นโยบายประจำปีอันหนึ่งของกระทรวงวัฒนธรรมใน พ.ศ. นี้ก็คือ การรณรงค์ความเป็นไทยด้วยการยิ้ม การไหว้ การสวัสดี การขอบคุณ และการขอโทษ
แหม่ ความเป็นไทยนี่มันก็ง่ายๆ แค่นี้เองนะครับ บางทีแค่เพียง ‘ยิ้ม’ ปุ๊ปก็นับเป็น ‘ไทย’ ได้ปั๊ปแล้ว
ประเทศไทยเคยบอก (พร้อมกับกล่อม) ตนเอง (ถ้าจะพูดให้เคร่งครัดก็คือกล่อม ประชาชนของตนเอง) ว่าเราเป็น ‘สยามเมืองยิ้ม’ ซึ่งก็แน่นอนว่า เราคงยิ้มให้กับคนอื่น เพราะถ้าอยู่ๆ มีแค่ยิ้มให้กันเองในประเทศ มันก็คงไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เอามาเป็นจุดขายกับชาวต่างชาติสักเท่าไหร่?
คำถามก็คือ สยามของเรายิ้มให้กับใคร?
สยามเริ่มแบ่งแยกยิ้มของตัวเองออกมาจากรอยยิ้มของคนชาติอื่นๆ เขาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือเมื่อราวปี พ.ศ. 2488-2489 นี้เอง เพราะเมื่อรัฐบาลไทย (เปลี่ยนชื่อจากประเทศสยาม เป็นประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2482) ในยุคนั้นเลือกข้างฝรั่งที่ชนะสงครามมากกว่าจะเลือกเพื่อนบ้าน ฝรั่งก็เดินทางมาเกี่ยวข้องกับประเทศไทยมากกว่าที่เคยเป็นมา
เล่าต่อๆ กันมาโดยไม่แน่ใจว่าใครเล่าบ้างว่า ฝรั่งในยุคนั้น (และไหลเลื่อนลงมาถึงยุค พ.ศ.2500 ต้นๆ) นั่นแหละที่เป็นฝ่ายเรียกเราว่าสยามเมืองยิ้มก่อน คนหนึ่งที่ถูกอ้างอยู่บ่อยๆ ว่าเป็นคนเล่า ก็คือนักคิด นักเขียน นักสือพิมพ์ นักการเมือง และอีกสารพัดนัก ควบตำแหน่งอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย และประเทศสารขัณฑ์ด้วย อย่าง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
(เอิ่ม! ตำแหน่งหลังสุดนี่เฉพาะในภาพยนตร์เรื่อง The Ugly American ที่มีสุดหล่อในยุคนั้นอย่าง Marlon Brando เล่นเป็นพระเอกประกบคู่กับคุณชายท่าน และออกฉายเมื่อ พ.ศ. 2506 พูดง่ายๆ ว่าคุณชายคึกฤทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีที่ประเทศสารขัณฑ์ ก่อนจะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2518 เสียอีก)
บุรุษผู้ (น่าจะ) เป็นคนเดียวในโลกที่ควบตำแหน่งอดีตนายกรัฐมนตรีถึงสองประเทศอย่าง คุณชายคึกฤทธิ์ เคยเขียนเล่าเอาไว้ในคอลัมน์ประจำของท่าน ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐยุคกระโน้นว่า เพราะคนไทยไม่รู้ภาษาอังกฤษ เวลาที่ฝรั่งถามอะไร ด้วยความที่ฟังไม่ออกอย่างหนึ่ง และฟังฝรั่งออกแต่ไม่รู้จะตอบว่าอะไรอีกอย่างหนึ่ง
