“เรื่อง … เนี่ย มันสอนกันไม่ได้”
เคยได้ยินประโยคทำนองนี้กันไหม ในชีวิตเรามีหลายอย่างที่เราพูดเหมือนกับว่า มันเป็นทักษะเฉพาะบางอย่าง ซึ่งไอ้ประโยคที่บอกว่าเรื่องเนี้ยมันสอนกันไม่ได้ ก็มักจะหมายถึง ‘รสนิยม’ ซึ่งคำว่ารสนิยมมันก็กินเนื้อที่ไปหลายส่วนในชีวิตของเราเนอะ ทั้งการดูหนังฟังเพลง รวมไปถึงทักษะอื่นๆ ที่พอคิดดีๆ แล้ว ทักษะทั้งหลายนั้นล้วนเป็นเรื่องที่สอนกันยาก
‘ทักษะภาษา’ ก็ด้วยเหมือนกัน และแน่นอนว่าเป็นอีกครั้งที่บ้านเราติดอันดับรั้งท้ายเรื่องทักษะภาษาอังกฤษ ซึ่งแน่นอนว่าเวลาเราพูดถึงปัญหาทักษะภาษาอังกฤษ เราก็มักจะเพ่งเล็งไปที่การเรียนการสอนในห้องเรียน ซึ่งก็ต้องออกตัวไว้ก่อนว่า การเรียนการสอนในห้องเรียนน้องเป็นเรื่องสำคัญแน่นอน แต่ไม่ใช่สิ่งที่เราจะนำมาเป็นประเด็น
ประเด็นสำคัญ คือ ทักษะทางภาษานั้นมีองค์ประกอบในการเรียนรู้อื่นๆ อีกมากมาย ง่ายที่สุดคือความเป็นทักษะ (skill) ของมันนั่นแหละที่เราเองก็รู้ว่า ภาษาคือการใช้ ไม่ใช่เรียนแล้วจบ แต่จะทำยังไงให้คนได้ใช้ ได้ฝึกฝน ตรงนี้แหละที่เราจะกลับมาที่ประเด็นว่า เรื่องที่สอนกันไม่ได้ หรือว่าสอนปุบปับแล้วเก่งเลยไม่ได้นั้น เราจะปลูกฝัง หล่อหลอมทักษะเหล่านั้นได้อย่างไร
คำตอบอยู่ที่การทำความเข้าใจทักษะที่ดูเป็นนามธรรม โดยใช้กรอบคิดของ ปิแอร์ บูร์ดิเยอ นักสังคมวิทยาผู้สนใจประเด็นทางชนชั้นในมิติทางวัฒนธรรม สิ่งที่บูร์ดิเยอชี้ให้เห็น (ต่อจากมาร์กซ์และนักคิดหลังมาร์กซ์) คือ การชี้ให้เห็นถึงความซับซ้อนของทุนและการสะสมทุน โดยบูร์ดิเยอได้เสนอแนวคิดที่สำคัญมากคือเสนอคำว่า ‘ทุนทางวัฒนธรรม’ (cultural capital) พร้อมทั้งอธิบายการดิ้นรนของปัจเจกบุคคลหรือเราๆ ท่านๆ นี่แหละว่า เราเองกำลังดิ้นรนสะสมและแลกเปลี่ยนทุนในรูปแบบที่ซับซ้อนในโลกทุนนิยมใบนี้อย่างไร
คำว่าทุนทางวัฒนธรรมนั้นจึงให้ภาพและสัมพันธ์กับทักษะความสามารถที่เป็นนามธรรม เช่น ความชอบ กิริยามารยาท วาทศิลป์ ทักษะทางภาษา ความรอบรู้ต่างๆ ที่ทั้งหมดนั้น ดูเหมือนว่าจะไม่เกี่ยวกับระบบทุนนิยมหรือเรื่องเงินๆ ทองๆ แต่บูร์ดิเยอบอกว่า ไม่จ๊ะ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่สะสมและถูกหล่อหลอมขึ้นมา และเรานำไปแลกเปลี่ยนเพื่อเลื่อนลำดับชั้นทางสังคม รวมถึงแลกกลับเป็นทุนด้านอื่นๆ เช่นทุนทางเศรษฐกิจได้
