ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีกระแสที่น่าสนใจมากๆ ในโลกออนไลน์สองเรื่อง เรื่องแรกคือ การเกิดขึ้นของกลุ่ม “ย้ายประเทศกันเถอะ” ที่ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โยกย้าย มาส่ายสะโพกโยกย้าย” ไปแล้ว ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มกว่าหนึ่งล้านคนภายในเวลาเพียงสัปดาห์หน่อยๆ เท่านั้น และอีกเรื่องหนึ่งคือโพสต์ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (กระทรวงวัฒนธรรม) ที่กระตุ้นหรือเชิดชูวัฒนธรรมการก้มกราบคลานเข่า (ดังรูปข้างล่าง) นำมาซึ่งกระแสก่นด่าในโลกออนไลน์มากมาย สองปรากฏการณ์นี้ดูจะไม่เกี่ยวข้องอะไรกัน แต่โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่ามันมีความเชื่อมโยงกันอยู่ไม่น้อยครับ และมันสะท้อนแบบแผนวิธีคิดทางการเมือง รวมถึงอุดมการณ์ของรัฐได้ไม่น้อยเลย
แม้จะไม่ใช่เรื่องน่าแปลกประหลาดใจอะไรที่โพสต์ดังกล่าวของกระทรวงวัฒนธรรมจะนำมาซึ่งกระแสการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วง (และในระดับหนึ่งผมก็เห็นว่าสมควรแล้ว) แต่หากจะทำให้เข้าที่เข้าทางสักหน่อยแล้ว ผมก็คงต้องกล่าวเสริมไปด้วยว่า ถึงที่สุดแล้วการพยายามจะผลักดันหรือสนับสนุนวัฒนธรรมชุดใดชุดหนึ่ง หรือแบบใดแบบหนึ่งโดยรัฐนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรนะครับ มันคือเรื่องปกติที่ทำได้โดยตัวมันเอง อย่างในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงครามเอง ก็มีการออกนโยบายที่กำหนดลักษณะการแต่งตัวที่ ‘เป็นสากล’ มากยิ่งขึ้น เช่นกัน ไม่นับว่าหนึ่งในคำอธิบายที่ถูกนำมาใช้คัดง้างกับรูปโปรโมตนี้อย่างการบอกว่ารัชกาลที่ 5 มีดำริสั่งให้ยกเลิกประเพณีนี้ไปแล้วนั้น ก็กล่าวได้ว่าเป็นการออกคำสั่งของรัฐเพื่อกำหนด หรือสนับสนุนคุณค่าวัฒนธรรมแบบใดแบบหนึ่งโดยตรงเช่นเดียวกัน ฉะนั้นแล้วเราต้องตั้งหลักการด่าโดยเข้าใจก่อนว่า ‘สิ่งที่ทำอยู่นี้คือเรื่องปกติ’ นะ เพื่อจะได้กำหนดตำแหน่งแห่งที่ของการด่าการวิจารณ์ได้อย่างถูกต้องครับ
ว่าไปถึงการด่าหรือวิจารณ์อย่างถูกที่ถูกทางแล้ว ผมก็อาจจะควรเสริมเพิ่มเติมสักนิดว่า ข้อมูลว่า รัชกาลที่ 5 ยกเลิกประเพณีนี้ไปแล้วนั้น ก็อาจจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียวนะครับ คือ ในทางสาธารณะนั้นได้ประกาศยกเลิกไป แต่ก็ยังคงให้มีการใช้งานอยู่กับกลุ่มผู้ที่ทำงานใกล้ชิด เรียกว่าไม่ได้จะอยากเลิกบาบาเรียนอะไร แต่ไม่มีทางเลือกอื่น ก็ต้องเก็บประเพณีแบบนี้ไว้ทำในที่ลับตาหน่อยแทน[1] ในแง่นี้เองแน่นอนว่าในเบื้องต้นที่สุดก็สะท้อนให้เราเห็นว่าราชสำนักไทยนั้นไม่ได้คิดจะพัฒนาไปเป็นอย่างโลกตะวันตกหรือมีอุดมการณ์เชิงคุณค่าในลักษณะนั้น