เมื่อพูดถึงเครื่องดนตรีไทย เรามักนึกการเคารพ ‘ครู’ ที่สิงสู่อยู่ข้างในนั้น
เรื่องราวหลอนๆ ณ ห้องดนตรีไทยในโรงเรียน จากคำบอกเล่าปากต่อปากในสิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กอวดดีที่ลบหลู่เครื่องดนตรี และอีกหลายเรื่องเชื่อมโยงไปหา ‘ครู’ ในเครื่องดนตรีไทย เรื่องราวเหล่านี้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เราหลายๆ คน หลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับมัน อาจเพราะมาจากความกลัว หรืออาจมาจากมุมมองความเชื่อว่าจิตวิญญาณเหล่านี้เป็นสิ่งงมงาย และแม้มุมมองทั้ง 2 จะมาจากความเชื่อที่ตรงข้ามกัน แต่ผลกระทบที่สะท้อนออกมากลับเป็นสิ่งเดียวกัน
แล้วดนตรีและความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณควรอยู่คู่กันไหม? บางคนอาจถกว่า มันเป็นไปเพื่อสร้างการเป็นที่รับรู้ สร้างความเป็นที่เข้าใจ และความนิยมของทั้ง 2 สิ่งควรแยกออกจากกัน ในขณะเดียวกันบางคนก็บอกว่า เราจำเป็นต้องยำเกรงต่อวัฒนธรรมความเชื่อ เพื่อเป็นการรักษามันเอาไว้ ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นมุมมองที่สะท้อนมุมการเมืองของแต่ละบุคคล และไม่มีใครควรถูกต้องไปกว่าใคร แต่หากเราลองถอยหลังออกมาก้าวหนึ่งแล้วมองไปรอบกาย มองไปยังดนตรีและวัฒนธรรมอื่นๆ เราอาจจะพบข้อมูลน่าสนใจบางอย่างว่า ดนตรีและความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณนั้น พันเกี่ยวกันในรูปแบบที่เราคาดไม่ถึงมาตั้งแต่ต้น มุมมองทางการเมืองของเราต่อวัฒนธรรมและการล่าอาณานิคมก็อาจมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
หากเราย้อนมองไปยังพัฒนาการของดนตรีสักประเภทได้มากพอ เราจะเห็นว่าดนตรีกับความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณเป็นสิ่งที่มาคู่กันเสมอ โดยซิกฟรีด ฟรีดริก เนดัล (Siegfried Frederick Nadel) นักมานุษยวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านชาติพันธุ์วิทยาแอฟริกา ได้เสนอว่า ดนตรีทำหน้าที่สื่อสารต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพระเจ้า
จุดกำเนิดของมันอาจไม่ใช่สิ่งที่น่าแปลกใจ เพราะดนตรีคือสื่อกลางของการสื่อสาร ที่พาให้มนุษย์เชื่อมต่อกันได้มากกว่าความเข้าใจทางภาษา เนื่องด้วยมันไปถึงประสาทสัมผัสเสียด้วยซ้ำ ท่วงทำนองมีอิทธิพลต่ออารมณ์ความรู้สึก แม้เราจะไม่เข้าใจในภาษาที่พูด แต่บรรยากาศจากเสียงดนตรีและผู้คนที่ห้อมล้อมเรา ทำให้เมื่อการบรรเลงเกิดขึ้น ก็ย่อมมีพลังงานที่อธิบายได้ไม่ยากส่งมายังตัวเรา และหากจะเรียกดนตรีว่าใกล้เคียงกับเวทมนตร์ ก็คงไม่ใช่การพูดเกินจริงไปมากนัก
หากมองไปยังดนตรีคลาสสิก มันมีรากมาจากดนตรีในโบสถ์คริสต์ศาสนา ที่มาจากดนตรีของชาวกรีกโบราณหรือดนตรีแห่งทวีปแอฟริกาอีกทีหนึ่ง ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายออกไปตามประเทศและชนเผ่า โดยจำนวนมากพบได้ในแอฟริกากลาง เป็นดนตรีสำหรับพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและจิตวิญญาณ การขับไล่วิญญาณชั่วร้าย การแสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษและผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