ทีนี้ ความเข้าใจว่า ทักษะเช่นทักษะทางภาษานั้นเป็นทุนทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ประกอบกับการทำความเข้าใจลักษณะของทุนและการสะสมทุนในระดับปัจเจกบุคคล ก็จะทำให้เรามองเห็นวิธีการที่เราจะสามารถหล่อหลอม ส่งต่อ ไปจนถึงว่า อันที่จริงแล้วรัฐเองก็สามารถลงทุน และทำให้การเข้าถึงทุนทางวัฒนธรรมของคนที่ไม่มีทุนนั้น เข้าถึงได้ อันที่จริงก็ถือว่าง่ายมาก คือ ด้วยกระแสของเมืองหรือประเทศอื่นๆ ก็ส่งเสริมการมีอยู่ของพื้นที่และกิจกรรมทางวัฒนธรรม เช่น ห้องสมุด โรงหนัง เทศกาลหนัง ร้านหนังสือนอกกระแสที่ทั้งหมดนั้นทำให้ผู้คนเข้าถึงและร่วมสะสมทุนทางวัฒนธรรม ลดปัญหาการเข้าไม่ถึงทุนที่เป็นนามธรรมได้
ทุนที่แสร้งว่าไม่ใช่ทุน (disinterested)
อันที่จริงในระดับจินตนาการ เวลาเราเห็นคนที่แต่งตัวดี การศึกษาสูง มีทักษะ กิริยาท่าทางดี ในบริบทบ้านเราก็จะเปรียบว่าคนคนนั้นมีทุนดีกว่าคนอื่น ทีนี้ สิ่งที่บูร์ดิเยอเสนอ คือ การทำให้สิ่งที่มันเป็นนามธรรมกลายเป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีเพื่อนำมาอธิบายสังคม สิ่งที่บูร์ดิเยอพยายามอธิบายคือกระบวนการทางสังคมที่ซับซ้อนในการสืบทอดสถานะทางชนชั้นที่ไม่ได้มีแค่เรื่องเงิน แต่มีเรื่องอื่นๆ ซึ่งก็คือมิติทางวัฒนธรรมนี่แหละ
คำว่าทุนทางวัฒนธรรมมาจากงานเขียนชื่อ Distinction: A Social Critique of the Judgement of Taste หลักๆ แล้วบูร์ดิเยอพยายามอธิบายมิติทางชนชั้น จากที่เดิมมาร์กซ์อธิบายการแบ่งชนชั้นด้วยการถือครองทุน คือ ปัจจัยการผลิตเป็นนายทุนและแรงงาน แต่สิ่งที่บูร์ดิเยอเสนอคือลำดับชั้นทางสังคมนั้นถูกแบ่งและจัดลำดับอย่างซับซ้อนโดยมี ‘รสนิยม’ เป็นการแบ่งแยกอย่างสำคัญ และรสนิยมนั้นก็มาจากถือครองทุนทางวัฒนธรรมนั่นแหละ
ส่วนหนึ่งคำอธิบายนี้ค่อนข้างอธิบายมิติของสังคมชนชั้นในระบบทุนนิยมที่มีการกดเหยียด หรือจัดลำดับโดยที่ไม่ได้มีแค่ความ ‘รวย’ หรือการถือครองทรัพย์สินทางเศรษฐกิจ บูร์ดิเยอเสนอว่า ทุนทางวัฒนธรรม—เช่น ทักษะ หรือรสนิยม—ต่างหากล่ะที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดลำดับชั้น นอกเหนือจากการที่มันเป็นปลายทางหนึ่งที่คนจะได้มาด้วยการแลกทุนทางเศรษฐกิจหรือการเข้าถึงองค์ความรู้
ความพิเศษของทุนทางวัฒนธรรม คือ ด้วยตัวมันเองนั้น มันจะไม่ได้กระทำตัวอย่าง ‘ทุน’ คือทำเสมือนว่าพวกมันไม่มีผลประโยชน์ (disinterested) และค่อนข้างอยู่ในสถานะที่อยู่เหนือกว่าทุนทางเศรษฐกิจ พูดง่ายๆ คือ เวลาเรามองทักษะทั้งหลาย การอ่านการเขียน รสนิยมทางศิลปะ อาหารการกินทั้งหลาย เราจะรู้สึกว่าทักษะและกิจกรรมเหล่านั้นไม่ได้มีเรื่องเงินๆ ทองๆ เข้ามาเกี่ยว เป็นแบบศิลปะเพื่อศิลปะอะไรทำนองนั้น