ยังคงพอออกพอใจกับการแสดงออกถึงอำนาจในแนวตั้งอยู่ แต่ที่ทำไปนั้นเป็นความจำเป็นในเชิงบริบท หรือเรียกว่า ‘(จำใจ)ทำอย่างเสียไม่ได้’ นั่นเอง แต่ในอีกชั้นหนึ่งเพราะการไม่เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน เต็มตัวและเด็ดขาดนี้เอง รากทางวัฒนธรรมดังกล่าวที่ถูกทิ้งไว้ก็ได้กลายมาเป็นซากทางวัฒนธรรมที่ลบไม่หายไล่ไม่ไปจนกระทั่งปัจจุบันด้วย ซึ่งก็กลายมาเป็นโพสต์โปรโมตของกระทรวงวัฒนธรรมไปในที่สุด
ทีนี้ ต่อให้ผมบอกว่าการสนับสนุนวัฒนธรรมชุดใดชุดหนึ่งโดยรัฐนั้นเป็นเรื่องปกติในตัวมันเอง ฉะนั้นเราจึงควรจะด่าหรือวิจารณ์อย่างถูกจุดด้วย ไม่ได้แปลว่าผมห้ามการด่าการวิจารณ์ในเรื่องนี้นะครับ เปล่าเลย ผมเห็นว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนเรื่องที่สมควรนำมาคิด และวิพากษ์วิจารณ์ หรือกระทั่งด่าต่อ อย่างน้อยๆ สองเรื่อง คือ (1) รสนิยมทางการเมืองและวัฒนธรรมของรัฐ และ (2) ความจำเป็นในการมีอยู่ของกระทรวงวัฒนธรรมในตัวมันเอง โดยผมจะขอไปแบบเร็วๆ และรวบรัดในสองส่วนนี้ เพราะไม่ใช่เรื่องหลักที่อยากจะพูดถึงในรอบนี้
ประการแรก คือ เรื่องรสนิยมทางการเมืองและวัฒนธรรมนั้น มันชัดเจนว่าวัฒนธรรมที่แสดงออกถึงการหมอบกราบคลานเข่าอะไรเหล่านี้ เป็นการสนับสนุนวัฒนธรรมทางอำนาจและการแสดงออกในแนวตั้ง คือ มีลำดับชั้นและศักดิ์ทางอำนาจที่ไม่เท่ากัน (เช่น เดียวกับภาษาของไทยที่มีสารพัดศักดิ์) ซึ่งแน่นอนว่ามันตอกย้ำถึงรสนิยมทางการเมืองของรัฐที่นิยมลักษณะทางอำนาจแบบนี้ และต้องการจะทำให้วัฒนธรรมทางอำนาจแบบดังกล่าวเป็นเรื่อง ‘ปกติ’ ในทางปฏิบัติไป ซึ่งคงไม่ต้องพูดให้มากความว่าเป็นกรอบวิธีคิดที่ล้าหลังและทุเรศทุรังปานใด
ประการที่สองนั้น ผมคิดว่าการโพสต์แบบนี้เองสะท้อนความไม่เข้าใจต่อสิ่งที่เรียกว่า วัฒนธรรม ขององค์กรที่เรียกตัวเองว่า ‘กระทรวงวัฒนธรรม’ เป็นอย่างมาก ขนาดที่ต้องถามกลับไปจริงๆ ว่า “จะมีองค์กรแบบนี้ต่อไปทำไม” อย่างที่บอกผมไม่ได้มีปัญหากับการออกนโยบายที่ผลักดันคุณค่าชุดใดชุดหนึ่งในตัวมันเองนะครับ เพราะมันคือเรื่องปกติ แต่การที่กระทรวงวัฒนธรรมยังคงเลือกใช้วิธีการแบบโผงผาง ทื่อมะลื่อ ราวกับว่าสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมนั้นก่อร่างขึ้นมาจากคำสั่งจากบนลงล่างได้นั้น มันค่อนข้างจะน่าอนาถใจแทนนะครับ
ในยุคสมัยนี้แล้ว กระทั่งการคิดว่า ‘วัฒนธรรมคือชุดคุณค่าหรือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น’ ควรจะหมดไป
