื่องและนำเสนอได้ดุเดือด กระตุ้นอารมณ์ และหันไปมองหน้าคนข้างๆ ด้วยความอึ้งได้บ่อยครั้ง ดูหนึ่งตอนจบไป ทำให้เลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้อยากดูตอบถัดไป เล่นกับความอยากรู้อยากเห็น อยากรู้เพิ่มเติมของคนดู เป็นสารคดีชนิดที่ไม่ว่าสนใจประวัติศาสตร์หรือไม่ก็สามารถดูได้
แน่นอนไม่ใช่ดูเพราะเราจะเป็นเองตามที่ซีรีส์ดูจะยั่วยุแบบกวนโอ๊ยและเชิญชวนซะเหลือเกิน แต่ภายใต้สถานการณ์การเมืองบ้านเมืองที่ผู้มีอำนาจดูจะเป็นใหญ่ มีอำนาจล้นพ้น และใช้อำนาจนั้นไปในทางที่สามารถกำหนด/เพิกเฉยต่อสิทธิในการใช้ชีวิตและชะตาชีวิตของผู้คนจำนวนมากได้ เป็นเรื่องดีที่เราจะศึกษามันโดยเฉพาะผ่านสื่อที่สามารถย่อยได้ง่ายๆ แต่ดูดซึมได้ดีและเกิดประโยชน์กับร่างกายและสมองอย่างเช่นสารคดีเรื่องนี้
นี่จึงไม่ใช่แค่การดูซีรีส์สารคดี อีกนัยหนึ่งมันคือการศึกษาของผู้ถูกกดขี่ จากสายตาผู้ถูกปกครอง ที่จะทำให้รู้เขารู้เราและมองเห็นโครงสร้างกับวิธีการของเหล่าเผด็จการอย่างทะลุปรุโปร่ง ครบทุกแง่มุม เพราะแม้ว่าสารคดีเรื่องนี้จะชื่อ How to Become Tyrant แต่ก็มีอีกชื่อคือ How to Fight Tyrant หรือ How to Survive Tyranny เราสามารถรับรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งและมองมันจากอีกด้านได้เสมอ เมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้ว่าเผด็จทรราชทำตัวอย่างไร เราก็จะรู้ได้เช่นกันว่าเราจะต่อสู้หรือรับมือกับคนผู้นั้นอย่างไร
การศึกษาเกี่ยวกับทรราชจึงสามารถเกิดประโยชน์ในเชิงที่ทำให้รู้เท่าทันหรือสร้างปัญญาและความสามารถในการตั้งคำถาม (questioning) กับความคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) ให้กับผู้ศึกษามัน
สิ่งที่ทรราชต้องการคือกำจัดสองอย่างนี้ออกไปจากหัวสมองผู้คน ไม่ต้องการให้ผู้คนใต้ปกครองมีทั้งสองอย่าง เพื่อที่จะได้ปกครองง่ายๆ และตัวเองจะได้อยู่กอบโกยผลประโยชน์กับความมั่งคั่งจากตำแหน่งผู้ปกครองไปนานๆ แบบไร้กังวล ฉะนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่ทุกๆ คนมีมัน ทรราชก็ทำได้เพียงแค่กดขี่และจำกัดเสรีภาพในการชีวิตได้แค่ทางด้านกายภาพ แต่ทางจิตวิญญาณนั้น ไม่มีวัน
และทั้งหมดนี้จะไม่สมบูรณ์และสนุกขนาดนี้ไม่ได้ถ้าหากขาดแกนหลักการเล่าเรื่องอย่าง ปีเตอร์ ดิงค์เลจ (Peter Dinklage) นักแสดงที่รับบท ทีเรียน แลนนิสเตอร์ ในซีรีส์ Game of Thrones ที่รับบทเป็นผู้บรรยาย (narrator) ให้กับสารคดีเรื่องนี้ ผู้ที่ให้เสียงพากย์ได้น่าฟัง และเล่าอย่างเย้ยหยัดประชดประชันตลอดเวลาราวกับทีเรียนมาเล่าเอง อีกทั้งเสียงบรรยายของเขากับการเล่าเรื่อง ยังให้กลิ่นอายเหมือนตอนดูซีรีส์ Narcos (ของ Netflix เช่นกัน) ที่เล่าประวัติพ่อค้ายาเสพติดผู้โด่งดังอย่าง พาโบล เอสโคบาร์ ด้วยภาพและการบรรยายในแบบเดียวกัน
มาเป็นทรราชกันเถอะ!