แต่สิ่งบูร์ดิเยอทำคือการชี้ให้เห็นและดึงเอาเรื่องที่ดูพ้นไปจากโลกทุนนิยมนั้น กลับเข้ามาเพื่ออธิบายแรงจูงใจของมนุษย์ในระบบทุนนิยม ซึ่งก็คือการแสวงหากำไรและการสะสมทุน บูร์ดิเยอบอกว่ากิจกรรมทั้งหลายนั้นในที่สุดมันคือส่วนหนึ่งของการสะสมทุนและมีเรื่องกำไรและการเลื่อนลำดับชั้นซึ่งล้วนมีผลประโยชน์บางอย่างอยู่ในนั้นเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการได้รับการยอมรับ การได้ชื่อเสียง
ถึงจุดหนึ่งทักษะทางภาษา ความสามารถในการเจรจา หรือกระทั่งกิริยามารยาทบนโต๊ะอาหารก็อาจนำให้คนคนหนึ่งได้เลื่อนชั้นทางสังคม ได้ตำแหน่งงาน ได้รับการยอมรับในสถานะที่สูงขึ้น หรือในมุมที่พูดถึง คือ รสนิยมเหล่านี้ก็นำไปสู่การแต่งงานที่สมกับฐานะ การมีกิจกรรม มีรสนิยมใกล้กันอันเกิดจากภูมิหลังก็นำไปสู่การแต่งงานที่เหมาะสมและสืบทอดทุนทั้งที่มองเห็นได้และมองเห็นไม่ได้ต่อไป
ความเป็นทุนของทุนทางวัฒนธรรม: ตัวอย่างจากทักษะทางภาษา
อันที่จริงทักษะทางภาษา เช่น การมีทักษะภาษาอังกฤษที่ดีเป็นตัวอย่างการครอบครองทุนทางวัฒนธรรมที่ชัดเจนมาก เบื้องต้นเราก็จะเห็นว่าคนที่มีทักษะภาษาอังกฤษถือว่ามีทุนมากกว่าคนอื่น สามารถนำทักษะนั้นไปแลกเปลี่ยนเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจอื่นๆ ได้ อย่างน้อยก็มีโอกาสได้เงินเดือนที่สูงกว่า หรือกระทั่งทักษะนั้นก็อาจจะนำไปสู่การเข้าถึงทุนอื่นๆ เพื่อสะสมและแลกเปลี่ยนสะสมทุนต่อไป
ทีนี้ กลับที่ประเด็นว่า แล้วเราจะได้ทักษะที่ทำตัวเหมือนไม่ใช่ทุน เช่น ทุนทางวัฒนธรรมแบบทักษะทางภาษา มาอย่างไร? คำตอบอยู่ที่การ ‘การหล่อหลอม’ (internalize) คอนเซปต์ที่บูร์ดิเยอเรียกว่า ฮาบิทัส (habitus) นึกภาพถึงการเติบโตขึ้นท่ามกลางครอบครัวและโรงเรียนที่มีทุนทางวัฒนธรรมสูง พ่อแม่พูดได้หลายภาษา ไปกินร้านอาหารนานาชาติ อ่านเมนูภาษาต่างๆ ได้เสมอ ดูหนัง ดูการ์ตูนดิสนีย์ระบบเสียงในฟิล์ม ฟังเพลงในภาษาอื่นๆ เข้าโรงเรียนนานาชาติ ทั้งหมดนี้ทำให้เด็กคนหนึ่งคุ้นเคยและค่อยๆ รับเอาทักษะทางภาษาเข้าไปโดยไม่รู้ตัว ง่ายที่สุด คือ เด็กคนที่โตมากับทุนทางวัฒนธรรมจำนวนมากย่อมไม่ตกใจกับการเรียนภาษาอังกฤษในห้องเรียน
ความเป็นทุน —แง่หนึ่งของทุนทางวัฒนธรรมและทุนประเภทอื่นๆ —คือ ทุนสามารถแลกเปลี่ยนกลับไปกลับมาได้ (ซึ่งเป็นไปอย่างซับซ้อน) ในกรณีนี้เราอาจรู้สึกว่าการหล่อหลอมทักษะทางภาษาดูไม่เกี่ยวข้องกับทุนทางเศรษฐกิจ แต่ถ้าคิดให้ดี การหล่อหลอมสมาชิกหรือเด็กๆ นั้นสัมพันธ์กับการถือครองทุนทางเศรษฐกิจด้วย เช่น การที่ครอบครัวมีตู้หนังสือสองภาษา การที่พ่อแม่มีรสนิยมดูหนังหรือฟังเพลงภาษาต่างประเทศ การกินการดื่มทั้งหมดนั้นมีความสัมพันธ์อย่างซับซ้อนทั้งวัตถุสิ่งของที่เป็นทุนทางเศรษฐกิจ และการได้มาซึ่งรสนิยมของคนอื่นๆ ในครอบครัวที่ส่งต่อผ่านสู่ลูกหลานทั้งทางตรงและทางอ้อม