มนุษย์เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งในการเกิด มีขึ้น เปลี่ยนแปลง และดับสูญลงของวัฒนธรรมหนึ่งๆ ที่มนุษย์เองนี่แหละใช้กัน คือ มนุษย์เองมีส่วนอยู่บ้างในกระบวนการดังกล่าว แต่สภาพแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ ลักษณะทางชีววิทยา พืชพรรณและผลิตผลทางการเกษตรที่ผลิตได้ในพื้นที่นั้น รวมไปถึงพัฒนาการทางวัตถุที่มันรายล้อมตัวมนุษย์อยู่ สิ่งเหล่านี้ล้วนมีอิทธิพลอย่างมากมหาศาลทั้งสิ้นในการกำหนดวัฒนธรรมของมนุษย์ขึ้น เผลอๆ อาจจะมากเสียยิ่งกว่าตัวมนุษย์เองเสียอีก โดยเฉพาะเมื่อเรานิยามรากฐานวัฒนธรรมว่ามาจากวิถีการปฏิบัติอันมาจากความเคยชินที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ในชีวิต กระแสความคิดแบบนี้เรียกแบบหลวมๆ ว่า Anti-anthropocentrism หรือการไม่ได้มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง
เพราะฉะนั้นแล้ว นโยบายทุกอย่างของรัฐ ตั้งแต่การตัดถนน สร้างรถไฟความเร็วสูง ปาหี่วัคซีน ฯลฯ ล้วนแต่เป็น ‘นโยบายทางวัฒนธรรม’ ในตัวมันเองทั้งสิ้นอยู่แล้วโดยไม่จำเป็นต้องมีสิ่งที่เรียกว่ากระทรวงวัฒนธรรมใดๆ เลย ฉะนั้นการมีอยู่ของกรมกระทรวงนี้ และวิธีการที่กระทรวงนี้ใช้ในจัดการ ‘แทรกแซง’ ทางวัฒนธรรมนั้น มันสะท้อนอย่างชัดเจนว่ากระทรวงวัฒนธรรมเองนั้นไม่ได้เข้าใจสิ่งที่เรียกว่า ‘วัฒนธรรม’ เลย มองวัฒนธรรมเป็นของตายด้านที่กำหนดได้เป็นเส้นตรงทิศทางเดียวอยู่อย่างงั้น แล้วมาจบที่วิธีการโปรโมตที่แสนจะทื่อมะลื่อที่ว่า… คุณเอ๊ยยยย เอาตรงๆ นะ ถ้าคิดจะโปรโมตการหมอบกราบอะไรเนี่ย ก็ไปคิดหาทางทำมาให้มันเนียนกว่านี้หน่อยเถิด เพราะทุกวันนี้การหมอบกราบมันไม่ใช่เรื่องคุ้นชินในชีวิตประจำวันอะไรอีกต่อไป และเราก็อยู่ในสังคมที่ไม่ได้เป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งเจ้าผู้ปกครองเป็นเจ้าของชีวิตและร่างกายเรามานานแล้ว ที่จะแทรกแซงทางวัฒนธรรมในลักษณะนี้อย่างได้ผล จะเรียกว่าบอกให้เอาบุญก็ได้ คือ ถ้ากระทรวงวัฒนธรรมจะโปรโมตให้สำเร็จ คุณต้องทำให้มันเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ความเคยชินในชีวิตประจำวันให้ได้’ ไม่ใช่มาโพสต์อะไรแบบนี้ คุณไปโปรโมตว่าโพสิชั่นการหมอบคลาน ช่วยแก้ปัญหาออฟฟิศซินโดรมได้ เพราะร่างกายมนุษย์ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้อยู่ในท่าหลังตั้งตรงตลอดเวลา อะไรก็ว่าไปยังอาจจะพอมีประสิทธิภาพมากกว่า แล้วแปะแถมกับท่าโยคะในลักษณะเดียวกันต่างๆ มาด้วย
อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าความเคลื่อนไหวนี้ที่จู่ๆ มาโปรโมตการหมอบคลานอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยนี้ของกระทรวงวัฒนธรรมนั้นมันมีที่มาที่ไปอยู่ ซึ่งเป็นแก่นหลักที่อยากจะคุยในวันนี้ ผมคิดว่าการโพสต์ที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้มาโดยไร้ซึ่งบริบทในตัวมันเอง แต่สอดคล้องกับกระแสการ “ย้ายประเทศกันเถอะ” ที่เกิดขึ้นมาด้วยนะครับ ซึ่งการจะอภิปรายถึงส่วนนี้ได้อย่างชัดเจนก็อาจจะต้องทำความเข้าใจกับกระแสการย้ายประเทศอันเป็นบริบทตั้งต้นนี้โดยสังเขปก่อน
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานับแต่เกิดกระแสการย้ายประเทศขึ้นนั้น มีคำอธิบายมากมายในหน้าสื่อแล้วเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะความเสื่อมคลายของอุดมการณ์แบบราชาชาตินิยม หรือชาตินิยมโดยรวมเลยก็ได้ ซึ่งผมเห็นด้วยกับคำอธิบายเหล่านี้ทั้งหมดครับ แต่ผมคิดว่าเราควรจะต้องพูดให้ชัดขึ้นไปด้วยว่า การบอกว่าอุดมการณ์ต่างๆ ดังดล่าวเสื่อมคลายลงนั้น ไม่ได้แปลว่า คนเหล่านี้ ‘หมดรักต่อบ้านเกิดเมืองนอน’ ของตนอย่างสิ้นเชิงอะไรไป แต่ผมคิดว่ามันคือการควบรวมของสองสภาวะต่างหาก นั่นคือ ‘หมดหวังแต่ไม่ได้หมดรักต่อชาติ’ กับ ‘การรักชาติไม่เท่าชีวิตของตน’ ซึ่งก้อนทั้งสองนี้สามารถเกิดขึ้นได้โดยที่ยังมีความนิยมหรือรักชาติอยู่นะครับ แค่เป็นรูปแบบความรักที่มีต่อชาติซึ่งมันพัฒนาตัวมากขึ้น ทันสมัยมากขึ้นเท่านั้นเอง เพราะกระบวนการพัฒนาในลักษณะดังกล่าวนี้เองก็เกิดขึ้นกับโลกตะวันตกในช่วงที่มนตราของเรื่องเล่าอันเป็นสัจนิรันดร์ (absolute truth) เสื่อมคลายลงเช่นกัน
สภาวะทั้งสองนี้สัมพันธ์อย่างมากกับบทบาทและหน้าที่ของรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ครับ เพราะนับแต่การเกิดขึ้นของประชาธิปไตยเสรีนั้น รัฐชาติสมัยใหม่เปลี่ยนบทบาทจากการเป็น ‘สมบัติส่วนตัว’ ของกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิ์ สู่การเป็นสมบัติของ ‘ประชาชนทุกคนในรัฐอย่างเท่าเทียมกัน’ (อย่างน้อยในทางหลักการ) และเมื่อเจ้าของเปลี่ยน หน้าที่ของรัฐก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย จากเดิมที่รัฐมีหน้าที่รับใช้และจัดหาสวัสดิการหรือการดูแลต่างๆ ให้กษัตริย์ สนองความต้องการและอนาคตที่กษัตริย์วางไว้ ก็เปลี่ยนมาเป็นการมอบสิ่งต่างๆ เหล่านั้นให้กับประชาชนที่เป็นเจ้าของใหม่แทน บทบาทใหม่นี้ของรัฐบางครั้งเราเรียกกันว่า ‘รัฐที่ทำหน้าที่ในฐานะพระเจ้าองค์ใหม่’ (State as the New God) ครับ เพราะเดิมทีจะทำอะไรเราก็ขอให้พระเจ้าคุ้มครอง อวยชัย ผลิตผลทางการเกษตรไม่ดีก็อวยพรต่อฟ้าให้บันดาลฝน เจ็บไข้ได้ป่วยก็ขอให้พระเจ้าช่วยให้พ้นทุกข์พ้นภัย เป็นต้น แต่เมื่อเกิดรัฐประชาธิปไตยเสรีขึ้นมาแล้ว หน้าที่ในการจัดการสิ่งเหล่านี้ก็โยกมาที่รัฐแทน ต้องมีระบบการศึกษาที่ดีพอ มีระบบสาธารณสุขที่ครอบคลุมพอ ระบบชลประทานที่ทั่วถึงพอ ฯลฯ