และเมื่อทำอะไรไม่ได้อย่างนี้ คนไทยก็เลย ‘ยิ้ม’ สู้เอาไว้ก่อน (โถๆ พ่อคุณ) ส่วนฝรั่งเมื่อจับต้นชนปลายไม่ถูก (เพราะในวัฒนธรรมไม่เคยยิ้มแหะๆ และเหยเก ด้วยอาการไปไม่เป็นอย่างนี้) ก็เลยเรียกอาการยิ้มอย่างนี้ว่า ‘ยิ้มสยาม’
ถ้าเชื่ออย่างที่คุณชายคึกฤทธิ์เล่าไว้แล้ว ‘ยิ้มสยาม’ ก็ดูจะเป็นยิ้มที่มีลักษณะของการ ‘ยอมจำนน’ อย่างบอกไม่ถูก ยิ่งเมื่อสถานการณ์ในยุคนั้น ประเทศไทยเองก็ตกอยู่ในภาวะยอมจำนนต่อกระแสอันเชี่ยวกรากของวัฒนธรรมฝรั่ง ที่ไหลบ่าเข้ามาในประเทศไทยอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมอเมริกันที่ทำให้เกิดโก๋หลังวังทั้งหลาย (ถ้ายังนึกไม่ออก ก็ลองนึกถึงอิทธิพลของ Elvis Presley ที่ไม่ได้มาเฉพาะดนตรีร็อคแอนด์โรล แต่ยังถูกอิมพอร์ตมาทั้งเสื้อผ้าหน้าผม หนังที่เล่าเรื่องของพี่แดง ไบเล่ย์ แอนด์เดอะแกงค์ดูก็แล้วกันนะ) สงครามเวียดนาม ไปจนถึงกระแสเมียเช่า
แต่ก็มีเฉพาะพวกฝรั่งและชาติมหาอำนาจเท่านั้นแหละครับ ที่มองเห็น ‘ยิ้มสยาม’ อันแสนภาคภูมิของคนไทยและกระทรวงวัฒนธรรมของประเทศนี้ เป็นเพียงแค่รอยยิ้มแหยๆ ชนชาติอื่นๆ ที่เราไม่จำเป็นต้องไปประจบ เพราะพวกเขาเข้ามาอยู่ในประเทศในฐานะของแรงงานเป็นส่วนใหญ่ คงจะไม่มอง ‘รอยยิ้มเหี้ยมเกรียม’ ที่เขาเห็นว่าเป็นเพียง ‘รอยยิ้มแหยๆ’ แน่
และถึงจะเป็นอย่างนั้น แต่ไทยเราก็ดูจะภาคภูมิใจกับเจ้ารอยยิ้มบูดๆ เบี้ยวๆ นี้เสียยิ่งว่าอะไร เห็นได้จากแคมเปญจำพวก ‘Land of Smile’ หรือแม้กระทั่งอดีตราชินีลูกทุ่งผู้ล่วงลับ อย่างคุณพุ่มพวง ดวงจันทร์ ยังบอกกับพวกเราว่า ‘ทั่วโลกกล่าวขาน ขนานนาม ให้ว่าสยามเมืองยิ้ม เราควรกระหยิ่มถึงความดีงาม’ ไว้ในบทเพลงที่มีชื่อว่า ‘สยามเมืองยิ้ม’
การที่แม่ผึ้งขึ้นต้นเพลงนี้ด้วยประโยคแรกที่ว่า ‘จงภูมิใจเถิด ที่เกิดเป็นไทย’ ก็ดูจะเป็นตัวอย่างที่ดีอยู่แล้ว รัฐได้กล่อมเสียจนประชาชนคนไทยภาคภูมิใจใน ‘ยิ้มสยาม’ ของตนเอง ไม่ว่าคนอื่นจะมองรอยยิ้มของเราในรูปแบบไหน
เพราะก็คงไม่มีใครหรอกนะครับ ที่จะภาคภูมิใจในรอยยิ้มแหยๆ หรือรอยยิ้มที่ดูเหี้ยมเกรียของตนเองไปได้
กระทรวงวัฒนธรรมยังบอกกับเราด้วยว่า ยิ้มสยาม ต้องมาพร้อมกับมารยาททางสังคมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการไหว้ การสวัสดี การขอบคุณ หรือการขอโทษ ทั้งหมดนี้ ต้องมา! เพราะทั้งหมดนี้แหละคือความเป็นไทย