ตัวอย่างเช่น การกินดื่มก็เป็นตัวอย่างที่น่าจะพอนึกภาพออก ลองนึกถึงเด็กๆ ที่เข้าไปรับประทานร้านอาหารตะวันตกหรือชาติอะไรก็ตาม เด็กๆ จะค่อยๆ เรียนรู้ทั้งความรู้ทางวัฒนธรรม ความรู้ด้านภาษาไปในกิจกรรมการกินดื่มนั้นๆ ในร้านอาหารอังกฤษเด็กๆ อาจจะค่อยๆ รู้จักแฮมเบอร์เกอร์ ฟิชแอนชิปส์ ในครอบครัวที่ซับซ้อนขึ้น เด็กๆ อาจจะค่อยๆ รู้จักแยกแยะลักษณะของเนื้อสัตว์ จากแฮมเบอร์เกอร์เฉยๆ ไปสู่เนื้อลูกวัว จากปลาทั่วๆ ไปไปสู่ประเภทและที่มาของปลา ไม่ว่าจะเป็นปลาคอด ปลาแซลมอน โดยทั้งหมดนั้น เด็กจากครอบครัวที่มีความเจนจัดและเข้าถึงพื้นที่ทางวัฒนธรรมและรสนิยมที่ค่อยๆ สูงขึ้น แน่นอนว่าการรู้ภาษาก็กลายเป็นความคุ้นเคย สำคัญที่คราวนี้ไม่ใช่แค่ภาษาอังกฤษในฐานะภาษาที่สอง แต่อาจไปสู่ภาษาอื่นๆ ไปจนถึงความรู้อื่นๆ ที่รายล้อมบริบทและการบริโภคนั้นๆ
ปัญหาของคำว่า ‘ทุน-วัฒนธรรม’ และปัญหาในการมองเห็นของรัฐ
ความน่าสนใจจากความเข้าใจเรื่องทุนทางวัฒนธรรมในฐานะทุนประเภทหนึ่งที่บุคคลจะสะสมและใช้เพื่อแลกเปลี่ยน/เลื่อนลำดับชั้นทางสังคมได้ คือ เราจะกลับมาที่มิติของรัฐว่า รัฐมีหน้าที่ลดช่องว่างหรือส่งเสริมการเข้าถึงทุนของประชาชน และกระจายหรือสร้างความเป็นธรรมให้ แน่นอนว่าเบื้องต้นที่สุดคือการจัดหาการศึกษาที่มีคุณภาพก็คือการส่งเสริมการสะสมทุนได้ด้านหนึ่ง
ทว่า อาจเป็นเพราะการมองคำว่าวัฒนธรรมในบริบทไทยยังหยุดอยู่ที่วัฒนธรรมที่ไปสัมพันธ์กับอดีต วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ต้องรักษา คือ เป็น Culture แบบ c ตัวใหญ่ ตามที่ สจ๊วต ฮอลล์ นิยามและท้าทายว่าวัฒนธรรมไม่ได้มีแค่วัฒนธรรมชั้นสูงหรือ high culture แต่วัฒนธรรมอื่นๆ ทักษะร่วมสมัยทั้งหลายก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมด้วย
พอเราเข้าใจว่าวัฒนธรรมและทุนทางวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่สามารถหล่อหลอมขึ้นได้ผ่านทุนและกิจกรรมอื่นๆ ดังนั้น รัฐที่มองเห็นความสำคัญของวัฒนธรรม—ที่อาจจะไม่ได้หยุดอยู่แค่กับวัฒนธรรมประจำชาตินั้นๆ —ก็มักจะมีการลงทุนอันเป็นการเพิ่มการเข้าถึงทุนทางวัฒนธรรมให้กับผู้คนได้
ง่ายที่สุดก็เช่นการมีห้องสมุดที่ดี บางประเทศลงทุนมอบห้องสมุดให้เป็นของขวัญในระดับเมือง มีการเปิดห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมการอ่านและการเขียน นึกภาพว่าเด็กๆ ที่แม้ว่าที่บ้านอาจจะไม่ได้ร่ำรวย แต่การมีห้องสมุดดีๆ มีพิพิธภัณฑ์วรรณกรรมให้เด็กๆ ได้อยู่รายล้อมด้วยหนังสือและสื่อทั้งหลายจากทั่วโลก ก็ย่อมเพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้ หล่อหลอมรสนิยมได้โดยที่ไม่ต้องมาจากครอบครัวที่มีทุนสูงเพียงอย่างเดียว