ตามที่ได้พูดไปเมื่อตอนต้น สารคดี How to Become a Tyrant ได้เรียงชื่อตอนทั้ง 6 ไว้อย่างน่าสนใจ
- ตอนที่ 1 ยึดอำนาจ
- ตอนที่ 2 ขยี้คู่แข่ง
- ตอนที่ 3 ปกครองด้วยความกลัว
- ตอนที่ 4 ควบคุมความจริง
- ตอนที่ 5 สร้างสังคมใหม่ขึ้นมา
- ตอนที่ 6 และปกครองตลอดชั่วกัลป์ชั่วกาล
จากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง จากวิธีการหนึ่งไปยังวิธีการหนึ่ง ซึ่งในท้ายที่สุดจะเป็นการปิดหนังสือเล่มนี้พร้อมกับบอกว่า “บอกหมดแล้ว ทีนี้ลองดูซะหน่อยมั้ย?”
โดยในสารคดี จะแบ่งประเภททรราชแบบดิบๆ ได้ 2 แบบให้ง่ายต่อการพูดถึงเพื่อชวนดู คือทรราชประเภทผู้นำเผด็จการดังแล้วดับ คือทรราชในตอนที่ 1-5 ที่ไม่ได้มีผู้สืบทอด และทรราชผู้มีความเป็นตระกูล คือตระกูลคิมแห่งเกาหลีเหนือที่ไม่ใช่แค่ใช้คำว่า ‘ทรงอิทธิพล’ แต่เป็นผู้อยู่เหนือทุกสิ่งในเกาหลีเหนือมาตั้งแต่รุ่นปู่
เริ่มจากการบอกว่า ทรราชเองก็เป็นแค่คนธรรมดาๆ เหมือนทุกคนเหมือนที่ผู้ชั่วร้ายทั้งในหนังและชีวิตจริงต่างก็เคยเป็นเด็กมาก่อนเหมือนกับพวกเราทุกคน ผ่านตัวละครตัวแรกและตัวสำคัญที่ใครๆ ก็รู้จักอย่าง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ อดีตศิลปินไส้แห่งตกกระป๋องที่เคยเป็น no one ชายผู้เชื่อว่าตัวเองรอดจากสงครามโลกครั้งที่ 1 เพื่อเป้าหมายบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่า เขาเริ่มจากการปลุกระดมระดับเล็กๆ นำไปสู่การก่อตั้งพรรคนาซีและการใช้เครื่องหมายสวัสดิกะเพื่อสร้างแบรนดิ้ง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และความเป็นชาตินิยมอย่างแพร่หลาย การไว้หนวดอันเป็นเอกลักษณ์ รวมถึงเป็นตัวแปรสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2
ทั้งหมดของการเป็นทรราชรวมถึงฮิตเลอร์เอง มักมาจาก ‘จุดเริ่มต้นที่ต่ำต้อย’ เพื่อสร้างความรู้สึกร่วมและปลุกระดมด้วย ‘กลยุทธ์สร้างความเจ็บแค้น’ ให้ชนชั้นล่างที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติ ร่วมด้วยและโจนทะยานขึ้นไปสู่เป้าหมาย ซึ่งหลังจากที่ทำได้สำเร็จ สิ่งต่อมาที่ทรราชทำก็คือการสัญญาว่า ‘จะช่วยแก้ไขปรับปรุง’ อะไรก็ตามที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น หรือไต่เต้าทีละขั้นๆ ไม่ก็ (ส่วนใหญ่) จะทำการยึดอำนาจหรือถือครองอำนาจจากการสร้างความชอบธรรมมาดื้อๆ ด้วยการสัญญากับประชาชนว่า “ประชาชนทุกท่าน เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นานเกินรอ”
ชอบประโยคหนึ่งที่คำบรรยายพูดว่า “ในโลกที่สมบูรณ์ สังคมไม่ต้องการทรราชชี้นำ”
หากทุกอย่างเป็นไปอย่างแฟร์ๆ ทุกคนรู้สึกว่าโอเคกับชีวิต มีความสุข ทำไมเราถึงจะต้องการใครซักคนขึ้นมาชี้นิ้ว และกำหนดทิศทางหรือกำหนดว่าเมื่อไหร่จะหายใจเข้าออกล่ะ? เช่นเดียวกัน ทรราชมักฉวยอกาสอาศัยความโกรธของผู้คนหรือสถานการณ์วุ่นวายของบ้านเมือง (ทั้งที่เกิดขึ้นอยู่หรือสร้างขึ้นมาเอง แล้วแต่คน) เพื่อเข้ามา take over และรับเอาความดีความชอบนี้ไป ด้วยการเอาปืนจ่อ อาวุธ รถถัง กองกำลัง และพรรคพวก แล้วบอกว่าการมาของเขาคือประโยชน์ของส่วนรวม