การวิวัฒนาการแง่มุมต่างๆ ในโลก ตั้งแต่การคมนาคม การสื่อสาร วิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรม ฯลฯ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของดนตรี ผ่านการแลกเปลี่ยน การหยิบยืม และการยึดครอง ดังนั้นความเชื่อเกี่ยวกับดนตรีก็ผันแปร และแตกแขนงออกอย่างกว้างขวางเกินกว่าจะนับได้หมด ซึ่งมันก็ส่งผลต่อความรู้สึกในปัจจุบันของเรา ที่ทั้งเชื่อและไม่เชื่อว่าดนตรีเกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณ
แม้วิญญาณและภูตผีอาจเป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ไม่แน่ชัด แต่ทำไมเรายังนึกถึงผีเมื่อพูดคุยเกี่ยวกับดนตรี? เรายังพูดถึงการมีหรือไม่มีอยู่ของบางสิ่งในความเชื่อหรือในวัฒนธรรม บางครั้งมันไม่ใช่เพียงเรื่องทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการเมืองอีกด้วย ซึ่งมุมมองของเราที่มีต่อความเชื่อในทางจิตวิญญาณนั้น ก็เชื่อมโยงโดยตรงต่อมุมมองของเราที่สอดคล้องกับการเมือง โดยเฉพาะการล่าอาณานิคม
บทความวิชาการ European Christian Evangelism and Cultural Erasure in Colonial Africa โดยเจสสิกา ริกเคอร์ (Jessica Ricker) นักศึกษาจากคณะสังคมศาสตร์ในวัยรุ่น มหาวิทยาลัย Bowling Green State มีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการล่าอาณานิคมในทวีปแอฟริกา ในศตวรรษที่ 19-20 ด้วยมุมมองที่ว่า นอกจากการใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซงแล้ว ชาวยุโรปยังใช้การเผยแพร่คริสต์ศาสนาและการลบล้างวัฒนธรรม เป็นหนึ่งในวิธีการล่าอาณานิคมอีกด้วย
กรณีตัวอย่างที่ริกเคอร์ยกขึ้นมา คือการเข้าปกครองคองโกของเบลเยียมด้วยการใช้ทฤษฎี Paternalism หรือการปกครองแบบพ่อปกครองลูกในแบบฉบับของยุโรป นั่นหมายความว่า ชาวคองโกจำต้องมองผู้รุกรานอย่างชาวยุโรปว่าเป็น ‘พ่อ’ (Father Figure) และต้องรู้สึกถึงความจำเป็นของการมีกลุ่มคนเหล่านี้เพื่อความอยู่รอด เบลเยียมยังมักใช้วิธีการกดทับ ที่ทำให้ให้ชีวิตของชาวคองโกแร้นแค้นมากที่สุดเท่าที่เป็นได้ ก่อนจะนำเสนอโลกหลังความตายของคริสต์ศาสนาเป็นทางออกให้กับพวกเขา
“ชาวแอฟริกันพูดกับผู้ปกครองชาวยุโรปพูดว่า ‘คุณคือพ่อและแม่ของเรา’ นั่นเป็นการแสดงออกว่าพวกเขาความต้องพึ่งพาผู้รุกราน ที่กำลังเปลี่ยนโครงสร้างสังคมชนเผ่าอย่างรวดเร็วจนน่ากลัว” ริกเคอร์เขียนอธิบายว่า แม้ชาวแอฟริกันจะถูกบังคับด้วยสถานการณ์นี้ แล้วทำให้พวกเขาต้องยอมการรับคริสต์ศาสนาเข้ามานั้น ถือเป็นการลบล้างรากเหง้าวัฒนธรรมท้องถิ่นเดิมไปด้วย และเธอยังอธิบายต่อว่า “การเป็นแอฟริกัน ถือว่ามีสถานะน้อยกว่าการเป็นมนุษย์ และทางเดียวที่จะเป็นมากกว่านั้น คือการรับคริสต์ศาสนาแบบยุโรป” แสดงให้เห็นว่าผู้รุกรานจำเป็นต้องวางภาพการเปลี่ยนศาสนาและความเชื่อเพื่อเป็นหนทางเดียวที่คนคนหนึ่งจะสามารถเป็นมนุษย์ได้ พร้อมชี้ให้เห็นอีกว่า ทั้งหมดนี้มีวาระซ่อนเร้นในการถือครองทรัพยากรและอำนาจของผู้รุกราน โดยใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ
อีกสิ่งหนึ่งที่ริคเกอร์ชี้ให้เห็นถึงความพยายามของผู้รุกรานในการลบวัฒนธรรมท้องถิ่นแอฟริกา นั่นคือการด้อยค่า (Shaming and Dismissal) เธอบอกว่า ชาวยุโรปจะวาดภาพ ณ ใจกลางสังคมแอฟริกันว่ามันไร้ความเป็นมนุษย์และป่าเถื่อน แล้วจึงทำให้ชัดด้วยการยกตัวอย่างสถิติความตายของคนหนุ่มจากเผ่าอิกโบที่สูงกว่าผู้หญิง เนื่องจากการต้องเข้าร่วมพิธีผ่านวัยบางประการ
ริกเคอร์เขียนตอบโต้ตัวอย่างที่ผู้รุกรานเลือกยกมาอย่างไม่แฟร์และแสบคันว่า “พวกเขาลืมนึกถึงความมือถือสากปากถือศีลของตัวเอง ณ ห้วงเวลานั้น การวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์ เด็กหนุ่มเสียชีวิตด้วยพิธีผ่านวัยกันเป็นเรื่องปกติ รวมถึงเด็กหนุ่มชาวยุโรปเองก็เสียชีวิตไวกว่าผู้หญิงวัยเดียวกัน เนื่องจากบรรทัดฐานทางสังคมของพวกเขาอย่าง ‘สงคราม’” เธอเขียนแล้วยกตัวอย่างวิธีอีกมากมาย เช่น การโฆษณาชวนเชื่อในคราบการศึกษา การล้มล้างโครงสร้างครอบครัวของชาวแอฟริกัน หรือการพัฒนาทฤษฎีอย่าง Social Darwinism ที่อธิบายว่า ทำไมคนขาวถึงเป็นเผ่าพันธุ์ที่ดีกว่าใคร
พูดมาถึงตรงนี้ เราอาจจะเริ่มถามว่าแล้วมันเกี่ยวอะไรกับเรา วัฒนธรรมท้องถิ่นและดนตรีมีความเกี่ยวข้องกันก็จริง แต่ประเทศไทยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใครนี่ ทำไมเราถึงต้องรู้เรื่องการล่าอาณานิคมด้วย? นั่นก็จริงอยู่ว่า วิธีการล่าอาณานิคม เช่น การยึดเอาดินแดนและทรัพยากร หรือกำจัดคนพื้นถิ่นอาจจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีกแล้ว แต่อิทธิพลและแนวคิดที่ก่อเกิดขึ้นมาจากห้วงเวลาเหล่านั้นยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน มันยังคงส่งเสียงสะท้อนไปทั่วโลกให้เราได้ยินแบบไม่จำเป็นต้องผ่านการเป็นอาณานิคมเลย
ทำไมสังคมและภูมิภาคที่โดยแก่นนับถือผีอย่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงมีมุมมองว่าความเชื่อรูปแบบนี้ของบรรพบุรุษนั้นเป็นเรื่องงมงายไร้สาระเท่านั้น? การคิดเช่นนั้นอาจไม่ใช่เรื่องผิด แต่มันก็เป็นคำถามอันเกิดจากการคำนึงถึงอิทธิพลความเชื่อที่ยุโรปเป็นศูนย์กลาง ซึ่งวางอยู่ใจกลางการถกเถียงเกี่ยวกับการล่าอาณานิคม
หากเราลองถอยออกมาก้าวหนึ่ง มุมมองของเราต่อความเชื่อทางจิตวิญญาณ รวมถึงครูหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเครื่องดนตรีนั้น สามารถกว้างขวางได้มากกว่าจะมองว่าเป็นแค่เรื่องงมงาย การใช้เป็นคำขู่ให้เด็กกลัว หรือเป็นข้อห้ามในการแตะต้องและพัฒนาก็อาจตีความได้หลากหลายยิ่งกว่านั้น และมันยังอาจเป็นประตูที่ทำให้เรารู้จักรากเหง้าวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือจุดเชื่อมโยงของเราต่อประเทศเพื่อนบ้านก็ได้
แม้เราจะก้าวเดินไปข้างหน้า แต่ขณะเดียวกันก็ไม่จำเป็นต้องละทิ้งวัฒนธรรมที่เคยมีเช่นกัน
อ้างอิงจาก