ในทำนองเดียวกัน รัฐที่เห็นความสำคัญมักลงทุนในพื้นที่และการส่งเสริมกิจกรรมทางวัฒนธรรมไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมร่วมสมัยหรือวัฒนธรรมนานาชาติ การส่งเสริมหรือรักษาโรงหนังดีๆ ที่วางราคาไว้ในระดับเอื้อมถึงได้ ส่งเสริมกิจการโรงหนังที่คัดเลือกเพื่อเปิดวัฒนธรรมและรสนิยมการดูหนังที่หลากหลาย การมีเทศกาลหนัง เทศการดนตรี การส่งเสริมพื้นที่น้อยใหญ่ไม่ว่าจะเป็นดนตรี ศิลปะ สิ่งพิมพ์
กระทั่งเกมไม่ว่าจะเป็นวิดีโอเกม บอร์ดเกม หรือกิจกรรมสันทนาการต่างๆ นั้น ก็ล้วนเป็นการส่งเสริมให้เมือง ให้พื้นที่ หรือให้ประเทศเป็นประเทศแห่งการเรียนรู้ ซึ่งส่วนหนึ่งของพื้นที่และกิจกรรมทางวัฒนธรรมเหล่านี้แน่นอนว่าทักษะทางภาษาย่อมเป็นผลพลอยได้ หรือบางครั้งเป็นทักษะหลักที่ผู้คนจะได้รับจากการลงทุนและการเข้าถึงทุนทางวัฒนธรรมเหล่านี้
ประเด็นเรื่องการลงทุนในมิติทางวัฒนธรรม ถือเป็นกระแสที่ทั่วโลกกำลังลงทุนในพื้นที่เหล่านั้น ไม่ว่าเมืองนั้นๆ จะมองเห็นว่ากำลังหล่อหลอมความรุ่มรวยบางอย่าง ช่วยลดช่องว่างให้กับการเข้าทรัพยากรชนิดที่มองไม่เห็น เช่น ความรู้รสนิยม ซึ่งหลายประเทศมีรายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจในการลงทุนทางวัฒนธรรมว่าได้ผลเป็นตัวเลขที่เป็นรูปธรรม หรืออาจจะแค่เห็นค่าของวัฒนธรรมและกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่กว้างไกล
ทั้งหมดนี้จึงไม่แปลกที่ไม่ว่าจะเป็นเมืองเฮลซิงกิที่สร้างห้องสมุดเป็นของขวัญในโอกาสครบรอบร้อยปีในการประกาศเอกราชของฟินแลนด์จน Oodi ขึ้นแท่นห้องสมุดแห่งการเรียนรู้และสถานที่ที่ดีที่สุดในโลก ไม่แปลกที่หลายเมืองใหญ่เลือกรักษาพื้นที่ทางวัฒนธรรม ส่งเสริมกิจกรรมและกิจการของเมืองที่หลากหลายทั้งหนัง ละคร และดนตรี มีการสร้างศูนย์และพื้นที่ทางวัฒนธรรมในรูปแบบที่หลากหลาย กระทั่งจีนเช่นเซินเจิ้นที่ปวารณาตนเป็นเมืองคนรุ่นใหม่ก็มีโปรเจกต์สร้างสวนทางวัฒนธรรม (cultural park) ขนาดมหึมาเพื่อส่งเสริมคนรุ่นใหม่ ไปจนถึงการสร้างโรงละคร ศูนย์แสดงคอนเสิร์ต หอประชุม
สุดท้าย ภาษาอังกฤษที่เราบ่นๆ และอยู่รั้งท้ายนั้น แน่นอนว่าสัมพันธ์กับการกระจายทุนทางวัฒนธรรมไม่ว่าจะเป็นระดับห้องเรียน คือ การกระจายการเข้าถึงความรู้ด้านภาษา การเรียนการสอน การมีสื่อการสอนที่มีประสิทธิภาพก็เรื่องหนึ่ง การส่งเสริมมิติทางวัฒนธรรมอื่นๆ ที่จะช่วยส่งเสริมภาษาอันเป็นส่วนสำคัญหนึ่งของทุนทางวัฒนธรรมก็เป็นอีกส่วนสำคัญหนึ่ง
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Sutanya Phattanasitubon