“ทรราชมักหลงตัวเอง คิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล”
นี่คือคุณสมบัติและองค์ประกอบที่ไม่ใช่ที่ดี แต่ที่มี ของทรราช ที่พูดไปข้างต้นแค่ฮิตเลอร์ ทรราชคนอื่นๆ ในตอนที่ 1-5 เองก็ทำหน้าที่เป็นตัวอย่างที่ดีในการศึกษาความเป็นทรราช ทุกคนมีความมั่นใจ และไปสุดทางในเวย์ของตัวเอง
โดยแต่ละคนจะมีคุณลักษณะวิธีการในการเป็นทรราชแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น
- ซัดดัม ฮุสเซน ที่ไม่ใช่แค่กลั่นแกล้งคู่แข่ง แต่ปกครองด้วยความกลัว เชือดศัตรูออกสื่อ ส่งสารด้วยวิธีการที่เลือดเย็นด้วยวิธีต่างๆนานา, ผูกขาดอำนาจและทรัพยากร รวมถึงกำหนดกลไกการตลาด เล่น mind game ปั่นหัว และมีหูตาทั่วทุกสารทิศ
- อีดี อามิน ปกครองด้วยความกลัวเต็มขั้น, หาแพะรับบาป
- โจเซฟ สตาร์ลิน ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้สื่อ, ติดสินบน,ทุจริตคอรัปชั่น, สร้างภาพตัวเองให้ตัวเองดูสวยหรู, บิดเบือนความจริง, ตัดต่อรูป (ราวกับ photoshop), สร้างสตอรี่, propaganda หรือโฆษณาชวนเชื่ออย่าหนักหน่วง, ใช้รูปและข้อมูลข่าวสาร = อาวุธ
- มูอัมมาร์ กัดดาฟี ออกแบบกฏที่เคร่งครัด, วางรากฐานที่หยั่งลึก, การสร้างค่านิยม “ผู้นำคือกฎหมาย และกฎหมายต้องทำตาม”
กับอีกประเภทคือผู้นำทรราชประเภทตระกูลหรือราชวงศ์ โดยในสารคดีใช้ตระกูลคิมแห่งประเทศที่ไร้เสรีภาพที่สุดในโลกอย่างประเทศเกาหลีเหนือในการบอกเล่าถึงการผูกขาดอำนาจโดยครอบครัวครอบครัวหนึ่งในตอนสุดท้ายเริ่มตั้งแต่ คิมอิลซอง (Kim Il seong) คนปู่ ที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัสเซีย จึงได้ปกครองเกาหลีเหนือและก่อตั้งราชวงศ์ ‘คิม’ ขึ้นมา
ราชวงศ์คิมอยู่คู่กับเกาหลีเหนืออย่างแนบแน่นจนถึงปัจจุบันด้วยผู้นำ 3 รุ่น โดยสำเร็จจากการใช้’กลยุทธ์ปลีกวิเวกอาณาจักร’ ที่ทำการผลิตทุกอย่างใช้เอง รวมถึงสร้าง echo chamber (ที่มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป เช่น กะลา เป็นต้น) มาครอบไว้เพื่อให้ข้อมูลสะท้อนอยู่ในพื้นที่ อีกทั้งจำกัดให้เข้าถึงข้อมูลได้ยาก ข้อมูลจะมาถึงประชาชนก็ต่อเมื่อผ่านการคัดกรองจากรัฐมาแล้ว ทั้งยังถูกจำกัดให้เดินทางอย่างอิสระไม่ได้ ออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน แม้กระทั่งหนังเองก็ถูกสร้างขึ้นภายในประเทศโดยมีแก่นสำคัญคืออวยผู้นำ
นักวิชาการหลายคนบอกว่าเกาหลีเหนือถือว่า ประสบความสำเร็จมากๆ ในการเป็นทรราช ด้วยการปลีกวิเวทประเทศตัวเอง
เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้คนอยู่ในพื้นที่ที่ถูกปิดกั้นอย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นด้านข้อมูล อิสรภาพ หรือการได้ไปรู้ไปเห็นอะไรที่กระตุ้นให้โหยหาอิสรภาพ พวกเขาจะไม่แสวงหามัน หรือไม่ขัดขืน และรู้สึกพอใจ โอเคกับสิ่งที่มี เท่าที่มี โดยไม่ฉุกคิดเลยว่า ชีวิตสามารถดีกว่านี้ได้หากไม่ถูกโครงสร้างและการกดขี่นี้กดทับ ฉากหนึ่งที่น่าตกใจมากคือแม้ว่าผู้คนจะโดนกดขี่ ผูกขาด จำกัด และทำให้อดอยาก ประชาชนชาวเกาหลีเหนือร้องไห้เศร้าโศกอย่างมากต่อการจากไปของผู้นำคิม และพวกเขาเชื่อว่าคิมคือผู้นำที่ดีที่สุดสำหรับพวกเขาจริงๆ