ผมไม่แน่ใจนักว่า เมื่อสืบถึงประวัติที่มาแล้ว กระทรวงวัฒนธรรมจะยังคิดว่าอะไรเหล่านี้เป็นไทยหรือเปล่า? ก็ในเมื่อการไหว้ เป็นการเอาท่ามือของแขก (ที่มีศัพท์เรียกเป็นการเฉพาะว่า มุทรา) อย่างที่เราเห็นว่าพระพุทธรูปแต่ละปางจะวาดไม้ วาดมือแตกต่างกัน เพื่อแสดงถึงความหมายที่แตกต่างกันออกไป (ก็ทำนองเดียวกับภาษามือ ที่คนใบ้ใช้สื่อสารกันนั่นแหละ)
ส่วนไอ้ท่ามือที่คนไทยเรียกว่า การไหว้ นั้น พวกแขกฮินดูเขาเรียกว่า ‘นมัสการมุทรา’ ใช้สำหรับทำความเคารพผู้ที่มีอาวุโส หรือลำดับชั้นทางสังคมสูงกว่า อย่างการไหว้พระ ไหว้เจ้า เป็นต้น
ไทยเราเมื่อรับเอาท่ามือนี้มาจากแขก แต่เดิมก็คงยังใช้ไหว้พระไหว้เจ้ามาก่อน ไม่ได้ใช้ไหว้คน เพราะยังมีคำคนเฒ่าคนแก่ที่ใช้รับไหว้อย่าง ‘ไหว้พระเถอะลูกเอ๊ย’ อยู่เลยนะครับ ที่มาใช้ไหว้คนกันนี้น่าจะมีในภายหลัง
ส่วนคำว่า ‘สวัสดี’ นี่ยิ่งแล้วใหญ่เลย เพราะมีประวัติว่า พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนชีวะ) ได้ประดิษฐ์ขึ้นใช้โดยผูกมาจากคำว่า ‘สวสฺติ’ ในภาษาสันสกฤต และใช้อยู่ในเฉพาะคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ท่านสอนอยู่กันเป็นการเฉพาะมาก่อน
ในจุฬาฯ จะมีใครใช้คำว่า สวัสดี กับพระยาอุปกิตฯ บ้างหรือเปล่าไม่รู้? เพราะไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่คำนี้ก็กลายเป็นที่ชอบอกชอบใจผู้มีอำนาจในขณะนั้นอย่าง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ จนถึงขนาดประกาศให้คำนี้เป็นคำทักทายอย่างเป้นทางการของคนไทย เมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2486 เป็นต้นมา
ความเป็นไทยบางครั้งจึงอาจจะไม่ต้องมีรากที่มาลึกซึ้งอะไรก็ได้ แค่ชนชั้นนำเคยประดิษฐ์อะไรขึ้นมาใช้กันเก๋ๆ แค่ไม่กี่คน แล้วคนมีอำนาจไปประกาศบังคับให้คนทั้งประเทศใช้ตามก็ใช้ได้แล้วนะครับ
เอาเข้าจริงแล้ว ใครเขาก็รู้กันแหละว่า ชนชาติไหนๆ ก็มีมารยาทจำพวกนี้กันทั้งนั้นนั่นแหละ ไม่ว่าจะทักทายกันด้วยคำว่า hello หรือ หนีห่าว แล้วจับมือ หรือยกมือขึ้นไหว้ใส่กัน จะคำว่า thank you หรือ sorry ก็ไม่ได้ต่างไปจากคำไทยว่า ขอบคุณ หรือขอโทษ (แต่อาจจะไม่มีเสน่ห์เท่าไทยเรา เพราะเขาไม่มีรอยยิ้มสยามเป็นแพ็กเกจพ่วงเข้าไปด้วย :P) เพราะไม่ว่าจะเป็นรัฐชาติใดก็ต้องเกิดขึ้นโดย ช่วงชั้นทางสังคม เป็นองค์ประกอบสำคัญ