อย่างไรก็ดี รัฐไทยประสบความสำเร็จในการนำพาประเทศเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ โดยที่บทบาทหน้าที่ในฐานะ ‘พระผู้เป็นเจ้า’ นั้นไม่ได้โยกมาที่รัฐ แต่คงอยู่กับที่ตัวพระมหากษัตริย์ได้ (ซึ่งผมคงจะไม่มีพื้นที่ในการลงรายละเอียด เพราะมันคือวิทยานิพนธ์ของผมที่กำลังเขียนอยู่ทั้งเล่มเลย 555) เพราะฉะนั้นเราจึงมีรัฐที่ทำหน้าที่กลไกแบบรัฐสมัยใหม่ แต่มีสถานะเป็นเพียงเครื่องมือของพระมหากษัตริย์ในการช่วยเหลือประชาชนเท่านั้น แทนที่ว่ารัฐจะเป็นผู้เข้าสวมแทนการใช้อำนาจดังกล่าวแบบเต็มรูป อย่างไรก็ดีการสภาวะทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองในช่วงปีกว่าๆ ที่ผ่านมา (เป็นอย่างน้อยที่สุด) ได้ทำให้มนตราของเรื่องเล่าแบบเดิมที่พยุงโครงสร้างความเป็นชาติของรัฐไทยที่เป็นมานั้นเสื่อมถอยลง และปรากฏการณ์ “ย้ายประเทศกันเถอะ” ก็เป็นปฏิกิริยาต่อเรื่องเล่าแบบเดิมที่เสื่อมคลายลง
ว่าง่ายๆ ก็คือ ประชาชนเริ่มมองรัฐ ‘ในฐานะรัฐสมัยใหม่ในระบอบประชาธิปไตยเสรีอย่างที่พึงจะเป็นแล้ว’ จริงๆ นั่นเอง
เมื่อประชากรจำนวนมากมองรัฐในฐานะรัฐประชาธิปไตยเสรีอันพึงจะเป็นแล้ว นั่นก็แปลว่า พวกเขาและเธอย่อมมองรัฐในฐานะพระเจ้าองค์ใหม่ด้วย เป็นรัฐที่มีหน้าที่ต้องจัดหาสวัสดิการและอนาคตมาให้พวกเขาซึ่งเป็น ‘เจ้าของ’ นี้บ้าง ไม่ใช่รอคอยจะอ้าปากอ้าแขนรับแต่ ‘เครื่องสังเวย’ (tribute) ที่เรียกว่าภาษีและความเชื่อฟังไปเรื่อยๆ เฉกเช่นยุคสมบูรณาญาสิทธิ์ที่พวกเขาและเธอยังไม่ใช่เจ้าของอยู่อีก เมื่อมีสายตาที่มองรัฐในลักษณะดังว่ามานี้แล้ว สภาวะ ‘หมดหวังแต่ไม่ได้หมดรัก’ กับการ ‘รักชีวิตมากกว่าชาติ’ จึงตามมา ซึ่งเป็นปกติของมนุษย์สมัยใหม่ในระบอบประชาธิปไตยเสรีครับ
ที่มุมมองใหม่ทัศนะใหม่มันนำมาสู่สภาวะทั้งสองอย่างนั้นก็เพราะว่า ก่อนหน้านี้รัฐไม่ได้ถูกมองในฐานะผู้ซึ่งมี ‘หน้าที่ที่จำเป็นต้องดูแลประชากรเป็นพื้นฐาน’ ประชาชนเป็นเพียงผู้ถูกอุปการะ ความช่วยเหลือที่รัฐมอบให้คือทาน น้ำใจที่ ‘เลือกจะทำให้’ และเราก็พึงตอบแทนบุญคุณรัฐไปต่างๆ นานา กล่าวก็คือ เป็นรัฐอุปการคุณ (patronage state) ที่เราไม่อาจมีปากมีเสียงเรียกร้องอะไรมากนักได้ เพราะเรา (ในฐานะประชากร) เป็นเพียงผู้ถูกอุปการะในกระบวนทัศน์นี้ แต่เมื่อมุมมองต่อหน้าที่รัฐเปลี่ยนไปว่า ไอ้สิ่งที่เราเคยมองว่าเป็นสิ่งที่รัฐจะเลือกทำหรือไม่ทำก็ได้ หากทำให้ก็ดีมีพระคุณอะไรนั้น กลายเป็นสิ่งที่ต้องทำในระดับพื้นฐานที่สุด เราก็จะพบว่า “รัฐไทยนั้นช่างสิ้นหวังเสียเหลือเกิน” คือ มุมมองที่แต่ละคนมีในทางการเมืองอาจจะแตกต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ว่าจะยืนอยู่ค่ายไหนก็น่าจะยอมรับได้นั้นก็คือ รัฐไทยเป็นรัฐที่ห่างไกลจากคำว่า ‘ได้คุ้มเสีย’ มาก กล่าวคือ สวัสดิการต่างๆ ที่รัฐมอบให้กับเราเมื่อเทียบกับภาษีและต้นทุนค่าเสียโอกาสต่างๆ ที่เราต้องมอบให้กับรัฐไปนั้น (รวมไปถึงความเชื่อฟังและความต้องจำทนกับอะไรที่ไม่ลงร่องลงรอย) มันไม่คุ้มค่าใดๆ เลย ภายใต้เงื่อนไขและระบบแบบนี้เรามองไม่เห็นความหวังที่จะเอาตัวเองไปสู่จุดที่ดีขึ้นได้ ที่มันคุ้มกับราคาที่เราต้องจ่ายได้นั่นเอง (และนี่ผมไม่ได้พูดถึงขั้นรัฐสวัสดิการอะไรเลยด้วยนะครับ) ฉะนั้นสภาวะการอยากย้ายประเทศในเบื้องต้นแล้ว มันจึงไม่ใช่การหมดรักต่อชาติ แต่เป็นการหมดหวังต่อชาติ
และเมื่อสภาวะแรกเกิดขึ้น การรักชีวิตตนเองมากกว่าชาติ ก็ตามมาเป็นเรื่องปกติ เพราะเมื่อเราเกิดมุมมองใหม่ที่มีต่อรัฐอย่างที่พึงจะเป็นแล้วนั้น เราก็จะทราบได้โดยดีว่า ‘รัฐนั้นเป็นเพียงองคาพยพที่เกิดขึ้นมาเพื่อดูแลฟูมฟักชีวิตเรา—ประชากร’ ว่าอีกแบบก็คือ รัฐเป็นเครื่องมือเพื่อทำให้ชีวิตของเรานั้นมันดีขึ้น เราจะรักรัฐและชาติก็ต่อเมื่อมันนำสิ่งดีๆ มาให้กับชีวิตเรา และภายใต้เงื่อนไขที่ ‘รัฐชาติเป็นเพียงตัวแปรตามของชีวิต’ นี้เอง นั่นแปลว่าด้วยระบบวิธีการมองรัฐชาติสมัยใหม่ในภูมิทัศน์ความคิดแบบเสรีประชาธิปไตยนี้ เราจะต้องไม่รักชาติเกินกว่าที่เรารักชีวิตตนเอง รัฐเป็นเพียงส่วนเสริมของชีวิต มันไม่ใช่แก่นหลัก ฉะนั้นภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวที่ชีวิตของตน ของปัจเจกแต่ละคนคือแก่นสารหลักของโลกประชาธิปไตยเสรี การออกไปหาส่วนเสริมของชีวิตชุดใหม่ เครื่องมือใหม่ ที่เรียกว่ารัฐชาติอื่น ที่จะมาสนองชีวิตเราได้มากกว่าของเดิมนั้น จึงเป็นเรื่องปกติไปด้วย และความไม่ยึดติดกับ ‘เครื่องมือ (ที่เรียกว่ารัฐชาติ) ที่จะมาใช้ส่งเสริมชีวิตของตน’ นี้เองที่เป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญของแนวคิดแบบสากลนิยม (Universalism) ครับ ที่ไม่ได้มองตนเองโดยยึดติดกับชาติหรือผืนแผ่นดินใดแผ่นดินหนึ่งอย่างตายตัว ความเป็นคนคือแก่นกลางสากล ความเป็นรัฐเป็นเพียงกลไกอำนวยความสะดวกให้ความเป็นคน ฉะนั้นจะอยู่ที่ใด ตนก็เป็นประชากรของโลกทั้งสิ้นนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม การสิ้นหวังก็ดี หรือการรักน้อยกว่าชีวิตตนก็ดี ไม่ได้หมายความว่าเราเลิกรักสิ่งนั้นไปโดยปริยายด้วยในตัวมันเอง ซึ่งความรู้สึกที่อาจจะยังเหลืออยู่บ้างนั้นจะเป็นไปในลักษณะไหนก็คงจะแล้วแต่คนไป