ราชวงศ์คิมทำสิ่งที่เผด็จการในตอนที่ 1-5 ทำไม่ได้ นั่นก็คือสร้างผู้สืบทอดอำนาจจากการมีภรรยาหลายคน ทำให้ ‘ความเป็นคิม’ ยังคงอยู่อย่างเป็นอมตะราวกับอวตารในอีกร่าง คิมอิลซองทำสำเร็จ เขาให้ลูกชาย คิมจองอิล ผู้เชี่ยวชาญด้าน propaganda มารับไม้ต่อมากุมบังเหียนประเทศด้วยหัวรบนิวเคลียร์ และคิมจองอิลก็ส่งมันให้กับคิมจองอึน ลูกชายของเขาที่ใช้หัวรบนิวเคลียร์เป็นคำขู่ที่ไม่ได้แค่ขู่ในการสร้างข้อต่อรองต่างๆ ทั้งหมดของเกาหลีเหนือและตระกูลคิมจึงกลายเป็นเรื่อของธุรกิจครอบครัวไปโดยปริยาย
และสิ่งที่ทำให้ราชวงศ์คิมทรงพลังคือการสร้าง ‘ภาพลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์’ ให้แก่ตนเอง เพื่อให้เกิดการบูชาตัวบุคคลและลดการตั้งคำถามหรือการต่อต้านอันจะนำมาซึ่งการสูญเสียอำนาจ
วิธีการที่มือโปรด้านโฆษณาชวนเชื่ออย่างคิมจองอิลใช้เสริมอำนาจให้กับตัวเอง แต่ละอย่างถือว่าเด็ดๆ โดนๆ ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการที่เขาเกิดที่รัสเซียและต้องการดูมีความชอบธรรม เลยแต่งเรื่องให้ตัวเองเกิดบนภูเขาเพ็กตูที่อยู่ในประเทศเกาหลีเหนือ, การให้เพลง ตำราเรียน หนังสือ มีเรื่องราวที่นกนวลนวลมาทำนายการเกิดของเขาพร้อมๆ กับฟ้าเปิดและสายรุ้ง ไปจนถึงการสร้างอภินิหารอย่างเดินได้ตอนอายุ 3 สัปดาห์, พูดได้ตอนอายุ 8 สัปดาห์, ควบคุมสภาพอากาศได้, ตีกอล์ฟครั้งแรกโฮลอินวัน 11 หลุม และสรีระร่างกายดีผิดมนุษย์จนไม่จำเป็นต้องถ่ายและเข้าห้องส้วม
ซึ่งนับว่าครบสูตรทรราชเบ็ดเสร็จ คือ ปิดกั้นความรู้ ความสงสัย เสรีภาพความคิด และเสริมสร้างความรักชาติด้วยการหลอมรวมตัวชาติเป็นหนึ่งเดียวเข้ากับตัวผู้นำ (ทั้งๆ ที่ชาติประกอบไปด้วยปัจจัยหลักคือ แผ่นดินและประชาชน) ทำให้ผู้ใดก็ตามที่เห็นแย้ง ทักท้วง หรือคิดต่อต้านฝ่าฝืนผู้นำเท่ากับเป็นกบฏ ไม่รักชาติไปโดยปริยาย แม้ว่าผู้นั้นต้องการเห็นชาติไปในทางที่ดีขึ้นด้วยการเสนอข้อประนีประนอมเฉยๆ ก็ตาม
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เป็นสารคดีที่อยากให้ทุกคนได้ดูเองแล้วจะพบว่าแม้ไม่นานก็ดูจบแต่กลับได้ข้อมูลที่น่าสนใจอย่างมากมายและคุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป
สิ่งที่ทรราชต้องการคือต้องการให้เราทุกคนถูกลดทอนความสามารถที่จะรู้ คิด รู้สึก และมีเสรีภาพ ราวกับทำให้ทุกที่ปกคลุมไปด้วยความมืดจนยากจะมองเห็น และสารคดีเรื่องนี้เป็นหนึ่งในสื่อประเภทเดียวกับบทความและหนังสือที่จะช่วยสร้างความรู้ภูมิปัญญาให้เราได้รู้จักกับความหมายและวิธีการปกครองของทรราช ราวกับเป็นหลอดไฟที่ปัดเป่าเงามืด ช่วยส่องสว่างให้มองเห็นทางมากขึ้น