แล้วบริบทดังกล่าวนี้มันสัมพันธ์กับการโปรโมตหมอบกราบอย่างไร? มันสัมพันธ์ไม่น้อยเลยครับ เพราะชุดความคิดและวิธีการมองสิ่งที่เรียกว่า ‘ชาติ’ (และรัฐ) ชุดใหม่นี้ มันขัดกับเหง้ารากวิธีคิดเรื่องความเป็นชาติของไทยที่พยายามปลูกสร้างขึ้นมาแต่นานนมมากทีเดียว โดยเฉพาะการพยายามขับเน้นในเรื่องความแตกต่าง ความพิเศษไม่เหมือนใครในโลก ที่บางครั้งรู้จักกันในชื่อว่า Uniqueness บ้าง Exclusivism บ้าง
‘ชาติ’ ที่สร้างบนฐานของ ‘ความเป็นไทย’ และอาศัยเรื่องเล่าของ ‘ความจริงแท้’ เป็นแก่นกลางตลอดเวลานี้เองที่ได้รับการกระทบกระเทือนอย่างมากจากปรากฏการณ์การย้ายประเทศกันเถอะ ซึ่งก่อตัวมาจากฐานคิดการมองชาติชนิดตรงข้ามกันแทบจะสิ้นเชิง ในแง่นี้จะกล่าวว่าปรากฏการณ์ย้ายประเทศกันเถอะนั้นได้กลายมาเป็น ‘วิกฤติเชิงวัฒนธรรมของความเป็นชาติ’ แบบที่ชนชั้นนำไทยพยายามรักษาอุ้มชูไว้ก็คงจะไม่ผิดนัก และภายใต้วิกฤติของการ ‘ปนเปื้อน’ ของคติความคิดที่ไม่ต้องตรงกันกับชุดคุณค่าหลักที่สังคมการเมืองนั้นๆ มุ่งหวังให้เป็น นักคิดนักทฤษฎี และนักประวัติศาสตร์ด้านการสร้างรัฐชาติคนสำคัญของโลกอย่าง Charles Tilly ก็ได้เคยเสนอไว้แล้วว่า ในสภาวะแบบนี้เองที่ผู้ถือครองอำนาจทางการของรัฐจะต้องหาทาง ‘คัดกรองความคิดและวัฒนธรรมให้บริสุทธิ์มากขึ้น’ (purification) ทำให้คนที่คิดเห็นแบบพวกตนนั้นชัดเจนมากขึ้น เพื่อจะได้สามารถจัดการกับเหล่าพวกปนเปื้อนนี้ได้มากขึ้นนั่นเอง
ฉะนั้นแล้ว โดยส่วนตัว ผมจึงมองการโปรโมตการหมอบคลานแบบทื่อๆ และแสนจะไร้ชั้นเชิงของกระทรวงวัฒนธรรมนี้ ในฐานะปฏิกิริยาตอบโต้ต่อบริบทใหม่ดังกล่าวมาเป็นการพยายามรักษารากฐานอุดมการณ์ชาติแบบ Exclusivism ไว้ ภายใต้กระแส Universalism ที่กำลังพัดโหมมาก ในทางหนึ่งก็อาจจะพูดได้ว่าการโปรโมตด้วยกลวิธีที่ทื่อมะลื่อสุดๆ นี้อาจจะทำให้เห็น ‘ขั้วหรือฝั่งที่ไม่บริสุทธิ์—สารปนเปื้อนต่อความเป็นชาติแบบดั้งเดิม’ (ในสายตารัฐไทย) ได้ง่ายขึ้น และนำมาสู่กระบวนการ purification อะไรต่างๆ ต่อไปได้ง่ายขึ้นด้วย
แต่ก็อย่างที่ว่าไปแต่ต้นนั่นแหละครับ วิธีการที่เลือกมาใช้นั้น มันซื่อบื้อเสียเหลือเกิน มันไม่ชักชวน (convincing) ให้แม้แต่จะทนชายตามองโพสต์ที่แปะได้เลย ซึ่งก็น่าแปลกใจกับชนชั้นนำไทยที่ขึ้นชื่อลือชาในเรื่องการเมืองเชิงวัฒนธรรมตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา จนเกาะกินภูมิทัศน์ทางความคิดของประชากรได้แทบจะทั้งชาติ มาวันนี้ “แลดูจะไม่เหลือน้ำยา” แล้วจริงๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] Patrick Jory (2021). A History of Manners and Civility in Thailand.